ทบทวนความคิดอย่างช้าๆ เกี่ยวกับตัวอักษรไทย (ตอนที่ 2)

หลักการอ่านตัวอักษรไทยที่หลากหลาย: ความเข้าใจฉบับย่อ

หนึ่งในคำถามคาใจของเหล่านักออกแบบตัวอักษรต่างชาติที่กำลังออกแบบชุดตัวอักษรภาษาไทยคือ ถ้าพวกเขาไม่มีสายตาและประสบการณ์ระดับเจ้าของภาษา (native eyes reader) จะต้องใช้หลักอะไรในการทำความเข้าใจและออกแบบตัวอักษรไทยให้ถูกต้อง?

ชุดความเข้าใจสำคัญที่ทำให้คนไทยอ่านตัวอักษรได้ไม่ผิดพลาดไม่ว่าจะถูกนำเสนอในหน้าตาแบบใด มีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่อง คือ ชนิดของตัวอักษร (classification of Thai letters) และกระบวนการลดรูปของหัวตัวอักษร (loop and its transformation)

1) ชนิดของตัวอักษร (classification of Thai letters)

ตัวอักษรไทยสามารถแบ่งอย่างไม่เป็นทางการได้ 12 ชนิด โดยมีปัจจัยสำคัญอย่างอุปกรณ์ วิธีการเขียน แนวคิด ตลอดจนเทคโนโลยีการพิมพ์เป็นตัวทำให้เกิดหน้าตาใหม่ๆ เราอาจจำแนกตัวอักษรเหล่านี้ได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มตัวอักษรแบบมีหัว กลุ่มตัวอักษรแบบประดิษฐ์ และกลุ่มตัวอักษรแบบไร้หัว

1.1 กลุ่มตัวอักษรแบบมีหัว (loop terminal) ถือว่าเป็นตัวอักษรไทยที่เกิดขึ้นก่อนกลุ่มอื่นๆ ตัวอักษรแบบมีหัวมีพื้นฐานมาจากลายมือที่เขียนอย่างมีแบบแผน หรือที่เราเรียก

กันว่า “อาลักษณ์” (Arak handwriting) ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามายังสยามประเทศพร้อมกับกลุ่มมิชชันนารีจากฝั่งอเมริกาและยุโรป จึงทำให้เกิดการจัดระเบียบและออกแบบตัวอักษรขึ้นใหม่เพื่อให้สอดรับกับการหล่อตัวพิมพ์มากยิ่งขึ้น ตัวอักษรแบบมีหัวบางชนิดจึงสะท้อนอิทธิพลทางความคิดในการออกแบบของต่างประเทศ เช่น

“ตัวฝรั่งเศส” (French influence) ที่มีรูปแบบการเดินเส้นหนาบางคล้ายคลึงกับตัวโรมัน “ตัวโป้ง” (wood type) ที่เกิดจากการเขียนด้วยพู่กันและเทคนิคการแกะไม้ของ

ช่างชาวจีนในสยามประเทศ ขณะที่ตัวอักษรบางชนิดก็เกิดจากการเคลื่อนตัวทางสังคมไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ทำให้เกิดผลสืบเนื่องมาสู่การออกแบบ เช่น ตัวอักษรแบบเรขาคณิต (geometric) ตัวอักษรแบบฮิวแมนนิสต์ (humanist) เป็นต้น

1.2 กลุ่มตัวอักษรแบบประดิษฐ์ (display/topical) ถือกำเนิดขึ้นจากความพยายามในการสร้างน้ำเสียงที่แตกต่างจากตัวอักษรแบบมีหัวเพื่อนำมาใช้พาดหัวเรื่อง จำแนก

ออกได้เป็น 2 ชนิดคือ “แบบอิงลายมือ” (script) กับ “แบบอิงการตกแต่ง” (decorative) สำหรับตัวอักษรประดิษฐ์แบบอิงลายมือ เราอาจคุ้นเคยกับตัว “ไทยนริศ” ที่เป็นการเขียนด้วยพู่กันหรือปากกาปากตัด จึงทำให้ส่วนหัวของตัวอักษรถูก “ลดรูป” เหลือเพียงเส้น ทว่าส่วนโครงสร้างหลักยังคงมีโครงสร้างแบบเดียวกับลายมือเขียน ขณะที่ตัวอักษรประดิษฐ์แบบอิงการตกแต่งกำเนิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกลุ่มช่างฝีมืออิสระที่แยกตัวจากโรงพิมพ์ (คณะช่าง) พวกเขาใช้การเขียนตัวอักษร

เฉพาะคำ (lettering) แล้วนำไปแกะบล็อค ทดแทนการหล่อตัวพิมพ์จากตะกั่วเพราะมีต้นทุนการผลิตสูง ตัวอักษรกลุ่มนี้ในระยะแรกจึงยังไม่เป็นชุดตัวอักษรที่มีครบทุกอักขระ

1.3 กลุ่มตัวอักษรแบบไร้หัว (loopless terminal) จัดเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ถือกำเนิดในช่วงปลายยุคเรียงพิมพ์ เพราะมีเทคโนโลยีใหม่อย่างระบบออฟเซ็ตเข้ามาแทนที่ ในระยะแรกตัวอักษรกลุ่มนี้ถูกจัดทำในรูปแบบ “อักษรลอก” หรือ “ตัวขูด” (dry-transfer letter) ที่หลายคนคุ้นเคย ซึ่งเอื้อต่อการทำอาร์ตเวิร์คในระบบออฟเซ็ต ก่อนจะเปลี่ยนผ่านมาสู่ “ไฟล์ชุดตัวอักษร” (font file) ในระบบดิจิทัลอย่างทุกวันนี้ ในแง่การออกแบบตัวอักษร กลุ่มนี้รับเอาแนวคิดเรื่อง “การใช้งานที่เข้ากันระหว่างตัวอักษรไทยกับตัวอักษรละติน” มาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ เอกลักษณ์อันโดดเด่นจึงปรากฏอยู่ในโครงสร้างที่ถูกลดรูปจนเกิดความพ้องกับตัวอักษรละติน โดยเฉพาะ “ส่วนหัว” ที่ได้กลายเป็นเส้น หรืออันตรธานไปจากโครงสร้างหลัก

2) กระบวนการลดรูปของหัวตัวอักษร (loop and its transformation)

กระบวนการนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจความหลากหลายของตัวอักษรไทยที่พบเห็นในปัจจุบัน การลดรูปของหัวไม่อาจเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน หรือเป็นเพียงการถูกทำให้เหมือนตัวละติน (latinized) อย่างที่ใครหลายคนเคยตั้งข้อสังเกตไว้ หากต้องอาศัยระยะเวลาและการยอมรับจากผู้คน อีกทั้งในแง่การออกแบบก็ไม่อาจหยิบเอาตัวอักษรละตินบางตัวมาสวมรอยเป็นตัวอักษรไทยได้

ในกระบวนการลดรูปหัวของตัวอักษรมีสิ่งที่เราจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน เพราะมิเช่นนั้นอาจทำให้การอ่านและการออกแบบตัวอักษรในกลุ่มนี้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

สิ่งสำคัญประการแรก คือ หัวของตัวอักษรไม่ใช่สิ่งเดียวกับเชิงฐาน (serif) ของตัวอักษรละติน ดังนั้นการออกแบบตัวอักษรไทยแบบไร้หัวจึงไม่ใช่แค่การตัดหัวออกจากโครงสร้างหลัก แล้วจะได้ตัวอักษรที่ต้องการเลย ทั้งนี้เพราะในชุดตัวอักษรไทยมี “โครงสร้างร่วม” (shared structure) และทิศทางการม้วนของหัวก็ทำหน้าที่จำแนกความแตกต่างระหว่างตัวอักษรเหล่านั้น

ลองพิจารณาตัวอย่างต่อจากนี้ประกอบการทำความเข้าใจ เราจะเห็นว่ากระบวนลดรูปของหัวตัวอักษรในกรณีตัว ถ ก ภ นั้นเราไม่อาจตัดหัวออกจากโครงสร้างหลักได้ เพราะหัวกำลังทำหน้าที่แยกความแตกต่างของทั้ง 3 ตัวอักษรที่มีโครงสร้างร่วมกัน แต่กรณีของตัว บ เราสามารถลดรูปได้ 2 ลักษณะ คือลดรูปหัวให้เหลือเพียงเส้น หรือตัดหัวออกจากโครงสร้างหลัก ทั้งนี้เพราะไม่มีโครงสร้างร่วมของตัว บ ปรากฏในอักษรอื่นๆ ดังนั้นทิศทางการม้วนของหัวจึงไม่มีผลต่อการระบุอัตลักษณ์ของ บ แต่อย่างใด ในขณะที่ตัว พ ผ ซึ่งมีโครงสร้างร่วมกัน การออกแบบสามารถเป็นไปได้ 2 ทิศทางคือลดรูปหัวให้เหลือเพียงเส้น หรือหยิบยืมโครงสร้างของ w มาใช้ในการออกแบบ เพราะเส้นเฉียงที่ขาของ w ได้แฝงทิศทางการม้วนของหัวไว้ในตัวเองแล้ว แต่ถึงอย่างไรตัว w ในแบบอักษรไร้หัวก็ต้องถูกจัดการเรื่องความกว้างและองศาของเส้นเฉียงไม่ให้บานเกินกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบเคียงกับอักษรอื่นๆ ในชุด

แม้ว่าเราจะมีวิธีการลดรูปหัวของตัวอักษรได้ถึง 2 แบบ หากวิธีการแต่ละแบบนั้นให้บุคลิกที่ไม่เหมือนกัน การลดรูปจากหัวเหลือเพียงเส้นโดยยังคงรักษาโครงสร้างหลักของตัวอักษรไว้ช่วยสร้างบุคลิกแบบดั้งเดิม (traditional) ให้เกิดขึ้นกับตัวอักษรแบบใหม่ บุคลิกแบบดั้งเดิมนี้เกิดขึ้นจากโครงสร้างที่ยังมีความคล้ายคลึงกับตัวอักษรแบบมีหัวนั่นเอง ในขณะที่การลดรูปโดยตัดหัวของตัวออกไปจากโครงสร้างหลักกลับให้บุคลิกที่ดูแปลกใหม่ ทันสมัย (modern) เพราะมีระดับการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าแบบแรก

จากกรณีต่างๆ ที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่า “หัว” คือส่วนประกอบที่นักออกแบบหลายคนเลือกที่จะลดทอน คำถามที่ตามมาคือ “หากหัวไม่ใช่ serif แล้วหัวคืออะไร?” ถ้าเราย้อนกลับไปพิจารณารูปแบบการเขียนตัวอักษรไทยที่เราเคยเรียนกันสมัยเด็ก จะพบว่าอักษรไทยมีธรรมชาติการเขียนแบบไม่ยกมือ (หรือยกน้อยครั้งในบางตัวอักษร) หัวจึงไม่เคยแยกขาดจากโครงสร้างหลัก ทั้งสองสิ่งเชื่อมประสานเป็นเส้นเดียวกันตั้งแต่เราลงมือลากเส้น

ดังนั้นจึงสรุปเป็นหลักการสำคัญประการที่สองได้ว่า หัวของตัวอักษรก็คือ “เส้นแสดงทิศทาง” ทำหน้าที่บ่งบอกจุดเริ่มต้นของตัวอักษร หลักการนี้ช่วยตอบข้อสงสัยของนักออกแบบว่าทำไมเราจึงสามารถออกแบบ ง และ ด ให้เรียบง่ายถึงเพียงนั้นได้โดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์และความสามารถในการอ่านไป

ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ส่งผลให้เกิดการลดรูปของตัวอักษรโดยอัตโนมัติก็คือ “ความเร็วในการเขียน” ยิ่งเขียนเร็วเท่าไร หัวของตัวอักษรก็ยิ่งถูกลดรูปลงมากเท่านั้น

จากตัวอย่างลายมือที่เขียนด้วยความเร็วต่างกันในภาพ จะเห็นว่าไม่ใช่แค่หัวของตัวอักษรเท่านั้นที่ค่อยๆ หายไป หากตัวโครงสร้างหลักเองก็ยังเปลี่ยนรูปทรงเพื่อให้สอดคล้องกับความเร็วในการเขียนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดรูปทรงที่พ้องกับตัวอักษรละติน สิ่งนี้มีส่วนทำให้คนไทยคุ้นเคยและยอมรับโครงสร้างแบบละตินในตัวอักษรไทยโดยไม่รู้ตัว เพราะเราต่างพบเห็นมานานผ่านลายมือของเราเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงสร้างเหล่านี้ถูกประยุกต์ใช้ในการออกแบบตัวพิมพ์เมื่อปลายทศวรรษ 70s ผลตอบรับของคนไทยกลับมีทั้งชื่นชมและตำหนิ ตัวอักษรไทยแบบไร้หัวยังคงเป็นสิ่งแปลกตาราวกับ “เด็กลูกครึ่ง” ในเวลานั้น ความเคยชินที่ฝังแน่นมานับศตวรรษกับตัวอักษรแบบมีหัวไม่ใช่สิ่งที่จะแปรเปลี่ยนได้ง่ายๆ หากสิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือพวกเขา “อ่านได้” และเริ่มที่จะยอมรับมัน ความต้องการในภาคธุรกิจเองก็มีส่วนผลักดันให้ตัวอักษรชนิดใหม่ถูกพบเห็นแพร่หลายขึ้นผ่านป้ายโฆษณา หน้านิตยสาร และสิ่งพิมพ์เชิงพาณิชย์อื่นๆ สำเนียงใหม่ของตัวอักษรไทยที่สมาทานความความเข้าชุดกันระหว่าง “อักษรไทย” และ “อักษรในภาษาอื่น” จึงปักหมุดลงบนพื้นที่การใช้งานของคนไทยมานับแต่นั้น และเป็นจุดกำเนิดความหลากหลายของตัวอักษรนานาชนิดที่เราพบเห็นในปัจจุบันและต่อจากนี้

อ่านไทยอย่างตามทัน

ถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับว่าแบบตัวอักษรไทยเป็นผลผลิตของความเป็นอื่นหลายๆ อย่างที่หลอมรวมมาเป็นเรา ส่วนผสมนี้ถูกออกแบบมาให้สอดรับกับเทคโนโลยีการผลิตซ้ำ (reproduction) แบบต่างๆ ความหลากหลายของแบบตัวอักษรไทยในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางสังคมที่มีส่วนสร้างความต้องการใหม่ๆ มาโดยตลอด อิทธิพลทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่โอนถ่ายกันระหว่างประเทศหรือข้ามทวีปก็มีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างลักษณะเฉพาะให้กับแบบอักษรไทย การทำความเข้าใจในความหลากหลายดังกล่าวจึงต้องทำควบคู่ไปกับการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างเลี่ยงไม่ได้

ความเข้าใจที่มีต่อชนิดของตัวอักษรไทยทั้ง 12 ชนิด จะช่วยขจัดความสับสนระหว่างในเรื่องความหลากหลายของรูปทรงที่อาจพ้องกับตัวอักษรในภาษาอื่น แม้เราจะไม่เคยเรียนอ่านเขียนตัวอักษรประเภทอื่นนอกจากแบบมีหัวในระบบการศึกษาไทย แต่ความเข้าใจชุดนี้จะช่วยให้เราแยกแยะได้ว่าตัวอักษรที่เรากำลังอ่านคือตัวอักษรชนิดใด เมื่อแยกแยะได้ก็จะไม่ถูกล่อหลอกโดยรูปทรง เพราะเราจะนึกเปรียบเทียบทิศทางการเดินเส้นของตัวอักษรที่เราอ่านกับ “ภาพแม่แบบในจินตนาการ” ได้อย่างแจ่มชัด นี่คือหลักการสำคัญที่ทำให้เราสามารถอ่านตัวอักษรไทยได้อย่างไม่ผิดพลาดไม่ว่ามันจะถูกนำเสนอในหน้าตาแบบไหน อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า “การอ่านได้ถูกต้อง” กับ “การอ่านได้อย่างรวดเร็ว” นั้นแตกต่างกัน เพราะความถูกต้องเป็นผลจากหลักการ ส่วนความเร็วเป็นผลจากประสบการณ์

ผมยังคงจดจำความรู้สึกเมื่อที่ได้อ่านตัวอักษรบนป้ายสถาบัน AUA ได้อย่างแม่นยำ ณ ขณะนั้นผมสามารถอ่านได้ แต่ไม่สามารถอธิบายกับตนเองและผู้อื่นได้ว่าผมอ่านมันได้อย่างไร? สิ่งที่ถูกเรียบเรียงอยู่ในบทความนี้จึงเป็นเหมือนการทบทวนความคิดอย่างช้าๆ ต่อคำถามที่มีในวันนั้น

การทำความเข้าใจกับตัวอักษรที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่หวังว่าคงไม่ยากเกินไป