บันทึกช่วยจำ เอกสารย่อยเกี่ยวกับการออกแบบจากโปรเจคต่างๆภายในบริษัท
เจลาเต้
➜ เริ่มแรกเราค่อข้างปวดหัวและเป็นกังวลกับชื่อร้านไอศครีมนี้เป็นอันมาก เนื่องจากร้าน “เจลาเต้” ซึ่งมีที่มาจากการที่แบรนด์และร้านบริหารงานโดยคุณเต้ เจลาเต้เป็นร้านขายไอศครีม “เจลาโต้” ลูกค้ายังยืนยันที่จะใช้ชื่อนี้ โดยขอมีข้อความกำกับพ่วงด้วยว่า “Authentic taste of Gelato” ซึ่งภายหลังทางทีมออกแบบของเราได้ตัดสินใจเชิงการตลาดว่าควรตัดทอนให้สั้นลง เพื่อให้จดจำได้ง่าย โดยยังได้ความหมายดังเดิม ไม่ยืดยาวจนเกินจำเป็น จึงเรียกได้ว่าถูกตัดออกไปโดยพลการเหลือเพียง “Authentic Gelato” ซึ่งได้รับการยอมรับในภายหลังจากลูกค้าเมื่อเริ่มเปิดกิจการ
คุณเต้วางแนวทางของทางร้านว่าเป็น “Italian Homemade Ice Cream” ที่มีความร่วมสมัย ไม่ต้องการความรู้สึกที่ทำให้สื่อถึงความเป็นแฟชั่นฉาบฉวยแบบสมัครเล่น เพราะแบรนด์นี้ได้มีการแพลนสำหรับการเติบโต ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่ารูปแบบของโลโก้ควรจะเป็นสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่เข้าใจได้ง่ายและทำให้คนสามารถจำรูปแบบของสัญลักษณ์ไปเลยจะดีกว่า อีกทั้งจะได้ไม่มาพะวงและสับสนกับคำว่า‘เต้’ หรือ ‘โต้’ วิธีการแก้ปัญหาในการออกแบบสัญลักษณ์ด้วยวิธีพื้นๆการใช้รูปทรงเรขาคณิตจัดวางเป็นก้อนไอศครีมซ้อนกันสามลูกซึ่งเข้าใจได้ไม่ยาก และสามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์ทั่วไปของการวาดรูปไอศครีมที่เราๆเห็นมาก่อน
เราหาทางที่จะเพิ่มมิติที่แปลกใหม่ลงไปโดยได้แรงบันดาลใจมาจากลวดลายของงาน Optical Motif ของญี่ปุ่น ซึ่งใช้การเพิ่มลวดลายแบบง่ายๆ อาศัยเพียงแค่การจัดวางทิศทางจังหวะ การสลับ ความต่อเนื่องของลวดลายในแต่ละลูก อนุญาติให้โพสสิทีฟและเนคทีฟทำงาน
สุดท้ายใช้สีที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ได้ผลลัพธ์ที่เรียบง่าย และยังสามารถสื่อได้ถึง ความนุ่มนวลของของเนื้อไอศครีมเจลาโต้ซึ่งมีความเฉพาะตัว อ่อนนุ่ม และ เป็นลอนคลื่นได้อีกด้วย
หลายครั้งที่ลูกค้าของร้านคิดว่าเป็นแบรนด์ไอศครีมเฟรนไชน์จากต่างประเทศ เป็นเสียงสะท้อนที่ลูกค้าของเราได้รับบ่อยครั้ง ทีมออกแบบของเราออกแบบทุกอย่างในการเริ่มต้นของร้าน ตั้งแต่นามบัตร ตู้แช่ไปจนถึงถ้วยไอศครีม ถึงแม้เราจะไม่ได้ดูแลแบรนด์นี้แล้วในวันนี้ เราก็เชื่อว่าพื้นฐานของการออกแบบที่เราวางไว้จะสามารถทำเพิ่มค่าให้แบรนด์นี้ได้อย่างดี
• ออกแบบโดย พงศ์ธร หิรัญพฤกษ์
วิงค์เอเชีย
➜ หลังจากโลโก้ของโปรเจคเฮลิพอร์ตซึ่งเป็นกิจการเกี่ยวกับการขนส่งทางอากาศ ทำให้เราได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับ สายการบินเอกชนแบบเช่าเหมาลำ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ไพรเวทเจท
แนวทางการออกแบบสำหรับ วิงค์เอเชีย นั้นมีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้น เราได้นำเสนอแนวทางที่สวนทางกับการออกแบบที่เกี่ยวกับอากาศยาน ที่มักจะใช้รูปแบบของการพุ่งหรือการเคลื่อนไหว ประกอบกับตัวของแบรนด์เองมีความเป็นเอกเทศในลักษณะของบริการ ต้องการความร่วมสมัยที่สามารถถ่ายทอดบริการมาตรฐาน บวกกับความร่วมสมัยของเอเชีย เราพยายามที่จะไม่ใช้ลวดลายที่มักถูกนำมาใช้เพื่อสื่อสารถึงความเป็นเอเชียแบบสำเร็จรูป โดยตั้งเป้าหมายว่าความจำเป็นต้องแตกต่างจากรูปแบบโลโก้ของสายการบินทั่วไป
แบบร่างมาลงตัวที่นกกระดาษพับที่สามารถบรรจุความหมายเชิงบวกหลายประการ เช่น ศิลปะการพับกระดาษ เสรีภาพ สันติภาพ ความปราณีต นกกับความเป็นสัตว์ปีก เกี่ยวข้องกับการบิน ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เมื่อนกกระดาษพับถูกออกแบบเพื่อสื่อให้เห็นถึงตัวอักษร W และ A ซึ่งเป็นชื่อย่อของ วิงค์เอเชีย จึงเป็นจุดที่ทำให้โลโก้นี้สมบูรณ์โดยตัวเองอย่างไม่ต้องอธิบายมาก
เนื่องจากไม่ได้เป็นการออกแบบในแนวทางที่คุ้นเคยของโลโก้อากาศยานทั่วไป ทำให้ภายหลังทางสายการบิน วิงค์เอเชีย จึงกลับไปเลือกใช้ลัญลักษณ์ที่ออกแบบในแนวทางแบบสายการบินทั่วไป
• ออกแบบโดย อนุทิน วงศ์สรรคกร และ ชูเกียรติ ผงทอง
เอเบิลทู
➜ จากข้อมูลทั่วไปในการเริ่มงานวิจัยเพื่อออกแบบโลโก้ใหม่ให้กับ บริษัท เอเบิลทู จำกัด ทีมออกแบบของเรามีความเห็นพ้องกันว่ามีจุดเด่นที่น่าสนใจอยู่ ๒ ประการที่สามารถหยิบจับมาเพื่อเป็นข้อมูลทางการออกแบบ กล่าวคือ ๑) การที่ เอเบิลทู เป็นบริษัทที่รับ “แจกใบปลิว” ที่มีส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาด ๒) ความหมายของคำว่า Able to
เราพยายามที่จะเสนอสัญลักษณ์ซึ่งสามารถสื่อสารถึงลักษณะของกิจการที่มีความเฉพาะตัว สูงมาก บวกกับความหมายในแง่ของความรู้สึกของคำว่า “ทำได้” ซึ่งต้องได้ใจความครอบคลุมไปถึง “ทำได้ดี”
แบบของตัวอักษร a ซึ่งเป็นตัวอักษรย่อของบริษัท ถูกเขียนขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ทำงานในสองมิติของความหมาย ทั้งเป็นชื่อย่อ และทำหน้าที่สื่อสารเล่าเรื่องราวแทนความขึงขังของพนักงานแจกใบปลิวที่หอบเอกสารด้วยมือขวา และแจกออกด้วยมือซ้าย บวกกับการเติมวงกลมสีแดงเป็นส่วนหัว คงจะไม่ต้องมีคำอธิบายอะไรมากไปกว่านี้
• ออกแบบโดย อนุทิน วงศ์สรรคกร, พงศ์ธร หิรัญพฤกษ์ และ ชูเกียรติ ผงทอง