ชวนพิมพ์ ของ เชาวน์ ศรสงคราม

บทสนทนาระหว่าง อนุทิน วงศ์สรรคกร และ อาจารย์เชาวน์ ศรสงคราม ณ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ คัดลอกจากบทบันทึกส่วนตัวที่บันทึกไว้ในปี ๒๕๓๗

➜ ในปัจจุบันที่แบบตัวอักษรไทยเกิดสภาวะขาดแคลน ตัวอักษรที่ได้มาตรฐานมีคนออกแบบน้อยลงเพราะผลประโยชน์ตอบแทนไม่คุ้มกัน ปัญหาของการก๊อปปี้ฟอนต์ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ และอีกมากมายปัญหา เป็นตัวแปรที่ทำให้วงการของการออกแบบตัวอักษรบ้านเราไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร เรามีฟอนต์ภาษาไทยกี่ตัวที่ได้มาตรฐาน ทั้งในแง่ของความสวยงามและการอ่าน มีคนกี่คนที่จะทำในจุดนี้ให้สมบูรณ์

“ชวนพิมพ์” ชื่อฟอนต์ตัวนี้คงคุ้นเคยกับนักออกแบบอยู่ไม่น้อย และฟอนต์ตัวนี้ก็เป็นหนึ่งในฟอนต์ไทยไม่กี่ตัวที่นักออกแบบบ้านเรานำมาใช้ในงาน เพราะคุณสมบัติของตัวอักษรที่อ่านง่ายได้มาตรฐาน คุณทราบกันไหมว่าใครเป็นผู้ออกแบบตัวอักษรชุดนี้ เรากำลังจะกล่าวถึงนักออกแบบตัวอักษร เชาวน์ ศรสงคราม เจ้าของแบบตัวอักษรชวนพิมพ์ ฟอนต์ไทยที่มีเรื่องราวมากมายกว่าจะเป็นที่รู้จัก และยอมรับในปัจจุบัน

จากบทสนทนาของอาจารย์เชาวน์ ศรสงคราม “ที่จริงแล้ว เริ่มแรกที่ ผมทำตัวชวนพิมพ์เพราะทำเป็นศิลปนิพนธ์ปริญญาโทที่อเมริกา สมัยนั้นเป็นช่วงแรกๆของพวกตัวอักษรลอก โฟโต้ไทป์ยังไม่มีเลย ตอนเริ่มออกแบบนี่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เราก็อาศัยดูแบบจากฟอนต์ของอเมริกาสมัยนั้น ในช่วงนั้น Helvetica มันดังมากกำลังเฟื่อง แล้วก็เห็นว่ามันอ่านง่ายดี เลยเกิดความคิดที่จะทำฟอนต์ไทยที่มีลักษณะการใช้งานที่สามารถคู่ขนานกับ Helvetica ของฝรั่งได้ ใช้รวมกันได้ไม่ดูเขิน ก็เลยเริ่มทำมาเรื่อยๆจนเสร็จก็เลยจบปริญญาโท”

ตอนก่อนกลับมาเมืองไทยอาจารย์เชาวน์ก็ส่งแบบตัวชวนพิมพ์มาให้ที่บ้าน “พ่อตกใจเลยนะ คล้ายๆกับว่าขาอ่อน เสียเงินเรียนไปเยอะแยะ คือไม่เข้าใจเรื่องฟอนต์ไง”….. หลังจากนั้นพอกลับมาได้สักอาทิตย์เดียวพอดีมีเซลล์จากอีเอซี มาขายเครื่องพิมพ์ที่โรงพิมพ์ ก็เลยทราบว่าอีเอซีจะทำโฟโต้ไทป์ซึ่งเป็นเจ้าแรกในเมืองไทย คือมันพอดิบพอดีเลย ก็เลยอยากให้ชวนพิมพ์เป็นตัวโฟโต้ไทป์แต่เรื่องอุดมการณ์มันต่างกัน เราเพิ่งจบปริญญาโทมาใหม่ๆ จะมาจ้างเราให้ไปลอกแบบตัวหนังสือของโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชย์ ซึ่งเป็นฟอนต์ที่ใช้กันอยู่ในสมัยนั้น เอามาทำเป็นโฟโต้ไทป์ให้อีเอซี นี่มันเป็นการเสียเหลี่ยม ผมเลยไม่ตกลงด้วย อยากทำของตัวเองขึ้นมาใหม่มากกว่า สุดท้ายเขาก็เลยต้องไปจ้างอาจารย์ ทองเติม เสมรสุต มาลอกให้ ซึ่งท่านเป็นนักออกแบบฟอนต์รุ่นบุกเบิกของเมืองไทย แต่หลังจากนั้นมา ๑๐ ปี จึงรู้ว่าอีเอซีคิดถูก เพราะคนสมัยนั้นเขาก็ชินกับตัวอักษรแบบของไทยวัฒนาพาณิชย์ เพราะมันเป็นตั้งแต่แบบเรียนจนถึงหนังสือหนังสืออ่านทั่วไป ซึ่งเราต้องคลุกกับการตลาดนานเป็นสิบปีถึงได้เข้าใจ หลังจากนั้นประมาณ ๑๐ ปี อีเอซีเขาจึงค่อยๆเอาตัวอื่นออกมาในตลาด มันเป็นเงื่อนไขของเวลา และการยอมรับของคนอ่าน

พอทุกอย่างเริ่มๆไปได้สวย อีเอซีเขาจึงเริ่มผลิตฟอนต์ใหม่อย่างจริงจัง ตรงนี้ผมเลยได้เริ่มทำงานกับ อีเอซีเราทำกันเป็นทีม ก็ได้คุณมานพมาเป็นหนึ่งในทีมงานรวมกับพนักงานของ อีเอซี อีกส่วนหนึ่ง เราทดลองกันแบบป่นปี้เลย ทดลองเรื่องขนาด การนำไปใช้ ทุกๆเรื่อง ลองย่อขยายจนกว่าจะหาความหนาที่เหมาะสมของตัวอักษร ทำกันอยู่นาน ใช้ทุนไปมหาศาล เวลาจะทำฟอนต์ชุดนึง ค่อยๆแก้ ค่อยๆเติม กว่าจะได้มาต้องทดลองทำดูหมด ปัญหามันเยอะอย่างเรื่อง ink tap เรื่องเดียวก็ใช้เวลานานทีเดียว ทดลองหลายรอบคว้านแล้วคว้านอีก เราต้องเข้าใจว่าตัวอักษรที่เป็นเนื้อความที่ดีควรเป็นอย่างไร ควรคำนึงถึงความสามารถในการอ่านเป็นหลัก องค์ประกอบของตัวอักษรต้องสมบูรณ์ อย่างเช่น ส.เสือ หางต้องไม่สั้นจนเกินไป เป็นต้น ต้องจดจำได้ง่าย ดูแล้วไม่คลุมเครือว่านี่มัน ต.เต่า หรือ ด.เด็ก ความหนาของตัวอักษรก็เหมือนกัน

สำหรับตัวที่เป็นเนื้อความก็ต้องไม่ใช่ตัว thick and thin เพราะมันอ่านยากเมื่อย่อเป็นเนื้อความจะเยอะไปหมด หรือเวลาเจาะขาวก็จะทำให้ขาดได้ง่าย อ่านยาก ต้องเข้าใจว่าตัวที่เป็นเนื้อความไม่ใช่ตัวแฟนซี ตอนที่ทำชวนพิมพ์ก็ใช้ Helvetica เป็นหลักอย่างเช่นความสูงของ X-Height ความหนา โครงบางส่วน แต่ทำไปทำมาจึงเข้าใจว่ามันผิด คือตัวอักษรอังกฤษมันโปร่งกว่า แต่ของไทยเส้นมันวิ่งขึ้นวิ่งลงเยอะเลยดูทึบกว่า เพราะเหตุนี้จึงเอาความหนาตาม Helvetica ที่เราห็นว่าดีไม่ได้ ภาษาไทยต้องมีหัวแต่ไม่ได้หมายความว่าผิดถ้าไม่มี เพียงแต่โอกาสที่จะเป็นเนื้อความที่ดีได้น่าจะมีน้อยกว่า ถ้าฟอนต์นั้นมันเป็นเนื้อความได้ ก็จะมีโอกาสในการใช้งานมากกว่า เพราะเป็นเนื้อความก็ได้ เป็นตัวโปรย ตัวพาดหัว ก็ไม่ผิด แต่ตัวไม่มีหัวมันทำให้เกิดความน่าสนใจได้ง่ายกว่าไง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่ตามประเพณีปฏิบัติของภาษาไทย

“ชวนพิมพ์” ตอนออกมาแรกๆนี่ เสียงวิจารณ์กันเยอะมากบางคนก็วิจารณ์แบบเราฟังแล้วสงัดเลยนะ คนแรกนี่ก็คุณพ่อผมคือแกไม่ชินตา ก่อนหน้านี้มันมีแต่ตัวของไทยวัฒนาพาณิชย์ พ่อผมบอกว่า “โอ้โฮกูดูแล้วเฮงซวยที่สุดเลยเว้ย” แต่ตอนนี้มันสามารถพิมพ์คู่กับ Helvetica ได้อย่างกลมกลืนประเด็นนี้ฝรั่งต่างชาติก็ยอมรับ

เรื่องลิขสิทธิ์นี่ไม่สนใจที่จะเก็บเกี่ยวรายได้จากตรงนี้ ที่ทำนี่คือต้องการให้คนไทยมีฟอนต์ดีๆใช้เท่านั้น ไม่ได้คิดเรื่องเงินทองเลย นี่คือความคิดแต่แรกเลย แล้วเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์มันก็มีช่องโหว่ด้วยตรงที่ว่า “ตัวอักษรไทยทุกรูปแบบห้ามสงวนลิขสิทธิ์ คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของได้” ที่จดๆกันนี่คือชื่อตัวฟอนต์นั้นๆเท่านั้น เพราะฉะนั้นจะลอกแบบตัวหนังสือไปเปลี่ยนชื่อก็ได้ไม่ผิด ที่คุณมานพมีความไม่เข้าใจกันกับสยามวาลาก็คือเรื่องแบบเดียวกันนี้

ส่วนเรื่องของการนำไปใช้กับการออกแบบจัดวางตัวอักษร ผมว่าไม่จริงเลยที่ฟอนต์ไทยเอาไปทำเป็น Visual ไม่ได้ หรือทำแล้วดูตลก ผมเคยให้นักศึกษาที่ศิลปากรทำงานในเชิงการสื่อสารความหมายของคำแต่ละคำที่ให้โจทย์ไปแล้วทำเป็นตัวหนังสือสื่อออกมาให้ได้ความรู้สึกของคำนั้นๆ เด็กไทยทำได้ดีทีเดียว แต่เด็กไทยมีปัญหาในการนำตรงนี้ไปใช้สร้างงานในหน้าหนังสือ

ตัวอักษรไทยเองก็มีข้อดีตั้งเยอะ อยู่ที่เราเคยสังเกตุกันบ้างหรือเปล่า อย่างเช่น จำนวนของตัวอักษรไทยมันไม่เกินจำนวนปุ่มภาษาอังกฤษบนคีย์บอร์ด สามารถใช้ร่วมกันได้เลยไม่ต้องปรับปรุงอุปกรณ์พื้นฐาน ตัวภาษาอังกฤษต้องออกแบบเป็นแฟมิลี มีตัว light, medium, black, bold เพราะการใช้งานของเขามันจะได้เป็นชุดเกิดความกลมกลืน แต่ของไทยไม่จำเป็นต้องมีแบบนี้เลยเพราะทุกฟอนต์มีความกลมกลืนแก่กันสูง ตัวอย่างเช่น ลองใช้ชวนพิมพ์เป็นตัวเนื้อความ แต่จะเน้นข้อความโดยใช้ตัวอู่ทอง จะเห็นได้ว่าไม่น่าเกลียด ลองไปทดลองดู ผิดกับของฝรั่งลองเอา Helvetica เป็นเนื้อความแล้วเน้นข้อความด้วยตัว Garamond ก็ตลกแล้ว นอกจากจะมีเหตุผลทางการออกแบบ เขาเลยจำเป็นต้องมีระบบแฟมิลีขึ้นมารองรับ