สวอช (Swash)

บทความนี้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ใน นิตยสาร อาร์ตโฟร์ดี ฉบับที่ ๑๓๙ เดือนกรกฏาคม ๒๕๕๐

อ่านบทความนี้ก่อนตีพิมพ์ นี่เป็นเพียงบางส่วนจากบทความที่จะถูกตีพิมพ์ในนิตยสารอาร์โฟร์ดี ต้นฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Eye อนุทิน วงศ์สรรคกรได้รับสิทธิถูกต้องจาก คริสเตียน ชวาสท์ และ พอล บานส์ ในการเรียบเรียงเป็นภาษาไทยสำหรับตีพิมพ์ในนิตยสารอาร์ตโฟร์ดี

➜ ช่วงศตวรรษที่ยี่สิบเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีนักสำหรับสวอช ซึ่งมักถูกอธิบายเพียงว่า “เป็นการเติมเส้นโค้งอ่อนช้อยเพื่อให้ฟอนต์ดูหรูหรา” ระหว่างช่วงสี่ร้อยปีก่อนหน้านั้น บ่อยครั้งที่สวอชถูกใส่เข้าไปในการจัดวางตัวอักษรที่หรูหราและสะท้อนความประณีต แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงปี ๑๙๙๐ มันกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเชย และถูกผลักไสไปรวมกับชุดน้ำชาและวอล์เปเปอร์ลายดอกไม้ หรือพูดง่ายๆว่ามันกลายเป็นขวัญใจของคนรุ่นคุณย่าคุณยาย น่าจะเป็นเพราะว่ามันถูกใช้อย่างแพร่หลายในทุกที่โดยเฉพาะในช่วง ๗๐ หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะผู้กำกับศิลป์บางส่วน และพวกกลุ่มคนทำงานออกแบบ ที่เคยใช้มันอย่างฟุ่มเฟือยเกินความสมควร ฉุกคิดได้อย่างตรงกันว่าจะเลิกใช้มันในศตวรรษที่กำลังจะมาถึงเพราะมันกลายเป็นสไตล์ซ้ำซาก นี่คือตัวอย่างที่ใช้เตือนใจได้ดีของการกระหน่ำใช้อะไรบางอย่างจนมากเกินไปถึงแม้สิ่งนั่นจะดีมากแค่ไหนก็ตาม

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน สวอชก็คงเปรียบได้กับน้ำสลัด มันเยี่ยมยอดเมื่อใช้ปรุงแต่งอาหาร แต่คุณก็ไม่คิดจะยกมันดื่มเป็นแก้วๆ

สำหรับนักออกแบบตัวอักษร สวอชคือการแสดงออกอย่างไร้ขอบเขตข้อจำกัด ซึ่งโดยปกติแล้วจะพบได้ใน lettering และ calligraphy เท่านั้น ตัวอักษรสวอชที่ถูกออกแบบมาอย่างดีนั้น ช่วยส่งเสริมให้ลักษณะเด่นที่มีอยู่ในอักษรนั้นๆ ให้โลดแล่นแสดงออกถึงความเป็นตัวมันเองอย่างเต็มที่และสง่างาม ในทางกลับกัน เมื่อใดที่มันไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม หรือถูกใช้อย่างไม่ถูกต้อง ตัวอักษรสวอชก็กลับกลายเป็นความเทอะทะ พาลทำให้ตัวอักษรรอบข้างน่าเกลียดขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจ

ทุกวันนี้การเติบโตและเป็นที่ยอมรับของ ระบบตัวอักษรชนิด โอเพ้นไทป์ (OpenType) ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถบรรจุตัวอักขระพิเศษนับร้อยตัวๆลงไปในชุดอักษรตัวเดียว ช่วยจุดประกายความสนใจในตัวอักษรสวอชของนักออกแบบตัวอักษรอีกครั้ง เพราะเทคโนโลยีของการผลิตฟอนต์เพิ่มขอบเขตพื้นที่ในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อนักออกแบบกราฟฟิกเช่นกัน ทำให้มีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกใช้ลักษณะพิเศษต่างๆของตัวอักษรในการออกแบบจัดวางควบคู่กันไปกับตัวมาตรฐาน อย่างไรก็ตามคงต้องดูกันต่อไปว่าการเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งของตัวอักษรสวอชในปัจจุบันนั้นจะเป็นไปในทิศทางใด จะเป็นการนำกลับมาเพื่อใช้ในการประดับตกแต่งโดยหยิบยืมกลิ่นไอความขลังของการออกแบบในยุค ๗๐ และต้น ๘๐ หรือว่าจะเป็นการใช้ในแนวล้อเลียนเสียดสีความเชยรุ่นคุณตาคุณยาย หรือการกลับมาครั้งนี้จะเป็นการกลับมาเพื่อสร้างระบบมาตรฐานในงานออกแบบตัวอักษร ให้นักออกแบบได้ใช้มันอย่างมีเหตุมีผลมากกว่าเดิม

เอ็ด เบนการ์ท (Ed Benguiat) นักออกแบบตัวอักษรและและศิลปินอักษรประดิษฐ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักออกแบบที่ร่วมสร้างแนวร่วมของการใช้สวอชในงานออกแบบเมื่อครั้งสวอชได้รับความนิยมถึงขีดสุด เอ็ด เบนการ์ท เป็นนักออกแบบที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษจากไทป์ไดเรคเตอร์คลับ นิวยอร์ค (Lifetime Achievement Award) ได้วาดและออกแบบสวอชออกมามากมายเพื่อแสดงผลงานของ Photolettering Inc. และ International Typeface Corporation (ITC) ในช่วงปี ๗๐ ในนิวยอร์ค รวมไปถึง ITC Bookman และ Benguiat Caslon. นับได้ว่าเป็นนักออกแบบตัวอักษรชั้นครูตัวจริงอีกที่ยังมีชีวิตอยู่คนหนึ่งเลยทีเดียว

ล่าสุด เอ็ด เบนการ์ท ทำงานโปรเจคพิเศษร่วมงานกับ House Industries บริษัทฟอนต์แนวบูติกที่เติบโตมาในช่วงปฏิวัติดิจิตอลฟอนต์ช่วงต้น ๙๐ เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของงานแบบตัวอักษรสมัยใหม่ในแนวย้อนยุค ทีมของ เฮาส์ อินดัสทรี และ เอ็ด เบนการ์ท กำลังง่วนกับคอเล็คชั่นใหม่ ในเร็วๆนี้พวกเขาก็จะนำเสน่ห์ของ Photolettering, Inc. ให้คืนชีพขึ้นมาโลดแล่นในศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อแบบตัวอักษรสวอช และเพื่อเราทุกคน คริสเตียน ชวาทส์ (Christian Schwartz) นักออกแบบตัวอักษรรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในขณะนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในกำลังสำคัญของโปรเจคเช่นกันอิมมิเกร และค่ายฟอนต์ร่วมสมัยอื่นๆก็ได้มีการพยายามผลักดันแนวคิดของการใช้ประโยชน์จากโอเพ้นไทป์เพื่อนำสวอชกลับมา เท่าที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่น่าชื่นชม ความเคลื่อนไหวของ เฮาส์ อินดัสทรี และนักออกแบบสวอชตัวจริงอย่าง เอ็ด เบนการ์ท นับได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองมากทีเดียวของวงการตัวอักษร เพราะอาจจะเป็นการชี้นำไปถึงเทรนด์ใหม่ที่กำลังจะมา ก็คงต้องรอดูกันว่าเสน่ห์ของสวอชจะแจ้งเกิดอีกครั้งอย่างจริงจังได้หรือไม่

เรียบเรียง โดย อนุทิน วงศ์สรรคกร
แปลภาษาไทย โดย ปิยะพงษ์ มีแก้ว