➜ ในช่วงหลังมานี้ กลุ่มพฤติกรรมเริ่มโปรโมทกระบวนการการสร้างงานออกแบบ โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากเรื่องของรอบๆตัว ตัวอย่างเช่น โปรเจคฝึกหัดในระดับมหาวิทยาลัยที่เป็นการให้โจทย์ การออกแบบเชิงพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การได้มาซึ่งการออกแบบโดยกระบวนการต่างๆ ที่เป็นที่จับต้องได้ (virtual substance) นอกเหนือจากการประกอบจัดวางทุกอย่างบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ (virtual reality)
จึงเป็นที่มาของการใช้การถ่ายภาพ เข้ามาช่วยเป็นสื่อกลางในการสร้างงาน ส่วนหนึ่งมาจากข้อดีของความรวดเร็ว สามารถทำการทดลองและเห็นผลได้ทันที ยิ่งในปัจจุบันที่เราใช้กล้องดิจิตอลแสดงผลให้เห็นหน้าจอในทันที นักศึกษาสามารถจินตนาการต่อถึงการนำไปใช้ได้โดยไม่ยาก การถ่ายภาพโดยคำนึงถึงตัวหนังสือในสภาพแวดล้อม จึงเข้ามาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนอักขรศิลป์
ภาพถ่ายที่ถูกจัดวางในเฟรม และองค์ประกอบของตัวอักษร สามารถถูกนำมาใช้เบ็ดเสร็จเป็นตัวงานได้ทันที ในบางกรณีอาจจะเป็นการจัดวางตัวอักษรเข้าไปเพื่อให้ได้การสื่อสารที่ต้องการ และเล่าเรื่องราวที่ต้องการ
ไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตาม จะเห็นได้ว่าเป็นวิธีการนำนักศึกษาออกจากการจัดวางบนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อบริหารความคิดสร้างสรรค์ ก่อนที่จะนำสิ่งที่ได้กลับไปบริหารจัดการเป็นงานสำเร็จบนคอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกันก็เป็นการฝึกฝนในเรื่ององค์ประกอบผ่านการถ่ายภาพไปด้วยในตัว เหมาะสมอย่างยิ่งในการสอนการออกแบบยุคใหม่ ที่หลักสูตรหลายสถาบันไม่มีความเข้มข้นพอในเรื่องพื้นฐานองค์ประกอบ ทฤษฏีสี การลงสี การวาดเส้น และทักษะมือ
อีกส่วนที่ทำให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการทำงาน คือการค้นหาแบบตัวอักษรแบบจากแหล่งต่างๆ ที่ไม่ใช่จากการพิมพ์โดยระบบคอมพิวเตอร์ นักศึกษาได้เรียนรู้ว่ามีอีกหลากหลายวิธีที่จะทำให้ตัวอักษรปรากฏในงาน
การมองหาแรงบันดาลใจจากการออกแบบที่มีอยู่แล้วรอบตัวเรา เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว หากแต่นักออกแบบสมัยใหม่มักจะมองข้ามไป โดยเฉพาะกับนักศึกษาที่พยายามหาหัวข้อทดลองเกี่ยวกับการออกแบบ
ตัวอย่างของ งานออกแบบชุดตัวอักษรชุดล่าสุดที่ชื่อว่า ‘เบกค์’ นี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ชุดตัวอักษรพลาสติก ที่ใช้สำหรับตัดแป้งคุ๊กกี้ ซึ่งก็เช่นกันกับสิ่งอื่นๆ ที่ล้วนเป็นวัสดุใกล้ตัว ที่เราสามารถนำมาผลิตเป็นงานออกแบบได้ ไม่ว่าจะเป็นตรายาง หรือตราประทับไปรษณีย์ ซึ่งเราได้เคยทำออกจำหน่ายไปเมื่อหลายปีก่อน
แบบตัวอักษร ‘เบกค์’ ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นฟอนต์ครั้งแรกในปี ๒๕๔๙ (2006) เรื่องที่มาของ ‘เบกค์’ นั้นต้องย้อนกลับไปสักหกถึงเจ็ดปีก่อน จากการซื้อแบบตัดตัวอักษร เพื่อนำมาอบคุ๊กกี้ตัวอักษรแจกเนื่องในโอกาสปีใหม่ จากร้านขายอุปกรณ์ขนมอบในรัฐเพนซิลเวเนีย หลังจากนั้นได้มีการนำต้นแบบตัวอักษรพลาสติก มาจัดถ่ายรูปเล่นเพื่อประกอบงานออกแบบอยู่หลายครั้ง จึงเกิดเป็นความคิดขึ้นว่า น่าจะทำอะไรกับลักษณะพิเศษของแบบพิมพ์นี้ได้บ้าง
แบบตัดตัวอักษรนี้มีลักษณะพิเศษ ที่เกิดจากการทำแบบเพื่อนำมาใช้ปั๊มแป้งคุ๊กกี้ นอกจากนั้นยังมีความแปลกที่ละม้ายกับลักษณะของเสตนซิล เกิดเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว แต่เนื่องจากแบบดั่งเดิมของตัวอักษรพลาสติกนั้นมีเพียงแค่ A-Z จึงเหลือตัวอักษร ตัวละตินในภาษาอื่นๆ และเครื่องหมายต่างๆ อีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องออกแบบให้สอดคล้องตามแนวทาง
จะเห็นได้ว่าแบบตัวอักษร ‘เบกค์’ ซึ่งเป็นตัวอักษรแบบวัสดุ ถูกนำมาผ่านขั้นตอนการออกแบบ และ ทดลองทางอักขรศิลป์ โดยการนำมาจัดวางองค์ประกอบเป็นงานออกแบบ ถูกนำมาพัฒนาต่อโดยการถ่ายภาพ และนำภาพที่ได้มาใช้ทักษะของการทำงานสำเร็จบนคอมพิวเตอร์ ในขณะที่รูปแบบของตัวหนังสือเองถูกนำมาพัฒนาต่อ ออกมาเป็นฟอนต์ สองลักษณะ ที่แตกต่างออกไป เป็นการใช้ทักษะทางการออกแบบตัวอักษร เข้ามาจัดการกับปัญหาของการนำแบบตัวอักษรกลับมาใช้ใหม่ และการพัฒนาไปสู่การออกแบบบนสื่ออื่นๆ เช่นนำกลับมาใช้ในงานออกแบบสิ่งพิมพ์
จากภาพตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า เราก็สามารถนำฟอนต์ที่ได้มาใช้งานร่วมกับภาพถ่ายที่เป็นต้นทางของการทดลองนี้ได้เช่นกัน ตัวอย่างของ ‘เบกค์’ นี้เป็นกรณีศึกษาแบบง่ายๆ แต่ชัดเจนในวิธีการ ถูกทำขึ้นเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ โดยวิธีการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับงานออกแบบลักษณะต่างๆ วัสดุ หรือ ความคิดแวดล้อมอื่น ขยายผลทางการออกแบบเป็นรูปอธรรม
นักศึกษาที่สนใจเกี่ยวกับการทดลองทางการออกแบบ ส่วนมากมองข้ามเรื่องน่าสนใจที่มีอยู่โดยทั่วไป ทั้งๆที่ในโปรเจคฝึกหัดทดลอง ที่กล่าวถึงข้างต้นก็ปลูกฝังวิธีการ และการนำไปใช้ไว้แล้วอย่างครบถ้วน
เมื่อปฏิบัติจริงกลับพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ ใช้เวลากับการทดลองที่มักไม่ได้อยู่บนหลักการณ์เหตุผลที่สามารถเข้าใจได้ ที่สำคัญคือไม่สามารถนำผลการทดลองมาใช้ได้จริง หลายคนเข้าใจผิดว่า การทดลองที่ยิ่งยุ่งยากมากเท่าไหร ยิ่งทำให้งานน่าสนใจ และเพิ่มคุณค่าให้กับตัวงาน บ้างก็อ้างอิงหรือหยิบยืมวิธีคิดของศาสตร์อื่น(ซึ่งเป็นวิธีที่มักทำกันมากในช่วงนี้) ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อยากจะฝากให้มองให้เห็นในสิ่งใกล้ตัวด้วย ก่อนที่จะมองหัวข้อที่ใหญ่ๆ