จดหมายแสดงความคิดเห็นบางส่วน จากผู้อ่าน นิตยสารวอลล์เปเปอร์ ฉบับภาษาไทย ที่มีต่อแบบตัวอักษรใหม่ อนุทิน วงศ์สรรคกร ตอบข้อสงสัย
-ฉบับที่ ๑-
ผมติดตาม นิตยสารวอลเปเปอร์ ฉบับอังกฤษมาสิบกว่าปี ไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหนในโลก ก็ต้องซื้อเกือบทุกเล่ม
ผม (เคย) รู้สึกภูมิใจมากที่ได้อ่าน นิตยสารวอลเปเปอร์ ฉบับภาษาไทยเล่มแรก แต่หลังจากที่ได้อ่านเล่มปัจจุบัน ผมตัดสินใจได้ทันทีว่าจะไม่ซื้อ และไม่อ่านอีกแล้ว ซึ่งผมว่า คุณอาจจะไม่ยี่หระ กับการที่คนซื้อฉบับภาษาไทยจะหายไปอีก 1 คน และ ผมกำลังจะเมลล์ เรื่องนี้ไปยัง สำนักงานใหญ่ที่อังกฤษด้วยเช่นกัน ถ้าไม่ได้คำตอบเป็นที่น่าพอใจ น่าเข้าใจ ก็คงเลิกอ่าน นิตยสารวอลเปเปอร์ ของนอกด้วยเหมือนกัน
เหตุผลข้อเดียว แต่ ยาว คือ เรื่อง การออกแบบตัวอักษรไทย รูปแบบใหม่ที่นอกจากจะอ่านยากมากที่สุดแล้ว ดูคุณยังเหมือนพยายามจะสร้างมาตรฐานใหม่อะไรสักอย่างให้กับวงการออกแบบตัวหนังสือ ซึ่งผมยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ถ้าคุณสามารถอธิบายผมได้ จะยินดีมาก
การอ่านหลายๆคำ ผมต้องใช้เดา เพราะด้วยความที่เป็นคนไทย ก็จะรู้ว่าประโยคนี้มันควรอ่านว่าอะไร หรือ ลงท้ายด้วยคำว่าอะไร ถึงจะอ่านยากก็ทนอ่านจนจบ และ ที่ผมทนไม่ได้กับอย่างที่สุด คือ การที่ ‘ห หีบ กลายเป็น K ’ ผมพยายามมอง โดยเข้าข้างคนออกแบบ และ นิตยสารวอลเปเปอร์ ทุกวิถีทาง แต่มองอย่างไร มันก็เป็น K ยิ่งไปอ่านในเนื้อเรื่องที่ไม่ใช่ตัวถมดำ มันยิ่งเป็น K เหมือนมีการเรียงพิมพ์ผิดทุกครั้งที่เป็น ห หีบ
ผมได้อ่าน วิธีการและขั้นตอนที่แสนลำบาก ในการออกแบบตัวอักษรไทย ตั้งแต่ภาษาไทยเล่มแรกแล้ว จนมาถึงเล่มนี้ก็มีอีก แต่ก็ไม่มีส่วนใดที่ช่วยให้ความกระจ่างว่า ทำไม ห ต้องกลายเป็น K ผมคิดว่าถ้ามันลำบากมาก กับการออกแบบตัวอักษรไทยใหม่ ก็ใช้แบบเดิมๆ เหมือนหน้า 92 ซึ่งผมเชื่อว่า คุณก็คงยอมรับว่า อ่านง่ายสบายตา มากกว่า ซึ่งก็ไม่เห็นว่าจะมีใครมาฟ้องร้องอะไรคุณ
ลองดูตัวอย่างจากหนังสือ National Geographic ซึ่งเป็นหนังสือที่มีหลายภาษามากมายทั่วโลก รวมทั้งภาษาไทย ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องทำอะไรแหวกแนว ขนาด นิตยสารวอลเปเปอร์ หนังสือนี้ ผมก็อ่านฉบับอังกฤษมาเป็นสิบปีแล้วเช่นกัน
ผมเข้าใจและยอมรับว่า แก่นและหลัก ของ นิตยสารวอลเปเปอร์ เป็นเรื่องของการออกแบบสิ่งใหม่ๆที่ท้าทาย ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่การทำสิ่งใหม่ โดยที่ไม่ได้ดีไปกว่าของเดิม แล้วยังทำลาย ห ให้กลายเป็น K เป็นการกระทำที่ผมตกตะลึงจริงๆ
แม้ผมจะเรียน และ ทำงาน ต่างประเทศ แต่ก็ไม่เคยเขียน หรือ พูด ไทยคำฝรั่งคำ ผมภูมิใจกับภาษาไทยมาก แล้วผมจะอธิบาย เด็กๆ ที่อ่านนิตยสารวอลล์เปเปอร์ไทย ได้อย่างไร ว่าทำไม ห จึงเป็น K
แม้ตัว ห และ K จะเล็กๆ แต่เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆนะครับ
ขอแสดงความนับถือ
(เนื่องจากความเหมาะสม ขอสงวนชี่อและนามสกุล)
-ฉบับที่ ๒-
ถ้าการใช้ K แทนตัว ห หีบ นั้นเหมาะสม สวยงาม อ่านง่าย (เมื่อชิน) แล้วทำไมตัวอื่นๆ ไม่กลายเป็นแบบนี้ เหมือนฟอนต์ LilyUPC ด้วยครับ (ไม่ได้ประชดนะครับ) เช่น พ-พ ผ-ผ ร-ร น-น บ-บ ก-ก เ-เ ท-ท ม-ม เพราะการที่ K โดดออกมาตัวเดียวจากฟอนต์ที่วอลล์เปเปอร์ ใช้อยู่ตอนนี้ มันยังอ่านแล้วไม่ราบรื่น ให้อ่านอีกหลายเล่ม ก็คงไม่เคยชิน
ขอบคุณครับ
(เนื่องจากความเหมาะสม ขอสงวนชี่อและนามสกุล)
-อนุทิน ตอบ-
ก่อนอื่นต้องขอบคุณทุกท่านที่ติเพื่อก่อ ขอน้อมรับความหวังดีทุกประการ
คำถามมีอยู่ว่า เรามีความต้องการตัวอักษรใหม่หรือไม่? ถ้าคำตอบว่ามี การเริ่มต้นอะไรสักอย่างใหม่นั้นมีหลายอย่างที่ท้าทาย บางคนสามารถปรับตัวได้เร็ว บางคนสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ช้าเร็วต่างกัน เป็นเรื่องปกติทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนอะไรสักอย่าง
การทดลองกับตัวอักษรและความเคยชินกับการอ่านไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งคนอ่านและคนออกแบบ เริ่มตั้งแต่การตัดสินใจของผู้ว่าจ้าง ที่ผมว่าต้องให้เครดิตมาก ในการมองไกล ริเริ่มให้เกิดสิ่งใหม่ ไม่ต้องพูดถึงขั้นตอนการออกแบบที่มีรายละเอียดอ่านของมันอยู่แล้ว ผมเองก็ไม่แปลกใจเลยที่ได้รับคำต่อว่า การที่เราจะขยายข้อจำกัดในเรื่องการอ่าน เป็นต้องเกิดแรงเสียดทานกับความเคยชิน แต่ก็ไม่อยากให้คิดว่า ผมทิ้งทุกอย่างให้ขึ้นอยู่กับความเคยชินเช่นกัน
แปลกใจไหมครับที่คุณสามารถอ่านตัวเค เป็น ห หีบ ได้ จะรับได้หรือรับไม่ได้ เป็นความเห็นปัจเจกและขอน้อมรับคำติเตียนทุกประการ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เราหันมามองเรื่องนี้ เรื่องที่ไม่มีค่อยอยู่ในความสนใจ หรือถูกทำให้เกิดพัฒนาการ (จะไม่มองว่าเป็นการพัฒนาก็ไม่ว่ากัน) เพราะกลัวการตีกลับของความเคยชินที่พูดถึงอยู่ การทำลายและการสร้างสรรค์ บางครั้งมันก็เป็นมุมมองส่วนตัว ซึ่งผมเคารพเช่นกัน
จะเปลี่ยนทำไมในเมื่อมันดีอยู่แล้ว? แบบตัวอักษรเดียวไม่สามารถตอบความต้องการทุกอย่างได้ ทำไมเราต้องการสิ่งใหม่ทั้งๆที่ของเก่าก็ดีอยู่แล้ว? คำถามนี้ไม่ใช่เฉพาะะเรื่องฟอนต์เท่านั้น ลองถามคำถามนี้กับเรื่องอื่นๆ แล้วคุณจะพบว่าคุณมีคำตอบ
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่จริงแล้ว เรื่องเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อ ฟอนต์ เอสเอ็มบี แอดวานซ์ (๒๕๔๓) ที่ปัจจุบันแอบใช้กันทั่วไปอย่างแพร่หลาย หนึ่งในฟอนต์ภาษาไทยที่มีการแอบใช้มากที่สุดฟอนต์หนึ่ง เราก็ออกแบบ ห หีบ ในมาตรฐานเดียวกัน
การที่จะตอบว่าหนังสือ นิตยสาร ทุกเล่มในโลก ไม่ว่าจะภาษาใดก็ตาม ต่างพบเจอปัญหานี้ด้วยกันทั้งนั้น หากคิดที่จะเปลี่ยนพื้นผิวของการอ่าน เรื่องนี้จะต้องเป็นที่พูดถึงทุกครั้งไป อยู่ที่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นปัญหากับคุณหรือไม่ สะกิดใจคุณหรือไม่ และก็เช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ มันเป็นเฉกเช่นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับแบบตัวอักษรอื่นๆในทุกภาษาครับ
บ ใบไม้ เป็นตัว U หรือ น หนู คล้ายกับ u หรือ ท ทหาร ละม้ายกับ n หรือ W w พ้องกับ พ พาน แม้กระทั่ง ร เรือ กับตัว S s ก็ตาม ตอนที่เกิดพัฒนาการเหล่านี้เราได้ให้ความสนใจกันแค่ไหน? หรือเป็นเพราะว่าแบบตัวอักษรเหล่านั้นพบเห็นได้ในสื่อต่างๆรอบตัวเราอย่างต่อเนื่อง? ไม่ใช่แค่นิตยสารรายเดือนฉบับเดียวที่ใช้แบบตัวอักษรนี้ เราอาจจะเติบโตมากับยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงไม่มีปัญหากับพัฒนาการของตัวอักษรที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นของวรรคนี้
ผมว่าเป็นเรื่องดีที่คนเริ่มมาสนใจเรื่องแบบตัวอักษร (ทั้งๆที่ก็อยู่ใกล้ๆเรามานานแล้ว) อาจจะเริ่มจากประเด็นของ K เป็น ห หีบ ที่เราพูดถึงกันอยู่ ถามว่าเป็นเรื่องเล็กไหม? ผมก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กเหมือนกันครับ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
อนุทิน วงศ์สรรคกร
เพิ่มเติม :
ลองหาอ่านบทความที่ผมได้เคยเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องการออกแบบตัวอักษรและอ่าน ตัวอย่างเช่น บทความเมื่อปี ๒๕๔๓ ตีพิมพ์รวมเล่ม โดย อาร์ตโฟร์ดี ในปี ๒๕๔๔ ‘การออกแบบตัวอักษร กับความสามารถในการอ่าน ของคนในยุคที่การออกแบบต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์’ (สามารถค้นได้จากบล๊อคนี้เช่นกัน)