ประชารัฐ ออกแบบใหม่เพื่อพื้นผิวเดิม

ย้อนกลับไปในยุคที่ไทยวัฒนาเลือกใช้แบบตัวอักษร Thai Medium 621 มาใช้พิมพ์เนื้อหาในแบบเรียน มานะ มานี ปิติ ชูใจซึ่งใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทยระหว่างปี พ.ศ. 2521–2537 ทำให้มีผู้คนจำนวนมากในหลายช่วงวัยที่ซึมซับการอ่านแบบตัวอักษรนี้ ก่อนที่ฟอนต์นี้จะได้รับการปรับปรุงแบบและตั้งชื่อใหม่ว่า ประชารัฐ ในปีพ.ศ. 2557 โดย คัดสรร ดีมาก เพื่อให้ครอบคลุมต่อการใช้งานที่หลากหลายในบริบทปัจจุบัน จนทำให้ฟอนต์นี้ได้รับเลือกให้ใช้งานในฐานะเนื้อความบนสื่อออนไลน์ของสำนักข่าว แบบตัวอักษรเนื้อความสำหรับพรรคการเมือง หรือเคยเป็นแบบฟอนต์ที่ถูกเลือกให้ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลการเดินทางบนป้ายเส้นทางการเดินรถในช่วงทดลองโดย Mayday

เรื่องราวของแบบตัวอักษรประชารัฐนั้นเดินทางผ่านเวลามาอย่างยาวนาน และนี่คือข้อมูลในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวกับแบบตัวอักษรที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุดแบบหนึ่ง

แบบตัวพิมพ์ทะลุกาลเวลา

ฟอนต์ไทยที่อยู่บนระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยุคแรกๆ คือแบบที่เกิดขึ้นในยุคก่อนคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น ตั้งแต่ ฝ.ศ. (UPC A, Angsana) และโมโนไทป์ (UPC B, Browalia) ที่เป็นตัวตะกั่ว ทอมไลท์ (UPC C, Cordia) และชวนพิมพ์ (EAC Chuanpim) ที่เกิดขึ้นในยุคเรียงพิมพ์ฉายเสียง (Phototypesetting)

2 ใน 4 รายชื่อดังกล่าวถูกนำมาปรับปรุงและขัดเกลาแบบผ่านมุมมองของ คัดสรร ดีมาก ภายใต้ชื่อ ทองเติม (ทอมไลท์) และ อนุภาค (ชวนพิมพ์) ทางเลือกต่อไปจึงเหลือแค่ ฝ.ศ. และ โมโนไทป์ หากตัดสินที่ความนิยมในการถูกใช้งาน โมโนไทป์ดูจะตอบโจทย์ได้มากกว่า โดยเฉพาะในกรอบของการเป็นเนื้อความ เอกสารราชการจากที่เคยใช้ ฝ.ศ. ก็เปลี่ยนไปใช้ สารบรรณ ขณะที่โมโนไทป์ยังได้เปรียบในแง่ที่ถูกใช้เป็นตัวอักษรในแบบเรียนซึ่งการันตีเรื่องความกว้างของช่วงอายุคนอ่านมากกว่า

ความคุ้นชินของแบบที่มีอยู่แล้ว

ฟอนต์ที่ถูกใช้งานต่อเนื่องจนเป็นที่คุ้นชินและยังถูกใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ต้องเป็นแบบที่เดินทางผ่านเทคโนโลยีการพิมพ์มากกว่าหนึ่งระบบ โดยสามารถก้าวข้ามสถานะแรกเกิดไปสู่สถานะแบบใหม่ ไม่ว่าจะเกิดมาในฐานะตัวตะกั่ว ตัวแกะไม้ ตัวขูด ตัวคอมพิวท์ กระทั่งเดินทางข้ามเวลากลายมาเป็นดิจิทัลฟอนต์ได้ในท้ายที่สุด

ในยุคต้นของการพัฒนาคอมพิวเตอร์ (หรือเทคโนโลยีใดๆ ก็ตาม) ฟอนต์เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้ การจะได้มาซึ่งฟอนต์ในระบบปฏิบัติการโดยเร็วที่สุดคือนำแบบที่มีอยู่แล้วจากยุคก่อนหน้ามาจัดทำให้เป็นดิจิทัล เมื่อกลายเป็นฟอนต์บนระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ การใช้งานจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความคุ้นชินกับแบบจึงเกิดขึ้น ณ จุดนั้น

ฟอนต์ขายปลีกกับแผนการตลาด

ฟอนต์ที่สามารถขาย (ตัวเอง) ได้เรื่อยๆ ไม่ขึ้นอยู่กับเทรนด์การใช้งานในช่วงใดช่วงหนึ่ง คือโจทย์เบื้องต้นของ ‘ประชารัฐ’ โดยเจาะจงไปที่ตัวเนื้อความ (text font)

ที่มีน้ำหนักครบถ้วนครอบคลุมการใช้งาน อ่านออกได้ง่ายทั้งกับสื่อสิ่งพิมพ์ และบนหน้าจอ

2 วิธีการทำงานที่เป็นไปได้คือ คิดแบบขึ้นใหม่หรือหยิบเอาแบบที่มีอยู่แล้วและมีศักยภาพที่จะเป็นตัวเนื้อความที่ดีมาพัฒนาปรับปรุง ‘ประชารัฐ’ จึงเกิดขึ้นจากวิธีทำงานแบบที่สอง

ด้วยเหตุผลที่สอดคล้องกับโจทย์ในมุมของการหวังผลเรื่องการอ่านออกได้ง่าย (Legibility) ซึ่งเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับ ความคุ้นชินของคนอ่านที่มีต่อแบบ การคิดแบบขึ้นใหม่แม้จะออกแบบให้อ่านได้ง่ายแค่ไหน แต่ถ้าแบบไม่เป็นที่คุ้นชินสายตา ฟอนต์นั้นก็ต้องใช้เวลาเพื่อให้คนจดจำและสร้างความคุ้นเคย กว่าจะขายได้หรือเป็นที่นิยมก็ต้องใช้เวลา 5-10 ปี และ

คัดสรร ดีมาก ก็มี ‘ทองหล่อ’ ซึ่งเป็นฟอนต์ไทยมีหัว (Thai Loop) แบบที่คิดขึ้นเพื่อสร้างความคุ้นชินชุดใหม่กับคนอ่านอยู่แล้ว

ก่อนจะเป็น ‘ประชารัฐ’

การเป็นฟอนต์ที่ถูกใช้ในแบบเรียนทำให้โมโนไทป์เป็นแบบที่คุ้นเคยกับคนหลายช่วงอายุ เนื่องจากคนที่อ่านออกเขียนได้ส่วนใหญ่ล้วนผ่านระบบการศึกษาแบบโรงเรียน โมโนไทป์จึงเป็นแบบตัวพิมพ์ที่ใช้สำหรับการหัดอ่านของหลายๆ คน และกลายเป็นภาพจำที่ฝังอยู่ในความคุ้นชินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม

การถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องทำให้โมโนไทป์มีโอกาสทำหน้าที่ส่งสารในเรื่องราวทั่วไปนอกจากในแบบเรียน ผ่านการพูดเรื่องราวที่หลากหลาย และไม่ได้ถูกเกาะกุมโดยเนื้อหาแบบใดเป็นพิเศษ เรียกว่ามีสถานะที่มีความเป็นกลาง เป็นเสียงที่พูดได้ทุกเรื่องโดยไม่มีอคติ ต่างกับ ฝ.ศ. ที่มักจะถูกใช้ในเอกสารราชการ ทำให้มีภาพจำที่เป็นเรื่องของอำนาจทางการ (Authority)

ประเด็นถัดมาคือโมโนไทป์ยังไม่เคยถูก re-drawing หรือ re-form ให้ทันสมัยเข้ากับอุปกรณ์สมัยใหม่ หรือทำให้สอดคล้องกับความสามารถในการอ่านสำหรับคนในปัจจุบัน โดย

เฉพาะเรื่องขนาดฟอนต์ที่เหมาะสำหรับการเป็นเนื้อความบนหน้าจอ ซึ่งอยู่ระหว่าง 8-10 พอยต์ ในขณะที่ Browalia (ฟอนต์ที่ทีมออกแบบเลือกมาเป็นต้นฉบับเพื่ออ้างอิงรูปร่าง

หน้าตาของโมโนไทป์) นั้นทำงานได้ดีที่สุดบนสิ่งพิมพ์ในขนาด 14 พอยต์

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลหลักๆ ในการเลือกโมโนไทป์เป็นแบบในครั้งนี้ โดยมีแนวคิดในการทำงานคล้ายกับการทำศัลยกรรมหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ ให้เป็นคนเดิมที่มีคุณภาพมากขึ้น

เป็น ‘ประชารัฐ’

การหยิบยืมปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนอ่านกับแบบตัวอักษร หรือการยืม texture ที่มีความคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ทำให้วิธีการทำงานต้องเป็นไปในลักษณะของการรักษาเจตนาเดิมของแบบ

ให้ได้มากที่สุด มีรายละเอียดดังนี้

เส้นตั้งของตัวอักษร (stem) ถูกกำหนดให้มีความหนาขึ้น แต่เสียพื้นที่ภายในตัวอักษร (counter) น้อยลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มความหนาของแบบโดยทั่วไป ผลลัพธ์ดังกล่าวเกิดจาก

การวาดพื้นที่สีขาวภายในตัวอักษรเพื่อให้เกิดเส้นอักษรสีดำโดยรอบที่สอดคล้องกับระยะห่างของแต่ละตัวอักษร (ช่องไฟ) ที่ถูกเพิ่มขึ้น ทำให้ประชารัฐเป็นฟอนต์ที่มีจุดเด่นเรื่องการออกแบบพื้นที่ภายในตัวอักษร (หรือออกแบบที่ว่าง) มากกว่าออกแบบโครงสร้างของตัวอักษรแบบทั่วไป

นอกจากเทคนิคดังกล่าวแล้ว ลักษณะการจบของปลายอักษรก็ถูกจัดการให้เป็นระบบ และมีความเข้าชุดกันมากขึ้นตามระเบียบวิธีของการออกแบบฟอนต์ในปัจจุบัน แต่จุดเด่นที่แท้จริงของประชารัฐคือเรื่องของหัวตัวอักษร ที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นหัวสี่เหลี่ยมมุมมน คล้ายกับฟอร์มของขนมไหว้พระจันทร์ (mooncake)

คิดกับหัว

จุดเด่นหนึ่งของประชารัฐคือ หัวอักษรแบบสี่เหลี่ยมมุมมน มีข้อดีคือทำให้พื้นที่สีขาวภายในหัวมีมากขึ้น ซึ่งช่วยเรื่องการแสดงผลในขนาดเล็ก โดยในขนาด 8 พอยต์ยังคงอ่านได้ มีหลักการคือเมื่อพื้นที่ภายในหัวมีเนกาทีฟสเปซเยอะกว่าเดิม ก็จะเห็นหัวได้ชัดเจนกว่า ประชารัฐจึงมีความสามารถในการอ่านออกได้ง่ายสูงขึ้นโดยปริยายแม้จะมีขนาดตัวเท่าเดิม

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มอักขระภาษาไทยในไฟล์ฟอนต์ให้ครบถ้วนตามหลักภาษา จากเดิมที่เคยเป็นฟอนต์ที่ถูกคิดบนเงื่อนไขของสิ่งพิมพ์ แต่ถูกนำมาใช้บนหน้าจอโดยการดัดแปลงไฟล์ โมโนไทป์จึงกลายเป็นฟอนต์ที่ใช้งานได้ดีกับทั้งสองพื้นที่เป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อ ‘ประชารัฐ’ ในที่สุด

หมายเหตุเรื่องชื่อ

โมโนไทป์ไม่ได้เป็นชื่อฟอนต์ แต่เป็นการเรียกทับศัพท์เพราะเป็นฟอนต์ที่สั่งทำขึ้นมากับเครื่องพิมพ์โมโนไทป์ ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลายฟอนต์ แต่แบบที่เราเรียกกันในไทยว่า โมโนไทป์ อยู่ในคอลเลคชั่นที่เรียกว่า Thai Medium 621 หรือที่มีชื่อเล่นว่า ตัวกลาง นั่นเอง

ส่วนชื่อฟอนต์ ‘ประชารัฐ’ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาล คสช. ฟอนต์ประชารัฐมีมาก่อนรัฐบาลนี้ และคำว่า ‘ประชารัฐ’ ในที่นี้มาจากเพลงชาติวรรคที่ว่า “เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน” และยังพ้องกับแนวคิดเรื่องแบบตัวอักษรที่มีความเป็นกลาง ใช้ได้กับเนื้อหาที่หลากหลายอย่างเท่าเทียม

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ Flagship Fonts โดย คัดสรร ดีมาก