จากอักษรภาษาอังกฤษสู่อักษรภาษาไทย

➜ คุณเชื่อไหมว่า Wallpaper* ฉบับปฐมทัศน์ภาษาไทย จัดวางหน้ากระดาษด้วยฟอนต์อื่นไปก่อนทั้งหมด และรอจนถึงนาทีสุดท้าย เพื่อให้ได้ฟอนต์แอมป์พลิธูท ไทย (Amplitude Thai) ในแบบที่คุณอ่านอยู่ขณะนี้

Wallpaper* ฉบับปฐมทัศน์ภาษาไทย จากการควบคุมการออกแบบรูปเล่มของ นนทวัฒน์ เจริญชาศรี ได้จัดวางและออกแบบรูปเล่มด้วยฟอนต์อื่นไปก่อนทั้งหมด จนกระทั่งนนทวัฒน์เปิดประเด็นขึ้นมาว่า Wallpaper* ฉบับภาษาไทยนั้นน่าจะมีฟอนต์ไทยพิเศษ เนื่องจากจุดเด่นที่สำคัญประการหนึ่งของหนังสือหัวนอกเล่มนี้ คือการใช้ตัวอักษร เพื่อเชื่อมโยงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นทางการออกแบบของหนังสือภาคภาษาอังกฤษกับภาคภาษาไทย ที่จะต้องมีการใช้อักขรศิลป์จัดวางตัวอักษรภาษาไทย ทีมออกแบบจึงต้องตัดสินใจรอเพื่อจะรื้อและปรับจนถึงนาทีสุดท้าย รองรับกับฟอนต์ใหม่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ

ทุกวันนี้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกานั้น การออกแบบชุดตัวอักษรเฉพาะสำหรับองค์กร หรือสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสิ่งที่แพร่หลายมาก โดยมีกระแสตอบรับและเติบโตมาจากต้นยุค 90 กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นหนึ่งในการที่จะทำให้การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์มีความโดดเด่นบนการแข่งขันที่ดุเดือดของอุตสาหกรรมนี้

จะมีกี่คนที่สังเกตว่าตัวอักษรภาษาไทยกับภาษาอังกฤษของ Wallpaper* นั้นเกิดจากการบรรจงออกแบบให้สามารถพิมพ์และใช้งานเคียงข้างกัน “บางคนอาจจะแค่ดูแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก เหมือนมองแต่ไม่เห็น อ่านแต่ไม่เข้าใจ” นั่นเป็นคำถามเชิงบอกเล่า ที่นักออกแบบตัวอักษร อนุทิน วงศ์สรรคกร เกริ่นเชิงวิภาคให้ฟัง ก่อนจะเล่าถึงฟอนต์ แอมป์พลิธูทไทย (Amplitude Thai) ที่เขาบรรจงออกแบบมาเพื่อนิตยสารหัวนอกฉบับนี้

นับเป็นอีกหนึ่งแรงสั่นสะเทือน เมื่อเขาเป็นคนแรกๆ ที่ก่อให้เกิดแนวคิดการสร้างแบบตัวอักษร (หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าฟอนต์) เป็นการเฉพาะตัวสำหรับบริษัท องค์กร และสื่อสิ่งพิมพ์นิตยสารหัวไทย จนกระทั่งคุณสันติ ลอรัชวี นักเขียนและนักวิชาการทางการออกแบบ หยิบยกนำไปเขียนเป็นบทความลงในนิตยสารอะเดย์วีคลี่ย์เมื่อรอบขวบปีที่ผ่านมา ชมเชยถึงนิตยสารดีเอนเอที่ใส่ใจในประเด็นการสร้างแบบตัวอักษรเพื่อสร้างลักษณะเฉพาะของตนเอง เรื่องของแบบตัวอักษรที่เราๆ มอง แต่ไม่เห็น อ่านแต่ไม่เข้าใจ อีกทั้งไม่เคยถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในสังคมไทย จึงถูกกระตุ้นตื่นขึ้นจนเริ่มมีคนใส่ใจกับตัวอักษรที่อ่านมากขึ้น นอกจากอ่านเพียงแต่เนื้อความให้ได้ใจความอย่างเดียว

อนุทิน วงศ์สรรคกร นักออกแบบที่ถูกนิตยสารบางฉบับนิยามว่า นักออกแบบหัวก้าวหน้า ร่วมกับเพื่อนสนิท พงศธร หิรัญพฤกษ์ และนิรุติ กรุสวนสมบัติ ก่อตั้งกลุ่มพฤติกรรมการออกแบบขึ้น โดยใช้พื้นที่เล็กๆ ร่วมกันกับ บริษัท คัดสรร ดีมาก ของพวกเขาเอง บางคนอาจจะเคยผ่านหูกันมาบ้างเพราะกลุ่มพฤติกรรมการออกแบบนั้นก็คือ กลุ่มนักออกแบบที่ตีพิมพ์ผลงาน แสดงออกความคิดและวิชาการทางการออกแบบ และการออกแบบตัวอักษรอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ในชั่วโมงหลังเที่ยงคืน ดึกดื่นวันหนึ่งที่ร้านอาหารสไตล์ไดเนอร์ของฟู้ดแลนด์ Wallpaper* ฉบับภาษาไทยนี้ เกือบไม่ได้ใช้ฟอนต์เป็นของตัวเองแล้ว ถ้า นนทวัฒน์ เจริญชาศรี บรรณาธิการฝ่ายสร้างสรรค์ ไม่บังเอิญไปหาอะไรทานหลังเลิกงาน จากการตระเตรียมวางระบบการออกแบบสำหรับนิตยสารเล่มนี้ และ อนุทิน วงศ์สรรคกร ไม่บังเอิญมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในวันและเวลาเดียวกัน “ปกติเราไม่ค่อยได้มีโอกาสเจอะเจอกันสักเท่าไหร่ เนื่องด้วยหน้าที่การงานของแต่ละคนไปกันคนละทาง นานๆ จะเจอกันที” อนุทินกล่าว

ฟอนต์แอมป์พลิธูทในแบบละตินหรือที่เราๆ เรียกกันว่าตัวภาษาอังกฤษนั้น เป็นผลงานของคริสเตียน ชวาส์ท (Christian Schwartz) ที่เขียนไว้ตั้งแต่ช่วงเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ที่ผ่านมา คริสเตียนเล่าให้อนุทินฟังว่าเขาได้แรงบันดาลใจในเรื่องของการที่อิงค์แทรป (Ink traps) ไปปรากฏบนตัวหนังสือโลหะบริเวณสถานีรถไฟใต้ดินเมืองปราก สาธารณรัฐเชค

เมื่อถึงช่วงปรับครั้งใหญ่ทางด้านการออกแบบของนิตยสาร Wallpaper* ฉบับภาษาอังกฤษ ครั้งล่าสุด ได้มีการทดลองเอาฟอนต์แอมป์พลิธูทที่เป็นตัวอักษรแบบบล๊อคดูหนักแน่นนี้ มาใช้งานร่วมกับฟอนต์ Big Caslon Swash Italic ของ Matthew Carter ที่ดูอ่อนช้อย หรูหราสง่างาม อันเป็นคู่ขัดแย้งที่ด้วยบางประการ ‘ลงตัว’ การเลือกใช้ฟอนต์ทั้งสองแบบเป็นการเลือกแบบเกื้อกูลต่อกันทางความขัดแย้ง ทำให้งานออกแบบนิตยสารฉบับนี้โดดเด่นอย่างน่าประหลาดใจ จนกลายมาเป็นคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนของ Wallpaper* ที่หลายคนจดจำได้ดี

เมื่อราว 5 ปีก่อน อนุทินเคยสัมภาษณ์คริสเตียนลงในนิตยสาร art4d ครั้งนั้นคริสเตียนเพิ่งจะออกจากเมต้าดีไซน์ (Meta Design) และฟอนต์บิวโรว (Font Bureau) แน่นอนว่ายังไม่มีชื่อเสียงมากมายอย่างทุกวันนี้ เมื่อช่วงปีที่แล้วนับได้ว่าเป็นปีทองของคริสเตียน เมื่องานออกแบบของเขาถึงเกือบครึ่งโหลเข้ารอบสุดท้าย และทั้งหมดได้รับรางวัลจาก ไทป์ไดเรคเตอร์คลับ (Type Director Club) นิวยอร์ค หนึ่งในนั้นแน่นอนคืองานออกแบบฟอนต์แอมป์พลิธูทที่เรากำลังพูดถึงนั่นเอง

ปัจจุบันคริสเตียนทำงานร่วมกับทีมยูไนเต็ดดีไซน์เนอร์ (United Designers) ของอีริค สไปเคอร์แมน (Erik Spiekerman) นักออกแบบชั้นนำของโลก ใจความตอนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ที่ถูกตัดออกจากบทสนทนาที่ถูกตีพิมพ์จริงบอกว่า ในช่วงนั้นฟอนต์อินเตอร์สเตท (Interstate) ของโทไบอัส เฟรโจนส์ เพื่อนนักออกแบบรุ่นพี่ที่ฟอนต์บิวโรว กำลังได้รับความนิยมอย่างมหาศาล เป็นปรากฏการณ์ที่ใครๆ ต่างหยิบฟอนต์นี้ไปใช้ จนกลายเป็นฟอนต์คลาสสิกใหม่ไปแล้ว คริสเตียนเปรยกับอนุทินว่า วันหนึ่งเขาเองก็อยากออกแบบฟอนต์ที่สร้างปรากฏการณ์ในวงการแบบนี้บ้าง ดูเหมือนว่าวันนี้เขาได้ทำให้มันเกิดขึ้นแล้ว ด้วยความช่วยเหลือจากการนำไปใช้ในนิตยสารวอลเปเปอร์

แบบตัวอักษรที่ใช้พิมพ์บนกระดาษคุณภาพต่ำ อย่างหนังสือพิมพ์ สมุดโทรศัพท์ รายงานหุ้น จะใช้เทคนิคการออกแบบที่เรียกว่า Egate Typefaces หรือการออกแบบให้ตัวอักษรสามารถพิมพ์ได้ในขนาดเล็ก บนกระดาษคุณภาพต่ำ โดยที่ตัวอักษรยังสามารถอ่านได้ชัดเจนอยู่ และแก้ไขความผิดพลาดในการพิมพ์ที่หมึกจะเยิ้มออกนอกตัวอักษร โดยการคว้านช่องตัวอักษรให้แหว่งเว้า เวลาหมึกพิมพ์ลงไป จะบวมพอดีกับที่คว้านเอาไว้ หรือเรียกว่า ‘Ink traps‘ นั่นทำให้ตัวอักษรที่ละม้ายคล้ายกันอย่างเช่น a c e หรือ 3 กับ 8 มีความสับสนน้อยลงสำหรับการอ่าน ซึ่งลักษณะตัวอักษร Egate Typefaces แบบนี้เองผนวกกับตัวหนังสือโลหะป้ายสถานีบริเวณรถไฟใต้ดินเมืองปรากที่มี Ink Traps และความเป็น Egate Typefaces ปรากฏโดยไม่มีความจำเป็น ทำให้คริสเตียนกลับมาศึกษาลักษณะบางประการจากคลาสสิกฟอนต์อย่าง Bell Centennial ของ Matthew Carter ที่ออกแบบไว้สำหรับพิมพ์ลงในสมุดรายนามโทรศัพท์ แน่นอนว่าด้วยคุณภาพกระดาษและขนาดตัวอักษรที่จะต้องพิมพ์ในขนาดที่เล็กมาก ทำให้อิงค์แทรปของ Bell Centennial นั้นจำเป็นต้องมีความใหญ่โตมากเป็นพิเศษ

จากการออกแบบเชิงฟังก์ชั่น กลายมาเป็นสไตล์ เมื่อระบบการพิมพ์แบบดิจิตอล และคุณภาพกระดาษที่ถูกพัฒนาขึ้น ช่วงปลายปี 80s ทำให้นักออกแบบตัวอักษรไม่จำเป็นต้องแคร์มากกับเรื่องอิงค์แทรปอีกต่อไป แต่ คริสเตียน กลับนำเอาอิงค์แทรปมาเป็นลูกเล่นในการออกแบบ และเป็นคนแรกที่หยิบเอาจุดเด่นของฟังก์ชั่นมาเป็นสไตล์ นั่นจึงทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นมากับการออกแบบตัวอักษรชุดแอมป์พลิธูท

แอมป์พลิธูทถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งอาจจะมาจากความธรรมดาที่แฝงความไม่ธรรมดาของแบบตัวอักษรชุดนี้ กรอปกับการเป็นแบบตัวอักษรที่สามารถรองรับภาษาทางการออกแบบได้อย่างหลายหลาก มันปรากฏบนหลากหลายสิ่งพิมพ์ตั้งแต่นิตยสารแฟชั่นสำหรับตลาดบน ไปจนถึงหนังสือพิมพ์แทปลอยด์สำหรับตลาดล่าง ผลิตภัณฑ์ หีบห่อต่างๆ จนไปถึงป้ายโฆษณา เหตุนี้เองทำให้ Paul Barners ที่ปรึกษาทางด้านการออกแบบของนิตยสาร Wallpaper* ฉบับอังกฤษถึงกับเอ่ยปากว่า “แอมป์พลิธูทเป็นหนึ่งในสิ่งหายาก และไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในการออกแบบ มันเป็นตัวอักษรไม่มีเชิง (San Sarif) ที่ถูกจัดได้ว่าเป็นงานดีไซน์ร่วมสมัย ที่มีคาแรคเตอร์เด่นชัดจากตัวอักษรไร้เชิงตัวอื่นๆ ที่ร่วมยุคเดียวกัน เหตุเพราะเป็นตัวอักษรที่ชวนอ่าน ในขณะที่แบบตัวอักษรเองก็อุดมไปด้วยแนวคิดที่น่าสนใจ อันแสดงถึงศักยภาพขั้นสูงของผู้ออกแบบ ในการนำไอเดียอิงค์แทรปที่ถูกใช้งานอย่างปกติสามัญมาทำให้เกิดเป็นสิ่งวิสามัญ หากแอมป์พลิธูทเปรียบได้กับท่วงทำนองของเพลงก็คงเป็นเพลงที่ถูกบรรเลงอย่างหรูหราผ่านสายตาผู้อ่าน คริสเตียนเป็นผู้ออกแบบตัวอักษรที่สามารถเคียงบ่าเคียงไหล่ได้กับฟอนต์คลาสสิกใหม่ อย่าง Meta, Scala Sans และ Frutiger ไปแล้ว”

กลายเป็นเรื่องบังเอิญที่กลับสร้างความลงตัวเป็นอย่างยิ่ง ที่นักออกแบบตัวอักษรของไทยอย่าง อนุทิน วงศ์สรรคกร ได้รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบแอมป์พลิธูทภาษาไทยนั้น อนุทินรู้จักมักคุ้นกับคริสเตียน ชวาสท์ มานานหลายปี ทั้งสองถูกแนะนำให้รู้จักกันโดยเพื่อนนักออกแบบตัวอักษรที่ฟอนต์บิวโรว ในเมืองบอสตัน เนื่องจากทั้งคู่มีความสนใจตรงกันที่จะออกแบบตัวอักษรซึ่งมีต้นแบบมาจากป้ายทะเบียนรถยนต์ของรัฐเพนซิลวาเนีย

เช้าวันหนึ่ง คริสเตียนโทรศัพท์ทางไกลมาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อแสดงความยินดีเมื่อทราบอย่างเป็นทางการว่า อนุทินนั้นได้รับหน้าที่ในการออกแบบความต่อเนื่องของแอมป์พลิธูทให้มาเป็นภาษาไทย “มันเป็นความโชคดีของผมที่งานนี้คุณได้เป็นคนทำ อย่างน้อยผมก็สบายใจว่าโปรเจคนี้อยู่ในมือที่ถูกต้อง” คริสเตียนกล่าวย้ำในอีเมล์หนึ่งในหลายสิบฉบับที่สื่อสารตอบโต้กันในระหว่างขั้นตอนการเตรียมออกแบบภาษาไทยของอนุทิน

นิตยสาร Wallpaper* ฉบับภาษาไทย เป็นภาษาต่างชาติที่สอง ต่อจากรัสเซียที่ล่วงหน้าไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แอมป์พลิธูทภาษารัสเซีย (Amplitude Cyrillic) ออกแบบโดย Tagir Safaev ส่วนแอมป์พลิธูทภาษาไทยนั้นเป็นตัวอักษรที่อนุทินต้องเร่งสร้างขึ้นภายในเวลาเดือนกว่าๆ ซึ่งนับว่าเป็นกรอบเวลาที่จำกัดมากทีเดียวสำหรับงานประเภทนี้ ผ่านการแก้ไขแบบรายวัน โดยการส่งชุดอักษรทดลองและไฟล์กลับไปกลับมา นิวยอร์ค-กรุงเทพ ทางอีเมล์ ซึ่งหากนับเป็นระยะทางจริงดูเล่นๆ ก็คงเป็นการเดินทางได้หลายรอบโลก อีกทั้งการสื่อสารทางโทรศัพท์ ที่บางคราการอธิบายบางอย่างทางอีเมล์ไม่สามารถครอบคุม

“เหมือนสอนภาษาไทยให้เขาด้วย” เป็นคำที่อนุทินใช้อธิบายการทำงานของเขากับคริสเตียน เพราะความที่คริสเตียนอ่านภาษาไทยไม่ออก ดูได้เฉพาะฟอร์มของตัวอักษร การแนะนำส่วนใหญ่จึงเป็นการถามถึงความเป็นไปได้ในลักษณะต่างๆ ที่อยู่บนพื้นฐานของรูปร่างอย่างเดียว ปัญหาที่ต้องเผชิญส่วนใหญ่คือข้อแม้ทางภาษาศาสตร์เช่น แอมป์พลิธูท นั้นมีลักษณะการทิ้งคาแรคเตอร์ตัวอักษรค่อนข้างโปร่ง ที่ว่างระหว่างตัวอักษรค่อนข้างเยอะ เมื่อมาเป็นภาษาไทย การทำให้โปร่ง มีระยะห่างของตัวอักษรแต่ละตัวมากนั้น มีข้อจำกัดของการเขียนภาษาไทยอยู่ ซึ่งจะมีผลกระทบทอดไปสู่ความสามารถในการอ่าน เนื่องเพราะว่าเป็นการขยับการวางตัวสระและวรรณยุกต์ที่ถูกต้อง

ช่องว่างระหว่างตัวอักษรของแอมป์พลิธูทไทยจึงต้องแคบเข้ามามากกว่าภาษาอังกฤษ มีผลต่อเนื่องทำให้ความหนาของตัวอักษรในน้ำหนักที่เท่ากันจะหนาเท่ากับภาษาอังกฤษไม่ได้ เพราะจะทำให้ดูแน่นทึบไม่โปร่งเหมือนภาษาต้นแบบ ในขณะที่ตัวภาษาไทยที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าในเชิงโครงสร้าง การออกแบบก็ต้องหลอกหลบหลีกให้ตัวอักษรบางกว่าภาษาอังกฤษเล็กน้อย อีกทั้งตัวอักษรไทยแต่ละตัวก็จะต้องมีการกำหนดอิงค์แทรปที่ไม่เหมือนกันกับภาษาอังกฤษ บ้างอาจจะยืมตัวอย่างมาจากภาษาอังกฤษได้ แต่ก็มีไม่น้อยที่เราต้องนำเสนอรูปทรงใหม่พร้อมกับลีลาของการตัดเว้าอิงค์แทรปที่ไม่เหมือนกับภาษาอังกฤษหากแต่สามารถเข้าชุดกันได้

วิธีการออกแบบตัวอักษรภาษาไทยเพื่อใช้ร่วมกันกับภาษาอังกฤษของอนุทิน อาจจะแปลกกว่าตำราอื่นๆ “ผมเริ่มเรียนและหัดเขียนแบบขึ้นรูปจากตัวภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะนำทักษะดังกล่าวมาปรับใช้กับภาษาไทย วิธีการขึ้นรูปภาษาไทยของผมจึงอ้างอิงและทำโดยทักษะจากภาษาอังกฤษ” อนุทินขยายความให้ฟัง ถึงสาเหตุที่ทำให้ฟอนต์ของพฤติกรรมการออกแบบทั้งหมดดูแตกต่างจากฟอนต์ไทยของค่ายอื่นๆ และใช้กับการออกแบบจัดวางตัวอักษรภาษาไทยบนวิธีการจัดร่วมสมัยได้ดี

อนุทินมองว่า เขาต้องหาขนาดความสูงของตัวหนังสือภาษาไทยในชุดการออกแบบใหม่ทุกครั้ง โดยเทียบจากต้นแบบภาษาอังกฤษทั้งที่ทำเองหรือเป็นผลงานการออกแบบของผู้อื่น ซึ่งมันอาจจะไม่ถูกตามตำรา แต่มันถูกต้องสำหรับเขา เรากำหนดส่วนสูงและขนาดของตัวอักษรภาษาไทยใหม่ เพื่อให้การพิมพ์ภาษาไทยควบคู่ภาษาอังกฤษเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องปรับขนาดตัวอักษรไปมาในระหว่างการพิมพ์หรือการออกแบบ นอกจากนั้นยังเป็นการอำนวยความสะดวก เมื่อพิมพ์ภาษาไทยควบคู่หรือแทรกไปกับเลขอารบิคอีกด้วย

แม้ว่าวิธีการดังกล่าวถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่าไม่ถูกตามหลักวิธีการออกแบบตัวอักษรภาษาไทยที่ดีก็ตาม อนุทินกล่าวต่อไปว่า “เราก็ยังคงใช้วิธีนี้เพราะผลลัพธ์ที่ได้จากฟอนต์ชุด SMB Advance ที่เราทำให้กับเอไอเอสนั้นได้พิสูจน์ตัวมันเองไปแล้ว มันแสดงให้เห็นว่าภาษาไทยกับภาษาอังกฤษอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนได้อย่างไร และเอื้อกับการจัดวางอักขรศิลป์ร่วมสมัยโดยใช้ภาษาไทยได้เพราะความกลมกลืนนั้น” แอมป์พลิธูทภาคภาษาไทยผลงานล่าสุดของเขา ก็เป็นผลจากการเรียนรู้ลองผิดลองถูกที่กล่าวมา

อนุทินเคยเขียนในหนังสือ ‘บันทึกบรรยาย’ ของเขาเมื่อประมาณห้าปีที่แล้วว่า “การออกแบบตัวอักษร มันท้าทายตรงที่ว่า ก.ไก่ มันก็เป็น ก.ไก่ มันเป็นไปไม่ได้มากกว่านั้น เราต้องตั้งคำถามทุกวัน ว่าทำยังไงให้มันดูแปลกไป โดยที่ยังเป็น ก.ไก่อยู่ แล้วก็ต้องไม่ซ้ำกับที่มีอยู่แล้วด้วย” วันนี้เขากล่าวถึงหมวดความคิดนี้อีกครั้งในการสนทนาครั้งนี้ ในรูปประโยคอีกแบบแต่ใจความเดิม “วันไหนที่ผมได้เห็น ตัว A ในแบบใหม่ จะนึกตลอดว่า โอ้โห..คิดได้ยังไง เพราะตัวอักษรโดยพื้นฐาน มันเป็นฟอร์มที่สมบูรณ์แบบในตัวอยู่แล้ว มันเลยยากตรงที่ว่าเราจะบิดมันได้ขนาดไหนให้มันแปลกไป แล้วยังคงอ่านได้ รู้ได้ว่าเป็นตัวอักษรตัวไหน และยิ่งเป็นการออกแบบฟอนต์ภาษาไทยเพื่อภาษาอังกฤษ ยิ่งต้องดูว่ามันยังคงดูเป็นภาษาไทยอยู่และในขณะเดียวกัน ก็ยังเชื่อมโยงกับภาษาอังกฤษได้ด้วย”

เบื้องหลังแอมป์พลิธูทไทย นอกจากอนุทิน วงศ์สรรคกร ผู้ออกแบบตัวอักษรทั้งชุด และผ่านการเห็นชอบจากคริสเตียน ชวาส์ท เจ้าของต้นแบบโดยตรงแล้ว ยังคงมีอีกคนหนึ่งที่ช่วยกันประกอบให้ฟอนต์ชุดนี้ให้สามารถทำงานเป็นไฟล์ที่สมบูรณ์ นั่นก็คือ เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช ในฐานะผู้ช่วยทางด้านเทคนิค ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตให้แอมป์พลิธูทภาษาไทยสามารถใช้งานได้บนระบบปฏิบัติการทั้งแมคอินทอช และวินโดวส์ ที่สนับสนุนมาตรฐานยูนิโคต

นั่นสินะ จะมีสักกี่คนที่สังเกตว่าตัวอักษรภาษาไทยกับภาษาอังกฤษของ Wallpaper* นั้นแมทช์เข้าชุดกันตั้งแต่แรกเห็น ก่อนที่จะเจอกับบทความนี้ อาจจะแค่ดูแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก เหมือนมองแต่ไม่เห็น อ่านแต่ไม่เข้าใจ หรือคำนี้จะมีน้ำหนักจริง? การออกแบบตัวอักษรเป็นเรื่องที่ต้องคิดอย่างรอบคอบ มีความละเอียดอ่อนและมีรายละเอียดในการออกแบบ แต่คนอ่านอย่างเราๆ มักจะแค่อ่านผ่านตัวอักษรเหล่านั้น เพื่อให้ได้เข้าถึงเนื้อหาใจความ เรามองข้ามแบบตัวอักษรไปเหตุเพราะมันใกล้เรามากจนเราอาจไม่ได้คิดว่ามันมีกระบวนการการสร้างสรรค์อยู่ในนั้น

แม้บทความนี้ จะเป็นเพียงประเด็นการเกิดขึ้นของฟอนต์แอมป์พลิธูทไทย แต่หากจะทำให้ผู้คนสนใจสิ่งที่ถ่ายทอดการอ่านมากขึ้นพอๆ กับความสนใจในเนื้อความ เพียงแค่นั้นคงทำให้การออกแบบตัวอักษรมีพื้นที่ยืนมากขึ้นในบ้านเรา ไม่ใช่หรือ