ถนนไปสู่ความชัดเจน (๒)

➜ บ่ายวันหนึ่งในปี ๑๙๙๒ มีคเกอร์ตัดสินใจที่จะพาทีมออกแบบของเขาออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อเข้าสู่สถานการณ์จริงที่มีความห่างของระยะทางและสภาพถนนจริง เขาได้นำตัวอักษรที่แตกต่างกันหลายแบบและหลายขนาดมาทำการทดสอบ มีทั้งฟอนต์ Highway Gothic และฟอนต์ของ Edward Johnston ที่ใช้เป็นป้ายคมนาคมในอังกฤษ Univers ที่สามารถพบเห็นได้ในรถไฟใต้ดินในกรุงปารีส และตัวอักษร DIN 1451 ที่ใช้ในป้ายถนนในเยอรมัน รวมไปถึง Helvetica ที่เห็นตามท้องถนนในยุโรป แต่ผลที่ได้กลับสร้างความประหลาดใจเพราะการทดสอบนั้นล้มเหลว ไม่มีตัวแบบใดเลยที่สามารถอ่านได้ในสภาพการทดสอบนี้ ทำให้เขาค้นพบว่าการออกแบบของเขาต้องเริ่มต้นจากศูนย์

ทีมออกแบบของมีคเกอร์ 2 คน คริสโตเฟอร์ โอฮารา (Christopher O’Hara) และ ฮาริเอต สเปียร์ (Harriet Spear) เลยออกแบบชุดตัวอักษรขึ้นใหม่โดยยึดเอา ฟอนต์ Highway Gothic เป็นต้นแบบ ซึ่งสิ่งที่เขาทำคือการตัดทอนความเทอะทะและส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้งไป เมื่อลงมือปฎิบัติโอฮาราก็พบว่ามันมีส่วนที่ไม่จำเป็นอยู่มาก ทั้งพื้นที่ของภายในแต่ละตัวอักษรที่มีิอยู่น้อย ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการอ่าน

สิ่งที่บ่งบอกถึงความสำเร็จแรกเกิดขึ้น ๒-๓ เดือนต่อมา ในเดือนมกราคม ปี ๑๙๙๓ เมื่อมีคเกอร์นำเอาแบบร่างของโอฮาราไปทำการทดสอบกับกลุ่มอาสาสมัคร นักวิจัยทางด้านจิตวิทยามนุษย์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลวาเนีย (PennState) สำหรับการทดสอบ Clearview ต่อที่สาธารณะครั้งแรก เขาให้อาสาสมัครนั่งบนเก้าอี้ที่สุดทางเดินชั้นใต้ดินของสถาบันกรมการขนส่งรัฐเพนซิลวาเนีย โดยโชว์ตัวอักษร Clearview บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่สว่างจ้า ซึ่งอยู่ปลายสุดของอีกฝั่งทางเดิน เพื่อเป็นการเลียนแบบภาวะจากปัญหาในการมองเห็น เขาปิดไฟทั้งหมด และทำให้ตัวอักษรบนหน้าจอพร่ามัว และแน่นอนว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ Clearview นั้นเห็นได้ชัดกว่า Highway Gothic แต่มันเป็นบทสรุปได้จริงหรือ?

หลังจากนั้น นักวิจัยเอาตัวอย่างออกไปทดสอบโดยให้คนขับรถจากเมือง State College ขับรอบถนนที่จำลองขึ้น โดยกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มเดิม นั่งที่เบาะหลังคอยบันทึกว่าระยะทางเท่าไรที่สามารถอ่านป้ายได้ชัดเจน ป้ายหนึ่งใช้อักษร Highway Gothic ส่วนอีกป้ายเซทด้วยตัวอักษร Clearview นักวิจัยนึกเอาชื่อเมืองที่อุปโลกน์ขึ้นเอง เช่น Dorset และ Conyer ในการทดสอบตอนกลางคืน ผลออกมาว่า คนขับรถสามารถอ่านป้ายโดยที่เรียงโดยใช้ตัวอักษร Clearview ได้ชัดกว่าตัวอักษร Highway Gothic ถึง ๑๖ เปอร์เซนต์ นั่นหมายถึง คนขับรถที่ขับ ๖๐ ไมล์ต่อชั่วโมง มีเวลาตัดสินใจเพิ่มขึ้น ๑ ถึง ๒ วินาที ซึ่งนั้นมีความหมายมากต่อการตัดสินใจขณะขับรถด้วยความเร็ว

ข่าวการทดสอบของรัฐเพนซิเวเนียกระจายไปถึงสถาบันการขนส่งของเท็กซัส (Texas Transportation Institute) เพื่อให้แน่ใจในสรรพคุณ เลยต้องการตั้งรูปแบบการทดสอบของรัฐเท็กซัสขึ้นเอง จึงได้เกิดการติดต่อขอฟอนต์ Clearview เพื่อไปทำการทดสอบ แต่มีคเกอร์ยังต้องการที่จะพัฒนาและขัดเกลาฟอนต์ของเขาให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเขาต้องการคำแนะนำจากนักออกแบบตัวอักษรโดยตรง ซึ่งชื่อของ เจมส์ มอนเทลบาโน ก็ปรากฏขึ้น เขาเป็นนักออกแบบตัวอักษรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ที่ออกแบบตัวอักษรให้กับนิตยสาร Glamour และ Vanity Fair

การพบกันครั้งแรก เมื่อมีคเกอร์นำแบบร่างตัวอักษร Clearview ของเขาให้มอนเทลบาโนดู เขาก็พูดถึงข้อบกพร่องของตัวอักษรของมีคเกอร์ต่างๆนาๆว่าไม่มีความสง่าเลยแม้แต่น้อย ดูแข็งทื่อ บางตัวดูหนาบางไม่เท่ากัน เส้นพื้นฐานไม่สม่ำเสมอ เหมือนตัวอักษรโอนเอนไปมา หลังจากนั้นมีคเกอร์เลยตัดสินใจจ้างมอนเทลบาโนเป็นหนึ่งในทีมออกแบบของเขา เพื่อให้ปรับแต่งและขัดเกลาฟอนต์ Clearview ให้สมบูรณ์ จุดบกพร่องที่สำคัญของ Highway Gothic คือพื้นที่ภายในตัวอักษรเล็กเกินไป ทำให้เป็นปัญหาสำคัญต่อการอ่าน อย่างเช่นตัว “o” เมื่อมองมองในระยะไกล โดยเฉพาะในเวลากลางคืน อาจทำให้เห็นเป็นตัว “a”หรือตัว “e” ได้ การเพิ่มพื้นที่ให้กับตัวอักษร Clearview จึงเป้นทางออกที่ดีที่สุดที่จะเพิ่มศักยภาพในการอ่านได้

หลังจากนั้นมีคเกอร์และทีมออกแบบของเขาก็พยายามนำฟอนต์ Clearview ที่ออกแบบไปนำเสนอแก่รัฐบาล ซึ่งผลที่ตามมาไม่ได้เป็นอย่างที่คาดไว้เพราะมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ ในระหว่างที่ขั้นตอนผ่านไปอย่างช้าๆ เขาก็ค่อยๆพัฒนาฟอนต์ให้สมบูรณ์และมีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

Clearview เป็นตัวอักษรแบบที่ไม่มีฐาน ลักษณะตัวอักษรแบบนี้เกิดขึ้นในช่วงปี ๑๙๒๐ อย่าง Futura ต่อมาในช่วงยุค ๕๐ ก็มี Helvetica เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันตัวอักษรรูปแบบนี้เป็นทางเลือกที่ดูดี สวยงามและดูร่วมสมัย ไม่ต้องมีรายละเอียดเยอะของฟอร์มที่ต้องจดจำ

ตัวอักษรคือหน้าตาและการแสดงความเป็นตัวตนของแบรนด์ เช่นเดียวกับหน้าตาป้ายตามท้องถนนของเมืองใหญ่ ตัวอักษรสามารถบอกได้กระทั่งเรากำลังอยู่ที่ไหน หรือแม้แต่ในช่วงเวลาใดยุคใด ในสมัยที่ Highway Gothic เกิดขึ้นพร้อมกับถนนเชื่อมต่อระหว่างรัฐ (Interstate) มันก็เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยแห่งอนาคต

ในขณะที่มอนเทลบาโนพยายามปรับตัวอักษรให้สมบูรณ์มากขึ้นเท่าไหร่ เขาก็กลับยิ่งพบเจอปัญหามากขึ้น เมื่อเขาเพิ่มความหนาของตัวอักษร ก็ยิ่งทำให้พื้นที่ภายในตัวอักษรลดน้อยลง ทำให้กลับไปอ่านยากเหมือนเดิม ผลเสียร้ายแรงที่สุดก็คือมันจะกลับไปซ้ำรอยข้อผิดผลาดเดิมของที่ Highway Gothic เป็นอยู่ นั่นก็เท่ากับว่าที่เขาทุ่มเททำมาทั้งหมดสูญเปล่า แต่ในที่สุดทีมออกแบบก็พบทางออกสำหรับปัญหานี้ จากข้อดีของการใช้ตัวพิมพ์เล็ก โดยออกแบบให้ตัวอักษรพิมพ์เล็กสูงขึ้นกว่าปกติ เรียกว่าการเพิ่มความสูง X-Height ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้มีเพิ่มอากาศภายในตัวอักษรให้มากขึ้น ทำให้สามารถอ่านได้ง่าย เขาลองสาธิตโดยการหยิบกระดาษทิชชู่มาเขียนตัวอักษร “HELLO” ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ และลองให้มองจากระยะไกล คุณจะพบว่าสิ่งที่เห็นคือพื้นเนคกาทีฟที่สี่เหลี่ยมสีขาวและเส้นแนวตั้งแนวนอนอยู่บนกระดาษ แต่เมื่อเขาลองเขียนคำว่า “Hello” โดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่รวมกับตัวพิมพ์เล็กจะพบว่าอ่านได้ง่ายขึ้น และเมื่อนำตัวพิมพ์เล็กมาเพิ่มความสูง X-Height ให้ขนาดสูงเกือบเท่าตัวพิมพ์ใหญ่ ทำให้ตัวอักษรมีพื้นที่ภายในเพิ่มมากขึ้นถึง ๑๕ เปอร์เซนต์ นั่นหมายความว่าเมื่อพื้นที่ภายในตัวอักษรเพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้สามารถอ่านง่ายได้ขึ้นมากกว่าเดิม

มีคเกอร์และมอนเทลบาโนจึงยึดเอาหลักการนี้ มาใช้ในการพัฒนาฟอนต์ Clearview จนประสบความสำเร็จ และได้นำตัวอักษรที่ออกแบบเสร็จสมบูรณ์มาทำการทดสอบที่ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลวาเนีย (Penn State) อีกครั้ง โดยใช้เงินลงทุนส่วนตัวในการนำตัวอักษรมาพิมพ์จริงลงบนป้ายเพื่อนำไปใช้กับถนนจำลอง ในการสาธิตครั้งนี้เขาได้เชิญกรมทางหลวงกลางและกรมทางหลวงของแต่ละรัฐมาร่วมการทดสอบ ซึ่งทดสอบโดยการนำป้ายที่ใช้ฟอนต์ Clearview และ Highway Gothic มาทำการทดสอบเทียบกัน ซึ่งจากการทดสอบทำให้พบว่าป้ายที่เคยสามารถอ่านได้ในระยะ ๗๐๐ ฟุต ศักยภาพของป้าย Clearview ทำให้สามารถอ่านได้ในระยะ ๙๐๐-๑๐๐๐ ฟุตเลยทีเดียว คนที่ร่วมดูการทดสอบต่างแทบไม่เชื่อสายตาของตัวเอง ผลสรุปของฟอนต์ Clearview ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะสามารถพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการอ่านได้จริง

มอนเทลบาโนบอกว่าความสำเร็จทุกอย่างเริ่มต้นโดยได้แรงบันดาลใจจากการแก้ปัญหาป้ายของถนนในโอเรก้อน ก็จริง ซึ่งได้กลายมาเป็นความสำเร็จของฟอนต์ Clearview ในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ทำให้เขาสนุกและตื่นเต้นกลับไม่ใช่เรื่องนั้น เพราะความท้าทายสำหรับเขาอยู่ที่การทำทุกอย่างให้ได้มาตรฐานเดียวกันในระดับสากล ซึ่งมีจุดยืนที่เน้นความสามารถในการอ่านง่ายของฟอนต์ การออกแบบ Clearview ให้ครอบคลุมภาษาอื่นๆเพื่อให้เข้าชุดกัน

แบบตัวอักษรแท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ต่างคนก็ต่างมุมมอง ฟอนต์ที่ได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นที่ยอมรับสำหรับทุกคน ทั้งนี้อาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหรือแง่มุมหลายอย่าง เช่นความเคยชินจากการอ่าน ปัญหาสายตาเฉพาะบุคคล ขนาดตัวอักษร วัสดุที่ใช้ในการพิมพ์ หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ที่แตกต่างกัน แบบตัวอักษรจึงกลายเป็นเรื่องไม่ชัดเจนและไม่สามารถที่จะคาดเดาได้

จากการเริ่มต้นที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสิ่งเล็กน้อยได้กลายเป็นการเกิดสิ่งใหม่ที่ยิ่งใหญ่ต่อมวลชน แต่ความยิ่งใหญ่นั้นอาจเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ทันสังเกตเห็นด้วยซ้ำถึงการเปลี่ยนแปลง เช้าวันหนึ่งที่คุณขับรถอยู่บนท้องถนน คุณอาจรู้สึกโล่งสบายตาชัดเจนอย่างน่าประหลาด แต่จะมีซักกี่คนที่รู้ถึงที่มาหรือสาเหตุการเปลี่ยนแปลงนั้น

หมายเหตุ:
ป้ายทางหลวงใหม่ที่ใช้ Clearview เริ่มมีการติดตั้งไปบ้างแล้วในบ้างรัฐร่วม ๒๐ รัฐ และจะทะยอยไปจนครบทั้งระบบขนส่งทางภาคพื้นดินในเร็ววันนี้ ด้วยการค่อยๆใช้งบเปลี่ยนป้ายทางหลวงไปเป็นแบบใหม่ที่ใช้ Clearview ไปเรื่อยๆทีละป้าย รัฐเพนซิลวาเนียและเท็กซัสเป็นสองรัฐแรกที่อยู่แถวหน้าของการเปลี่ยนแปลงนี้

บทความนี้ใช้ข้อมูลพื้นฐานอ้างอิงจาก The Road to Clarity ของ โจชัวร์ ยัฟฟา (Joshua Yaffa) ตีพิมพ์ในนิตยสารนิวยอร์คไทม์ (นิตยสารฉบับวันวันอาทิตย์) ประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๐ เรียบเรียงและแปลเป็นภาษาไทยโดย อนุทิน วงศ์สรรคกร และ สุพิสา วัฒนะศันสนีย