คำถามที่พบบ่อย ตอน Sukhumvit Set

 หนึ่งในคำถามที่ คัดสรร ดีมาก พบเจอบ่อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์มาถามหรือส่งอีเมลมาโดยตรง ก็คือคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ 1) Google Fonts ภาษาไทย 2) ฟอนต์ Sukhumvit Set (Sukhumvit Tadmai) ในคอมพิวเตอร์แมคอินทอช และ 3) Google Noto Fonts ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เนื่องด้วยความไม่เข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์ของฟอนต์แต่ละประเภท ทำให้ผู้ใช้หลายคนมีคำถามในเรื่องของการนำไปใช้งานและค่าใช้จ่าย

สำหรับคำตอบของคำถามเหล่านี้ ซีรีส์บทความนี้จะขอแบ่งการอธิบายออกเป็นทั้งหมด 3 ตอน เพื่อให้สามารถอธิบายถึงที่มาที่ไป รวมถึงข้อมูลประกอบอื่นๆ ที่ควรทราบได้อย่างพอควรพอเหมาะและพอดิบพอดี ไล่เรียงกันไปตามแต่ละกลุ่มฟอนต์ ตั้งแต่ Google Fonts ภาษาไทย, ฟอนต์ Sukhumvit Set (Sukhumvit Tadmai) และ Google Noto Fonts

 

สำหรับในตอนที่ 2 เราจะมาพูดถึงกันต่อที่ Sukhumvit Set (Sukhumvit Tadmai)

Sukhumvit Set (Sukhumvit Tadmai)

ฟอนต์ Sukhumvit Set คือฟอนต์ Sukhumvit Tadmai ของ คัดสรร ดีมาก ที่แอปเปิ้ล (Apple) ซื้อลิขสิทธิ์การนำไปใช้งานเพื่อบรรจุเป็นฟอนต์เมนู มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ได้มีโอกาสหรือมีทางเลือกในการใช้งานฟอนต์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยฟอนต์ดังกล่าวถูกบรรจุลงในเครื่องตั้งแต่ระบบปฏิบัติการเวอร์ชัน OS X 10.10  หรือ Mac OS Yosemite ในปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา

นอกเหนือจากชื่อเรียกที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ ความแตกต่างระหว่างฟอนต์ Sukhumvit Set และ Sukhumvit Tadmai ยังมีเรื่องของ ช่องไฟหรือระยะห่างระหว่างตัวอักษร ซึ่งแอปเปิ้ลจำเป็นต้องปรับเพื่อให้สอดคล้องกับกับแพลตฟอร์มและระบบการทำงานทางเทคนิคของทางแอปเปิ้ล ตลอดจนเทคนิคหลังบ้านอื่นๆ ที่ถูกปรับให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (ซึ่งมีความแตกต่างกับการใช้งานในประเทศไทย) ทั้งนี้เพื่อให้ฟอนต์สามารถรองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการแอปเปิ้ลที่มีอยู่ทั่วโลกได้

ฟอนต์ Sukhumvit Set ในเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช จะมีให้เลือกใช้ทั้งหมด 6 น้ำหนักหรือสไตล์ ประกอบด้วย Light, Thin, Text, Medium, Semi Bold และ Bold ซึ่งมีให้บริการเฉพาะฟอร์แมทสิ่งพิมพ์ (Print or Desktop format) เท่านั้น จากทั้งหมดที่ทาง คัดสรร ดีมาก มีให้บริการ 20 น้ำหนักหรือสไตล์ในฟอร์แมทสิ่งพิมพ์ (Print or Desktop format) และเว็บฟอนต์ (Web font) ประกอบด้วย Air, Ultra Light, Thin, Light, Text, Medium, Semi Bold, Bold, Extra Bold, Heavy,  Air Italic, Ultra Light Italic, Thin Italic, Light Italic, Text Italic, Medium Italic, Semi Bold Italic, Bold Italic, Extra Bold Italic และ Heavy Italic ภายใต้ชื่อฟอนต์ Sukhumvit Tadmai

ในส่วนของลิขสิทธิ์หรือประเภทไลเซนส์ของฟอนต์ Sukhumvit Set นั้น ทางแอปเปิ้ลซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิ์ดังกล่าว อนุญาตให้ผู้ใช้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช สามารถนำฟอนต์ทั้ง 6 น้ำหนักไปใช้ในงานสิ่งพิมพ์เชิงพาณิชย์ทุกประเภทได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะนำฟอนต์ไปออกแบบโลโก้ นำไปใช้เป็นฟอนต์ประจำองค์กร ออกแบบสื่อโฆษณาประเภทสิ่งพิมพ์ หรือใช้ในงานโทรทัศน์และภาพยนตร์ ฯลฯ ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ ต้องทำงานทุกอย่างภายในเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเท่านั้น ไม่สามารถนำไฟล์ฟอนต์ออกมาจากเครื่องเพื่อทำงานได้

กรณีที่ผู้ใช้บริการต้องการซื้อฟอนต์ Sukhumvit Set เพิ่มเติม ควรพิจารณาเฉพาะกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น

  1. มีเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช แต่ต้องการใช้งานในน้ำหนักหรือสไตล์อื่นๆ ที่เครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชไม่มีให้บริการ
  2. ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชและต้องการใช้งานฟอนต์ในบางน้ำหนักที่เครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชมีให้บริการ ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่าการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่
  3. ต้องการใช้งานในองค์กรที่มีทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชและคอมพิวเตอร์ในระบบปฏิบัติการอื่นๆ
  4. ต้องการใช้งานฟอนต์ในฟอร์แมทเว็บฟอนต์ เพื่อใช้งานในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ซึ่งไม่รวมการใช้งานในรูปแบบไฟล์ภาพบนเว็บไซต์ในฐานะภาพประกอบ หรือไฟล์ภาพสำหรับการโพสออนไลน์ตามโซเชียลมีเดียประเภทต่างๆ รวมถึงการทำสติ๊กเกอร์ไลน์ ซึ่งถือเป็นการใช้งานฟอนต์ฟอร์แมทสิ่งพิมพ์ ไม่ใช่ฟอร์แมทเว็บฟอนต์

โดยไฟล์ฟอนต์ที่ลูกค้าซื้อไปเพิ่มเติมนี้ หากมีการใช้งานที่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ จะถือเป็นการละเมิดสิทธิ์กับทาง บริษัท คัดสรร ดีมาก ไม่ใช่ทางแอปเปิ้ล

หากผู้ใช้บริการท่านใด มีข้อสงสัยสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของทางแอปเปิ้ล ในส่วนของลิขสิทธิ์และเงื่อนไขการใช้งานฟอนต์ สามารถสอบถามเบื้องต้นได้ที่ บริษัท คัดสรร ดีมาก ทั้งทางเว็บไซต์ และ facebook page

ในส่วนของบทความตอนสุดท้าย เกี่ยวกับ Google Noto Fonts จะมีเงื่อนไขการใช้งานอย่างไร ติดตามได้ในบทความต่อไป