➜ การทำเรื่องที่เข้าใจได้ยาก หรือเรื่องใดก็ตามที่อุดมไปด้วยข้อมูลมากๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องน่าปวดหัว ยิ่งข้อมูลมากเท่าไร การจัดเก็บก็ต้องเป็นระเบียบแบบแผนมากเท่านั้น นี่ยังไม่นับการทำความเข้าใจกับข้อมูลนั้นๆ อีกด้วยซ้ำ
ได้ยินจนรำคาญเหลือเกิน ผมเลยอดไม่ได้ที่จะขอนำมาเขียนถึงปิดท้ายศกนี้ ว่าด้วยเรื่องเทรนด์ของ “รูปแบบ” การออกแบบชนิดหนึ่ง ที่เรียกกันจนเข้าใจผิดๆ ว่าเป็น “อินฟอร์เมชั่นดีไซน์”
อะไรคืออินฟอร์เมชั่นดีไซน์? หากอธิบายแบบง่ายๆ สามารถเข้าใจได้ไม่ยากก็คือ การใช้ทักษะการออกแบบในเชิงศิลปะ ประสานเข้ากับระบบจัดการในการแบ่งฐานข้อมูล เพื่อให้แสดงข้อมูลบนระบบที่จัดเก็บ ทำให้ข้อมูลนั้นอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยผ่านหน้าตาของการออกแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจต่อสภาพทั่วไปของระบบ อันนำไปสู่การสร้างความคุ้นเคยต่อระบบการถ่ายทอดและจัดเก็บในหัวข้อนั้นๆ เพื่อให้บุคคลทั่วไป หรือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการข้อมูลดังกล่าว สามารถเรียนรู้และค้นหาข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
ในวันวานถ้าพูดให้เห็นภาพ เจ้าอินฟอร์เมชั่นดีไซน์อาจจะเป็นแค่ป้าย หรือผังบอกรายละเอียด หรือข้อความ อธิบายความเป็นมาของสิ่งต่างๆ อาทิเช่น ข้อมูลบนข้างฝาในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเกือบทั้งหมดอาจจะต้องอ้างอิงกับสื่ออื่นๆ เช่น เครื่องเล่นเทป หนังสืออ่านประกอบ หรือรูปประกอบเพิ่มเติมจากแผ่นพับ แต่เนื่องด้วยสื่ออิเล็คทรอนิกส์สมัยใหม่ ได้อนุญาติให้ทุกอย่างมารวมกันในสื่อเคลื่อนไหว ภาพจำลองสามมิติ หรือสื่อแบบตอบสนอง อย่างที่เราเรียกกันว่า อินเตอร์แอคทีฟมีเดีย แบบที่กดไปกดมา หาข้อมูล อธิบายโดยภาพเคลื่อนไหว วิดีโอคลิป อธิบายโดยภาพจำลองสามมิติ บางครั้งผนวกไว้กับระบบตารางข้อมูลที่เป็นระเบียบพร้อมเสพ ซึ่งที่กล่าวมาก็นับว่าเป็นข้อดีของการนำเสนอข้อมูลในโลกปัจจุบัน ที่สามารถนำจุดเด่นของแต่ละสื่อที่กล่าวมา นำมาใช้ย่นย่อกระบวนการศึกษา และเพิ่มความน่าสนใจต่อการเรียนรู้ข้อมูล ที่บางทีอาจจะน่าเบื่อเอาเสียมากๆ
นึกไปแล้ว ก็เป็นห่วงนักออกแบบที่หลงใหลได้ปลื้มกับเทคนิคที่ร่ายมาข้างต้น เฮโลให้ความสนใจกันไปทางนี้แล้วขาดทักษะจริงๆ ของการจัดการข้อมูล เราเคยเห็นเวบไซท์จำนวนมหาศาล ที่บ้าเทคนิคอย่างเดียวแต่ไม่มีการพัฒนาเรื่องเนื้อหา สงสัยประวัติศาสตร์กำลังจะวนมาซ้ำรอยบนสื่อใหม่ชนิดอื่นๆ เร็วกว่าคาดการณ์แล้วอะไรคือ “รูปแบบ” ของการออกแบบชนิดหนึ่งที่เรียกกันจนเข้าใจผิดว่าเป็น “อินฟอร์เมชั่นดีไซน์”?
คำว่ารูปแบบมันก็คือเปลือก (กระพี้) หรือในที่นี้ก็คือ สิ่งที่มักเรียกกันติดปากว่าเป็นรูปแบบของอินฟอร์เมชั่นดีไซน์ ถูกนำมาเป็นฉากในการสร้างงาน ส่วนจะหยิบคอนเซ็ปต์ (แก่น) ของอินฟอร์เมชั่นดีไซน์มาด้วยหรือเปล่า อันนี้ก็แล้วแต่ชิ้นงานนั้นๆ ว่าผู้ออกแบบตั้งใจจะลอกเปลือกหรือเข้าใจแก่นจึงใช้เปลือกนี้ แต่ถ้างานออกแบบนั้นๆ มาแต่รูปแบบของการจัดการข้อมูลโดยไม่ได้มีการจัดการข้อมูลจริงๆ มันก็เป็นเพียงงานที่ “เหมือน” กับอินฟอร์เมชั่นดีไซน์ ก็เท่านั้นเอง
เมื่อสักประมาณห้าปีที่แล้ว ผมเคยต้องรับผิดชอบการสอนวิชาออกแบบพื้นฐาน ยังจำได้แม่นว่าในคาบแรกผมแจกกระดาษเปล่าให้นักศึกษาคนละแผ่น สั่งให้เขียนแผนที่จากบ้านมามหาวิทยาลัย โดยสำทับให้เขียนแบบที่ง่ายและเข้าใจได้ หลังจากงงกันอยู่พักใหญ่ ผมต้องบอกให้เข้าใจกันง่ายขึ้น เพื่อเป็นการเร่งให้เขียน“ไม่ได้จะเอาแผนที่เพื่อจะตามไปที่บ้านหรอก ไม่ต้องกลัว”
เวลาผ่านไปสักระยะ ผมเริ่มรุกไล่อีกที
“เขียนแผนที่จากบ้านตัวเองมามหาวิทยาลัยทำไมต้องเขียนนานขนาดนั้น” เดินๆ ดูนักศึกษาทำงานไปรอบๆ ห้อง บ้างก็ส่งเสียงถามขอกระดาษเพิ่มเพราะวาดแผนที่ไม่พอ “ไม่มีกระดาษเพิ่มครับ กรุณาแก้ไขปัญหากันเอาเอง” ผมตอบแบบรับรู้แต่ไม่สนใจหลายปีถัดมาไวเหมือนโกหก นักศึกษาคนเดิมถามผมถึงความเป็นไปได้ในการเสนอหัวข้อโครงการศิลปนิพนธ์เกี่ยวกับอินฟอร์เมชั่นดีไซน์ ผมถามกลับไปว่าคุณจะศึกษาเรื่องอะไรเกี่ยวกับอินฟอร์เมชั่นดีไซน์ หรือว่าคุณต้องการหาโจทย์เพียงแค่ให้สอดคล้องกับภาพงานสำเร็จที่มีอยู่ในหัว ที่ผมเรียกว่าการยืม “รูปแบบ” การออกแบบอินฟอร์เมชั่นดีไซน์ นักศึกษาทำหน้างง
ผมก็พยายามชี้ให้เห็นว่าหัวข้อการศึกษากับรูปแบบการนำเสนอมันคนละส่วนกัน รูปแบบมันต้องมาทีหลังหัวข้อของงานศิลปนิพนธ์ อธิบายไปพลางก็หยิบกระดาษเปล่า A4 ยื่นให้แล้วถามว่า “ช่วยเขียนแผนที่จากบ้านมามหาวิทยาลัยให้หน่อย” “เออ…รื้อฟื้นความหลัง” ผมเพิ่มเติมส่งท้ายและสำทับไปว่า “ถ้าคุณยังไม่สามารถเขียนแผนที่ดังกล่าวให้ง่ายสั้นและกระชับให้ผมเข้าใจได้ โอกาสที่คุณจะได้ทำโครงการนี้ก็ดูจะริบหรี่เต็มที”
การเขียนแผนที่จากบ้านมามหาวิทยาลัยให้เข้าใจได้โดยง่าย มันก็คือระดับพื้นๆ ของการย่นย่อข้อมูลแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ต้องการพื้นฐานความรู้มากมายนัก อีกทั้งเนี้อหาที่ต้องการก็สั้นอยู่แล้ว หากไม่สามารถย่อให้เข้าใจได้ง่ายและชัดเจนในกระดาษแผ่นเดียวแล้วล่ะก็ จะให้ผมมั่นใจได้อย่างไรว่าคุณจะสามารถจัดการกับข้อมูลที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ได้ นั่นน่ะสิ ตกลงว่าจะทำงาน “ออกแบบ” อินฟอร์เมชั่นดีไซน์ หรือจะ “เอาแบบ” อินฟอร์เมชั่นดีไซน์ กันแน่?