Tahoma กับภาษาไทย

หากคุณคือคนหนึ่งที่เคยเห็นข้อความเหล่านี้

“ชำรุด”

“จุดลงทะเบียน”

“ขออภัยในความไม่สะดวก”

“กรุณาเข้าคิว”

“พักเที่ยง”

“งดอาหาร”

“ห้ามใช้ประตูนี้”

ไปจนถึง “กรุณารับยาช่อง 2”

 

มีความเป็นไปได้สูงมากที่คุณจะเคยผ่านตากับฟอนต์ Tahoma สำหรับใครที่นึกภาพไม่ออก Tahoma คือฟอนต์ตามภาพประกอบด้านล่าง

และหากคุณมีประสบการณ์ใช้คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ทำรายงานไปจนถึงออกแบบบล็อกของตัวเอง ก็มีสิทธิ์ที่คุณจะเคยเลือกใช้ฟอนต์นี้ ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ส่วนในฐานะผู้อ่านก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะ Tahoma ภาษาไทย เป็นหนึ่งในฟอนต์ที่ถูกใช้งานในฐานะป้ายเฉพาะกิจมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ

มากแค่ไหน? ก็มากพอที่ทำให้เกิดกลุ่มคนที่จดจำ Tahoma ได้ และหยิบยกมาล้อเลียนให้เป็นหนึ่งในฟอนต์ที่…

เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น? และถ้าฟอนต์มันใช้งานแล้วดูตลกจริงๆ ทำไมยังถูกใช้งานอยู่เรื่อยๆ คำถามเหล่านี้ควรถูกคิดและทำความเข้าใจ แต่ก่อนจะไปถึงจุดที่ได้ข้อสรุป คุณรู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว Tahoma มีที่มาอย่างไร แล้วทำไมเราถึงพบเห็นเจ้าแบบตัวอักษรนี้ได้อย่างง่ายดายในชีวิตประจำวัน

ข้อมูลทั่วไปของ Tahoma

  • Tahoma ถูกออกแบบขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ซึ่งเป็นยุคแรกของคอมพิวเตอร์
  • Tahoma เป็นแบบตัวอักษรในตระกูล Humanist Sans Serif
  • Tahoma เป็นฟอนต์ที่บรรจุตัวอักษรจากหลายภาษา (Global font)
  • Tahoma ถูกบรรจุลงบนระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ทั้ง Windows (ตั้งแต่ Windows 95/ MicrosoftOffice 97) และ OS (ตั้งแต่ OSX 10.5)
  • Tahoma ภาษาไทยถูกบรรจุเข้าไปครั้งแรกใน Windows 98 และ MicrosoftOffice 2000

แนวคิดทางการออกแบบของ Tahoma

Tahoma เป็นฟอนต์ที่ครอบคลุมตัวอักษรจากหลายภาษา โดยกลุ่มอักษรจากภาษาหลักๆ เช่น ละติน กรีก และซิลาลิค ถูกออกแบบโดย แมทธิว คาร์เตอร์ (Matthew Carter) นักออกแบบที่ผ่านโจทย์ทางการออกแบบเพื่อแก้ปัญหามามากมาย และ Tahoma ก็เช่นกัน ย้อนกลับไปในยุคที่คุณภาพความคมชัดของจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้ละเอียดเหมือนในปัจจุบัน ฟอนต์นี้ถูกคิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความชัดเจนบนหน้าจอเมื่อใช้งานในขนาดเล็ก จะเห็นได้ว่าโจทย์ของ Tahoma นั้นคล้ายกับฟอนต์ Bell Centennial (อีกหนึ่งผลงานของแมทธิวที่ถูกออกแบบขึ้นตั้งแต่ปี 1978) ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความชัดเจนของฟอนต์เมื่อต้องใช้งานขนาดเล็กบนกระดาษคุณภาพต่ำ นี่คือเหตุผลที่ทำให้แมทธิวถูกยกย่องว่าเป็นนักออกแบบที่แก้ปัญหาจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ

ด้วยโจทย์ของ Tahoma ที่ถูกระบุไว้อย่างเฉพาะเจาะจง กระบวนการการออกแบบ Tahoma จึงแตกต่างจากฟอนต์เชิงพาณิชย์โดยทั่วไปในช่วงเวลานั้น

ในขั้นต้น Tahoma ถูกออกแบบในลักษณะของ บิทแมพ (bitmap) หรือ พิกเซล ฟอนต์ (pixel font) ซึ่งถือว่าเป็นโครงกระดูกที่สำคัญ และส่งผลต่อความชัดเจนในการแสดงผลบนหน้าจอโดยตรง เมื่อได้โครงบิทแมพที่มีรูปร่างชัดเจน ขั้นต่อไปจึงเป็นการเขียนเส้นรอบนอกคลุมลงไปบนโครงสร้างบิทแมพ โดยเทคโนโลยีทรูไทป์

เปรียบเทียบกับขั้นตอนการทำงานในปัจจุบันให้เห็นภาพง่ายๆ คือ Tahoma นั้นถูกทำ Hinting ขึ้นมาก่อนที่จะเกิดเอ้าท์ไลน์ของฟอนต์ ซึ่งปกติขั้นตอนการทำ hinting นั้นเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ฟอนต์จะถูก Generate เป็นไฟล์ฟอนต์ที่พร้อมสำหรับการติดตั้งเพื่อเริ่มการใช้งาน พูดง่ายๆ คือ นี่เป็นกระบวนการทำงานแบบย้อนกลับ (Reverse engineering) ที่ให้ผลลัพธ์แตกต่างออกไปโดยที่ไม่ได้รื้อกระบวนการทำงานแบบเดิมเลยแม้แต่น้อย

Tahoma กับภาษาไทย

สำหรับคำถามคลาสสิคอย่าง ใครคือผู้ออกแบบ Tahoma เวอร์ชั่นภาษาไทย? คำตอบที่ได้ก็ต้องเป็นคำตอบคลาสสิคอย่าง “ไม่ปรากฏชื่อผู้ออกแบบ” และมากที่สุดที่ผู้เขียนสามารถสรุปได้คือ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ออกแบบ (ในความหมายที่เป็นผู้ลงมือวาดเส้นตัวอักษร) Tahoma ภาษาไทยก็ถูกดำเนินการขึ้นบนกระบวนการเดียวกันกับที่ แมทธิว คาร์เตอร์ใช้กับตัวอักษรละติน

ด้วยการถูกออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ทำให้ Tahoma สามารถแสดงผลบนหน้าจอได้ดีกว่าฟอนต์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในยุคเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกใช้งานในขนาดเล็กเป็นพิเศษ (8 พอยต์ ขึ้นไป) นอกจากจุดเด่นดังกล่าวแล้ว Tahoma ยังเป็นฟอนต์ที่รองรับหลายภาษา และมีให้ใช้ทั้งบนระบบ Windows และ OSX จึงทำให้ Tahoma มักถูกตั้งค่าให้เป็นฟอนต์มาตรฐาน (Default font) และถูกเลือกใช้เป็นจำนวนมากบนสื่อดิจิทัล โดยเฉพาะบนเว็บไซต์

เมื่อถูกตั้งค่าเป็นหนึ่งในฟอนต์หลักบนระบบปฏิบัติการ วินโดวส์ เอ็กซ์พี ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบปฏิบัติการยอดนิยมของไมโครซอฟต์ และระบบปฏิบัติการนี้เองที่เป็นระบบหลักสำหรับใช้งานในหน่วยงานราชการไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่คนทั่วไปจะมีความคุ้นเคยกับตัว Tahoma โดยเฉพาะเมื่อต้องไปทำธุระหรือติดต่อศูนย์ราชการ นอกจากนั้นใครที่ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเมื่อมีโอกาสเลือกใช้ฟอนต์ภาษาไทย Tahoma จะอยู่ในฟอนต์เมนู พร้อมถูกเลือกใช้เสมอ อันที่จริงการไม่เลือกก็เท่ากับเป็นการเลือก Tahoma ไปแล้ว เนื่องจากมันถูกตั้งค่าเป็นฟอนต์มาตรฐาน โดยมีคุณสมบัติเรื่องความชัดเจนบนหน้าจอเป็นจุดเด่น

การเป็นแบบตัวอักษรที่คุ้นตา และอ่านง่ายบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ อาจทำให้เกิดความเข้าใจว่า Tahoma คงจะให้ผลลัพธ์แบบเดียวกันถ้าพิมพ์ออกมา นี่น่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราได้เห็น Tahoma ปรากฏตัวอยู่รอบๆ เราเสมอมา และเป็นที่มาของคลิปล้อเลียนดังกล่าว ซึ่งยืนยันว่า Tahoma นั้นถูกพบเห็นในความถี่ที่มากพอที่จะสร้างความรู้สึกบางอย่างกับฟอนต์

จะเห็นได้ว่าฟอนต์เดียวกันแต่ถูกใช้งานบนสื่อที่ต่างกัน สามารถให้ความรู้สึกที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง Tahoma บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ความละเอียดต่ำ สามารถแสดงผลออกมาได้อย่างดีเยี่ยมเมื่อเทียบกับฟอนต์ตัวอื่นๆ เรียกว่าเกิดมาเพื่อทลายข้อจำกัดของจอความละเอียดต่ำนั่นเอง

แต่แล้ว Tahoma ฟอนต์เดียวกัน เมื่อปรากฏบนสิ่งพิมพ์ จะพบว่ามันมีหน้าตาและสัดส่วนที่ประหลาดไปจากแบบตัวอักษรภาษาไทยโดยทั่วไป ซึ่งอธิบายได้ว่า ฟอนต์มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้สำหรับงานพิมพ์ หรือใช้ในขนาดที่ใหญ่ระดับเป็นป้ายข้อความ มันถูกใช้งานอย่างผิดเจตนาของฟอนต์ โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนใช้ แต่หากอยากได้คำตอบในเชิงรูปธรรม สามารถอธิบายได้จากเหตุผลหลักๆ 2 ข้อ

  • ข้อแรก Tahoma มีเป้าหมายสำหรับการใช้งานในขนาดเล็ก สัดส่วนตัวอักษรจึงต้องกว้างมากพอเพื่อที่จะสร้างความโปร่งจากภายใน ไม่ให้ดูทึบตัน ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนดูกว้างเกินปกติเมื่อดูในขนาดใหญ่ แต่หากกลับไปพิจารณาตามเป้าหมายของฟอนต์ที่ขนาดหวังผลของมัน ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
  • ข้อสอง เส้นเอ้าท์ไลน์ของตัวอักษรถูกวาดบนโครงสร้างบิทแมพ ที่ถูกจัดเรียงออกแนวกว้างตั้งแต่แรกตามแบบตัวละติน และภาษาอื่นๆ ในชุด

อาจมีบ้างที่ต้องใช้ Tahoma ในงานพิมพ์ ด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง แต่ผู้เขียนแน่ใจว่าในยุคปัจจุบันเรามีฟอนต์ภาษาไทยที่หลากหลายขึ้น ทั้งแบบที่ต้องซื้อและใช้งานได้ฟรี การเลือกใช้ Tahoma ในช่วงเวลาที่ประเทศของเราอุดมไปด้วยแบบฟอนต์หลากหลายขนาดนี้ จึงเป็นที่มาของมีมตลกในกลุ่มคนที่สนใจเรื่องฟอนต์

เรื่องราวของ Tahoma ในกรอบการใช้งานของไทยสะท้อนให้เห็นว่า ฟอนต์ที่ถูกบรรจงออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาหนึ่ง และได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีแล้ว กลับกลายเป็นปัญหาในตัวมันเองเพียงแค่ถูกนำมาใช้งานอย่างผิดวัตถุประสงค์ นี่คือคำอธิบายอย่างง่ายๆ และชัดเจนว่า ทำไมแนวความคิดเรื่องแบบตัวอักษรเดียวกัน ควรจะมีหลายเวอร์ชัน เพื่อรองรับการใช้งานที่ต่างกันออกไปตามสื่อประเภทต่างๆ จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคิดในกรอบของปัจจุบันที่ใครๆ ก็เป็นผู้เลือกใช้แบบตัวอักษรด้วยตัวเองได้ ทุกคนสามารถทำหน้าที่ Typographer ได้เพียงแค่กระดิกนิ้วคลิ้กเมาส์ คนทั่วไปอาจจะเลือกใช้ Tahoma เพียงเพราะแค่มันถูกตั้งค่าเป็นฟอนต์มาตรฐานของระบบปฏิบัติการ แต่สำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ และทำงานสร้างสรรค์ไม่ว่าจะแขนงไหน ทั้งในฐานะนักเรียน หรือมืออาชีพ การทำความเข้าใจกับความเป็นไปของการออกแบบในแขนงข้างเคียงก็เป็นเรื่องที่จำเป็น หากคุณต้องการจะแยกตัวเองออกจากผู้ใช้งานทั่วไป ไม่เช่นนั้นแล้วเราอาจจะได้เห็นคนทำงานออกแบบหรือคนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ ในระดับที่ถูกคนทั่วไปจับได้