คำถามที่พบบ่อย ตอน Google Noto Fonts

หนึ่งในคำถามที่ คัดสรร ดีมาก พบเจอบ่อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์มาถามหรือส่งอีเมลมาโดยตรง ก็คือคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ 1) Google Fonts ภาษาไทย 2) Google Noto Fonts ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ 3) Sukhumvit Set (Sukhumvit Tadmai) ในคอมพิวเตอร์แมคอินทอช เนื่องด้วยความไม่เข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์ของฟอนต์แต่ละประเภท ทำให้ผู้ใช้หลายคนมีคำถามในเรื่องของการนำไปใช้งานและค่าใช้จ่าย

สำหรับคำตอบของคำถามเหล่านี้ ซีรีส์บทความนี้จะขอแบ่งการอธิบายออกเป็นทั้งหมด 3 ตอน เพื่อให้สามารถอธิบายถึงที่มาที่ไป รวมถึงข้อมูลประกอบอื่นๆ ที่ควรทราบได้อย่างพอควรพอเหมาะและพอดิบพอดี ไล่เรียงกันไปตามแต่ละกลุ่มฟอนต์ ตั้งแต่ Google Fonts ภาษาไทย, Sukhumvit Set (Sukhumvit Tadmai) และ Google Noto Fonts

สำหรับในตอนสุดท้าย เราจะมาทำความรู้จักกับฟอนต์ภายใต้โปรเจ็กต์ของ Google อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ในชื่อ Google Noto Fonts

 

Google Noto Fonts 

โปรเจ็กต์ Google Noto Fonts เกิดขึ้นจากเจตนาในการแก้ปัญหาการไม่ปรากฏตัวของฟอนต์ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีความหลากหลาย รวมถึงการใช้งานฟอนต์ข้ามแพลตฟอร์มหรือระบบปฏิบัติการที่อาจไม่รองรับต่อฟอนต์นั้นๆ เหมือนกับทางต้นทางที่เป็นผู้กำหนดตัวแบบฟอนต์ สัญลักษณ์ที่แสดงถึงปัญหาดังกล่าวบนหน้าจอ มักปรากฏในรูปแบบของฟอร์มสี่เหลี่ยม ที่ใครหลายคนเรียกว่าตัวเต้าหู้ (Tofu)

จากปัญหาดังกล่าว Google มองเห็นโอกาสในการเป็นตัวกลาง สร้างฟอนต์ที่ก้าวข้ามข้อจำกัด เพื่อให้ฟอนต์สามารถปรากฏตัวได้อย่างสมบูรณ์ในทุกๆ อุปกรณ์ ไม่มีตัวเต้าหู้ หรือ No to(fu) ให้รำคาญใจกันอีกต่อไป

ความตั้งใจของ Google ไม่หยุดแค่เพียงการกำจัดตัวเต้าหู้ในภาษาหลักๆ อย่างภาษาอังกฤษ หรือ ภาษากลุ่มละตินกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ยังตั้งใจพัฒนาฟอนต์ชุดนี้กับทุกๆ ภาษาทั่วโลก เพื่อการใช้งานบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน (Webfont format) โดยมีผลพลอยได้คือ สามารถนำไปใช้งานกับสื่อสิ่งพิมพ์ (Desktop or Print format) ได้ด้วย

ในส่วนของ Google Noto Fonts  ภาษาไทย ปัจจุบันมีให้เลือกใช้ทั้งหมด 2 แบบตัวอักษร คือ Noto Sans Thai (ประเภท Loopless หรือ ตัวอักษรแบบไม่มีหัวกลม) และ Noto Serif Thai (ประเภท Loop หรือ ตัวอักษรแบบมีหัวกลม) แต่ละแบบจะมีแบบความกว้างตัวอักษรทั้งหมด 4 แบบ คือ Extra Condensed (ตัวแคบมาก), Condensed (ตัวแคบ), Semi Condensed (ตัวแคบปานกลาง) และ Normal (ตัวความกว้างปกติ) และมีน้ำหนักให้เลือกใช้ในแต่ละแบบความกว้างอีก 9 น้ำหนัก ประกอบด้วย Thin, Extra Light, Light, Regular, Medium, Semi Bold, Bold, Extra Bold และ Black รวมทั้งหมด 36 สไตล์ หรือ 36 ไฟล์ฟอนต์

โดยแต่ละภาษา จะมีเฉพาะตัวอักษร อักขระ และเครื่องหมายของภาษานั้นๆ ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้งานควบคู่กับภาษาอื่นๆ จำเป็นต้องดาวน์โหลดฟอนต์ Noto ของภาษานั้นๆ มาใช้งานร่วมด้วย จึงจะทำให้ข้อความที่ปรากฏ มีครบทุกภาษาตามที่ต้องการ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งานที่ต้องการใช้ Google Noto Fonts ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในการเขียนบทความภาษาไทยที่มีภาษาอังกฤษกำกับอยู่ด้วยในบางส่วนของข้อความ จะต้องดาวน์โหลดฟอนต์ Noto Sans Thai หรือ Noto Serif Thai และฟอนต์ Noto San หรือ Noto Serif ซึ่งเป็นแบบอักษรกลุ่มละติน 1 (ครอบคลุมภาษาอังกฤษ) 2 3 และ 4 บางส่วน มาใช้งานร่วมกัน กล่าวคือ เมื่อพิมพ์ข้อความส่วนใหญ่ที่เป็นภาษาไทย และส่วนน้อยที่เป็นภาษาอังกฤษ ด้วย Noto Sans Thai หรือ Noto Serif Thai เรียบร้อยแล้ว ให้ลากแถบเลือกข้อความที่ต้องการให้เป็นภาษาอังกฤษ ตัวเลข หรือเครื่องหมายต่างๆ แล้วเลือกเป็นฟอนต์ Noto San หรือ Noto Serif แทน ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวเกิดจากการที่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีที่รองรับต่อการรวมไฟล์ฟอนต์ทุกภาษาเข้าไว้ด้วยกันในไฟล์ฟอนต์เดียว แบบที่สะดวกต่อการใช้งานและไฟล์ไม่มีขนาดใหญ่มากจนเกินไปนั่นเอง

สำหรับเงื่อนไขการใช้งาน และประเภทไลเซนส์ฟอนต์ของ Google Noto Fonts จะเป็นไลเซนส์ประเภทเดียวกันกับฟอนต์ในโปรเจกต์ Google fonts คือไลเซนส์ OFL หรือ Open Font License (ในชื่อเต็มว่า The SIL Open Font License) ซึ่งเป็นไลเซนส์ที่อนุญาตให้ใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ท่านใดที่ต้องการดาวน์โหลดฟอนต์ในโปรเจ็กต์ Google Noto Fonts หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับฟอนต์ในโปรเจ็กต์ดังกล่าว สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Google Noto Fonts หรือสอบถามข้อมูลเบื้องต้นมายังผู้ออกแบบและผู้พัฒนาฟอนต์ ได้ที่ คัดสรร ดีมาก ทั้งทาง facebook และ cadsondemak@gmail.com