๔ ฟอนต์ไทยกับจุดเปลี่ยนในยุคดิจิตอล

➜ บทความขนาดสั้นจากนักออกแบบตัวอักษรชั้นนำของเมืองไทย ปริญญา โรจน์อารยานนท์, พัลลพ ทองสุข และ เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช เกี่ยวกับฟอนต์ของพวกเขา ผนวกกับความคิดเห็นส่วนตัวจาก อนุทิน วงศ์สรรคกร ในฐานะกรรมการคัดเลือก ที่มีต่อแบบตัวอักษรที่รับมอบรางวัล Another Design Awards ในหมวด Type Design จากนิตยสาร OOM ฉบับประจำเดือนธันวาคม ๒๕๕๐

FongNam ฟองน้ำ
แบบตัวอักษรไทยสมัยใหม่ที่มีหัวของยุคดิจิตอล
Traditional Thai Typeface of Digital Era

ปริญญา โรจน์อารยานนท์ 
DB FongNam คือตัวพิมพ์เนื้อยุคแรกๆ ของฟอนต์ตระกูลดีบี ที่ผมได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก Tom Light (ทอมไลท์)ตัวเนื้อไทยยุคตัวเรียงคอมพิวกราฟิก ที่รูปทรงเกลี้ยงเกลาทันสมัยที่สุด และ Avant Garde ฟอนต์ฝรั่งที่มีชุดอักษรโรมันเกลี้ยงกลมเป็นเรขาคณิตมากที่สุดในทัศนะของผม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวเข้าสู่ยุค DTP (Desktop Publishing) ที่ตัวเรียงคอมพิวกำลังจะถูกแทนที่ด้วยดิจิตอลฟอนต์, ผมจินตนาการไปถึงตัวเนื้อไทยแบบใหม่ที่ดูเกลี้ยงกลมแบบ Avant Garde ในขณะเดียวกันยังสามารถรักษาความโปร่งสบาย อ่านง่ายแบบทอมไลท์ ไว้ได้ครบ. ร่องรอยของลายมือเขียนที่คงอยู่ใน ทอมไลท์ ได้ถูกตัดทอนลง คงเหลือแต่ความเกลี้ยงกลม ดูใสๆ จึงได้ชื่อว่า “ฟองน้ำ”

อนุทิน วงศ์สรรคกร
หลายคนทักผมว่าทำไมไม่เลือกชวนพิมพ์ ของ เชาว์ ศรสงคราม คงเป็นเพราะเห็นว่าผมกล่าวนิยมถึงชวนพิมพ์บ่อย ผมกลับมองที่การใช้งานที่กว้างขวางมากกว่าในการตัดสินเลือก ฟองน้ำมีข้อเด่นตรงที่เติมเต็มความต้องการตรงกลางระหว่างตัวมีหัวแบบมาตรฐานตามประเพณีปฏิบัติ และเส้นสายที่มีความบางเรียบง่ายคล้ายกับจะแนะแนวเป็นทางให้เข้าใจ เพื่อเตรียมเราให้พร้อมกับแบบตัวหนังสือไทยสมัยใหม่ที่ตามกันออกมาหลังจากนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็น ฟองน้ำถูกหยิบขึ้นมาใช้งานอย่างแพร่หลายในช่วงต้น ๙๐ เพราะแบบตัวอักษรที่เป็นแนวร่วมสมัยแต่ยังคงเจตนาของตัวไทยมีหัวไว้ได้อย่างดี อีกทั้งยังถูกที่ถูกเวลา

Kittithaada กิตติธาดา
The Invasion of Sans Serif in Thailand
แบบตัวอักษรไทยสมัยใหม่ไม่มีหัว จุดเปลี่ยนของงานตัวอักษรไทยในช่วงต้นศตวรรษที่ 21

พัลลพ ทองสุข
ฟอนต์กิตติธาดาสร้างประมาณปี ๒๐๐๐ ภายใต้แนวคิดที่อยากให้เป็นฟอนต์ยอดนิยมในวงการโฆษณา ตามความหมายของชื่อฟอนต์ คือ “กิตติ” หมายถึงชื่อเสียงเล่าลือ และ “ธาดา” หมายถึงผู้สร้างชื่อ ซึ่งรวมแล้วหมายความว่าผู้สร้างชื่อเสียงเล่าลือ เพื่อที่เป็นนิยมได้จะต้องออกแบบรูปทรงของฟอนต์ให้สื่อได้ทั้งสองเพศคือ เท่แบบผู้ชายและเก๋แบบผู้หญิง ดังนั้น จะเห็นได้ว่าโครงสร้างตัวอักษรไทยของฟอนต์กิตติธาดามีความเท่ ทันสมัยกึ่งสากล ขณะเดียวกันก็มีความเก๋ ดูสะอาดตา ขนาดเส้นที่ค่อนข้างบางทำให้ดูน่ารัก ความกว้างของแต่ละตัวดูสมดุล กลมกลืน ตั้งแต่ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก ความโค้งมนช่วยลดความแข็งของเส้นที่เป็น even weight ได้เป็นอย่างดี บริษัทโฆษณามักใช้ฟอนต์นี้กับสินค้าที่ดูเท่ ทันสมัย และเน้นงานโฆษณาที่ดูเก๋ สะอาดตา เฉียบขาด ตั้งแต่เครื่องใช้ของบุรุษจนถึงเครื่องสำอางค์ของสตรี

อนุทิน วงศ์สรรคกร
อันที่จริงแล้วแบบตัวอักษรแนวไร้เชิงมีมาก่อนหน้านี้นานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมานพติก้าในยุคอักษรลอก หรือแมคมานพในยุคดิจิตอลตอนต้น ผลงานของนักออกแบบชั้นครูอย่าง มานพ ศรีสมพร แต่สิ่งที่กิตติธาดาทำได้แตกต่างจากตัวอักษรแนวไร้เชิงทั่วไปก็ืคือ การสร้างหัวเลี้ยวหัวต่อที่ชัดเจนให้เกิดขึ้นระหว่างตัวพิมพ์ไทยที่มีหัวแบบมาตรฐาน และตัวพิมพ์ไทยสมัยใหม่ที่มีแนวการออกแบบบนโครงสร้างแบบละติน กิตติธาดาสร้างปรากฏการณ์ที่สามารถเชื้อเชิญให้คนมาพยายามอ่านตัวอักษรไทยแนวไร้เชิงมากขึ้น ทั้งที่ความพยายามลักษณะเดียวกันนี้ถูกทดสอบมาหลายต่อหลายครั้งในอดีต ความเหมาะเจาะของเวลาก็อาจจะเป็นอีกเงื่อนไขที่ช่วยทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น กิตติธาดาได้ทำหน้าที่เปิดประตูสู่การจัดวางตัวอักษรไทยในหน้ากระดาษแบบสากล ไม่ว่าใครจะยังค้านการเข้ามามีบทบาทของตัวอักษรแนวไร้เชิงก็ตาม

Display ดิสเพลย์
The Birth of Hybrid and Multi-Purposes at the end of Millennium
การเกิดขึ้นของแบบตัวอักษรลูกผสมในประเทศไทยช่วงปลายสหัสวรรษ

พัลลพ ทองสุข 
ฟอนต์ดิสเพลย์สร้างประมาณปี 1995 โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นฟอนต์ที่ใช้พิมพ์หัวข้อหรือป้ายที่เน้นตัวใหญ่ เพื่อความชัดเจน, อ่านง่าย และดูทันสมัยตามที่ชื่อฟอนต์บ่งบอกคือ Display ซึ่งหมายถึง “แสดง” จัดเป็นฟอนต์ที่ไม่มีหัวหรืออีกนัยหนึ่งคือหัวแอบแฝง น้ำหนักของเส้นโครงตัวอักษรเป็นแบบ “even weight” หรือเรียกอีกอย่างหนึึ่งว่าน้ำหนักเส้นเท่ากันตลอด ซึ่งเน้นความเป็นกฎระเบียบได้ดี แต่ก็แฝงความเรียบง่ายและนิ่มนวลไว้ด้วย เหมาะสำหรับพิมพ์ข้อความสั้นๆที่ต้องการเน้นความทันสมัยและความเป็นระเบียบ ความสวยจะอยู่ที่ ๒๔ พอยต์ขึ้นไป แต่บางสำนักก็นำไปใช้พิมพ์ข้อความตัวเล็กๆที่ต้องการประหยัดเนื้อที่ เช่น ที่อยู่ในนามบัตร เพราะขนาดตัวอักษรค่อนข้างผอม

อนุทิน วงศ์สรรคกร
มัลติเพอร์เพิสแซน (Multi Purposes Sans) ที่สร้างคะแนนความนิยมจนทำให้ชื่อของพีเอสแอลเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ดิสเพลย์เป็นแบบตัวอักษรที่มีความโดดเด่นตรงที่ ไม่ไร้เชิงฐานเสียทีเดียว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังจัดอยู่ในประเภทของตัวพิมพ์แบบไร้เชิงได้เช่นกัน ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เราสามารถพบเห็นดิสเพลย์ถูกเลือกใช้เป็นตัวเนื้อความอยู่บ่อยครั้งในช่วงปลาย ๙๐ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกพอสมควร เป็นแบบตัวอักษรคอนเด้นท์ร่วมสมัยที่นึกถึงได้เป็นลำดับต้นๆ การออกแบบที่ลงตัวของความเป็นตัวอักษรเส้นเท่าไม่ค่อยพบมากนักในช่วงปีดังกล่าว ผนวกกับดิสเพลย์ก็ยังมีจริตของสันฐานเป็นเชิงเล็กๆบางๆอยู่บ้างเพื่อนำสายตา ไม่ให้ขัดเขินกับกับผู้อ่านที่มีอคติกับตัวไร้ฐานแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

Know โนว์
The United letters of Latin and Thai Hand Script
แบบตัวอักษรไทยกับความเป็นไปได้ใหม่

เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช 
Know (โนว์) แบบตัวอักษรที่ดูเป็นการเขียนด้วยปากกาแต่ก็ยังเป็นการเขียนที่เป็นระบบ แบบตัวอักษรไทยชุดนี้ได้แรงบันดาลใจจาก แบบตัวอักษรละติน Sauna ของ Underware ที่เป็นการเขียนที่เป็นลักษณะคล้ายลายมือ แต่ก็อยู่ในระบบที่มีความอ่านได้ง่ายตามระบบการออกแบบตัวอักษรแบบตัวเนื้อความ จากระบบความคิดนี้ จึงได้ออกแบบตัวอักษรละติน ขึ้นมา ๑ ชุด ที่มีแนวความคิดตามที่ว่าแต่มีความแตกต่างจาก Sauna แล้วจึงทำการถอดโครงสร้างออกมาเป็นแบบตัวอักษรไทย เพื่อให้ได้แบบตัวอักษรไทยที่ดูทันสมัย ตัดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นวิธีการเฉพาะตัวที่ผมทำกับทุกๆแบบตัวอักษรไทยของผม จึงคิดว่าผลที่ได้ในแบบตัวอักษร (โนว์) นี้ ให้ความรู้สึกแบบการเขียนที่เป็นธรรมชาติแต่ดูแล้วมีความทันสมัยอยู่ในตัวของมันเอง เหมือนกับที่ว่า ความรู้ อยู่ในธรรมชาติรอบๆตัวเราและมันไม่เคยที่จะล้าสมัย

อนุทิน วงศ์สรรคกร
หลังจากที่ตัวละติน และตัวไทยมาพบกันครึ่งทาง ในช่วงหกถึงเจ็ดปีที่ผ่านมา จนเกิดเป็นส่วนผสมที่วางแนวทางใหม่ของแบบอักษรไทยร่วมสมัย เราได้เห็นพัฒนาการในการนำเสนอฟอร์มของตัวอักษรไทยที่ท้าทายการอ่านมากมาย ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวได้อนุญาติให้แบบตัวอักษรอย่างโนว์มีที่ยืนได้เอย่างไม่ยากเย็นนัก เอกลักษณ์มองเห็นพื้นที่ใหม่นี้สำหรับแบบตัวอักษรไทยแนวกึ่งสคริป โนว์เป็นตัวอักษรอีกชุดที่รู้จักหยิบจับประเด็นของการทดลอง และความโดดเด่นจากการจัดระเบียบสคริปตัวเขียนลายมือมาเป็นตัวพิมพ์โดยศึกษาการเข้าทำจากตัวละติน ทำให้นึกย้อนได้ถึงจริตของการเขียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษในวันที่ยังไม่มีตัวเรียงพิมพ์ ที่ทั้งคู่ต่างก็ต้องผ่านจริตของการเขียนมือด้วยกันทั้งสิ้น โนว์จึงเป็นหลักฐานอีกชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของภาษาทางการออกแบบที่นับวันจะนำให้ทุกๆคนมายืนอยู่บนวัฒนธรรมเดียวกัน