เกี่ยวกับโลโก้ของไลฟ์แชลนอล

ประโยคถามตอบ ตัดตอนและแปลโดยการขยายความเป็นภาษาไทย จากคู่มือประกอบการใช้โลโก้ภาษาอังกฤษของไลฟ์แชลนอล อนุทิน วงศ์สรรคกร ตอบคำถามทั่วไปเกี่ยวกับการออกแบบโลโก้ไทป์

ทีมออกแบบโลโก้ไทป์สำหรับไลฟ์แชลนอล
อนุทิน วงศ์สรรคกร, พงศ์ธร หิรัญพฤกษ์, นรพล ยุกตะนันทน์ และ ศิวะ ศิริฤทธิชัย

ทำไมไลฟ์โลโก้จึงถูกออกแบบโดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ล้วน?

➜ การเลือกใช้ตัวพิมพ์ใหญ่อาจจะถูกมองว่าสื่อถึงความเป็นทางการมากเกินไป ซึ่งก็จริงอยู่ เราต้องการให้ไม่ดูเล่นจนเกินไป การที่จะใช้ตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดก็น่าจะทำให้ดูสนุกสนานมากขึ้น ตัวอักษรพิมพ์เล็กที่นำมาสะกดก็มีลีลาที่น่าสนใจ กายภาพของตัวอักษรพิมพ์เล็กก็สามารถทำลูกเล่นได้เยอะกว่า คุณพงศ์ธรเสนอขึ้นมาว่าการที่โลโก้ไทป์นี้ดูสนุกสนานเกินไปก็ไม่ลงตัวกับความต้องการ ที่จะสื่อถึงความน่าเชื่อถือของช่องที่เน้นความชัดเจนและความน่าเชื่อถือของเนื้อหา เราลองเทียบผลลัพธ์ระหว่างพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก สิ่งที่เราไม่ต้องการคือการทำให้โลโก้นี้เป็นที่สนใจเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น เราจึงตัดสินใจหาความลงตัวที่การเลือกตัวพิมพ์ใหญ่ และทำให้ไม่ดูเครียดเกินไปด้วยการใช้ลักษณะของขอบโค้งเข้าช่วย เพื่อให้ไม่ให้ภาพรวมที่ออกมาดุดันจนเกินไป

นำโลโก้ของไลฟ์มาใช้ในสื่อเคลื่อนไหวได้หรือไม่?

➜เราก็หวังที่จะเห็นผลลัพธ์เช่นกันว่านักออกแบบสื่อเคลื่อนไหวจะสามารถนำโลโก้นี้ไปใช้ได้อย่างน่าสนใจแค่ไหน เราออกแบบโลโก้นี้โดยเผื่อการนำไปใช้ในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะนิวมีเดีย และไทม์เบสมีเดียทั้งหลาย กรอบการใช้นั้นค่อนข้างกว้าง เพราะเราต้องการให้นักออกแบบที่นำโลโก้นี้ไปใช้ต่อสามารถผนวกสไตล์งานของตัวเองลงไปได้ นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราพยายามออกแบบให้ง่าย และไม่ซับซ้อน เพื่อให้เอื้อกับลักษณะการนำไปใช้ที่หลากหลาย ขอให้คำนึงเสมอว่ากราฟฟิกประกอบลักษณะอื่นๆ ที่จะนำมาใช้ร่วมกับโลโก้นี้ต้องไม่เยอะจนเกินไป เราไม่ต้องการอะไรที่ซับซ้อนเข้าใจยาก นอกจากนั้นขอให้ใช้คู่สีที่เราเลือกมาให้แล้วตามคู่มือการใช้โลโก้ไลฟ์แชลนอล

นำโลโก้ไลฟ์มาทำเป็นวัตถุ นูนสูง นูนต่ำ หรือ ลอยตัว สามมิติ ได้หรือไม่?

➜ทำไมจะไม่ได้ เราสนับสนุนให้นำโลโก้นี้ไปใช้ต่อโดยการหาลูกเล่นต่างๆมาใช้ประกอบ อิสระค่อนข้างเต็มที่แก่นักออกแบบที่นำไปใช้ต่อในสื่อต่างๆ ที่ต้องพยายามควบคุมคือ พยายามทำให้เรียบง่าย อย่าใช้เทคนิคที่ฟุ่มเฟือย ใช้คู่สีตามคู่มือ ชีวิตมีหลายรูปแบบ สไตล์ของไลฟ์แชลนอลคือเรียบง่ายแต่ไม่แบน ฉะนั้นสามมิติลักษณะต่างๆ เป็นไปได้ทั้งนั้น

ทำไมโลโก้ไลฟ์จึงเฉียงเอียงขึ้นบนค่าทีน?

➜ ตัวเลขที่ถูกต้องขององศาการเฉียงขึ้นของโลโก้คือสิบสององศา ตัวเลขนี้ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความหมายแฝง ไม่ได้หมายถึงวัยทีนที่เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของไลฟ์แชลนอล เราจะพูดอ้างให้ดูดีก็ได้ว่าเป็นความหมายแฝง แต่มันไม่ใช่วิธีการทำงานของเรา เราไม่ใช่นักออกแบบที่ใช้วิธีอธิบายอะไรแบบเพ้อเจ้อ เป้าหมายตามโจทย์ของไลฟ์แชลนอลครอบคลุมตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน เราเลือกใช้วิธีการสร้างความรู้สึกคล้ายเปอร์เสป็คทีพแบบง่ายๆโดยการเฉียงขึ้น เพื่อให้เกิดมิติความลึกกับโลโก้ เราลองหลายองศาแต่มาพอใจกันที่สิบสอง หากทำเปอร์เสป็คทีพจริงๆนั้น ออกจะมากเกินไป และทำลายความง่ายของโลโก้ เราจึงเลือกใช้ ออฟลีคและไอโซเมทริก ในการสร้างความรู้สึกดังกล่าว

เราจะเลือกใช้โลโก้ไลฟ์แบบหน้าตรง(ไม่เฉียงขึ้น)เมื่อใด?

➜เราตัดสินใจในการเสนอโลโก้ไลฟ์แบบหน้าตรงไปพร้อมกันกับแบบเฉียงในคู่มือการใช้ ด้วยเหตุผลที่ว่า เราต้องการแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนก่อนเกิดองศา เพื่อประโยชน์แก่นักออกแบบที่จะนำโลโก้ไปใช้ในสื่อจำพวก นิวมีเดีย และไทม์เบสมีเดีย เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ในลักษณะเคลื่อนไหว จะได้ทราบว่าโลโก้ด้านตรงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เรายังแสดงให้เห็นในคู่มือด้วยว่า โลโก้เฉียงนั้นไม่ได้เกิดจากการจับโลโก้ด้านตรงมาทำเฉียงเฉยๆ หากแต่โลโก้เฉียงนั้นถูกออกแบบและเขียนให้เฉียงโดยแท้จริง เพื่อควบคุมแนวโค้งของขอบโค้ง และความสมดุลย์ของตัวอักษรให้ถูกต้อง ที่สำคัญคือเราไม่นิยมทำแค่ไทป์เซ็ทติ้ง เรานิยมที่จะเขียนเล็ตเตอร์ลิ่งขึ้นใหม่ เราไม่ใช่นักออกแบบประเภทเอาตัวอักษรมาตัดแบ่งต่อโน่นนี่ ยืดไปยืดมา ตัวอักษรสำหรับเราเป็นซีเรียสบิสเนส หากนำโลโก้หน้าตรงมาเฉียงสิบสององศาเองในโปรแกรมต่างๆ จะไม่ได้โลโก้ไลฟ์แบบเฉียงที่ถูกต้องสวยงาม

ไดอะล๊อกบล็อกเหนือคำว่าไลฟ์มีที่มาที่ไปอย่างไร?

➜ โจทย์พื้นฐานนึงของไลฟ์แชลนอลคือ สถานีโทรทัศน์ที่คุณสามารถเปิดทิ้งไว้เพื่อเป็นเพื่อนได้ทั้งวัน เราต้องการให้โลโก้ไลฟ์สื่อสารกับทุกทุกคนเหมือนกับคอนเซ็ปของสถานีโทรทัศน์ จึงมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้โลโก้นี้สามารถสื่อสารได้มากกว่าการเป็นโลโก้ธรรมดา เราจึงเลือกใช้ไดอะล๊อกบล็อกมาร่วมองค์ประกอบกับคำว่าไลฟ์ อีกทั้งยังเป็นทางออกที่เรียบง่าย เป็นการสื่อสารที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจได้ง่ายและทั่วถึง เราคำนึงถึงการใช้งานของโลโก้เป็นหลัก เราจึงออกแบบให้เกิดลักษณะการใช้งานแบบต่างๆควบคู่ไปกับโลโก้ เช่นการใส่ภาพจากรายการต่างๆ ตัวหนังสือแจ้งรายการ การเข้าออกรายการ หรือแม้แต่ทำหน้าที่ในการบอกเวลา เราต้องการให้โลโก้นี้สื่อสารกับคนดูตลอดเวลาในเนื้อหาที่สามารถเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ

วิธีการเลือกใช้คู่สีของโลโก้ไลฟ์มีข้อแม้อย่างไร?

➜ เราเลือกคู่สีไว้ให้แล้วมากกว่ายี่สิบคู่ ซึ่งน่าจะครอบคลุมการใช้งานในลักษณะต่างๆ ชีวิตเรามีสีสรรมากมายการกำหนดให้มีคู่สีเดียวตายตัวอาจจะไม่สมเหตุผลนัก ประกอบกับเราคำนึงถึงการนำไปใช้จริง รูปแบบรายการของไลฟ์แชลนอลนั้นหลากหลายมาก เน้นไปทางศิลปะและงานออกแบบที่มีผลกับไลฟ์สไตล์ เรื่องสีจึงน่าจะมีความหลากหลาย อีกทั้งการใช้โลโก้บนหน้าจอโทรทัศน์ก็เป็นสิ่งที่เราต้องคำนึง พื้นแบคกราวน์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอีกทั้งยังเป็นภาพเคลื่อนไหว คู่สีที่ตายตัวอาจจะไม่เหมาะกับทุกสถานการณ์ กระนั้นเราก็ได้กำหนดคู่สีหลักไว้เพื่อการใช้ลักษณะที่เป็นทางการคือสีส้มและเทา เหตุผลของการเลือกคู่สีดังกล่าวไม่ได้มีมิติมากไปกว่าหลักการพื้นๆ เราไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการให้เหตุผลกับการเลือกสี ความเหมาะสมและทฤษฏีสีเบื้องต้นสามารถนำมาอ้างอิง แต่ไม่ใช่การพูดด้วยความรู้สึกส่วนตัว ในขณะที่สามารถอธิบายแบบหลักการที่เป็นที่ยอมรับสากล สีโทนร้อนติดในความรู้สึกได้เร็วกว่าโทนเย็น หลังพูดคุยกับผู้บริหารของไลฟ์แล้ว การตัดสินใจร่วมกัน สุดท้ายจึงมาลงตัวที่ คู่สีเขียวและน้ำตาล ด้วยเหตุผลที่เขียวและน้ำตาลสามารถสื่อกับความเป็นธรรมชาติได้ดีกว่า ไม่รู้สึกสังเคราะห์เกินไป อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าความรู้สึกเกี่ยวกับสี เป็นเรื่องส่วนตัวและไม่สามารถชี้ขาดได้ นี่แหละชีวิต