ส่วนต่อขยายของคลาสสิค และ การกลับมาใหม่ของเส้นขนาน

➜ วอลเปเปอร์ไทยเอดิชั่น อาจจะนับได้ว่าเป็นนิตยสารไทยเพียงไม่กี่ฉบับ ที่แสดงอัตลักษณ์เฉพาะตัวอย่างชัดเจน ด้วยการสร้างสรรค์แบบตัวอักษรภาษาไทย เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานตามแบบภาษาอังกฤษ เรากำลังจะพูดถึง บิ๊กแคสลอนไทย และ คูเป้ไทย หลังจากที่ทำให้วงการออกแบบพูดถึง แอมปริธูทไทยเมื่อร่วมสองปีที่แล้ว

เช้าวันทำงานที่ไร้ซึ่งเสียงโทรศัพท์เรียกเข้า เหตุเพราะมีการโทรออกมากกว่าการรับสาย นั่นเพราะพฤติกรรมการออกแบบ บริษัทผู้ออกแบบฟอนต์ตั้งเป้าหมายในการโทรไปหาปลายสาย หรือผู้ลักลอบนำฟอนต์ของพวกเขาไปใช้โดยไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง นรพล ยุกตะนันทน์ นักออกแบบตัวอักษรในทีมของพฤติกรรมการออกแบบเริ่มต้นบ่นเรื่องการละเมิดสิทธิ อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่กำลังเผชิญ ก่อนจะมุ่งประเด็นไปยังผลงานล่าสุดที่เขาได้ช่วยงาน อนุทิน วงศ์สรรคกร ในการออกแบบร่างตัวอักษรชุดใหม่สำหรับนิตยสารวอลเปเปอร์

ในปี 1734 วิลเลียม แคสลอน (William Caslon) นักออกแบบชาวอังกฤษ ได้ออกแบบฟอนต์แคสลอน (Caslon) เวอร์ชั่นแรกขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจจากแบบตัวพิมพ์ตะกั่วของแบบตัวอักษรสไตล์ดัชบาโรกค์ (Dutch Baroqu) ที่ถูกนำเข้ามาใช้อย่างกว้างขวางในประเทศอังกฤษและอาณานิคม ทั้งยังใช้ในเอกสารสำคัญต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ใบร่างประกาศเอกราชของอเมริกาก็ยังถูกเรียงและตีพิมพ์เผยแพร่ด้วยแบบตัวอักษรนี้

เกือบสามศตวรรษต่อมา แมทธิว คาร์เตอร์ (Matthew Carter) นักออกแบบชาวอังกฤษที่ใช้ชีวิตในอเมริกา ผู้ออกแบบตัวอักษรอันดับต้นๆ ของโลกทุกวันนี้ ได้ออกแบบบิ๊กแคสลอน (BigCaslon) ให้เป็นฟอนต์ที่ทันสมัยและมีความชัดเจนในเรื่องความหนาบางมากขึ้น เราเชื่อว่าคุณเองก็รู้จักเขาดีแล้วผ่านผลงานการออกแบบฟอนต์ยอดนิยมอย่าง Georgia, Tahoma และ Verdana

และในปีนี้ ส่วนต่อขยายภาษาไทยของบิ๊กแคสลอนแฟมมิลี่ได้เกิดขึ้น โดยฝีมือของนักออกแบบตัวอักษรคนไทย ภายใต้ชื่อพฤติกรรมการออกแบบ

อนุทิน วงศ์สรรคกร เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการสรุปย่อประวัติฟอนต์แคสลอน ก่อนยกให้ นรพลพูดถึงประสบการณ์จากบิ๊กแคสลอนภาษาไทย การร่วมออกแบบตัวอักษรเชิงพาณิชย์ธุรกิจงานแรกของเขา

“เราเริ่มต้นทำความเข้าใจฟอนต์แคสลอน เรียนรู้ และศึกษาจากทิศทางเส้นต่างๆ ผนวกกับยังไม่มีประสบการณ์การออกแบบตัวอักษรมีเชิง และหนาบางมาก่อน ทำให้งานในช่วงแรกมีปัญหามากทีเดียว อาจารย์อนุทินจะเข้มงวดมาก และตามแก้ไขให้เป็นช่วงๆ โชคดีหน่อยที่เรามีเวลาในการออกแบบมากพอสมควร เลยทำให้มีเวลาในการเรียนรู้ และแก้ไขจนลงตัวอย่างที่เห็นในงานพิมพ์”

“จุดเด่นของตัวอักษรชุดนี้อยู่ที่การผสมผสานกันของตัวจบปลาย (Terminal) แบบต่างๆ เราไม่ได้ต้องการใส่เชิงแบบมาตรฐานเป็นสูตรสำเร็จเข้าไปในทุกตัวอักษร ไม่ได้ใช้เทอร์มินอลแบบเดียวตลอด อย่างที่พบเห็นได้ในฟอนต์ไทยสไตล์ใกล้เคียงกัน เราจึงมีทั้งวิธีจบแบบเชิง แบบกึ่งสคริป แบบเหลี่ยม และแบบกลม คละเคล้ากันไป สร้างความแตกต่างหากแต่กลมกลืน” อนุทินกล่าวเสริมขึ้นมา ก่อนที่จะส่งสัญญาณมือให้บทสนทนาดำเนินต่อไป

สิ่งท้าทายที่สุดในการออกแบบเห็นจะเป็นการแปลภาษาทางการออกแบบของลักษณะพิเศษจากตัวภาษาอังกฤษ เพื่อมาปรับใช้กับภาษาไทย อย่างเช่น ฐ ฎ ฏ ที่ใช้ความประทับใจจากตัว “&” เป็นต้น พอห่วงเรื่องลักษณะพิเศษต่างๆมากไป ผลทำให้กระจายน้ำหนักของตัวอักษรทั้งชุดไม่ดี ต้องแก้หลายตัวอักษรเพื่อทำให้น้ำหนักเมื่อเรียงเป็นคำออกมาลงตัว ส่วนเรื่องสเปซภายในตัวอักษรก็เป็นเรื่องจุกจิกกว่าตัวอักษรแบบไม่มีเชิงที่เคยฝึกทำก่อนหน้านี้

อีกอย่างหนึ่งที่อาจารย์อนุทินจะตรวจทานและสั่งปรับตลอด คือจังหวะหนาบางของเส้นที่ต้องสร้างสมดุลของตัวอักษร ได้เห็นจริงๆว่าการทำให้ตัวอักษรทุกตัวดูเด่น ไม่ใช่ว่าจะเวิร์ค

ย้อนหลังไปประมาณสองปีที่ผ่านมา อนุทินได้ออกแบบแอมปริธูทภาษาไทยเพื่อนิตยสารวอลเปเปอร์ เป็นแอมปริธูทต้นฉบับสองน้ำหนักความหนา ที่หลายคนมองว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการอ่านตัวอักษรขนาดเล็ก ซึ่งทั้งวอลเปเปอร์และพฤติกรรมการออกแบบมองว่า “แอมปริธูทไม่ได้มีปัญหาทางการออกแบบและการใช้งาน หากแต่อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับรองรับการใช้งานขนาดจิ๋ว ทางแก้ปัญหาคือสร้างแอมปริธูทไทยตามแอมปริธูทภาษาอังกฤษตัวบาง เพื่อเสริมให้เข้ากับลักษณะการใช้งานครอบคลุมได้ทุกรูปแบบ”

นนทวัฒน์ เจริญชาศรี ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ของนิตยสารวอลเปเปอร์ ตั้งประเด็นถึงความต้องการของเขาที่อยากได้พื้นผิวและความรู้สึกใหม่บนหน้ากระดาษ “เราต้องการฟอนต์อีกชุดที่สร้างลักษณะเฉพาะของวอลเปเปอร์ไทยเอดิชั่น อีกความต้องการหนึ่ง เราอยากมีฟอนต์ภาษาไทยที่ใช้เป็นตัวดีสเพลย์คู่กับฟอนต์หลักแนวมีเชิงอีกตัวของวอลเปเปอร์ นั่นก็คือบิ๊กแคสลอน เราทำแอมปริธูทไทยไปแล้ว การที่มีบิ๊กแคสลอนไทยเพื่อให้ใช้คู่กันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ภาพรวมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

นอกจากฟอนต์แคสลอนภาษาไทยแล้ว แทนที่จะเลือกทำแอมปริธูทตัวบาง อนุทินได้เสนอแนวคิดการออกแบบฟอนต์ชุดใหม่ที่ครอบคลุม ตัวบาง ตัวกลาง ตัวหนา เพื่อใช้งานเสริมกับแอมปริธูท เป็นการสร้างลักษณะเฉพาะให้กับวอลเปเปอร์ไทยเอดิชั่น และการเสริมทัพด้วยฟอนต์ใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการทั้งสองด้านได้อย่างดี ทั้งการต้องการตัวอักษรที่บางกว่าเดิมและความต้องการความรู้สึกใหม่บนหน้ากระดาษ

อนุทินเลือกแบบตัวอักษรคูเป้ (Coupé) ให้กับโปรเจคของวอลเปเปอร์ คูเป้มีการเขียนแบบโมโนไลน์ เป็นตัวอักษรที่ไม่เน้นความหนาบาง ถูกออกแบบให้เห็นเป็นเส้นคู่ขนานกันตลอดทั้งเส้นนอนและเส้นตั้ง โดยอาศัยเทคนิคการเขียนที่ความหนาไม่เท่ากันตลอด เช่นความหนาของเส้นนอนที่น้อยกว่าเส้นตั้ง เพื่อหลอกสายตาว่าเส้นตั้งและเส้นนอนมีความหนาเท่ากัน จุดเชื่อมที่เส้นตั้งและนอนบีบเข้าหากันน้อยที่สุดเพื่อให้ยังคงดูเหมือนเส้นขนาน ทั้งนี้เพื่อเน้นใช้เป็นตัวอักษรสำหรับอ่านและสามารถนำไปใช้เป็นตัวดีสเพลย์ได้ในตัวเดียวกัน

ฟอนต์ที่เป็นโมโนไลน์หรือตัวอักษรเส้นเท่าสำหรับภาษาไทยนั้น มีข้อได้เปรียบประการหนึ่ง นั่นคือความคุ้นชินในการอ่าน ตัวอย่างเช่น แอลบีนิว เอสเอ็มบีเอ็มโพ หรือแม้กระทั่งพีเอสแอลกิติธาดา ที่เราสามารถอิงความคุ้นเคยที่ผู้คนมีกับฟอนต์ตัวอักษรเส้นเท่าเหล่านั้นมาเป็นฐานเรื่องความสามารถในการอ่าน

คูเป้เป็นฟอนต์ภาษาอังกฤษของอนุทินเองที่มีลักษณะสอดคล้องกับโจทย์ดังกล่าว เขาจึงเสนอให้ลองทำภาษาไทยขึ้นมาเข้าชุดกัน อนุทินอธิบายว่า คูเป้นั้นค่อนข้างเป็นตัวอักษรทรงสูง คอนเด้นท์ (Condensed) อยู่แล้วซึ่งน่าจะรองรับการอ่านในรูปแบบภาษาไทยได้ดี เพราะคนไทยคุ้นเคยกับแบบตัวอักษรทรงสูงมากกว่าป้อมกลม ส่วนความคุ้นเคยกับตัวบางและความเป็นตัวอักษรเส้นเท่า ก็ได้รับความเคยชินมาแล้วจากฟอนต์ที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงเอสเอ็มบีแอดวานซ์ ถึงแม้เอสเอ็มบีแอดวานซ์เองจะไม่ใช่โมโนไลน์เสียทีเดียวก็ตาม

“เราต้องการให้เกิดความโปร่งโล่ง ช่วงห่างของคูเป้ภาษาอังกฤษก็ออกจะห่างอยู่แล้ว ภาษาไทยเราก็พยายามให้ห่างที่สุดเท่าที่ความสอดคล้องทางการออกแบบจะอำนวยกับการอ่าน ความโปร่งและบางนี้เองที่จะช่วยให้การใช้งานในพื้นที่เล็กๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำหนักที่หนาขึ้นของคูเป้ก็สามารถใช้ในการเน้นข้อความ และทำหน้าที่ในแบบแอมปริธูทได้”
“เราต้องการให้คูเป้มาอยู่เป็นเพื่อนแอมปริธูทเพื่อช่วยกันไม่ใช่มาแทนที่ ทั้งสองมีสัมพันธ์เชิงความขัดแย้งสูงกับบิ๊กแคสลอนอยู่แล้วซึ่งเป็นคอนเซ็ปท์แรกเริ่มของวอลเปเปอร์อังกฤษที่เราต้องรักษาไว้ คูเป้ไทยและอังกฤษน่าจะทำให้วอลเปเปอร์ไทยมีลักษณะเฉพาะตัวมากขึ้นในขณะที่ไม่ได้ทำลายอัตลักษณ์เดิม”

คูเป้ (Coupé) นั้นมาจาก ชื่อเรียกรถสปอร์ตสองประตู ที่แล่นทางตรงกินลมได้ดี อาจจะหมายถึงขับสนุกก็ได้ ทั้งยังใช้งานได้ในหลายสถานการณ์ แคล่วคล่องว่องไว ยกเว้นก็แต่แบบออฟโรดลุยๆ ซึ่งที่กล่าวมาก็ฟิตกับลักษณะทั่วไปของฟอนต์ตัวนี้ จุดเริ่มต้นของแบบตัวอักษรชุดนี้ เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2006 เมื่อคริสต้า สกินเนอร์ (Christa Skinner) อาร์ตไดเร็คเตอร์ของนิตยสารสโนว์บอร์ดดิ้ง สำนักพิมพ์ฟิวเจอร์เน็ทเวิร์ค มองหาฟอนต์ใหม่เพื่อนำมาแทน DIN ในโปรเจคปรับปรุงนิตยสาร จึงสอบถามมาทางอนุทิน ซึ่งเคยร่วมงานกันในนิตยสารบลู (Blue) เมื่อครั้งที่เธอเป็นอาร์ตไดเร็คเตอร์คนสำคัญของบริษัทเดวิทคาร์สันดีไซน์ในนิวยอร์ค “ความต้องการและกำหนดการของคริสต้ามีส่วนเร่งรัดให้ผมทำคูเป้เสร็จ” อนุทินกล่าวพร้อมติดตลกว่า “ส่วนใหญ่โปรเจคส่วนตัวถ้าไม่มีกรอบเวลามาให้ มันก็เลยล่วงไปเรื่อยๆ”

คูเป้ที่ใช้ครั้งแรกในสโนว์บอร์ดดิ้ง อาจเรียกได้ว่าเป็นเวอร์ชั่นทดลอง ก่อนที่ฟอนต์สมบูรณ์จะออกจำหน่ายจริงในอเมริกาเมื่อช่วงกลางปี 2006 นี้เอง คูเป้กลายเป็นฟอนต์ที่มียอดจำหน่ายที่น่าพอใจมากที่สุดฟอนต์หนึ่งของอนุทิน ล่าสุดนี้ คริสต้า เพิ่งย้ายไปเป็นอาร์ตไดเร็คเตอร์ให้กับอินเฮ้าส์ของไนกี้ ในโอเรกอน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่เราอาจจะได้เห็นฟอนต์ภาษาอังกฤษ ฝีมือคนไทยในโปรเจคและสื่อต่างๆของไนกี้ในอนาคต

มาถึงนาทีนี้ อักขรศิลป์ยุคดิจิตอลในบ้านเราได้มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง หลังจากเมื่อหกปีที่แล้วหนังสือบันทึกบรรยายอาจกระตุ้นให้นักออกแบบรุ่นใหม่หันมาออกแบบตัวหนังสือไว้ใช้เอง และ พีเอสแอลออกมาทวงสิทธิอันชอบธรรม ทำให้นักออกแบบตัวอักษรมีที่ยืนในสังคม นักออกแบบหน้าใหม่ที่สามารถเข้าถึงโปรแกรมทำฟอนต์และผลิตผลงานออกมามีมากขึ้น เราได้ฟอนต์ภาษาไทยใหม่ๆ จากจำนวนของนักออกแบบ แต่นั่นเป็นเพียงช่วงแรกสำหรับอักขรศิลป์ยุคดิจิตอลในบ้านเรา มันเป็นรูปแบบพัฒนาการเดียวกันกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ หากแต่เราช้ากว่าสักสิบห้าปีเห็นจะได้

หากเป็นไปตามพัฒนาการสากลอย่างที่กล่าวมา อนุทินจึงมองว่าขณะนี้ไม่ใช่เวลาของคนที่ใช้โปรแกรมผลิตฟอนต์เป็นเพียงอย่างเดียวแล้ว เมื่องานออกแบบตัวอักษรได้รับความสนใจจากสังคม ก็มาถึงเวลาที่เราต้องกลับไปดูทักษะทางการออกแบบ ลักษณะการขึ้นโครงสร้างตัวอักษร สัดส่วนที่สวยงาม ทักษะของการวาดเส้นจริงๆ มากกว่าการใช้โปรแกรม

เราเชื่อว่าคุณจะได้ทำความรู้จัก บิ๊กแคสลอนภาษาไทยและคูเป้ มากขึ้นต่อๆไปผ่านหน้ากระดาษของวอลเปเปอร์ ในขณะเดียวกัน คุณจะเข้าใจงานออกแบบสิ่งพิมพ์ และงานออกแบบตัวอักษรมากขึ้นเช่นกัน