กิล แซนส์ งานออกแบบร่วมสมัย ของ จอนส์ตัน

➜ หากไม่ใช่เพราะ แสตนลี่ มอริสัน (Stanley Morison) แล้ว เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นชุดอักษรที่ชื่อ Gill Sans ได้สำผ้สกับหมึกพิมพ์ หลายคนอาจจะเริ่มมีคำถามในใจว่า เหตุใดจึงไม่เป็นเพราะ อีริค กิล (Eric Gill) ในฐานะเจ้าของแบบตัวอักษรชุดนี้ ชื่อของฟอนต์ตัวนี้ก็ยังบ่งบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าใครเป็นคนออกแบบ

ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบนั้น บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการออกแบบตัวอักษรที่ผลิต และจัดจำหน่ายฟอนต์ ก็คงจะไม่มีใครเกิน โมโนไทป์ (Monotype) แห่งเกาะอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันชื่อของโมโนไทป์ ก็ยังคงเป็นชื่อใหญ่ที่วนเวียนอยู่ในวงการทุกวันนี้ แสตนลี่ มอริสัน นั้นก็คือผู้นักออกแบบ และหัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์ของโมโนไทป์ แสตนลี่ มอริสัน คนนี้เองที่เป็นผู้ชี้ขาดทิศทางของฟอนต์ที่จะถูกเลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวโมโนไทป์

ท่ามกลางกระแสความนิยมของตัวอักษรแบบ ฟิวเจอร์ริสซึม (Futurism) อย่าง Futura ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เกินความคาดหมาย เหตุเพราะคนส่วนใหญ่คาดคะเนกับแนวคิดเชิงอุตสาหกรรมใหม่อย่าง ฟิวเจอร์ริสซึม คลาดเคลื่อน หลายคนในยุคนั้นคิดว่าแนวคิดนี้จะไม่สามารถพาตนเองขึ้นมาบนกระแสหลักได้

Futura ฟอนต์ที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของแนวคิด ฟิวเจอร์ริสซึม ได้สร้างมาตรฐานใหม่ และสร้างสามารถใหม่ของการอ่านตัวอักษรที่มีลักษณะเป็นเรขาคณิต แรงผลักจาก Futura ยังได้ส่งอนิสงให้กับฟอนต์จากค่ายต่างๆในเยอรมันนีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงของประเทศที่ใช้แบบตัวอักษรบนพื้นฐานละติน หรือที่คนไทยเราเรียกกันว่าตัวอักษรแบบภาษาอังกฤษ

หลังจากที่ โมโนไทป์ ภายใต้แสตนลี่ มอริสัน เข้ามารับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ให้กับโมโนไทป์ เขาได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทะยอยนำชุดตัวอักษรเก่าๆของโมโนไทป์เอง นำมาออกแบบปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยทั้งในด้านของเทคโนโลยี และการปรับปรุงในเชิงการออกแบบ ซึ่งทำให้ มอริสัน เห็นช่องว่างของตระกูลฟอนต์โมโนไทป์ในขณะนั้น นั่นก็คือการขาดฟอนต์แบบอักษรไร้เชิงหรือที่เรานิยมทัพศัพย์ว่า Sans Serif ในแบบที่ดูทันกับยุคและสมัย มอริสันต้องการแบบตัวอักษรใหม่ที่จะสามารถแย้งชิงตลาดจากกระแสของ Futura และค่ายฟอนต์ใหม่ๆในเยอรมันนี ให้กลับมาสู่โมโนไทป์

หากใครคุ้นเคยกับระบบอันเดอร์กราวน์ของกรุงลอนดอน ก็เรียกได้ว่าต้องเคยผ่านตาหรืออ่านข้อมูลต่างๆผ่านการเรียบเรียงและส่งสาร โดยเจ้าแบบตัวอักษรที่มีหน้าตาละม้ายกับ Gill Sans มาบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าคุณเป็นนักออกแบบที่ช่างสังเกตุ และเคยได้สำผัส หรือเรียกใช้ฟอนต์ Gill Sans มาก่อนก็คงจะดูรู้ทันทีว่าเหตุใดคำว่าละม้ายจึงถูกหยิบยกมาใช้แทนคำว่าเหมือน เพราะหากสังเกตุให้ดีแล้วมีข้อแตกต่างอยู่หลายจุดทีเดียวเช่น loop ของตัว g หรือความหนาบางที่ต่างกันของส่วนเชื่อมต่างๆระหว่างเส้นตั้ง (stems) เมื่อทราบเช่นนี้ ลองใช้ความช่างสังเกตุส่วนตัว เราจะสามารถหาจุดต่างได้มากทีเดียว แต่หากมองผ่านกันอย่างผิวเผินแล้วก็อาจจะเหมาได้ว่าเป็น Gill Sans ก็คงไม่ถูกนักเพราะดูเหมือนจะไม่เป็นการให้เกียรติเจ้าของผลงานที่แท้จริง

แบบตัวอักษรดังกล่าว ที่พยายามสื่อและส่งสารกับผู้คน ในระบบอันเดอร์กราวน์ของกรุงลอนดอนมาหลายทศวรรษโดยไม่เคยบกพร่องในหน้าที่ หากตัวอักษรที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าเป็น Gill Sans แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ แล้วมันคืออะไร?

โครงการการออกแบบชุดตัวอักษร สำหรับระบบอันเดอร์กราวน์ของกรุงลอนดอนนั้น ถูกริเริ่มขึ้นในปี คศ. 1916 อยู่ในความรับผิดชอบของนักออกแบบตัวอักษรชื่อดังชาวอังกฤษ เอ็ดเวิดท์ จอนส์ตัน (Edward Johnston) แบบตัวอักษรนี้เป็นการว่าจ้างออกแบบโดยระบบขนส่งมวลชนของกรุงลอนดอนเพื่อใช้ในระบบอันเดอร์กราวน์ (พออ่านถึงตรงนี้ก็อดชวนให้คิดเปรียบเทียบ ถึงระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพของเรา ที่ไม่ได้คิดถึงรายละเอียดในชั้นความคิดลักษณะนี้) ฟอนต์ชุดนี้นั้นมีชื่อเรียกเล่นๆว่า Underground บ้างยังเรียกฟอนต์นี้โดยใช้ชื่อสกุลของเอ็ดเวิดท์ Johnston เป็นชื่อเรียกเสียด้วยซ้ำ เอาหละอาจจะเริ่มงงกันแล้วว่าทีนี้ อีริค กิล และ Gill Sans เข้ามาอยู่ในเรื่องทั้งหมดนี้ได้อย่างไร?

จอนส์ตันได้มาพบรู้จักกับ อีริค กิล นักออกแบบจบใหม่ที่เข้ามาฝึกงาน ที่สุดท้ายได้กลายมาเป็นลูกมือของจอนส์ตัน ในระหว่างที่เขาพยายามที่จะจบงานออกแบบตัวอักษรชุดดังกล่าว จากการแบบร่างของ Gill Sans เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ากิลนั้นได้อิทธิพลมากเพียงใดจากประสบการณ์การร่วมงานกับจอนส์ตันในครั้งนั้น เพราะมันได้สะท้อนในงานช่วงต่อมาของตัวเขาเอง ก่อนที่ กิล จะได้มีโอกาสพบและรู้จักกับ แสตนลี่ มอริสัน แห่งโมโนไทป์

หลายปีผ่านไปหลังจากที่ทั้งคู่ได้รู้จักกัน มอริสันได้เริ่มจริงจังกับการหาแบบอักษรที่เป็นต้นแบบในการออกแบบ Sans Serif ในหมวดที่ไปในทิศทางของ Futura เพื่อเหตุผลทางการตลาด กิล เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะเสนอผลงานของตนเองเพื่อเข้ามาสู่วงการจัดจำหน่ายแบบตัวอักษร กิล นำผลงานของตนเองที่พัฒนาต่อมาจากวันที่เขาได้ร่วมงานกับจอนส์ตัน มาให้มอริสันพิจารณาถึงความเป็นไปได้ หลังจากที่มอริสันได้เห็นงานออกแบบทั้งชุดแล้ว เขารู้สึกแปลกประหลาดใจมากที่ แบบตัวอักษรที่ออกแแบบโดยเทียบเคียงกับแบบตัวอักษรจากอันเดอร์กราวน์ นั้นอาจจะเป็นแบบตัวอักษรที่เขากำลังมองหา และน่าจะทำการตลาดได้ดี และแน่นอน อีริค กิล ก็คือบุคคลที่เข้ามาดูแลโครงการนี้ให้กับโมโนไทป์

เหตุใด Gill Sans จึงเป็นฟอนต์ที่น่าสนใจ จุดเด่นที่ดีของ Gill Sans คืออะไร? แบบตัวอักษรชุดนี้ จะว่ากันไปแล้ว ถูกออกแบบโดยใช้ x-height ที่เตี้ยกว่าฟอนต์ที่ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งอย่าง Futura, Helvetica หรือ Frutiger เสียด้วยซ้ำ โดยทั้วไปทฤษฏีว่าด้วยความสมบูรณ์ของการอ่าน Sans Serif นั้น ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็คือการที่มีตวามสูงของ x-height ที่พอดิบพอดี แทบจะเรียกว่าเป็นไม้บรรทัดหลักของการตัดสินคุณภาพของการอ่านเลยทีเดียว แต่ Gill Sans ก็ฉีกตำรานั้นทิ้งด้วยการอ้างอิงสัดส่วนกับแบบตัวอักษร Oldstyle และพยาามเป็น Sans Serif ที่แสดงเจตนาเลี่ยงความเป็นเรขาคณิต จึงทำให้ Gill Sans ได้คุณภาพของการอ่านจากหลักการออกแบบดังกล่าว แทนที่จะเป็นไปตามครรลองของแบบตัวอักษรไร้เชิงทั่วไป

นอกจากนี้ก็ยังมีผลดีที่ไม่ได้คาดหมายตามมา สืบเนื่องจากการที่ใช้การออกแบบความสูง x-height ที่ค้อนข้างต่ำ ทำให้ความกว้างของตัวอักษรต้องมีความสัมพันธ์กันไปด้วย จึงเป็นที่มาของความกว้างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นก็คือมีความกว้างน้อยกว่าตัวอักษร Sans Serif อื่นๆ จุดนี้จึงกลายเป็นข้อได้เปรียบอีกข้อของ Gill Sans เพราะสามารถพิมพ์ข้อความได้จำนวนมากกว่าในพื้นที่เท่ากัน หากเปรียบเทียบกับตัวอักษรไร้เชิงอื่นๆ

จากวิธีคิดแบบ Serif แต่แสดงออกแบบ Sans Serif นี่เอง ทำให้แบบตัวอักษรชุดนี้มีลักษณะความหนาบางมากกว่าแบบตัวอักษรไม่มีเชิงทั่วไป จึงเป็นเหตุให้ผู้อ่านรู้สึกสบายตาเพราะความคุ้นเคยกับการอ่านข้อความจากแบบตัวอักษร Oldstyle อยู่เดิมเป็นทุน ทำให้ Gill Sans ดูเป็นมิตรมากกว่าแบบตัวอักษรไร้เชิงที่ร่วมยุคกัน ซึ่งสะท้อนความเย็นชาของระบบอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยหลักการการออกแบบให้เป็นหรือใกล้เคียงความหนาเดียว (monoweight) หลักการ และแนวทางการออกแบบตัวอักษรไม่มีเชิงในวิถีของ Gill Sans จึงถือเป็นที่มาของคำว่า Humanist Sans ในเวลาต่อมา ซึ่งคำนี้ก็ได้ถูกรับลูกกันมาเพื่อใช้นิยามแบบตัวอักษรไร้เชิงในลักษณะนี้

เมื่อครั้งที่ Gill Sans ถูกนำออกมาขายในเชิงพาณิชย์นั้น ยังเป็นยุคของการใช้การเรียงพิมพ์ด้วยตัวหล่อโลหะ แต่ตัว อีริค กิล เอง และทีมออกแบบสนับสนุนที่โมโนไทป์ ก็ยังเพียรพยายามสร้างแบบตัวอักษรชุดนี้ขึ้นมาถึง 36 แบบชุดความหนา ชุดตัวประดิษฐ์ Gill Sans กลายเป็นฟอนต์ที่ทำเงินให้กับโมโนไทป์ และสร้างชื่อเสียงให้กับค่ายนี้ในยุคของตลาดตัวหนังสือแบบไม่มีเชิง อีกทั้งยังทำให้โมโนไทป์หลุดพ้นจากภาพพจน์เดิมๆของการที่เป็นค่ายฟอนต์ที่ผลิตแต่แบบอักษรในแนว Oldstyle

ทีมงานโมโนไทป์ได้ปรับปรุงแก้ไข Gill Sans ทางเทคนิคอีกหลายครั้งหลังจากที่ข้ามผ่านมาในยุคดิจิตอล เพื่อให้ฟอนต์ชุดนี้ได้มีที่ยืนต่อไปในงานออกแบบร่วมสมัย โดยพยายามยึดกับการออกแบบดั่งเดิมของ อีริค กิล ให้มากที่สุด นอกจากนี้แล้วโมโนไทป์ยังได้เพิ่มเติมความหลากหลายด้วยแบบอักษรและคำพิเศษ รวมทั้งแบบสำหรับภาษาอื่นๆอีกเช่น กรีก และ รัสเซีย รวมๆกันทั้งหมดกว่า 50 ความแตกต่าง ทุกวันนี้โมโนไทป์ก็ยังคงจำหน่าย Gill Sans และได้ผลตอบแทนจากฟอนต์ตระกูลนี้ ที่กลายมาเป็นการออกแบบคลาสสิค และสามารถจำหน่ายได้เสมอ

สิ่งที่ทำให้งานของ อีริค กิล แตกต่างจาก เอ็ดเวิดท์ จอนส์ตัน ก็คือการพัฒนาแบบตัวอักษรบนโครงสร้างของ จอนส์ตัน โดยท้าทายกฏเกณฑ์ด้วยการ สร้างแบบในลักษณะข้อต่อเรียบ จะสังเกตุได้จาก ช่วงล่างของตัวอักษร “d” ช่วงบนของ “p” และ “q” นั้นจะเรียบโดยไม่มีจุดต่อระหว่าง เส้นหลัก (Stem) และ เส้นเชื่อม (Stroke) ช่วงของตัวอักษร “t” ที่สูงกว่าปกติ และจบปลายที่ยอดสามเหลี่ยม ในห้วงเวลานั้น นับว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มาก

การออกแบบของ อีริค กิล นี่เองที่เปิดประตูให้กับการออกแบบโครงสร้างของตัวอักษรสมัยใหม่อีกมากมายในยุคต่อมา ทั้งนี้ทั้งนั้น หากว่าแบบร่างของ กิล ไม่ได้รับการชื่นชมจาก แสตนลี่ มอริสัน เราอาจจะไม่ได้เห็น Gill Sans อย่างที่เป็นในทุกวันนี้ก็ได้ รวมถึงฟอนต์อื่นๆที่เป็นผลสืบเนื่องจากอิทธิพลของ Gill Sans คำว่า Humanist Sans ก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ถูกบันทึก หรือว่าเราอาจจะใช้ฟอนต์ที่ชื่อ Johnston Sans แทนก็เป็นได้

ถ้าไม่มี เอ็ดเวิดท์ จอนส์ตัน ก็ไม่มี Johnston’s Underground และถ้าไม่มี Johnston’s Underground ก็คงไม่มี Gill Sans และถ้าไม่มี แสตนลี่ มอริสัน งานออกแบบตัวอักษรที่ภายหลังใช้ชื่อว่า Gill Sans ของ อีริค กิล ก็คงไม่ได้มีโอกาสได้เปรอะหมึกพิมพ์