ชีวิตคนเรามีความผูกพันกับเรื่องโชคชะตา การทำนายทายทัก ไม่ว่าจะเป็นชะตาของปัจเจกบุคคล ที่สามารถถอดรหัสได้จากลายเซ็นไปจนถึงลายเท้า ไหนจะชะตาของบ้านเมือง ชะตาของกิจการห้างร้าน ซึ่งรวมไปถึงการทายทักจากสิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรม การออกแบบตกแต่งภายใน และนวัตกรรมล่าสุด การทำนายทายทักจากลักษณะงานออกแบบกราฟิก!
ผมจำได้ว่าสมัยที่ยังเรียนปริญญาตรีนั้น มีเพื่อนสาขาออกแบบตกแต่งภายในจำนวนไม่น้อย ที่แห่กันไปซื้อหนังสือเกี่ยวกับฮวงจุ้ยมานั่งศึกษา แต่นักศึกษาเดี๋ยวนี้เขานับเรื่องนี้เป็นเรื่องเคร่งเครียดมากขึ้น ไปลงเรียนนอกมหาวิทยาลัยกันเป็นเรื่องเป็นราวก็มี ไม่ต้องไปนับศาสตร์ทางสถาปัตยกรรม
ผมว่าเขาเผชิญกับเรื่องความเชื่อนี้มาแต่ไหนแต่ไร บางทีฟังเรื่องที่เพื่อนหรือเพื่อนของเพื่อนเล่าถึงการแก้แบบเป็นพัลวัน ด้วยเพราะเหตุผลพิสดารต่างๆ นาๆ คนฟังนั้นบันเทิง แต่คนทำนั้นตลกทั้งน้ำตา และในที่สุดผมเองก็เริ่มเผชิญกับตนเองบ้างแล้ว… ไม่ว่าจะเป็นดูดวงบริษัท ดูลักษณะของโลโก้ ถูกทำนายทายทักเรื่องแบบตัวหนังสือที่ใช้ หนักข้อถึงการเลือกแบบตัวหนังสือให้ใหม่ก็มี เปลี่ยนสีและถึงกับมีบัญชาให้ใช้สีอะไร โดยมีสีตัวเลือกมาให้เสร็จสรรพ อันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าผู้ชำนาญการเหล่านั้นไปร่ำเรียนมาจากสำนักออกแบบใด
ปรากฏการณ์ก่อนหน้านี้ก็คือการแห่ไปศึกษาเรียนรู้เรื่องฮวงจุ้ยและศาสตร์ใกล้เคียงของสถาปนิก ตามติดมาด้วยนักออกแบบตกแต่งภายใน ที่เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการตัดตอนปัญหาที่จะต้องพบเจอจากลูกค้า ที่ส่วนมากตั้งอยู่บนความเชื่อดังกล่าว กล่าวคือถ้ามีความรู้เรื่องนี้แล้ว จะได้ออกแบบให้สอดคล้องตามหลักฮวงจุ้ย ซึ่งผมว่าเหตุผลลึกๆ ที่แท้จริงนั้น น่าจะเป็นการอุดช่องว่างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับลูกค้าผู้คลั่งคำทำนายเสียมากกว่า อย่างน้อยก็นั่งยันนอนยันกับลูกค้าได้สะดวกใจขึ้น เพราะนักออกแบบเป็นนักทำนายเสียเองด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่างานน่าจะมีปัญหาน้อยลง และสามารถปิดงานได้เร็วขึ้น
ผมเคยบรรยายเกี่ยวกับการออกแบบอยู่หลายครั้ง บอกให้ใครต่อใครเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติ คราวนี้ผมชักไม่แน่ใจว่านักออกแบบเลขนศิลป์ (กราฟิก) ควรจะศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถาปัตยกรรมศาสตร์และออกแบบตกแต่งภายใน แล้วตีความอย่างไร?
นักออกแบบกราฟิกควรที่จะกระโดดเข้ามาศึกษาเรื่องการทำนายทายทักและฮวงจุ้ย โดยเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถาปัตยกรรมศาสตร์และออกแบบตกแต่งภายในหรือไม่? หรือควรแก้ไขปัญหา โดยปรับการออกแบบให้สอดคล้องกับความเชื่อทางโหราศาสตร์ของคนส่วนใหญ่? หรือนักออกแบบกราฟิกควรที่จะนำตรงนั้นมาเป็นบทเรียน ช่วยกันใส่ใจโดยให้ความรู้กับลูกค้าและบุคคลใกล้ชิด รวมทั้งหาวิธีป้องกัน ไม่ให้การล่วงละเมิดทางวิชาการขยายวงกว้างออกไปในสาขาอื่นๆ อีก ผมไม่สงสัยเลยว่า การที่คนทั่วไปมีความเข้าใจการออกแบบที่คลุมเครือนั้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ลักษณะนี้
ในวงสนทนาระยะหลังนี้ ทำให้ผองเพื่อนนั่งสะท้อนใจหลายครา เพราะเราเริ่มพบว่าลูกค้ารายยิ่งใหญ่ ปัญหาเรื่องนี้ก็ยิ่งมาก ไหนจะต้องเสนองานลูกค้า ยังต้องส่งอีกชุดทางอีเมล์ไปให้หมอดู อ่านถูกแล้วครับ “อีเมล์” ฟังดูแล้วมันสวนทางกันกับคอนเซ็ปต์ของดาราศาสตร์อย่างไรพิกล ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจดีกับวงการบริหารธุรกิจ แต่ที่แน่ๆ ผมเสียใจกับวงการออกแบบ จึงทำให้เกิดคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบขึ้นว่า เขาขโมยเอาคำว่าผู้ชำนาญการทางด้านการออกแบบไปจากชีวิตเรา แล้วย้ายไปอยู่ในชีวิตเขาได้ตอนไหน? อย่างไร? แปลกแต่จริง ที่ในบางครั้งความรู้สึกส่วนตัวของผู้ทำนายทายทักเป็นอาชีพ สามารถใช้ตอบแทนความถูกต้องและความคิดเห็นอื่นๆ ได้อย่างไม่มีข้อกังขา
ผมอดคิดไม่ได้ว่า เราจะเรียนการออกแบบกันไป เพื่อสนองความต้องการหรือความชอบส่วนตัวของบุคคลดังกล่าว ที่มีความเชื่อตั้งอยู่บนพื้นคนละระนาบหรือ?
สำหรับผมนั้น การดูฮวงจุ้ยหรือศาสตร์ใกล้เคียง มีประมาณสองมิติ มิติแรกเป็นอะไรที่สามารถเข้าใจได้ด้วยเหตุและผล สามารถอธิบายได้โดยมีวิธีคิดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม และวิทยาศาสตร์ บางความคิดในมิตินี้ มันทำให้ผมทึ่งเสียด้วยซ้ำ ว่าไปแล้วหลักการเหล่านี้มีมาตั้งแต่โบราณกาล มีนัยยะและกลยุทธ์ในการถ่ายทอดความรู้ที่น่าสนใจ ส่วนมิติที่สองนั้น ออกจะเป็นการอธิบายความเชื่อ ด้วยความเชื่ออีกที ซึ่งจะพาดพิงถึงข้ออ้างเรื่องดวงชะตา ความเชื่อส่วนบุคคล และเหตุผลอื่นๆ ที่คุณหรือผมหาเหตุผลมาหักล้างไม่ได้ และมักจะจบลงด้วย “เชื่อหรือไม่เชื่อ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคล”
การจะประเมินค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราก็สมควรที่จะหาหลักในการประเมินที่มีเหตุและผล สามารถอธิบายได้ การใช้ไม้บรรทัดที่มีหน่วยเป็นนิ้ว ไปใช้เพื่อวัดสิ่งของที่มีหน่วยเป็นเซ็นติเมตร มันก็คงจะไม่ได้ตัวเลขที่ถูกต้องนัก ไม่ต่างอะไรเลยกับการใช้ไม้บรรทัดที่ยังไม่มีความชัดเจนในหน่วยวัดของตนเอง มาวัดประเมินงานออกแบบที่มีหลักการเป็นเหตุและผลบนพื้นฐานการศึกษาเป็นที่ตั้ง
อ่านมาถึงตรงนี้ คงจะมีคำถามว่า สุดท้ายแล้วผมเชื่อเรื่องดวงชะตาไหม? ผมไม่ได้พยายามจะบอกว่าไม่เชื่อเสียทีเดียว เพราะมันไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน ก็เพราะว่ามันไม่ชัดเจนน่ะสิ แล้วทำไมเราจึงชอบกันเหลือเกิน ที่จะนำเอาความไม่ชัดเจน มาตัดสินอะไรที่มันสามารถพิสูจน์ได้ชัดเจน?