คำถามที่พบบ่อย ตอน Google Fonts

 หนึ่งในคำถามที่ คัดสรร ดีมาก พบเจอบ่อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์มาถามหรือส่งอีเมลมาโดยตรง ก็คือคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ 1) Google Fonts ภาษาไทย 2) ฟอนต์ Sukhumvit Set (Sukhumvit Tadmai) ในคอมพิวเตอร์แมคอินทอช และ 3) Google Noto Fonts ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เนื่องด้วยความไม่เข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์ของฟอนต์แต่ละประเภท ทำให้ผู้ใช้หลายคนมีคำถามในเรื่องของการนำไปใช้งานและค่าใช้จ่าย

สำหรับคำตอบของคำถามเหล่านี้ ซีรีส์บทความนี้จะขอแบ่งการอธิบายออกเป็นทั้งหมด 3 ตอน เพื่อให้สามารถอธิบายถึงที่มาที่ไป รวมถึงข้อมูลประกอบอื่นๆ ที่ควรทราบได้อย่างพอควรพอเหมาะและพอดิบพอดี ไล่เรียงกันไปตามแต่ละกลุ่มฟอนต์ ตั้งแต่ Google Fonts ภาษาไทย, ฟอนต์ Sukhumvit Set (Sukhumvit Tadmai) และ Google Noto Fonts

สำหรับในตอนที่ 1 เราจะเริ่มต้นกันที่ Google Fonts

Google Fonts

ไลเซนส์ของฟอนต์ในโปรเจ็กต์ Google Fonts เรียกว่า โอเพ่น ฟอนต์ ไลเซนส์ (OFL: Open Font License) เป็นไลเซนส์ที่อนุญาตให้ใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งอยู่บนเจตนาเพื่อการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในเชิงของการออกแบบ  สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การใช้งานสำหรับผู้สนใจทั่วไป เป็นการเปิดเสรีภาพสำหรับการดาวน์โหลดเพื่อให้ผู้ใช้ช่วยกันใช้ ช่วยกันทดสอบ และช่วยกันรายงานผลการใช้ ในมารยาทของวัฒนธรรมของความเป็น Open Source

OFL เป็นไลเซนส์ที่อนุญาตให้ใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าการพัฒนาฟอนต์ OFL ขึ้นมานี้จะไม่มีต้นทุน ในเมื่อวัตถุประสงค์โดยแท้จริงของไลเซนส์ประเภทนี้คือการให้อิสระฟอนต์เพื่อการพัฒนาและการศึกษา เราจึงเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น ฟรีฟอนต์ (free font) ในความหมายว่าให้อิสระกับฟอนต์เพื่อการศึกษา และหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ฟอนต์ฟรี เพื่อให้การสื่อสารข้อมูลมีความถูกต้อง และตรงกับวัตถุประสงค์ของตัวโปรเจ็กต์มากที่สุด

ผู้ที่นำฟอนต์ไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ ตามธรรมเนียมโดยทั่วไป นอกจากการให้เครดิตผู้ออกแบบในผลงานที่นำฟอนต์ไปใช้งานแล้ว ผู้ใช้งานควรแจ้งไปยังผู้ออกแบบเพื่อให้ผู้ออกแบบทราบว่าฟอนต์ถูกนำไปใช้ในงานใดบ้าง นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถพิจารณาเรื่องการสนับสนุนผลตอบแทนกลับมายังผู้พัฒนาฟอนต์ได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นแรงสนับสนุนให้ผู้ออกแบบและนักพัฒนาฟอนต์มีแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลงาน สามารถผลิตและพัฒนาฟอนต์ที่มีคุณภาพออกมาให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงได้ ทั้งการนำไปใช้งานและเพื่อการศึกษาต่อยอด เป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อให้ระบบนี้ยังคงอยู่ต่อไป

ในกรณีที่ผู้ใช้งานต้องการให้เจ้าของผลงานปรับแก้รายละเอียดตามที่ตนต้องการ เพื่อให้สามารถใช้ได้ตรงวัตถุประสงค์นั้นสามารถทำได้ แล้วแต่การตกลงกันในเรื่องค่าใช้จ่ายระหว่างผู้ใช้งานและนักออกแบบ

สำหรับฟอร์แมทของฟอนต์ที่มีให้บริการ ผู้ที่สนใจใช้งานสามารถดาวน์โหลดไฟล์ฟอนต์ ทั้งสำหรับการใช้งานสิ่งพิมพ์ (Desktop or Print format) และการใช้งานบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน (Webfont format) มาใช้งานได้ที่ fonts.google.com/?subset=thai หรือทาง https://github.com/cadsondemak

ในส่วนของ Google Noto Fonts และ ฟอนต์สุขุมวิท เซ็ท (Sukhumvit Tadmai)  จะมีเงื่อนไขการใช้งานอย่างไร ติดตามได้ในบทความต่อไป