บทสัมภาษณ์พิเศษนิตยสารดิฉัน

 

คอลัมน์เปิดอก โดย รณา
พูดคุยเรื่องส่วนตัว การทำงานและผลงาน จาก นิตยสารดิฉัน (ปักษ์หลัง) ประจำเดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๔๙ ฉบับ ๗๓๑

 

➜ เคยสงสัยไหมคะ ว่าตัวอักษรทั้งภาษาไทยและอังกฤษหลากรูปแบบที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันมาจากไหน ใครเป็นคนออกแบบ หรือมีอาชีพนี้อยู่ในเมืองไทยหรือในโลกด้วยหรือ คำตอบคือมีค่ะ แม้จะยังไม่แพร่หลายนักก็ตาม

อนุทิน วงศ์สรรคกร ชายหนุ่มเจ้าของบุคลิกทันสมัยวัย ๓๓ ปี เป็นหนึ่งนักออกแบบตัวอักษรที่มีจำนวนไม่มากนักในเมืองไทย คุณอนุทิน สนใจเรื่องตัวหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ทั้งจากในหนังสือและป้ายสองข้างทาง เขาจึงเลือกที่จะศึกษาทางด้านกราฟฟิค ดีไซน์ ทั้งจากมหาวิทยาลัยในเมืองไทย และแพร็ทท์ที่นิวยอร์ค

เพียงไม่กี่ปีที่ก้าวเข้าสู่อาชีพนี้ ชื่อเสียงของเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผลงานตัวหนังสือที่เขาออกแบบทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ ถูกนำใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในนิตยสารในเมืองไทย และในอเมริกา

คุณอนุทินเป็นลูกคนเดียว แต่ไม่ได้ถูกเลี้ยงดูแบบตามใจ เพราะมีคุณแม่คอยกำกับอย่างค่อนข้างเข้มงวด “คุณแม่ค่อนข้างเฮี้ยบ แม่เป็นคนเจ้าระเบียบ แม่จะบอกให้ทำนี่ อย่าทำนั่น เผด็จการนิดหน่อย (หัวเราะ) แต่พ่อจะค่อนข้างตามใจ เหมือนคนนึงสุดด้านนึง คนนึงก็สุดในอีกด้านนึง เราก็อยู่ตรงกลาง เด้งไปเด้งมา คือถ้าขอแม่ไม่ได้ เดี๋ยวเราก็ไปขอพ่อ อารมณ์ประมาณนี้

…บางทีเงินไม่พอใช้ พ่อก็จะแอบให้นิดๆหน่อยๆ โดยทั่วไปคุณพ่อเป็นคนใจดี คุณแม่ก็ใจดีแต่ค่อนข้างเข้มงวด เขาต้องการให้เราอยู่ในระเบียบ”

เขาเติบโตและเรียนหนังสือมาในย่านถนนรามคำแหง “แต่ก่อนบ้านผมอยู่ที่ตรอกจันทร์ สะพานสอง คุณพ่อคุณแม่ก็มาซื้อบ้านที่สุขาภิบาล ๓ สมัยก่อนไกลมากสองข้างถนนเป็นทุ่งนา มีเต่ามีปูข้ามถนน เดี๋ยวนี้กลายเป็นบ้านจัดสรรไปหมดแล้ว

…ก็ไปเรียนอนุบาลสุดนารีตรงแยกที่ปัจจุบันคือแยกลำสาลี แล้วไปเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนอุดมศีกษา ลาดพร้าว พอขึ้นมัธยมก็มาเรียนที่เตรียมฯน้อมฯ อยู่ห่างบ้านสัก ๓ ป้ายรถเมล์ ก็สะดวกดี ม.๔ ก็มาเรียนที่เทพลีลา หน้ารามฯ เรียนถึงม.๖ แล้วเอ็นทรานซ์

…ตอน ม.๔ เราเริ่มรู้แล้วว่าอยากเรียนพวกออกแบบก็ไปคุยกับอาจารย์แนะแนว ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาบอกลองไปหารายละเอียดสาขานิเทศศิลป์ดูสิ ผมก็ไปหารายละเอียดดู และเริ่มไปติววิชาศิลปะเพราะในโรงเรียนมัธยมเรียนวิชาศิลปะน้อยมาก อาทิตย์นึงมีครั้งนึง ฉะนั้นเราจะวาดเส้นไม่เป็นเลย ถ้าไปสอบเราก็สู้เด็กช่างศิลป์ไม่ได้ ก็ไปเรียนที่สมุดไทตรงมักกะสัน

…เผอิญพี่ที่ติวที่สมุดไทเป็นทีมจากลาดกระบัง เราก็ติดหัวมาว่าอยากเข้าลาดกระบัง ก็เริ่มไปดูงานแสดงนิทรรศการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ งานจบของนักศึกษาปริญญาตรี

…ตอนนั้นผมไม่ค่อยชอบงานของศิลปากรเท่าไหร่ตอนสอบเอ็นทรานซ์เลยไม่ได้เลือกศิลปากร เลือกแค่ลาดกระบังกับ ม.รังสิต ทั้งๆที่สมัยนั้นเขาให้เลือก ๕ อันดับ ก็มาติดที่ม.รังสิตกับเพื่อนอีก ๒ คน

…มีเรื่องตลกคือ พอสอบติด ม.รังสิต เราก็ไปสอบสัมภาษณ์ เราก็ไม่รู้ว่าอาจารย์ที่สัมภาษณ์จบจากศิลปากร อาจารย์ถามว่าทำไมไม่เลือกศิลปากร ผมบอกว่าผมไม่ชอบงานศิลปากร ผมว่างานศิลปากรเชย ก็พูดไปตามประสาเด็ก พอเหลือบไปเห็นรูปแกรับปริญญาหน้าศิลปากร ผมก็ตายละเราจะมาตกสอบสัมภาษณ์ละมั้ง (หัวเราะ) แต่ก็ไม่มีอะไร อาจารย์เข้าใจ

…ก็ไปเรียนที่ม.รังสิต สมัยก่อนไกลมาก รถเมล์แอร์ก็ไม่มี คุณพ่อไปส่ง บางวิชาเรียนแปดโมงเช้าก็ต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าหกโมง เพราะพ่อต้องขับรถกลับมาทำงาน แล้วสมัยที่ผมเข้ามหาวิทยาลัย เขาเริ่มขยายถนนสุขาภิบาล๓ ด้วย โอ้โฮ ฝุ่นฟุ้ง ทรมารสุดๆ ถนนมาเสร็จตอนใกล้จะจบแล้ว”

เขาเรียนคณะศิลปกรรม เอกนิเทศศิลป์ ซึ่งเป็นหลักสูตรด้านการออกแบบสิ่งพิมพ์ และมีวิชาเกี่ยวกับตัวอักษรที่เขาชอบรวมอยู่ด้วย

“เขาจะสอนการออกแบบสิ่งพิมพ์ ส่วนใหญ่จะเป็นทางพาณิชย์ที่ทำงานได้จริง สมัยตอนที่ผมเรียนเขายังไม่แยกโฆษณา, สื่อเคลื่อนไหว, ภาพยนตร์, สิ่งพิมพ์, ภาพประกอบ เราเรียนเหมือนเป็ด ต้องทำทุกอย่าง นั่นนิดนี่หน่อย รูปก็ต้องถ่าย ต้องรู้หมด แต่ก็จับทางได้แล้วว่าเราชอบอะไร”

…ผมรู้สึกว่าชอบตัวหนังสือมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนมาเรียนมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ เวลาเราเปิดหนังสือเราจะชอบดูว่าเขาวางตัวหนังสือสวยดี หรือแบบตัวหนังสือสวยดี

…แล้วจะชอบสังเกตป้ายร้านทั่วไป เรารู้ตัวเลยว่าเราชอบสังเกตุ แต่ไม่รู้ว่ามีศาสตร์ด้านนี้อยู่ เป็นศาสตร์ด้านการจัดวางตัวอักษร และการออกแบบตัวหนังสือโดยเฉพาะ

…ก็เรียนกราฟฟิค ดีไซน์ แต่ในกราฟฟิคดีไซน์ ก็มีลึกไปกว่านั้นคือเรื่องของ ไทป์พอกราฟฟี่ (Typography) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกราฟฟิคดีไซน์ เลยมุ่งตรงไปทางนั้น

…ตอนนั้นการออกแบบตัวอักษรยังค่อนข้างผิวเผินไม่ลึกซึ้ง มันจะอยู่ในวิชา เล็ตเทอลิ่ง (Lettering) แต่อย่างที่บอก เราจะเรียนโน่นนิดนี่หน่อย ไม่ได้เป็นวิชาเฉพาะเกี่ยวกับ ไทป์ดีไซน์ (Type Design)”

หลังจบปริญญาตรีแล้วเขาไปเรียนปริญญาโทต่อที่อเมริกา ตั้งใจจะกลับเป็นอาจารย์สอนหนังสือ “ช่วงนั้นอยากเป็นอาจารย์ มีความรู้สึกอยากจะ หลายอย่างทำให้มันดีขึ้น เพราะช่วงปี ๔ เราอาจจะรักโรงเรียน อยากจะเรียน แล้วกลับมาสอนให้รุ่นน้องรู้เรื่องนี้เร็วกว่าเรา เขาก็จะยิ่งทำได้ดีกว่า

…เผอิญตอนยังไม่จบดี เกิดมาได้งานที่สำนักพิมพ์ของคุณเอกฤทธิ์ ประดิษฐ์สุวรรณ เขาทำหนังสืออาษาของสมาคมสถาปนิกสยาม ผมไปเป็นอาร์ต ไดเร็คเตอร์

…ผมเป็นรุ่นแรกที่เขาเปลี่ยนจากการทำงานด้วยมือมาใช้คอมพิวเตอร์ ไปทำแรกๆเขายังแปะอาร์ตเวิร์คด้วยมือ ช่วงนั้นใช้แมคอินทอชแล้ว แต่ยังต้องพรินท์เป็นโบรไมด์ออกมาแล้วมาเฉือนแปะ

…เราร้อนวิชา เห็นว่ามันน่าจะเปลี่ยนได้แล้ว เพราะโลกก็เปลี่ยนไปมากแล้ว เขาพรินท์งานออกมาเป็นหน้าๆแล้วส่งพิมพ์เลย ก็ไปแนะนำว่าต้องทำยังไง เขาก็เห็นด้วย หลังจากนั้นอาษาก็เปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์

…ผมทำงานที่นี่สักครึ่งปี ก็ไปเรียนต่อที่อเมริกา ผมอยากไปเรียนต่ออยู่แล้ว พอดีว่าคุณพ่อค่อนข้างมีวิชั่นเรื่องการศึกษา สมัยเรียนม.รังสิตเขาจะส่งผมไปอเมริกาตั้งแต่ปี ๒ ถึงปี ๔ ไปคนเดียว เขาจะให้ตั๋วกับเครดิตการ์ดใบนึง ไปอยู่ครั้งละสองเดือนช่วงปิดเทอม

…พ่อให้ไปอยู่กับครอบครัวเพื่อนเขาซึ่งเป็นเอเชียนอเมริกัน เราก็จะได้เรื่องภาษาและกล้าไปไหนมาไหน อยู่แคลิฟอร์เนียผมไปเวกัสเอง ไปซานฟรานฯเอง ดั้นด้นไป ตอนนั้นภาษาอังกฤษก็งูๆปลาๆ เราก็จะได้เห็นหลายที่ ผมเลยเลือกเมืองได้ว่าอยากเรียนที่ไหน

…ตอนแรกผมไปแคลิฟอร์เนีย ไปทางฝั่งเวสต์โคสต์พอปีถัดมาผมอยากไปดูว่าอีสต์โคสต์มีอะไร ก็เลือกไปนิวยอร์คไปอยู่กับเพื่อนพ่ออีกคนนึง เลยได้เปรียบว่าเราอยากอยู่ฝั่งไหน

…ก็ตัดสินใจเลือกนิวยอร์ค รู้สึกมันเหมาะกับเรา และดูแล้วน่าจะสะดวกดี เราไม่ต้องใช้รถยนต์ เราใช้รถไฟใต้ดิน ถึงแม้ค่าครองชีพอาจจะสูงกว่านิดหน่อย”

ปรกติการสมัครเรียนต่อในต่างประเทศจะต้องสมัครไปจากเมืองไทย และรอจนมหาวิทยาลัยตอบรับแล้วถึงไปเรียนแต่เขากลับทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป “ตอนแรกผมไม่ได้ซีเรียสเรื่องโรงเรียนมาก เราอยากได้ประสบการณ์การชีวิตมากกว่า พอดีผมเอาพอร์ทโฟลิโอไปด้วย เลยไปคุยกับแพร็ทท์โดยไม่ได้สมัครไปก่อน ซึ่งตอนนี้คุณทำอย่างนี้ทำไม่ได้แล้ว โทเฟลก็ยังไม่ได้สอบด้วยนะครับ ไปคุยเลย

…พอคุยเสร็จเขาก็รับ เขาก็ถามหาโทเฟล เราก็ยังไม่ได้สอบโทเฟล แล้วผมไปวีซ่าท่องเที่ยว เลยคิดว่าไปสอบโทเฟลก่อนกลับก็แล้วกัน เพราะรู้ว่าเราต้องเอาเอกสารกลับมาทำวีซ่านักเรียนที่เมืองไทย ก็สอบโทเฟล สอบอยู่ ๒ ครั้งก็ได้คะแนนตามที่เขาขอมา ก็คิดว่าทำไงดี เลยคุยกับอาจาย์แนะแนวที่แพร็ทท์ เขาบอกมันมีวิธี ให้ทำเรื่องเปลี่ยนวีซ่าที่นี่เลย โอ้โฮ โชคดี แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำได้แล้ว เขาไม่อนุญาตให้ทำแล้ว

…ผมบอกว่ามีแต่วีซ่าท่องเที่ยวนะ อาจารย์แนะแนวดีมาก ช่วยออกจดหมายจากโรงเรียนให้ แล้วยื่นส่งไปที่เวอร์มอนท์ ก็ได้วีซ่านักเรียนกลับมา แต่ยังไม่ได้ลงเล่ม เป็นแค่เอกสาร พอปีถัดมาผมกลับมาเยี่ยมบ้านก็เอาไปให้เขาลงเล่ม”

ระหว่างเรียนเขาเช่าอพาร์ทเมนท์อยู่กับเพื่อนที่นิวยอร์ค “ตอนแรกผมไปอยู่ที่บ้านเพื่อนพ่อที่บรองซ์ อยู่ไกลมาก สุดสายรถไฟเลย กว่าจะเข้ามาโรงเรียนลำบากมาก

…ที่นี้โรงเรียนกำลังจะเปิด เผอิญเพื่อนผม ซูม-นิรุติ กรุสวนสมบัติ ลูกชายคุณสมชาย คอลัมนิสต์ไทยรัฐ เขาไปเรียนภาษาที่นิวยอร์ค เลยคุยกับเขา เขาอยู่ที่บ้านเพื่อนพ่อเขาแถวแบตเทอรี่ พาร์ค เขาก็อยากจะย้ายออกมาเหมือนกัน เขาเกรงใจคุณน้า เลยมาแชร์อพาร์ทเมนท์กัน

…การเดินหาอพาร์ทเมนท์ที่นิวยอร์คเป็นเรื่องที่ยากมากยากที่สุด เพราะทุกคนหาอพาร์ทเมนท์กันหมด ส่วนใหญ่จะผ่านเอเย่นต์ แต่ถ้าไม่ผ่านได้ก็จะดีมาก เพราะเขาจะกินเปอร์เซ็นต์ ก็ลองเดินหาเอง โดยเปิดหาตามที่เขาลงโฆษณาให้เช่าโดยเจ้าของ ไม่ต้องผ่านโบรคเกอร์ เราก็ดุ่มๆไป

…ก็กลับมาได้ตรงแบตเทอรี่ พาร์ค ถัดจากบ้านคุณน้าที่นิรุติอยู่มาสองสามตึก ไม่ไกลจากโรงเรียนผมด้วย ไปโรงเรียนสะดวก เพราะคณะที่ผมเรียนมันอยู่ในแมนฮัตตัน อยู่ที่พัคบิลดิ้ง (Puck Building) ตรง ลาฟาแยด ตัดกับ บรอดเวย์ เราไม่ต้องออกไปแพร็ทท์ที่บรูคลิน ซึ่งจะไกล

…ผมเรียน Communication Design & Packageing มันอยู่ในอาร์ดแอนด์ดีไซน์สกูลเป็นคณะที่ชื่อ Communication Design ซึ่งต่อเนื่องมาจากนิเทศศิลป์ที่เราเรียนมา คณะนี้จะเรียนทุกอย่างเหมือนกัน เพราะเป็นมิกซ์มีเดีย”

เขาทุ่มเทให้กับการเรียนเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเล่าเรียนหรือค่าใช้จ่าย “ที่บ้านส่งเสียตลอด พูดแล้วอาย (หัวเราะ) เพราะคนอื่นเขาทำงานกัน ผมก็ไม่ใช่คุณหนูนะครับ เราก็ให้เวลากับโรงเรียนเต็มที่ เพราะต้องเรียนหนักพอสมควร

…ช่วงแรกผมต้องเรียนภาษาก่อนเพราะผมไม่ได้เรียนภาษาไป เขาให้ไปเรียนภาษา ๑ คลาส เรียนพร้อมไปกับวิชาปรกติเลย ก็ลำบากหน่อย ต้องตื่นเช้าไปเรียนที่บรูคลิน แล้วกลับมานอน เพราะคณะผม ส่วนใหญ่วิชาจะเรียนตอนกลางคืน เรียนทุ่มนึง บางคลาส ๔ ทุ่ม เหมือนเขาอยากจะเปิดโอกาสให้คนทำงานมาเรียนด้วย

…ระบบการเรียนการสอนที่นั่นนักเรียนต้องช่วยเหลือตัวเอง ไปแรกๆเราจะงงพอสมควร เพราะอาจารย์ที่เมืองไทยส่วนใหญ่จะเป็นระบบป้อน แต่ที่โน่น พอไปเริ่มเรียนคลาสแรกๆเขาจะมีรายชื่อหนังสือมาให้อ่านซึ่งหมายถึงต้องอ่านจริงๆ ถ้าไม่อ่าน ก็จะไม่สามารถตามได้เลย

…เช่นอยู่ดีๆเขาก็จะบอกว่าวิชานี้ต้องใช้โปรแกรมนี้นะ เขาจะไม่สอน คุณก็ต้องดูว่าจะทำยังไง เซฟยังไง หรือครูจะบอกว่าตอนนี้ต้องไปอ่านเล่มนี้ ตอนนี้ไปอ่านเล่มนี้ คุณต้องไปอ่านเอง เขาบอกนี่ไม่ใช่วิชาสอนโปรแกรมถ้าสอนโปรแกรมคุณอาจต้องไปเรียนโพลีเทคนิค หรือชั้นเรียนคอมพิวเตอร์ เขาจะบอกว่า “get a book”

…ผมก็ใช้วิธีเข้าห้องสมุดบ้าง แต่ส่วนใหญ่ต้องไปซื้อหนังสือ เพราะช่วงนั้นมิกซ์มีเดียจะมีเรื่องของมีเดียใหม่ เช่นเว็บ มัลติมีเดีย โมชั่น เขาจะแนะนำเลยว่าไปซื้อหนังสือได้ที่ไหน

…ก็เรียนทุกอย่าง แต่มันจะมีวิชาเฉพาะไทป์๑ ไทป์๒ ไทป์โปกราฟิค ผมไม่ต้องเรียนไทป์ ๑ มาเรียนไทป์ ๒ และ ๓ เลยก็ได้เรียนกับอาจารย์คนนึงซึ่งเป็นตำนานทาง Type Design คือ Antonio Dispina เขาทำไทป์ดีไซน์ ตั้งแต่สมัยคลาสสิก ปี ๑๙๗๐

…ก็ได้ขลุกอยู่กับเขาพอสมควร ก็ได้ความรู้เรื่องไทป์ ดีไซน์ มา วิชาอื่นก็เป็นไปตามครรลอง”

การปรับตัวให้เขากับชีวิตที่นิวยอร์คทำได้ไม่ยากนักแต่ต้องปรับใจบ้างกับปัญหาที่เกิดขึ้นทางบ้าน “ช่วงเรียนปีแรก พ่อกับแม่ก็แยกทางกัน แม่ส่งแฟ็กซ์ไปหาผม เขียนอธิบายว่าทำไม เราก็เข้าใจ เขาคงกลัวว่าเดี๋ยวเราเรียนไม่รู้เรื่อง

…พอดีเขามาแยกกันตอนเราโตแล้ว เราก็จะเข้าใจได้ ก็ไม่ฟูมฟาย มองแบบผู้ใหญ่มองว่าถ้าเขาอยู่ด้วยกันไม่ได้ก็แยกกันอยู่ดีกว่า แต่คุณพ่อก็ยังส่งเรียนมาจนจบ

…เทอมสุดท้ายเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติค่าเงินบาทพอดี จากเหรียญละ ๒๕ บาท อยู่ดีๆกลายเป็น ๔๐ บาท เป็น ๖๐ ไหลไปเรื่อยๆก็ตกใจเหมือนกัน ก็อ่วมมาก ต้องย้ายอพาร์ทเมนท์ไปอยู่มิดทาวน์ห้องสตูดิโอเล็กๆอัดกันอยู่ ๒ คน

…โชคดีว่าตอนนั้นผมทำงานที่มหาวิทยาลัยด้วย เป็นผู้ช่วยครูและคนดูแลคอมพิวเตอร์ แล็บ เขาให้เงินเดือนมาเราก็เอาไปเครดิต เป็นส่วนลดของค่าเรียนไป ก็จะช่วยได้หน่อย

…ตอนนั้นก็มีคนมาติดต่อให้ไปทำงานด้วยเหมือนกันแต่เราไม่อยากทำงานประเภทรายงานประจำปีมันน่าเบื่อ ตอนนั้นผมอยากทำไทป์ดีไซน์ มาก คิดว่าต้องทำให้เป็นอาชีพให้ได้ เลยไม่ได้ไปทำงาน”

เราขอให้เขาอธิบายถึงงานไทป์ ดีไซน์ เขาบอกว่า “เคยสงสัยมั้ยครับว่าตังหนังสือมาจากไหน มันจะต้องมีคนออกแบบ ซึ่งก็คือ Type Designer นี่แหล่ะที่เป็นคนออกแบบตัวหนังสือแต่ละตัว เพื่อให้เราเอามาเรียงกันเป็นคำ ผมอยากทำอาชีพนี้ แต่เราก็ยังทำกราฟฟิค ดีไซน์นะครับ จริงๆเราก็คือกราฟฟิค ดีไซเนอร์ แต่เรารักที่จะออกแบบตัวอักษร

…เรียนจบผมก็สมัคร practical training ปีนึง ยังไม่ได้กลับบ้านเลย ตอนช่วงท้ายที่เงินบาทมันแย่ๆ คุณแม่ก็ช่วยส่งเงินมาสมทบอีกแรงนึง พยายามเอางานไทป์ ดีไซน์องเราไปเสนอตามที่ต่างๆ เอาฟอนต์ไปขาย

ระบบมันจะคล้ายๆ ออกเทปน่ะครับ คุณทำงานไปแล้วเอาเดโมไปคุยกับบริษัทที่ขายฟอนต์ ถ้าเกิดเขาชอบฟอนต์คุณ เขาก็เอาไปขายให้ แล้วแบ่งเปอร์เซ็นต์สำหรับการขายทุกครั้ง”

การขายตัวอักษรที่ออกแบบไว้ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด “ตอนแรกเดินหาแล้ว (เดินจริงๆ) ไม่มีที่ไหนยอมรับฟอนต์เราเลยเซ็งมาก ส่วนใหญ่เขาจะให้ทิ้งงานเอาไว้พิจารณา แล้วเขาจะอีเมล์มาบอกว่าอันนี้เราดูแล้วรู้สึกว่าทำตลาดได้ยาก หรือเรามีฟอนต์ลักษณะใกล้เคียงอยู่ในคอลเลคชั่นของเราแล้ว ขอผ่านนะ จะมีหลายรูปแบบในการปฏิเสธ

…เผอิญช่วงที่เรียน ผมเจอดีไซเนอร์คนนึงคือ เดวิด คาร์สัน ซึ่งช่วงนั้นเขาเป็นกราฟฟิค ดีไซเนอร์ที่ดังมาก เขาใช้ตัวหนังสือใหม่ๆตลอดเวลา ผมชอบเขามาตลอด ตอนเจอกันเลยเอางานให้เขาดู

…วันนึงเขาโทฯมาถามว่ามีฟอนต์อะไรใหม่ฯบ้างไหนลองเอามาคุยกันหน่อยสิ เลยเอาไปคุย เขาก็เลือกฟอนท์ชื่อ Metamorphosis ไป เลยเริ่มมีฟอนต์ผมใช้ในนิตยสาร Blue ที่บริษัทเขาทำ เลยเริ่มมีคนเห็น

…อีกส่วนจากงานที่เราส่งประกวดสมัยเรียนที่แพร็ทท์ด้วย ผมส่งไปประกวดในหนังสือ How, Print, CMYK ซึ่งงานผมได้ลงเยอะ มีช่วงนึงได้ลงประมาณ 6 งาน แต่เป็นงานนักศึกษา หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนติดต่อมาเพื่อจะเอาฟอนต์เราไปขาย”

งานออกแบบตัวหนังสือยุคแรกของเขา “ช่วงนั้นคนมาทำดิจิตอล ฟอนต์ ค่อนข้างเยอะ แต่ก่อนทำฟอนต์ชุดนึงมันดูไกลตัวเรามากเลย ความสัมพันธ์ของคนกับฟอนต์มันไม่เหมือนทุกวันนี้ เดี๋ยวนี้เปิดคอมพิวเตอร์เราก็เลือกเอง ได้เลย แต่ก่อนต้องไปที่ร้าน ไปเลือกฟอนต์มา

…พอการผลิตฟอนต์สามารถทำได้บนคอมพิวเตอร์ ก็มีคนเข้ามาทำกันเยอะ จะมีฟอนต์ทดลอง ฟอนต์อะไรต่ออะไรเยอะแยะมาก ผมก็เป็นไปตามแฟชั่น สไตล์การออกแบบตัวอักษรช่วงนั้นจะเป็นแบบมีเชิงบ้าง ไม่มีเชิงบ้าง

…ช่วงแรกฟอนต์ผมยังมีไม่เยอะ มีแค่ภาษาอังกฤษสามสี่ตัว แต่ก็ลองทำภาษาไทย แต่เราก็ยังไม่รู้เรื่องเทคนิคมากมาย” รายได้จากการขายฟอนต์ในช่วงแรกยังไม่มากนัก “การขายจะเป็นคอนแทร็ค อย่างฟอนต์ชุดนึงจะมีคอนแทร็คอย่างน้อยๆ 2 ปีกับผู้จัดจำหน่ายที่เขาจะเอาฟอนต์ของเราไปขายให้กับผู้ใช้ ขายเหมือนกับซอฟท์แวร์ มันจะมี ๒ ระบบ คือระบบขายปลีก กับ สั่งตัด (custom)

…ทุกวันนี้ผมทำ Thai custom font ซึ่งไม่ได้ทำขายให้กับผู้ซื้อทั่วไป อย่างเราทำให้กับนิตยสาร Wallpaper (ไทย) เราก็ทำให้เฉพาะวอลล์เปเปอร์ใช้ แล้วเขาก็จ่ายค่าฟอนต์นั้นมาเลย คนอื่นเอาไปใช้ไม่ได้

…ผมเริ่มที่การขายปลีกก่อน เพราะ custom ยากพอสมควร เขามีคนครองตลาดอยู่แล้วเยอะ ส่วนใหญ่คนจะเข้ามาทางขายปลีกก่อน เพราะตลาดกว้างหน่อย

…พอขายได้ก็ดีใจมาก แต่ได้เงินน้อยมา ได้ร้อยกว่าเหรียญ เพราะมันขายได้น้อย สมมุติคุณเป็นคนจัดจำหน่ายให้ผม คุณก็จะทำเว็บไซท์ ทำแคตตาล็อก ซึ่งต้องใช้เงินทำแคตตาล็อก ใช้เงินโปรโมท ฯลฯ ก็ต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์กันไป ซึ่งเขาจะให้เปอร์เซ็นต์เราน้อยมาก แต่เดี๋ยวนี้เรามีชื่อเสียงมากขึ้น มียอดขายมากขึ้น เราก็ต่อรองได้มากขึ้น ตอนนี้ก็โอ.เค.

…เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เขาก็ไม่กล้ามาเสี่ยงกับใครไม่รู้ ยังโนเนม เขาไม่รู้ว่าถ้าให้เปอร์เซ็นต์เราเยอะแล้วของเราจะขายได้หรือเปล่า ต้องขายได้กี่อันถึงจะคุ้ม”

แม้จะมีช่องทางในการทำงานหาเงินที่อเมริกา แต่เขาก็ไม่คิดจะอยู่ที่นั่นต่อ “พอเริ่มขายฟอนต์ได้ก็คิดอยากกลับบ้านเลย ไม่อยากอยู่แล้ว คิดว่าเราจะมาเช่าอพาร์ทเมนท์แพงๆทำไม เรากลับมาอยู่ที่เมืองไทย ค่าใช้จ่ายเราน้อยจะตาย เราก็นั่งทำงานอยู่กับบ้านสิดีกว่า ก็กลับมา

…กลับมากนั่งทำงานอยู่บ้าน เริ่มออกแบบภาษาไทยพอดีผมมีเพื่อนทำงานที่แม็ทซ์บ็อกซ์ เพื่อนทราบดีว่าเราทำทางด้านนี้อยู่ แล้วเขาคุยกันภายในว่าเขาอยากจะมีฟอนต์ของตัวเอง เลยติดต่อมา ก็ได้งานนั้นมาทำเป็นงาน custom

…เขาเอาตัวอักษรที่ผมออกแบบไปใช้ในงานโฆษณา GSM ตอนนั้นเขาเพิ่งเปลี่ยนมา เป็น GSM Advance เขาให้โจทย์เรามาว่าเขาอยากจะทำตัวอักษรภาษาไทย ให้เข้ากับภาษาอังกฤษตัวนึงที่เขาเลือก เพื่อเวลาพิมพ์แล้วจะได้กลมกลืนกัน

…ผมใช้เวลาทำอยู่ 3 เดือน ก็ได้ฟอนท์ชื่อ SMB Advance ตอนนี้เขายังใช้ในบิลค่าโทรศัพท์ของ AIS ด้วย”

งานนี้ถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในบ้านเราในฐานะนักออกแบบตัวอักษร “การออกแบบตัวหนังสือให้แม็ทซ์บ็อกซ์ ทำให้เป็นที่รู้จักว่าเราเป็นนักออกแบบตัวอักษร” ผมไม่ได้เป็นคนเดียวในเมืองไทย ที่อื่นเขาก็ทำกันอยู่แล้ว แต่ในตลาด custom ตอนที่ผมเข้ามายังไม่มีเลย

…ตลาดคัสตอมแต่ก่อน ทวพ. (สำนักพิมพ์ไทย วัฒนาพานิช) หรือ EAC ซึ่งนำเข้าเครื่องพิมพ์หรือเครื่องโบรไมด์ จะจ้างนักออกแบบออกแบบตัวอักษรคลาสสิคอย่าง อาจารย์เชาว์ หรืออาจารย์มานพ ออกแบบให้กับเล็ตเตอร์เพลสของแมคคอนอร์ม่า นั่นคือคัสตอมสมัยนั้น แต่คัสตอมฟอนต์ที่เป็นดิจิตอล แล้วทำเพื่อองค์กรที่ไม่เกี่ยวกับอุปกรณ์การพิมพ์ ผมทำให้แม็ทช์ บ็อกซ์เป็นคนแรก

…พอหลังจากนี้เราเห็นว่ามันมีตลาดตรงนี้อยู่เหมือนกันเพราะเรามานั่งขายปลีกในเมืองไทยไม่ได้แน่ เพราะคนไทยก็อปปี้ฟอนต์กันกระจุยกระจาย ก็คิดว่าขายปลีกเมืองไทยไม่เวิร์ค เรามาดูเรื่องคัสตอมดีกว่า ทำให้องค์กรใช้ แล้วเรารับเงินเลยชิ้นนึงจบเลย เราไม่ต้องมานั่งห่วงว่าใครจะไปก็อปอีกเท่าไหร่

…ที่ผมออกแบบให้ไปแล้วก็มีอย่างนิตยสาร Wallpaper (ฉบับภาษาไทย) นิตยสาร DNA เป็นจุดแข็งที่เราอยู่ในกลุ่มนี้เราเลยเริ่มหันมา license ฟอนต์ที่เราออกแบบเอาไว้ เพิ่งทำเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว เป็นไลเซนส์เพื่อให้ลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะเอาฟอนท์เราไปใช้ในหนังสือเล่มนั้น เพราะผมได้ขายปลีกเป็นซีดีเหมือนที่อื่น ของเราจะต้องมีการคุยกันว่าคุณจะเอาฟอนท์ไปใช้เพื่อนการอะไร

…การซื้อไปใช้แบบนี้ไม่มีระยะเวลา เป็นการซื้อครั้งเดียว แต่คุณใช้ได้เฉพาะของเล่มนี้ จะเอาไปใช้ในหนังสือเล่มอื่นอีกไม่ได้ ฉะนั้นเราจะไม่ขายปลีก กลุ่มนี้ก็อย่างเช่น นิตยสาร MTV, อิมเมจพลัส, แคมป์ปิ้งท่องเที่ยว, Arena, Men’sHealth เป็นต้น

…รูปแบบที่ผมทำอยู่จะเป็นรูปแบบที่ในอเมริกาเขาทำ แต่ก่อนอำนาจมันอยู่ในมือของคนในวงการการพิมพ์ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่าการออกแบบตัวอักษรมาอยู่ในมือของดีไซเนอร์แล้ว แต่ก่อนนี้ต้องคนมีเทคโนโลยีถึงจะทำได้”

ที่เมืองไทยเขาจะรับทำเฉพาะงานคัสตอม หรืองานสั่งทำเท่านั้น ไม่ขายปลีก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหางานถูกก็อปปี้ “คัสตอมเราทำเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น เพราะในต่างประเทศเขามีเสือสิงห์กระทิงแรดเยอะ อย่างหนังสือโรลลิ่งสโตน หรือนิวสวีค เขามีทีมที่เขาใช้กันอยู่ประจำแล้ว พวกนั้นเป็นมืออาชีพมากๆ

…ส่วนฟอนต์ภาษาอังกฤษ ผมขายผ่านผู้จัดจำหน่ายที่เมืองนอก แต่เราจะไม่ทำอย่างนี้กับฟอนต์ไทย เพราะก็อปกันเยอะ ผมไม่ได้บอกว่าฝรั่งไม่ก็อป เพราะฝรั่งก็ก็อป แต่ตลาดมันใหญ่กว่า คนที่ใช้ภาษาอังกฤษมีเยอะมากในโลกนี้ มาร์เก็ต แค็ปแค่ ๕-๑๐ % ของทั้งหมดก็เยอะกว่าประเทศไทยมากๆแล้ว ฉะนั้นถ้าเขาจะก็อป มาร์เก็ต แค็ปมันก็ยังใหญ่พอที่จะทำธุรกิจต่อไปได้”

ฟอนต์ภาษาอังกฤษที่เขาออกแบบ เคยถูกมือดีก็อปปี้มาแล้ว

“เคยมีคนก็อปงานผม เป็นดีไซเนอร์อาเจนติน่า ตอนนั้นมีคนที่ซานฟรานซิสโกส่งฟอร์เวิร์ด เมล์ มาให้ผม เพราะงานนี้ไปแสดงนิทรรศการ ในงานไทป์คอนฯที่ซานฟรานซิสโก

…ในวงการนักออกแบบตัวอักษรจะมีงานนิทรรศการใหญ่ๆทุกปีอยู่สองสามงาน ดีไซเนอร์จะไปคุยกันและไปโชว์กันว่ามีอะไรใหม่บ้าง เผอิญว่าตัวอักษรชุดนี้ได้ไปโชว์อยู่ที่ไทป์คอนฯมีคนไปเห็นเลยส่งเมล์มาฟ้อง

…ผมก็อีเมล์ไปเคลียร์กับคนที่ก็อปเลย เขาไม่ยอมรับก็เถียงกันทางอีเมล์อยู่นานเลย พอดีมีคนที่ช่วยผมทำเวอร์ชั่นที่เป็นตัวเอียง เลยยันกันไปยันกันมา เขาก็ยังไม่ยอมรับครับ แต่ก็ถอนตัวไปแบบเงียบๆ

…จริงๆเราจะฟ้องร้องเขาทางกฎหมายก็ได้ แต่ไม่คุ้มเพราะรายได้จากงานนี้ไม่ได้สูง เรามาฟ้องข้ามมามันไม่คุ้มค่าใช้จ่าย”

ในเมืองไทย เขาก็เจอปัญหาคนก็อปปี้งานของเขาไปใช้เช่นกัน “ตัวอักษรบางตัวที่ผมออกแบบ เดี๋ยวนี้มันไปทั่วหมดแล้ว ธนาคารสองสามแห่งก็เอาไปใช้ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันหลุดออกมาจากที่ไหน เราก็ไม่รู้จะไปโทษใคร เราไปตามเช็คไม่ได้

…อย่างฟอนต์ เอสเอ็มบี แอดวานซ์ ที่เราทำให้เอไอเอส และ แม็ทซ์ บ็อกซ์ มีหนังสือบางเล่มก็เอาไปใช้ตอนออกเล่มแรก อันนี้ทารุณกับเรามากเลย

…เขามาคุยกับเราตอนแรกจะทำคัสตอม เสร็จแล้วเขาไม่ทำกับเรา แต่ไปเอาตัวหนังสืออื่นของเราไปใช้ เราก็เสียหายเพราะแม็ทช์บ็อกซ์ก็เข้าใจผิดว่าเราหาประโยชน์จากงานที่ขายขายไปแล้ว ก็เป็นปัญหามากเลย ผมต้องไปสั่งให้เขาเอาฟอนต์ออก พอเล่มถัดมาเขาเลยต้องเปลี่ยนฟอนต์

…นี่แค่เคสเดียวที่วุ่นวายมากขนาดนี้ แล้วเราต้องไปดูตั้งกี่มีเดียล่ะ ทั้งหนังสือ ทั้งโทรทัศน์ มันไม่คุ้ม ปวดหัว อย่างวันก่อนผมซื้อนมเปรี้ยวยี่ห้อนึงมา ตัวอักษรที่ผมออกแบบก็ไปอยู่บนกล่องแล้ว ไปอยู่บนซองบะหมี่ก็มี บนแสตมป์บัตรจอดรถตามห้างฯก็มี ถ้ามองในแง่นี้มันก็ตลกดี”

ปัญหาลิขสิทธิ์ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ของโลก แต่เขาไม่หนักใจเท่าไรนัก

“เรื่องฟอนต์ภาษาอังกฤษผมไม่ต้องดูแลอะไรเลยเพราะผู้จดจำหน่ายของเราต้องดูแลให้เราอยู่แล้ว ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาเขาก็ทำได้ดี เราก็พอใจ” ส่วนภาษาไทย พอเราตัดปัญหาเรื่องการไม่ขายปลีกเราก็สบายแล้ว เพราะตัวหนังสือที่เราออกแบบให้ใครก็จะอยู่กับองค์กรนั้น เราจะมีบันทึกในไฟล์ฟอนต์ที่เราให้เขาว่าก็อปปี้นี้ของฟอนต์ชื่อนี้ เป็น purchased license ของใคร

…ผมก็จะกำชับลูกค้าเสมอว่าถ้าฟอนต์นี้มันออกไปอยู่ที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ของเขา เราสามารถที่จะเช็คได้ว่ามันไปอยู่ทีบริษัทก. บริษัทข.ได้ยังไง

…ในกรณีนี้ ลิขสิทธิ์ในตัวอักษรยังเป็นของเราอยู่ แต่เราอนุญาตให้เขาใช้ เขาไม่ใช่เจ้าของซอฟท์แวร์ แต่เขาจะใช้ตัวอักษรนั้นไปได้เรื่อยๆ แต่เราจะไม่ได้สตางค์อีกแล้ว”

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๘ ที่เราเริ่มออกแบบตัวอักษรภาษาไทยครั้งแรกเป็นต้นมา ขณะนี้มีตัวอักษรภาษาไทยที่เขาออกแบบทั้งหมด ๑๒ แบบแล้ว

“ผมออกแบบตัวอักษรภาษาไทยชุดแรกตั้งแต่ยังอยู่นิวยอร์ค เราเริ่มทดลองตัวภาษาไทยครั้งแรก ชื่อตัวพฤติกรรมเดี๋ยวนี้ฮิตใช้กันเยอะ พวกรายการแฟชั่นหรือ MTV จะใช้กันเยอะ เป็นตัวเหมือนหน้าจอคอมพิวเตอร์”

…นอกจากเอสเอ็มบี แอดวานซ์ แล้ว ฟอนท์ภาษาไทยของเราทั้งหมดเป็นชื่อภาษาไทยหมดเพราะผมไม่ค่อยชอบใช้ชื่อภาษาอังกฤษถ้าไม่จำเป็น

…ตอนนี้ผมมีฟอนท์ภาษาไทยทั้งหมด ๑๒ แบบ คือ พฤติกรรม อนุภาพ ชัดเจน ฝั่งธน ขด พันธมิตร ระบบ โทรศัพท์ อุตสาหกรรม วงจนปิด ทัศนะ มัธยม ผมพยายามหาชื่อภาษาไทยที่มันโดนๆ

…ส่วนภาษาอังกฤษจะมีเยอะหน่อย ประมาณ ๒๐ กว่าแบบไม่ได้มีเป็นร้อยครับ เพราะออกแบบแต่ละชุดใช้เวลานานพอสมควร บางครั้งเราไม่ได้ทำแค่ตัวเดียว มันหลายน้ำหนัก มีตัวบางตัวหนา ตัวหนามาก ตัวเอน

…ภาษาอังกฤษมีรายละเอียดข้อนข้างเยอะว่า แฟมิลี่ต้องมีกี่น้ำหนัก ต้องครอบคลุมการใช้หลายลักษณะนิดนึง” ตัวอักษรภาษาอังกฤษที่เขาออกแบบ มีใช้ทั่วไปในอเมริกา “พวกหนังสือก็มี Blue, Wired โรงแรมก็มี Choice Hotel ซึ่งทั้งแคมเปญ ถ้าใครไปอเมริกาแล้วไปพักก็จะเห็น ของกินเล่นก็มีเช่นหมากฝรั่งไอซ์ เบรกเกอร์ มันมีไปทั่วน่ะครับ แรกๆเราก็อยากซื้อเก็บ แต่ไปๆมันไม่ไหว มันเยอะบางทีอยู่อเมริกาขับรถผ่านป้ายโฆษณาที่มีฟอนต์ของเรา เราก็ไม่รู้จะถ่ายรูปยังไง”

เขาจำตัวอักษรที่เขาออกแบบได้หมดเพราะมีเอกลักษณ์ “ผมจำได้เพราะมันผ่านมือเราหมด บางตัวมันจะมีคาแร็คเตอร์ที่ชัดเจน เช่น ห.หีบ เสน่ห์ของบริษัทผมคือเราพยายามจะประดิษฐ์ตัวหนังสือในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน มันก็มีทางดิ้นไปจนได้

…มีคนทักผมเหมือนกันเรื่อง ห.หีบ เราเกิดหลงใหลอะไรกับห.หีบสักอย่างไม่รู้ (หัวเราะ) ฟอนต์ คอลเคชั่นของเราคนจะชอบมาดูที่ห.หีบว่าถ้าห.หีบเป็นแนวๆนี้ ที่นี่ทำ คือจะมีเอกลักษณ์ มีคนมาพูดกับผมอย่างนี้หลายคนแล้ว”

การออกแบบตัวอักษรภาษาไทยกับอังกฤษ มีความยากง่ายต่างกัน “ตัว shape ทั้งภาษาไทยและอังกฤษยากพอๆกันภาษาไทยอาจจะง่ายกว่านิดนึงตรงที่ว่ามันมีตัวซ้ำค่อนข้างจะเยอะเช่นซีรีส์ของก.ไก่ ก็จะมาเป็น ภ ถ ญ ณ เราก็ไม่ต้องเหนื่อยมากทำต่อไปได้เลย ย่นเวลาได้นิดนึง”

…แต่สิ่งที่ทำให้ภาษาไทยง่ายกว่านิดนึงก็คือเรื่องของ spacing เพราะตัวภาษาไทยส่วนใหญ่เป็นตัวปิดหน้าปิดหลัง จะไม่มีเช่น y แล้วตามด้วย a หรือ Wa Ta Te ซึ่งจะต้องมีพื้นที่ระหว่างตัวอักษรที่เรียกว่าความห่างเฉพาะ ตัวภาษาไทยจะไม่มีตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวพิมพ์เล็ก มันก็จะไม่มีตัวอักษรที่ยื่นออกมา

…เวลาออกแบบเราจะต้องคำนึงถึงความห่างเฉพาะอย่างตัว T กับ a ถ้าไม่มีความห่างเฉพาะ เวลาพิมพ์ออกมาก็จะมีฟังหลอ ทำให้ช่องไฟไม่สวย “เราก็ต้องออกแบบให้สองตัวนี้เวลาพิมพ์ออกมาแล้วให้ชิดกัน”

ภาษาไทยยังมีสระ วรรณยุกต์ เป็นรายละเอียดปลีกย่อยให้คำนึงเวลาออกแบบด้วย

“อย่างสระอิ อี อึ อือ คนอาจจะคิดว่ามีชุดเดียว แต่จริงๆแล้วมันมีมากกว่านั้น มันยิบย่อยลงไปอีก

…อย่างก.ไก่สระอิ (กิ) เป็นชุดนึง ป.ปลาสระอิ (ปิ) จะเป็นสระอิอีกตัวนึง มันจะต้องเขยิบมาข้างหน้า เพราะมันจะต้องหลบหางป.ปลา

…ไม้เอกไม้โทก็เหมือนกัน ก่ ก็เป็นไม้เอกอันนึง ถ้าเป็น กิ่ มันก็ต้องเป็นไม้เอกอีกอันนึง เช่นเดียวกับ ป่ เราจะต้องคำนึงถึงตรงนี้

…หรือสระอีแล้วมีไม้โท ไม้โทก็จะต้องเล็กกว่าตัวที่อยู่โดยไม่มีสระอี เป็นต้น ไม่งั้นมันจะดูเทอะทะไปหมด คือมันจะมีรายละเอียดของมัน”

ตัวอักษรในโลกนี้มีหลายพันหลายหมื่นแบบ จะมีแนวทางการออกแบบอย่างไรให้ของเราไม่ซ้ำกับของคนอื่น “อันนี้น่าตื่นใจเหมือนกัน มันเป็นอะไรที่ท้าทายอาชีพเราอยู่ทุกวัน ผมก็ต้องตั้งคำถามเดียวกันเหมือนกันว่าเราจะทำให้ก.ไก่ต่างออกไปได้เยอะแค่ไหน หรือทำให้ตัว a ต่างไปได้เยอะแค่ไหน เพราะตัว a มันก็เป็นแบบนี้ แต่มันก็มีความเป็นไปได้ทุกวันที่เราค้นเจอ เราก็แปลกใจมากที่เราก็เจอวิธีการทำฟอร์มของตัวหนังสือใหม่ๆได้ตลอด แต่มันก็มีข้อจำกัดมากพอสมควร เช่นถ้าเกิดมันอ่านไม่ได้เป็น a ล่ะ มันจะเปลี่ยนไปได้เยอะแค่ไหน”

เมื่อมีคนรู้จักเขามากขึ้น งานก็มีเข้ามามากขึ้น เขาจึงตั้งบริษัทคัดสรรดีมากขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน “บริษัทคัดสรรดีมากตอนแรกไม่ได้ทำกราฟฟิค ดีไซน์เราเปิดมาเพื่อทำโปรดัคท์ ดีไซน์

…เราทำพวกชามเป่าลม กรอบรูปเป่าลม ฯลฯ ขายที่ Propaganda และร้าน All Living ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ แต่ธุรกิจไปได้ไม่ค่อยดีเท่าไร เลยคิดว่าเปิดต่อไปก็ทู่ซี้ เลยเปลี่ยนมาทำกราฟฟิคดีไซน์ คือจริงๆเราก็ทำอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนมาทำเต็มที่

…แต่ที่เป็นจุดเด่นของเราคือการออกแบบตัวอักษร เพราะบริษัทอื่นไม่สามารถทำได้เขาอาจจะต้องมาจ้างเราต่ออีกที”

ธุรกิจออกแบบตัวอักษรที่เขาทำ โดยเฉพาะงานคัสตอม นับว่ายังมีช่องทางให้ขยายงานอีกมาก “เดี๋ยวนี้ดีกว่าเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว ตอนที่ผมกลับมาจากนิวยอร์คใหม่ๆไม่มีใครพูดถึงคัสตอม ฟอนต์ ไม่มีใครพูดึงไทป์ ดีไซน์เลย เงียบมาก”

“ตอนนี้เราออกแบบตัวหนังสือให้สำนักพิมพ์เยอะเลย ผมไม่ค่อยได้ออกไปหาลูกค้าเท่าไหร่ ส่วนใหญ่โทฯเข้ามา

…ผมว่าบ้านเรายังมีพื้นที่ให้ขยายงานอีกเยอะ เพราะการแข่งขันตรงนี้มันน้อย ค่ายอื่นส่วนใหญ่เขาทำเป็นขายปลีก ตอนนี้เรียกว่าเราเป็นเจ้าเดียวที่ทำคัสตอม

…กลุ่มเป้าหมายที่เราเจาะจริงๆคือสำนักพิมพ์ แล้วคนที่ติดต่อเข้ามาขอไลเซนส์ ฟอนต์เราไปก็เป็นสำนักพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ เขารู้ว่าฟอนต์ของเรามีคาแร็คเตอร์แตกต่างกับค่ายอื่นยังไง

…ผมเคยพูดหลายครั้งเวลาไปบรรยาย มีคนถามว่าทำไมตัวหนังสือของเราค่อนข้างแตกต่างจากค่างอื่นๆ ผมบอก อาจจะเป็นเพราะว่าเราเขียนภาษาอังกฤษมาก่อน เราก็ใช้คาแร็คเตอร์เขียนไปตามความรู้สึกแบบที่เขียนตัวภาษาอังกฤษ พอเรามาผสมภาษาไทยกับภาษาอังกฤษแล้วมันค่อนข้างกลมกลืน

…ผมละเลยกฎหลายๆอย่าง เช่นเรื่องของความสูง ฯลฯ มันจะมีกฎมาตรฐานอยู่เหมือนกัน เรื่องฟอนต์แห่งชาติของเนคเทค เราแหกกฎอยู่หลายข้อเหมือนกัน อย่างเช่นเราพิมพ์ตัวภาษาไทย พอเปลี่ยนตัวเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ตัวภาษาอังกฤษไม่เข้ากับภาษาไทยเลย

…หรืออีกปัญหาหนึ่งคือพอเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษแล้วภาษาอังกฤษตัวโตหรือตัวเล็กกว่าภาษาไทย แต่ของเราจะดูแลตรงนี้ เพราะเราได้บทเรียนจากตอนทำฟอนต์ เอสเอ็มบี แอดวานซ์ ค่อนข้างเยอะ เพราะเราต้องการให้แม็ทช์ บ็อกซ์ ทำงานได้ราบรื่นที่สุด

…ไม่ใช่พิมพ์ภาษาไทยแล้ว พอมาพิมพ์ภาษาอังกฤษต้องขยายอีก ๒ พอยท์ หรือพอพิมพ์ๆไปแล้วทำให้ตัวเลขภาษาอังดูเล็กหรือดูใหญ่กว่าภาษาไทย เราเลยต้องมาคำนวณหาวิธีจดการให้มันใหม่ ก็อาจจะเป็นอีกสูตรนึง

…เรา learning by doing มากกว่า ไม่ได้เปิดตำราทุกอย่าง และเขียนโดยใช้ทักษะ ของ สัดส่วนที่เป็นแบบละตินหรือที่เรียกกันว่าตัวภาษาอังกฤษ

…ที่ผ่านมา เกือบทุกฟอนต์ของเรา เราจะออกแบบภาษาอังกฤษคู่กันไปเลย ซึ่งอันนี้จะเป็นข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนว่าตัวอักษรของเรา เมื่อพิมพ์ออกไปแล้วมันจะเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะมันถูกออกแบบมาคู่กัน พอเราดูเท็กซ์เจอร์ในหน้าเดียวกันแล้ว มันจะไม่ดูโดดออกจากกัน”

การออกแบบตัวอักษรแบบคัสตอมก็เหมือนการสั่งตัดเสื้อผ้าเฉพาะเจาะจงที่ต้องมีการวัดตัวลูกค้า ซึ่งผู้ออกแบบจะต้องได้รับข้อมูลจากลูกค้าให้มากที่สุด

“เราจะเจอบ่อยมากที่เขาโทฯมาให้เราโควทราคา จะให้ข้อมูลเราน้อยมาก เช่นบอกว่าสินค้าเราเป็นเทคโนโลยีนะคะ อยากได้ฟอนท์ที่ทันสมัย อ้าว ไม่บอกอะไรเราเลย แล้วจะให้เราทำอะไรล่ะ เหมือนกับคุณไปตัดสูทคุณก็ต้องวัดตัว ถ้าไม่วัดตัวแล้วจะไปรู้ได้ยังไง

…ก็ต้องมานั่งถามกันว่าสินค้าคืออะไรครับ หรือบริการของคุณคืออะไร ตัวหนังสือที่คุณอยากจะได้เป็นลักษณะแบบไหน เป็นแท็กซ์หรือเป็นดิสเพลย์ ลักษณะการใช้ที่จะใช้บ่อยสุดที่กี่พอยท์ หรือกลุ่มเป้าหมายของคุณใครอ่าน

…จะมีลูกค้า ๒ ประเภท คือประเภทที่เขามีคาแร็คเตอร์อยู่แล้ว อย่างหนังสือวอลล์เปเปอร์เขารู้อยู่แล้วว่าเขาอยากได้ตัวหนังสือลักษณะไหน เขามีอยู่ในใจแล้ว

…อีกประเภทคือลูกค้าที่ไม่รู้ และต้องการให้เราแนะนำว่าตัวหนังสือแบบไหนถึงจะเหมาะถึงจะเข้า

…เมื่อเรารู้รายละเอียดสินค้าแล้ว เช่นเป็นสินค้าเทคโนโลยี เขาอยากจะได้ตัวหนังสือที่ทันสมัยหน่อย เราก็จะเลือกให้เขา หรือเขาต้องการความสะอาด การออกแบบของเราอาจจะค่อนข้าง steamline นิดนึง เป็นเส้นที่ชัดเจน ตรงก็ตรงจริงๆ โค้งก็โค้งจริงๆ เป็นไปตามรายละเอียดที่ให้มา”

เมื่อออกแบบเสร็จแล้ว อาจมีบ้างที่ลูกค้าขอให้ปรับแต่งอีกเล็กน้อย

“ก็มีเหมือนกันครับ แต่ส่วนใหญ่เราต้องบอกลูกค้าเพราะบางครั้งถ้าเขาอยากจะเปลี่ยน ต.เต่า มันจะสะเทือนตัวอื่นด้วย

…อย่างก.ไก่มันไม่ได้อยู่ข้างข.ไข่ตลอดเวลา มันต้องไปอยู่ข้างตัวอื่นด้วย ฉะนั้นจะปั้นก.ไก่ให้มันสวยตัวเดียวไม่ได้มันต้องไปด้วยกันหมด เพราะบางครั้งเราเปลี่ยนตัวนึงแล้วมันจะลาม เราก็ต้องมีวิธีพูดกับลูกค้า ต้องอธิบายให้เขาฟังนิดนึง

…ถ้าอันไหนเราประนีประนอมกับเขาได้ เราก็จะทำ แต่อันไหนประนีประนอมแล้วมันจะสะเทือนไปอีกหลายๆตัว และเราคิดว่าอันนี้มันดีอยู่แล้วเราถึงเลือกให้ฟอร์มมันเป็นแบบนี้ เราก็จะบอกเขา แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเข้าใจ”

มีลูกค้าต่างชาติมาว่าจ้างให้เขาออกแบบตัวอักษรไทยแบบคัสตอมบ้างเหมือนกัน

“ที่เราทำไปแล้ว เป็นฟอนท์ที่ใช้บน อุปกรณ์อิเลคโทรนิค เช่น ตัวภาษาไทยบนจอมือถือ

…หรือเครื่องเล่นเอ็มพีสาม จะมีโปรแกรมให้ใส่ภาษาไทยได้ ทางสิงคโปร์ก็มาจ้างให้เราทำฟอนต์ไปใส่กับเครื่องเล่นเอ็มพีสาม ของเขา เพื่อจะได้บันทึกชื่อเพลงเป็นภาษาไทยได้ เลือกเมนูเป็นภาษาไทยได้

…อย่างนี้เขาจะไม่มีความรู้เลยเรื่องภาษาไทย เราก็ต้องอธิบายให้เขาฟังว่าเนื้อที่คุณให้มาไม่พอ ไม่สามารถจะบีบตัวหนังสือลงไปได้ในเนื้อที่จำนวนเท่านี้ เป็นต้น

…เขาก็ถามว่าเราทำภาษาอื่นหรือเปล่า ผมก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะไปทำภาษาอื่นยังไง ถ้าเกิดรู้ภาษาอื่นก็คงจะทำฮะ (หัวเราะ)”

นอกจากจะทำกิจการของตัวเองแล้ว เขายังปลีกเวลาไปสอนหนังสือด้วย เพราะอยากสร้างบุคลากรในสายอาชีพนี้เพิ่มขึ้น

“ตอนกลับมาแรกๆผมก็ไปสอนที่ ม.รังสิต แล้วมาสอนที่จุฬาฯแล้วมา ม.กรุงเทพ สอน ๓ ที่ไม่มีเวลาเลย ตอนนี้เลยเหลือสอนที่ม.กรุงเทพที่เดียว สอนเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ เป็นวิชาที่รวมไทป์ดีไซน์อยู่ในนั้น แต่ก็สอนกราฟฟิคดีไซน์อื่นๆด้วย

…Type Design ในมหาวิทยาลัยยังไม่ได้เป็นหลักสูตรยังผสมอยู่ แต่ตัวเด็กเองตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น แต่ก่อนเขาไม่รู้เลยว่าทำอย่างนี้ได้ แต่เดี๋ยวนี้เขาจะรู้แล้ว ทุกปีจะมีเด็กหลายคนที่ทำโปรเจ็คท์จบเกี่ยวกับฟอนท์ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีมาก

…ผมก็แต่งตัวไปสอนแบบนี้ล่ะครับ เสื้อยืดกับกางเกง ขาสั้น รองเท้ากีฬา แรกๆคณบดีก็เหล่ๆเหมือนกันว่าเราแต่งตัวไม่เรียบร้อย แต่ผมบอกว่ามันอยู่ที่สมองมากกว่า

…ผมชอบใส่ขาสั้นตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ก็แต่งแบบนี้ไปเรียน แต่เราเรียบร้อยนะ ไม่ใช่ใส่ขาสั้นแล้วไปกุ้ยๆ

ความที่เขาเป็นนักออกแบบตัวอักษร เราสงสัยว่าเวลาไปไหนมาไหน เขาอยากจะเปลี่ยนตัวหนังสือที่เห็นตามสองข้างทางบ้างไหม เขาตอบทันทีว่า

“ผมอยากเปลี่ยนเยอะมาก อย่างแรกเลยคือป้ายบอกทาง อย่างป้ายบอกทางหลวง ตัวหนังสือไม่เคยซ้ำกันเลยสักป้ายนึง ตกลงจะเอายังไงก็ไม่รู้ บางอันภาษาอังกฤษแบบนึง อีกอันภาษาอังกฤษแบบนึง

…ที่ขัดใจมากที่สุดคือรถไฟใต้ดิน สถานีพระราม ๙ แต่ขึ้นมาเป็น Rama 9 แต่ใช้ภาษาอังกฤษว่าพระราม ๙ งงมาก แล้วบางทีเลข 9 ก็เขียนเป็นเลขโรมัน (IX) บางทีก็เขียนเป็นเลขอารบิค

…หรือป้ายชื่อถนนที่เขียนเป็นภาษาไทย บางทีชื่อถนนยาวหน่อยแล้วป้ายมันแคบ เขาก็บีบตัวหนังสือ ผมโกรธมากเรื่องการบีบตัวหนังสือ ไปบีบไปยืดเขามันก็อ่านยาก บางทีขับรถบนทางด่วนจะหลงประจำ ไม่รู้ว่าแยกนี้ไปไหน

…แล้วมีทั้งป้ายบอกทางอันใหญ่ๆ ป้ายบอกทางอันเล็กๆแล้วมันไม่ได้เข้าชุดกันเลย ไม่ต้องทำจำนวนป้ายให้น้อยลงหรอกครับ ขอให้ตัวหนังสือให้เหมือนๆกันก็พอ ตัวหนังสือภาษาอังกฤษและภาษาไทยให้มันแม็ทช์กันสวยงามได้มั้ย

…ผมเห็นในรถไฟใต้ดินที่ต่างประเทศ เขาจะออกแบบตัวหนังสือของเขาเองเลยนะครับ อย่างที่อังกฤษเขาก็จะออกแบบของเขาเอง ใช้เฉพาะในระบบขนส่งมวลชนของเขา

…หรือการไปรษณีย์ของเยอรมันนีก็จะมีตัวหนังสือของเขาเอง หรือบริษัทโทรศัพท์ เยลโล่เพจเจส ก็จะมีตัวหนังสือของเขา เพราะเขาต้องคำนึงถึงว่าหน้าโทรศัพท์เท่านี้ ต้องใช้ตัวหนังสือที่พอยท์เท่านี้

…ล่าสุดวอลสตรีท เจอร์นัลด์ เขาจ้างให้คนออกแบบตัวหนังสือ เขาไม่เพิ่มหน้าหนังสือ แต่เขามีหุ้นที่ต้องรายงานเยอะขึ้น ก็คือทำยังไงให้หน้าหนังสือเท่าเดิม แต่ลงเนื้อหาได้มากขึ้นโดยที่ไม่เสียการอ่าน ต้องดีไซน์ตัวหนังสือใหม่ให้บีบเข้ามาแล้วยังสามารถที่จะอ่านได้ โดยที่ไม่แน่นเป็นพืดไปหมด นี่คือโจทย์เขา ถ้าเป็นบ้านเราก็บีบตัวหนังสือไปเลย แล้วคุณก็ไปเผชิญโชคชะตาการอ่านกันเอาเอง

…ที่อเมริกา ระหว่างรัฐเขาจะมีตัวหนังสือของเขาเลย ตัวหนังสือที่ป้ายเขาจะเหมือนกันหมดทั้งประเทศเลย เป็นระเบียบ

…บางคนอาจจะคิดว่าไอ้นี่มันบ้า แค่ป้ายพวกนี้ไปยุ่งอะไรกับเขา ให้ขับรถไปไหนถูกก็พอแล้ว แต่ผมว่ามันจะเป็นการปลูกฝังกับเด็กรุ่นใหม่ให้เห็นว่ามันมีความเป็นระบบระเบียบ ไม่ใช่สุกเอาเผากิน หรือนึกจะทำอะไรก็ทำบ้านเราเรื่องป้ายยังไม่เป็นระเบียบมากๆ

…หรือระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า รถใต้ดิน ถ้าจะเปลี่ยนตัวหนังสือก็ไม่ต้องรื้อทั้งระบบ เพราะยังมีเส้นทางน้อยยังใช้งบไม่มาก ถ้ามีเป็นสิบๆสายคงต้องใช้งบประมาณมหาศาลเลยผมอยากจะฝากเรื่องนี้ไว้ให้พิจารณา

…ผมว่าองค์กรส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ อาจจะคิดว่าค่าออกแบบแพง แต่มันใช้ได้ตลอด แล้วคุณไม่ต้องไปเสียค่า Royalty ให้ใครอีกแล้ว อย่าง เอไอเอส เขาคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เขาใช้คอมพิวเตอร์เป็นร้อยเป็นพันเครื่อง

…ถ้าคุณใช้ตัวหนังสือไลเซนส์จากต่างประเทศ เขามานับเครื่องนะครับ เขามาดูเลยว่าบริษัทของคุณมีคอมพิวเตอร์กี่ร้อยกี่พันเครื่อง แล้วคุณจะต้องจ่ายไลเซนส์เหมา แล้วคุณจะไปจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อนใช้ฟอนท์ที่ซ้ำกับคนอื่นทำไม ก็สั่งตัดสิแล้วคุณก็ใช้ตัวหนังสือของคุณไป จะกี่ร้อยกี่พันเครื่องก็เรื่องของคุณ คุ้มกว่ากันเยอะ

…คนไม่ได้มองตรงนี้ คนมองแค่เงินก้อนที่จะมาจ่ายเรา คัสตอม ฟอนต์ ผมว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว”

ตัวหนังสือเป็นสิ่งมีชีวิต มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งเขาบอกว่า

“ผมว่าทุกวันนี้คนเปิดใจรับตัวอักษรหน้าตาใหม่ๆมากขึ้น แต่ก่อนจะบ่นกันว่าตัวแบบนี้อ่านลำบาก ต้องมีหัวมีอะไร

…คือเราอาจจะคุ้นเคยกับตัวที่เราอ่านจากหนังสือเรียนจากทวพ. พอเราเจอตัวหนังสืออื่นๆที่ใช้ในทุกวันนี้ เช่น กิติธาดา ที่ออเรนจ์ใช้ตอนเข้ามาใหม่ๆก็บ่นกันว่าอ่านยาก ทุกวันนี้ก็อ่านกันสบายบรื๋อ เป็นเรื่องของความเคยชิน

…คือต้องปรับตัวเข้าหากันนิดนึง ไม่อย่างนั้นตัวหนังสือก็ต้องเป็นตัวเดิมไปเรื่อยๆถ้าเราปฏิเสธไม่อ่านตัวอื่นเลย ทุกวันนี้ผมว่าคนเปิดใจมากขึ้นที่จะอ่านตัวหนังสือตัวอื่นๆบ้าง

…อย่างที่ผมบอกว่าเดี๋ยวนี้ตัวหนังสือมันใกล้คนมากขึ้น แต่ก่อนหนี้เราเลือกเองไม่ได้ เดี๋ยวนี้ทุกคนเลือกแบบตัวหนังสือด้วยตัวเอง ต้องรู้จักตัวหนังสือ

…แต่ก่อนไม่จำเป็นต้องรู้จัก พิมพ์ดีดมีหน้าตาเป็นยังไงก็พิมพ์ไปอย่างนั้นน่ะ เดี๋ยวนี้เปิด Word ขึ้นมาจะพิมพ์รายงานส่งครู ยังต้องมานั่งเลือกเลยว่าพาดหัวจะเอาตัวไหน จะเน้นคำด้วยตัวไหน ขนาดตัวอักษรก็กำหนดเองหมด คือใกล้ชิดกับตัวหนังสือมากขึ้น”

ตัวหนังสือแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลาเป็นความเคยชินจนเราไม่เคยสงสัยถึงที่มาของตัวอักษรเหล่านี้ว่ามาจากไหน มีใครเป็นผู้ออกแบบ

คราวนี้เราก็ได้เห็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังของตัวอักษรต่างๆแล้วว่า ผู้ที่รังสรรค์มันขึ้นมา ก็คือนักออกแบบตัวอักษรนั่นเอง