ความสามารถของการสื่อสาร

ภาษาพูดและภาษาเขียนมีความสามารถมากแค่ไหนในการถ่ายทอดสิ่งที่เราคิด?

อันที่จริงแล้วหากคิดดูให้ดีเราจะพบว่า มนุษย์มีความสามารถทางการสื่อสารต่ำ แค่ลองให้อธิบายรสชาติจะพบว่าแค่ 60% เท่านั้นที่อธิบายเป็นภาษาพูดได้ ที่เหลืออีก 20% เป็นการใช้แสดงออกทางร่างกาย สีหน้า ท่าทาง อีก 20% อธิบายไม่ได้ และเมื่อให้พยายามอธิบายก็ไม่ตรงกันเสมอไป

เราให้ความไว้วางใจกับภาษามากไปหรือไม่ ทั้งๆ ที่อีก 40% ไม่สามาถใช้ภาษาพูดและเขียนเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกที่แท้จริงได้ แต่กระนั้นก็ตาม ภาษาพูดและภาษาเขียน ก็เป็นการใช้ทักษะการสื่อสารของมนุษย์ที่ยึดโยงกันอยู่ คำถามคือว่า เราในฐานะนักออกแบบ เราเข้าใจสิ่งนี้ดีแค่ไหน

เมื่อพูดถึง ภาษา บางครั้งเราก็นึกถึงภาษาในภาพของการเขียน บางครั้งก็เป็นภาษาของการพูด สองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร?

แน่นอนเราเข้าใจว่าการพูดจับคู่กับการฟัง ในขณะที่การเขียนจับคู่กับการอ่าน แต่ในความเป็นจริงนั้นทั้งสองอย่างมีความแตกต่างกันอยู่มากทีเดียว

ภาษาพูดเกิดก่อนภาษาเขียน การเขียนเพิ่งจะเกิดขึ้นครั้งแรกตามหลักฐานที่คนพบ ก็คืออารยธรรมสุเมเรียนในเมโสโปเตเมีย ก่อนที่จะเกิดการประดิษฐ์ทักษะนี้อย่างต่อๆ กันไปทั่วโลกจนกลายเป็นระบบการเขียนต่างๆ ตามมา

มนุษย์เราเริ่มใช้ทักษะการพูดเพื่อสื่อสารได้ตั้งแต่ช่วงปีที่หนึ่งหรือสองของชีวิต ซึ่งเป็นทักษะที่อาศัยความสามารถที่ธรรมชาติให้แต่กำเนิดมากกว่าการเรียนรู้ในภายหลัง การเรียนเพื่อที่จะเขียนนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราพูดเป็นเสียก่อน

เรียกได้ว่าการเขียน(เคย)เป็นสิ่งเดียว เป็นทักษะที่เพิ่มความสามารถให้มนุษย์ในการบันทึกเสียงพูดและบันทึกความทรงจำ ในโลกก่อนที่จะมีเทปบันทึกเสียงหรือเทปบันทึกภาพ ทักษะการเขียนจึงมีพลังมาก และผู้ใดที่สามารถเข้าถึงการเขียนได้จึงมีความได้เปรียบสูง ในโลกปัจจุบันที่การอ่านเขียนเป็นทักษะสามัญไปเสียแล้ว เราอาจจะนึกภาพได้ยากสักหน่อยว่าการอ่านออกเขียนได้นั้นได้เปรียบอย่างไร

การพูดเป็นการสื่อสารที่ไม่ต้องการเครื่องมือ แต่การเขียนจำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับเทคโนโลยีเสมอ เพื่อให้สามารถรองรับรูปแบบรหัสการเขียน รหัสสำหรับการเขียนเพื่อบันทึกนี้เองที่กลายมาเป็นส่วนของภาษาในภาคของภาษาเขียน เพื่อให้สามารถเก็บและส่งต่อข้อมูลได้ผ่านกาลเวลา มันทำให้เกิดความเป็นไปได้สำหรับมนุษย์ในการสร้าง การปกครอง กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม ความบันเทิง และองค์ความรู้อื่นๆ ที่อนุญาตให้มนุษย์เราประกอบสิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรม เติบโตมาเป็นกลุ่มวัฒนธรรม และถึงขั้นที่เป็นอารยธรรม

เครื่องมือสำหรับการเขียนผกผันอยู่กับเทคโนโลยีที่มนุษย์สามารถเข้าถึงในห้วงเวลานั้นๆ ในภูมิภาคนั้นๆ ของโลกเรา สิ่งนี้เองที่เป็นสัจจะของการเกิดเป็นลักษณะเฉพาะของแบบตัวอักขระตระกูลต่างๆ เพราะวัสดุที่ใช้เขียนและวัสดุที่ใช้รองรับการเขียนก็มีข้อจำกัดต่างกันไป ในขณะที่การพูดก็มีความแตกต่างกันไปตามเชื้อสายและวัฒนธรรมท้องถิ่น ในการพูดภาษาเดียวกันก็ยังมีความหลากหลายทางสำเนียงอยู่อีกด้วย

สัจจะอีกข้อนึงของการสร้างทักษะบนพื้นฐานของทักษะอีกชุดคือ นอกจากมนุษย์จะพูดก่อนเขียนแล้ว มนุษย์เราเริ่มที่การเขียนก่อนที่จะรู้จักการพิมพ์

การเขียนมีข้อเสียอย่างหนึ่งคือเป็นการยากที่จะทำซ้ำ และการคัดลอกใหม่ทุกครั้งด้วยการเขียนนอกจากจะใช้เวลาที่มากแล้ว ยังมีความเสี่ยงสูงในการที่จะผิดพลาด

การพิมพ์เป็นการพัฒนาการสื่อสารภาษาเขียนของมนุษย์ในภาคของการบันทึกและกระจายข้อมูล

การเข้ามาของการพิมพ์นี้เองทำให้อัตราเร่งของการกระจายความรู้ ความเชื่อ ข่าวสารต่างๆ เร็วขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว

แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนสัจจะเรื่องอื่นๆ ที่เราได้บางอย่างเพิ่มเราก็มักจะเสียบางอย่างไปเช่นกัน มนุษย์เราก็ค่อยๆ สูญเสียความเป็นปัจเจกบุคคลที่เคยมีในระบบการเขียนและการใช้ลายมือ โดยโยกย้ายไปพึ่งพิงแบบตัวอักษรให้ทำหน้าที่แทน