ทบทวนความคิดอย่างช้าๆ เกี่ยวกับตัวอักษรไทย (ตอนที่ 1)

คนไทยอ่านตัวอักษรไทยออกได้อย่างไร?

นี่อาจเป็นคำถามที่ฟังดูไม่สำคัญ เพราะหลายคนคงรู้คำตอบอยู่ในใจแล้วว่า “เป็นเพราะเราได้เรียนภาษาไทย” ตัวผมเองคงไม่นึกตั้งคำถามแบบนี้หากไม่ได้เดินผ่านสถาบัน AUA (The American University Alumni Association) ที่จังหวัดเชียงใหม่ พบเห็นแผ่นป้ายทรงยาวตั้งเด่นอยู่หน้าทางเข้า ป้ายเดียวกันกับที่ผมเคยเห็นจนชินตาในวัยเด็ก แต่วันนี้ตนเองกลับมองมันด้วยสายตาที่ต่างออกไป

หากผมเป็นคนที่อ่านป้ายนี้ไม่ออก โดยคิดว่าสิ่งที่ถูกสลักเป็นเพียงกลุ่มสัญลักษณ์ที่มีความหมายเชิงภาพมากกว่าถ้อยคำก็คงไม่รู้สึกแปลกใจเท่านี้ ทว่าผมกลับ “อ่านได้” แม้รูปทรงเหล่านั้นจะไม่ละม้ายคล้ายกับตัวอักษรไทยที่เคยพบเห็นมาก่อน นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างจริงจัง ว่าในสายตาคนไทยเรามีวิธีอ่านตัวอักษรที่มีหน้าตาแปลกประหลาดเหล่านี้ได้อย่างไร? เราใช้หลักอะไรในการอ่านและสร้างตัวอักษรที่มีหน้าตาหลากหลาย โดยที่เรายังคงอ่านออก?

การเรียนอ่านเขียนภาษาไทยในระบบโรงเรียน

ประสบการณ์แรกที่เรามีต่อภาษาเริ่มต้นจากการฟัง ไม่ว่าจากเสียงของพ่อแม่ เครือญาติ หรือใครก็ตามที่ใกล้ชิด ยิ่งได้ยินบ่อยเท่าไรก็ยิ่งจดจำได้ดีเท่านั้น เมื่อจดจำได้จึงเริ่มทำตาม เปล่งเสียงตามสิ่งที่ได้ยิน นี่คือจุดเริ่มต้นของทักษะการพูด ผมได้เรียนรู้ทั้งสองทักษะจากแม่ในช่วงก่อนที่จะเข้าโรงเรียน ส่วนทักษะอ่าน-เขียนนั้นเริ่มต้นในชั้นประถมศึกษาโดยมีครูเป็นผู้สอน

ตั้งแต่ระบบโรงเรียนถูกสถาปนาขึ้นในประเทศไทย ข้อกำหนดให้เด็กไทยต้องเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนก็ได้รับการอนุมัติใช้ในเวลาต่อมา ศูนย์กลางการศึกษาจึงถูกถ่ายโอนจากวัดมาสู่โรงเรียน จากตัวบุคคลมาสู่หนังสือ เมื่อไรก็ตามที่ได้ยินผู้ใหญ่พร่ำสอนให้ตั้งใจเรียนหนังสือ จึงมีนัยยะให้ตั้งใจอ่านเขียน เพราะถ้าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็ไม่อาจปฏิสัมพันธ์กับหนังสือได้ ความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นแม่แบบจึงถูกบรรจุไว้ในตัวพิมพ์ นอกจากจะสร้างความคงที่ (consistency) ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญต่อการผลิตสื่อการสอนในเชิงปริมาณ ตัวพิมพ์ยังสร้างความคุ้นเคยในแง่การอ่าน และกลายเป็นแบบแผนของลายมือเด็กไทยโดยทางอ้อมอีกด้วย ดังนั้น การเขียนอักษรแบบตัวบรรจง อีกนัยหนึ่งจึงหมายถึงการเขียนให้ใกล้เคียงกับตัวพิมพ์แบบมีหัว

หมุดหมายแรกของ “แบบเรียนภาษาไทยมาตรฐาน” ถูกปักขึ้นในปีพ.ศ. 2414 ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นก็ได้รับการปรับปรุงเนื้อหาและการใช้ตัวพิมพ์เรื่อยมาท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

สำหรับเด็กไทยที่เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาระหว่างปีพ.ศ. 2537–2550 เช่นเดียวกับตัวผม เราต่างเรียนผ่านแบบเรียนภาษาไทยตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “แบบเรียนไทยยุคแก้ว-กล้า” โดยมีตัวพิมพ์ “ทอมไลท์” เป็นแม่แบบ

น่าสนใจว่าตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งศตวรรษของการเรียนภาษาไทยผ่านแบบเรียนมาจนถึงปัจจุบัน เราล้วนเรียนผ่านตัวอักษรแบบมีหัว (loop terminal) เพียงประเภทเดียว แม้ว่าในช่วงหลังปีพ.ศ. 2484 จะมีตัวอักษรประเภทไร้หัว (loopless terminal) ถูกใช้งานในสิ่งพิมพ์เชิงพาณิชย์บ้างแล้วผ่านการสร้างสรรค์ของกลุ่มคณะช่าง แต่ก็เป็นเพียงตัวพาดหัว (headline) เท่านั้น อีกทั้งเมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เปลี่ยนผ่านจากระบบเรียงพิมพ์ (letterpress) ไปสู่ระบบออฟเซ็ต (offset) ตัวพิมพ์แบบไร้หัวก็ได้ถูกพัฒนาให้มีความทันสมัยและรองรับการใช้งานในฐานะตัวเนื้อความ (body text) มากขึ้น แต่ความนิยมก็ยังคงจำกัดเฉพาะแวดวงธุรกิจโฆษณาเท่านั้น กว่าตัวอักษรไทยประเภทใหม่นี้จะเป็นที่นิยมแพร่หลายและมีที่ยืนในฐานะตัวเนื้อความ ก็เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล

อย่างไรก็ดี สิทธิ์ขาดของตัวอักษรในพื้นที่แบบเรียนก็ยังคงถูกจับจองไว้โดยตัวอักษรแบบมีหัวไม่เสื่อมคลาย จึงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าความสามารถในการอ่านตัวอักษรไทยประเภทอื่นๆ ไม่ได้มาจากระบบโรงเรียน หากเป็นผลจากประสบการณ์ที่ได้เห็นตัวอักษรเหล่านั้นในสภาพแวดล้อม ความสามารถในการอ่านระหว่างคนที่เรียนภาษาไทย “ในประเทศไทย” กับคนที่เรียนภาษาไทย “นอกประเทศไทย” จึงแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

กรณีนี้จะใกล้เคียงกับปัญหาของชาวต่างชาติที่เรียนอ่านเขียนภาษาไทย หรือนักออกแบบตัวอักษรต่างชาติที่ออกแบบชุดตัวอักษร (font) ภาษาไทย เพราะในภาพจำของพวกเขาโครงสร้างของตัวอักษรไทยแบบมาตรฐาน (default) นั้นคือโครงสร้างของตัวอักษรแบบมีหัว ทั้งที่จริงแล้วประเทศไทยมีความหลากหลายของตัวอักษรมากกว่านั้น

ความหลากหลายของตัวอักษรไทย

นอกเหนือจากตัวอักษรแบบมีหัวและไร้หัวแล้ว เรายังพบตัวอักษรแบบลูกครึ่ง (hybrid) ที่พยายามจำลองเอกลักษณ์ของภาษาต่างชาติมาไว้ในอักษรไทย เช่น ตัวอักษรไทยสไตล์จีน ตัวอักษรไทยสไตล์เกาหลี ตัวอักษรไทยสไตล์ญี่ปุ่น ฯลฯ

จากสภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับโลกทำให้ประเทศไทยต้องพัฒนาตัวเองให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ การนำเข้าและส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ จึงต้องสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศควบคู่ไปกับภาษาไทย หรือทำภาษาไทยให้ได้น้ำเสียงต่างชาติ ความต้องการเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาชุดตัวอักษรไทยชนิดใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์เชิงพาณิชย์ แม้ว่าชุดตัวอักษรบางชุดจะเป็นเพียงผลผลิตของกระแสนิยมชั่วครั้งคราวก็ตาม แทบทุกประเทศต่างมุ่งสร้างสรรค์สินค้าและนวัตกรรมเพื่อจำหน่ายไปทั่วโลก ดังนั้นการทำความเข้าใจกับระบบภาษาและตัวอักษรของประเทศคู่ค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อกลยุทธ์ทางการตลาด แบรนด์ชั้นนำของโลกจำนวนไม่น้อยพยายามสื่อสารกับลูกค้าในแต่ละประเทศด้วยภาษาท้องถิ่น และสิ่งนี้เองที่ทำให้นักออกแบบตัวอักษรจากต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจกับตัวอักษรไทยและตัวอักษรอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ในตอนที่ 2 จะว่าด้วยเรื่องของหลักการอ่านตัวอักษรไทยที่หลากหลาย
สามารถอ่านต่อได้ที่นี่