➜วันก่อนหยิบเอาดีวีดีที่สะสมไว้มาเปิดเยี่ยมชม ที่ผมใช้คำว่า “เยี่ยม” ที่หมายถึงเยือน ก็เพราะบ่อยครั้งที่ซื้อมาแล้วเก็บ ก็เรียกว่าเก็บไว้แต่ไม่ค่อยได้เอาออกมาดู นี่มันก็คงไม่ต่างอะไรกับการซื้อแผ่นเปล่ามาเก็บกระมัง ผมเลือกหยิบเอาบันทึกการแสดงสด และสารคดีชุด Somewhere (Live at Savoy Theatre) ในกรุงลอนดอน ของ Pet Shop Boys ออกมาชมอีกครั้ง พอดีมีช่วงสั้นๆ ที่เป็นบทสัมภาษณ์ “มาร์ค ฟาโรว์” เลยทำให้นึกขึ้นได้ว่า ว่าจะ..ว่าจะ..อยู่หลายต่อหลายหน ที่จะเขียนเรื่องถากไปให้เกี่ยวกับนักออกแบบคนนี้
หากพูดถึงการออกแบบปกอัลบั้มเพลงในยุค 80’s จะมีการออกแบบปกอัลบั้มเพลงชุดไหนบ้าง ที่ทำให้คุณคิดถึงได้เป็นอันดับต้นๆ อัลบั้มที่ยืนเด่นออกมาจากชุดอื่นๆ ร่วมทศวรรษเดียวกัน?
ฟาโรว์ เคยพูดถึงงานของเขาในนิตยสาร eye หลายปีที่แล้ว เขาเอ่ยถึงผลงานแจ้งเกิดชิ้นนี้ ปกแผ่นเสียงแนวมินิมัลลิสม์ (minimalism) หน้าปกชุดแรกของ Pet Shop Boys ตัวอักษรและรูปเล็กๆ วางบนพื้นที่สีขาวอันกว้างใหญ่ทำให้ปกอัลบั้ม Please ของ Pet Shop Boys กระโดดเด่นออกมาจากชั้นวางแผ่นเสียง ที่เต็มไปด้วยปกสไตล์ “ขายของ” ในยุคนิวโรแมนติก (New Romantic)
ฟาโรว์เอง นับว่าโชคดีที่มีคนที่เข้าใจศิลปะและการออกแบบมาเป็นลูกค้าประจำอยู่สม่ำเสมอ ผลงานของเขาในการออกแบบให้ Pet Shop Boys หลายต่อหลายชุด นอกจากจะเป็นปกที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางแล้ว ยังได้รับรางวัลมากมายทีเดียว โดยเฉพาะรางวัลที่ได้จากสมาคมผู้กำกับศิลป์ยุโรป และรางวัลดินสอทองคำจาก D&AD ที่เหลือ เรียกว่าไล่นับกันไม่ไหว พึ่งจะมาช่วงหลังๆ นี่เองที่เขาห่างหายจากการออกแบบปกอัลบั้มให้ Pet Shop Boys
ว่ากันว่าอัลบั้ม Nightlife ของ Pet Shop Boys นั้น เขาแทบจะไม่ได้แตะการออกแบบด้วยตนเองเลย เพราะงานอื่นมีมากขึ้นจนล้นมือ นี่ก็คงเป็นสาเหตุให้ฟาโรว์ขอเว้นวรรคหลังจากงานออกแบบโปสเตอร์ให้กับละครเพลง Closer to heaven เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ปกอัลบั้มจากละครเพลงของ Pet Shop Boys ชุดนี้ไม่ได้เป็นฝีมือของเขา ฟาโรว์เพิ่งจะได้กลับมาร่วมงานกันใหม่กับ Pet Shop Boys ในชุดรวมฮิตแผ่นคู่ Pop Art อีกครั้ง ใครที่ติดตามงานของ มาร์ค ฟาโรว์ มาโดยตลอด ก็คงจะแยกออกได้ไม่ยากว่าเป็นฝีมือเขาหรือไม่ เพราะลายเซ็นต์หรือสไตล์ของเขานั้นชัดเจนเหลือเกิน โดยเฉพาะการจัดวางตัวอักษรอันเรียบง่ายแต่ลงตัวเหมาะสมกับพื้นที่ว่าง เป็นงานออกแบบที่ไม่ได้แสดงความซับซ้อนทางหน้าตาผลงาน หากแต่ความซับซ้อนนั้นกลับไปอยู่ที่กระบวนการกลั่นกรอง ตามแนวทางของ “ทำน้อยได้มาก” หรือที่เรียกกันติดปากเป็นภาษาอังกฤษว่า “Less is more” และประการสำคัญ ฟาร์โรว์มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง คือการใช้สีเป็นพื้นที่
นอกจาก Pet Shop Boys ขาประจำที่สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักแล้ว มาร์ค ฟาโรว์ ยังมีศิลปินที่ทำงานร่วมกันอยู่อีกมากหน้าหลายตา อาทิ Manic Street Preacher, Orbital, M People, K Klass, Lighting Seeds, Splritualized, William Orbit แล้วก็ Kylie Minogue ชุด Light Years ที่เป็นจุดเปลี่ยนภาพความเป็น Kylie มาเป็นอย่างที่เราเห็นเธอเป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากฟาโรว์จะออกแบบปกให้แล้ว ยังรวมไปถึงการออกแบบหนังสือรวมเล่มของเธออีกต่างหาก
ส่วนผสมที่เอื้อกันและกันของดนตรีกับการออกแบบกราฟิกอย่างที่กล่าวมานั้น มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ไม่น้อยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นวง New Order กับความผูกพันแน่นแฟ้นกับ Peter Saville ศิลปินอย่าง Bejork กับสตูดิโอออกแบบ Me Company วง Blur ที่ในช่วงหลังผูกปิ่นโตกับ Stylo Rouge หรือสายสัมพันธ์ระหว่าง Simply Red กับบริษัทออกแบบนาม Peacock ความสัมพันธ์ในลักษณะขาประจำแบบนี้
ในบ้านเราก็เริ่มมีบ้างแล้ว อย่างเช่นกรณีของคุณวรุต ปันยารชุน กับผลงานการออกแบบให้เบเกอรี่มิวสิค ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกความสัมพันธ์ลักษณะนี้ในบ้านเรา ผมจำได้ว่าหลายปีก่อนเคยนั่งคุยกับพี่ทอม วรุต อยู่ครั้งสองครั้ง บทสนทนาก็วนเวียนอยู่กับเรื่อง ปีเตอร์ เซวิลล์ และมาร์ค ฟาโรว์ นี่แหละ ก็แน่นอนแนวในการออกแบบเลขนศิลป์เพื่ออุตสาหกรรมดนตรี ก็ต้องยกให้สองคนนี้เขาเป็นแนวหน้าล่ะว่างั้นเถอะ
สูตรความสำเร็จของการทำงานอย่างสอดคล้องกันระหว่างตัวของดนตรีเองและภาพพจน์จากบรรจุภัณฑ์นั้น มีให้เห็นจนมันสามารถพิสูจน์ทฤษฎีได้ในระดับหนึ่ง กราฟิกดีไซน์เนอร์กับปกเทป กลายเป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบหนึ่งระหว่างอุตสาหกรรมการออกแบบและดนตรี อาจจะเป็นเพราะดนตรีและกราฟิกดีไซน์มีบางอย่างที่ใช้ร่วมกันในโลกของศิลปะ การที่ได้งานออกแบบชั้นดีมาช่วยเสริมภาพพจน์ของดนตรี ก็คงไม่ต่างอะไรกับการสร้างบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจให้กับสินค้า ซึ่งในที่นี้ก็คือดนตรี ในยุคสมัยนี้จะอาศัยตัวดนตรีดีเพียงอย่างเดียวก็คงเป็นการมองไม่ขาด เพราะเพลงที่ดีก็ควรที่จะคู่กับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดี นำมาซึ่งความแตกต่าง ควรค่าแก่การจดจำมากกว่ารูปหน้านักร้องขยายใหญ่เต็มหน้าปก ตามสูตรสำเร็จของอุตสาหกรรมประเภทนี้
ว่าแล้วก็หยิบเอาปกดีวีดีชุดนี้ขึ้นมาดู พร้อมๆ กับปกอัลบั้มและซิงเกิ้ลต่างๆ ของ Pet Shop Boys รวมไปถึงศิลปินอื่นๆ ที่ มาร์ค ฟาโรว์ ออกแบบ มันทำให้ผมย้อนกลับไปขบคิดว่า ทุกครั้งที่ผมควักเงินซื้อซีดี ดีวีดี หรือวัตถุอื่นๆ เทือกนี้ นอกจากดนตรีที่ผมต้องการแล้ว การที่หีบห่อของมันถูกออกแบบโดยนักออกแบบที่มีชื่อเสียง ที่เราอาจจะชื่นชมเป็นการส่วนตัว กลายเป็นบทบาทในการตัดสินใจของผมด้วย มันเหมือนกับผมซื้องานออกแบบสองประเภทในเวลาเดียวกัน ประเภทแรกเอาไว้ฟัง ประเภทหลังเอาไว้ชื่นชมทางโสตสัมผัส