สันติ ลอรัชวี / นิตยสาร a day weekly
➜ เวลาไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ วิธีสังเกตุว่าผู้คนในพื้นที่นั้นๆ สนใจเรื่องอะไรบ้าง ก็คือการไปดูตามแผงนิตยสาร มันทำให้ผมรับรู้เนื้อหาทางสังคมของพื้นที่เหล่านั้นได้ดีพอสมควร ถึงแม้ว่าการปรากฎขึ้นของนิตยสารบางฉบับจะไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้คนในสังคม แต่บางครั้งอาจมาจากความต้องการของผู้ผลิตนิตยสารเอง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางการตลาด หรือความต้องการทางความสนใจหรือความชอบ
อย่างไรก็ตาม แผงนิตยสารสำหรับผมก็ยังเป็นเสมือนป้ายแนะนำตัวเองของเมือง หรือสังคมหนึ่งๆ ที่ผมจะต้องไปยืนเปิดหูเปิดตาอยู่เสมอ
นิตยสารอาจเป็นสะพานเชื่อมโยงกลุ่มผู้คนที่มีความสนใจ ความชอบ ความเชื่อในเรื่องเดียวกันให้เกิดการสื่อสาร รับรู้ และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จนในที่สุดก็เกิดความเคลื่อนไหว หรือการตอบสนองบางอย่างของกลุ่มนั้นๆ อย่างเป็นรูปอธรรม
ขณะที่ผมยืนอยู่หน้าแผงนิตยสารแห่งหนึ่ง มีปกนิตยสารกว่า ๓๐ ฉบับ กำลังประชันโฉม อวดรูปแบบ และแข่งขันเรียกร้องความสนใจ ทั้งหัวนิตยสาร รูปนางแบบ ภาพประกอบ ข้อความพาดหัว ต่างทำงานกันอย่างแข็งขันเพื่อให้ผู้อ่านไได้สะดุดตาสะดุดใจ อันนำมาสู่การตัดสินใจซื้อ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญกับการเลือกซื้อนิตยสาร นอกจากเนื้อหาที่สนใจแล้วก็คือ รูปแบบของนิตยสาร ซึ่งผมมักจะลองซื้อนิตยารที่มีการออกแบบที่น่าสนใจ โดยมากก็มักจะเป็นการอ่านเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ทางการออกแบบเสียมากกว่า
ถ้าจะเปรียบการอ่านนิตยสารเหมือนกับการนั่งคุยกับคนคนหนึ่ง รูปเล่มและหน้าปกก็คงเป็นรูปร่างหน้าตา บุคลิกภาพ การแต่งกาย หรือท่าทางต่างๆ ของคนคนนั้น ส่วนเนื้อหาของนิตยสารก็เหมือนกับหัวเรื่องที่พูดคุยกัน และแบบตัวหนังสือของนิตยสาร ก็น่าจะเปรียบได้กับเนื้อเสียงของคนที่เรากำลังนั่งคุยด้วย นั่นคือประเด็นที่ผมอยากจะเขียนถึง แบบตัวอักษรที่ใช้ในนิตยสาร ซึ่งโดยมากนักออกแบบมักจะเลือกหรือซื้อแบบตัวอักษรสำเร็จรูปที่เห็นว่าเหมาะสมกับนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็นในเชิงรูปแบบหรือการอ่าน
บางครั้งการเลือกแบบตัวอักษรมาใช้ก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะแบบตัวอักษรภาษาไทย ซึ่งอาจมีความหลากหลายไม่พอในการใช้งาน เนื่องจากอาชีพออกแบบตัวอักษรในบ้านเรา ยังไม่สามารถยึดเป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงปากท้องได้ เพราะคนไทยยังมีความเคยชินในการใช้ฟอนต์หรือแบบตัวอักษรไม่เสียเงิน (ฟรี) อาชีพนักออกแบบตัวอักษรที่มีอยู่จึงเป็นเหมือนงานรอง ทำไปเพราะใจรักหรือนักออกแบบไว้ใช้กันเอง ไม่สามารถสร้างรายได้เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะขนาดแบบตัวอักษรที่ทำขึ้นมาใช้กันเองในวงแคบๆ บางทียังไปเจออยู่ในซีดีผีที่พันธุ์ทิพย์อยู่เสมอ
วัฒนธรรมการซื้อฟอนต์ตัวอักษรนั้น ไม่สามารถสร้างและทำให้เกิดการยอมรับได้ในวันนี้พรุ่งนี้ เนื่องด้วยวิชาชีพการออกแบบกราฟิกในบ้านเรายังมีปัจจัยบังคับหลายอย่างด้วยกัน การเพิ่มต้นทุนในการซื้อฟอนต์ของนักออกแบบขณะที่ลูกค้าที่เป็นผู้จ่ายเงินยังไม่สามารถทำความเข้าใจกับความจำเป็นของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ความเคยชินกับการให้กันง่าย ได้มาง่ายของนักศึกษาและได้มาอย่างง่ายของนักศึกษา และนักออกแบบด้วยกันเองเป็นต้น
อย่างไรก็ดี กระแสเชิงบวกที่ทำให้ความสำคัญต่อแบบตัวอักษรก็มีมากขึ้น และเห็นเป็นรูปอธรรมขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่การที่มีกลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันผลิตฟอนต์อักษรเพื่อขายในงานเทศกาลต่างๆ จนล่าสุดมีนิตยสารฉบับหนึ่งได้ว่าจ้างผลิตแบบตัวอักษรของตัวเอง เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะของนิตยสารฉบับนี้เท่านั้น
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นบ้างแล้วว่า โดยส่วนใหญ่นิตยสารบ้านเรามักจะใช้แบบตัวอักษรสำเร็จรูปที่มีอยู่แล้ว แต่การที่นิตยสารดีเอนเอฉบับปรับโฉมใหม่ได้ให้นักออกแบบตัวอักษรไทยอย่าง อนุทิน วงศ์สรรคกร มาออกแบบฟอนต์ที่ชื่อ ‘ทัศนะ’ เพื่อนำมาใช้เป็นตัวหัวเรื่อง และตัวโปรย และที่ชื่อ ‘อนุภาพ’ เพื่อนำมาใช้เป็นเนื้อความของนิตยสาร นับได้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญในการออกแบบนิตยสารของบ้านเรา การที่นิตยสารฉบับหนึ่งได้ให้ความสำคัญและพิถีพิถันต่อแบบตัวอักษรที่จะใช้ในเล่ม เพราะตัวอักษรก็คือเครื่องมือในการสื่อสารให้เราได้รับรู้เนื้อหานั้นๆ เราไม่อาจปฏิเสธว่าเนื้อเสียงของคนคนหนึ่งมีผลต่อการพูดคุยทั้งด้านการสื่อสารและด้านความรู้สึก ตราบใดที่เรายังใช้ภาษาเขียนเป็นเครื่องมือหลักในการอ่าน ฟอนต์ตัวอักษรก็มีความสำคัญเคียงคู่กับภาษาที่เราใช้ไปในขณะเดียวกัน
ผมดีใจ และตื่นเต้นต่อการเคลื่อนไหวนี้ ในฐานะผู้ใช้ฟอนต์ตัวอักษร…มาร่วมกันซื้อฟอนต์ไทย…ในฐานะนักออกแบบ…. มาร่วมกันสนับสนุนการออกแบบตัวอักษรไทย ในฐานะคนไทย… มาร่วมกันใช้ภาษาไทย