ตัวอักษรเปล่งเสียง

➜ ดนตรีประกอบตัวอักษร, ตัวอักษรประกอบดนตรี หรือการประกอบซึ่งกันและกันเพื่อให้ผลที่ได้ออกมามีรสชาติที่น่าลิ้มลอง ดนตรีที่รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทางหู และตัวอักษรที่เรารับรู้จากทางตา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาพลักษณ์ที่เราเห็นหรือรับรู้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดสิ่งใหม่ และสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นอาจทำให้เราสามารถรับรู้กลิ่นอายของสิ่งเดิมหรือเข้าใจภาพของสิ่งเดิมชัดเจนยิ่งขึ้น

ใครจะคิดว่าจุดเชื่อมต่อระหว่างตัวอักษรและดนตรีจะกลายเป็นจุดเดียวกันได้โดยมีส่วนคาบเกี่ยวเล็กๆ จากที่ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองจากทั้ง ๒ ฝ่าย ระหว่างด้านการออกแบบตัวอักษรในมุมมองของ อนุทิน วงศ์สรรคกร และด้านดนตรีจากมุมมองของ สุดกมล เอกกุล (อดีตสมาชิกวงเคหสถาน) แห่ง โพล่าแฟคเทอรี่

แน่นอนว่าระบบการทำงานในมุมมองของนักออกแบบและด้านดนตรีย่อมแตกต่างกันถ้าจะให้เปรียบก็คงเป็นเหมือนให้นักฟุตบอลมาเล่นบาส หรือ เอาเชฟอาหารฝรั่งมาทำอาหารไทย สิ่งที่แตกต่างไม่ใช่ในเรื่องส่วนผสมของการทำ แต่เป็นเรื่องวิธีการและระบบของการทำงาน

เมื่ออนุทินได้เข้าไปมีความคิดเห็นกับการทำงานในด้านดนตรี จึงมีความคิดเห็นจากมุมมองของนักออกแบบเลขนศิลป์เกืดขึ้น ต่อดนตรีที่สร้างจากนักดนตรีนักแต่งเพลงที่มีภูมิหลังของการเป็นสถาปนิกอย่างสุดกมล

ดนตรีกับการออกแบบสามารถผสมผสานกันได้ แต่จะเป็นส่วนใดที่สร้าง ๒ สิ่งนี้ให้เชื่อมโยงต่อกันอย่างเหนียวแน่น ดนตรีเกิดขึ้นมาจากเสียงหลายเสียงของเครื่องดนตรีหลากชนิดมาประกอบรวมกัน เช่นเดียวกับการออกแบบที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์ประกอบต่างๆ แต่ละชิ้นส่วนแบ่งออกเป็นเลเยอร์ ธรรมดาที่อนุทินจึงมองเรื่องดนตรีโดยใช้ระนาบจากประสบการณ์การออกแบบเลขนศิลป์เป็นบรรทัดฐาน จึงเกิดเงื่อนไขของดนตรีให้มีเลเยอร์สัมพันธ์กับเลขนศิลป์และอักขรศิลป์ การออกแบบดนตรีให้มีวิธีการเดียวกับการออกแบบเลขนศิลป์และอักขรศิลป์จึงเกิดขึ้น

ขณะที่เดโม่เพลงเป็นส่วนๆที่สุดกมลทดลองและจำลองขึ้นมาโดยได้แรงบันดาลใจจากตัวอักษรของอนุทิน สามารถสะท้อนการแสดงออกของตัวอักษรที่เรามักรับรู้แบบรูปธรรม ให้เห็นในด้านนามธรรมชัดเจนขึ้นโดยผ่านการสื่อสารทางเสียง เป็นการยากที่จะอธิบายให้เข้าใจว่าเสียงหน่ึงเสียงสามารถบรรยายลักษณะทางกายภาพของฟอนต์ได้อย่างไร แต่ดนตรีจำลองที่สุดกมลออกแบบมาจากการรวมของเสียงที่หลากหลาย ทำให้เกิดภาพรวมและความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันถึงบุคคลิก และภาพรวมทั้งหมดของแบบตัวอักษรได้อย่างน่าประหลาดใจ

คงไม่ต่างจากที่เรารู้จักคนจากการเห็นหน้าตาแต่ไม่ได้เกิด‘บทสนทนาส่วนตัว’ ที่นอกเหนือจากเรื่องที่แบบตัวอักษรนั้นพยายามบอกโดยผ่านการสะกดและสุนทรียะทางอักษรศาสตร์ เมื่อผ่านการพูดคุยแบบส่วนตัวแล้ว ก็น่าจะทำให้เราเห็นบุคลิกของบุคคลนั้นชัดเจนขึ้น

คงต้องรอเวลากันสักหน่อยเพราะโปรเจคนี้เป็นการร่วมงานเชิงทดลองแบบรายสะดวก และไม่ได้ทำขึ้นเพื่อเชิงพาณิชย์ หากโชคดีปีใหม่ที่จะถึงนี้นี้บรรดาเพื่อนฝูงและลูกค้าของ พฤติกรรมการออกแบบ / คัดสรรดีมาก อาจจะได้รับการ์ดปีใหม่เป็นเพลงไปพร้อมกับฟอนต์ที่เข้าชุดกัน