Dingbats บรรจุภาพลงแป้นพิมพ์

ในวันนี้ที่เราหลายคนคุ้นเคยกับการพิมพ์อีโมจิ (Emoji) เพื่อแทนค่าอารมณ์ได้อย่างคล่องแคล่ว คุ้นเคยกับแป้นพิมพ์ที่บรรจุภาพไว้และใช้งานได้อย่างไม่ติดขัด ย้อนกลับไปก่อนราวหลายศตวรรษ การบรรจุภาพลงแป้นพิมพ์นั้นเคยเกิดขึ้นมาก่อนในโรงพิมพ์สมัยที่ยังต้องเรียงตัวตะกั่ว เราเคยมีสิ่งที่เรียกว่า ดิงแบท (Dingbat)

สัญลักษณ์สันติภาพอย่างการชูสองนิ้ว รูปร่างหัวใจ กรรไกรหลายแบบ ดอกไม้หลายชนิด เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของฟอนต์ดิงแบท ย้อนกลับไปในยุคของการพิมพ์สมัยกูเตนเบิร์ก ช่างพิมพ์ต้องการทางลัดในการต้องการตกแต่งข้อความรอบขอบหน้าหนังสือ แต่เมื่อทุกๆ ตัวพิมพ์นั้นต้องสลักตะกั่วด้วยมือและนำมาเรียงกันก่อนที่จะพิมพ์ได้ งานตกแต่งที่คิดว่าง่ายจึงเป็นงานใช้แรงงานเพื่อกำหนดเทมเพลทสำหรับการพิมพ์ใหม่ในทุกครั้ง การมีดิงแบทหรือชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ประกอบไปด้วยรูปทรงที่หลากหลาย สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้จึงกลายเป็นทางลัดสำคัญ ตัวพิมพ์ที่บรรจุภาพทั้งภาพกราฟิก เช่น สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม รูปหัวใจ เครื่องหมายถูก ประทัด หลอดไฟ ดาว ลูกศร หรือเป็นลักษณะของภาพประกอบขนาดเล็ก เช่น นิ้วกำลังชี้ ดินสอ กรรไกรคู่ลงในบล็อกตัวตะกั่วเพื่อวัตถุประสงค์ตกแต่งในหน้าหนังสือ มีหน้าที่หลากหลายทั้งเป็นตัวแบ่งย่อหน้า ตัวจบบทความ สัญลักษณ์กำหนดขอบหน้ากระดาษ ช่องใส่เครื่องหมายหรือแบบสำรวจ ใช้ดึงดูดสายตาหรือการเน้นข้อความในอีเมล หมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขแฟกซ์ บางครั้งก็ทำหน้าที่เป็นโลโก้เมื่อจัดวางร่วมกับข้อความ โดยสามารถปรับขนาด เจาะโปร่งใส เพิ่มสี กลับด้านขวาเป็นซ้าย หรือกลับจากบนลงล่าง

บางแนวคิดกล่าวว่าชื่อ ดิงแบท นั้นมีที่มาของคำและความหมายจากภาษาดัตช์ เป็นการสร้างคำโดยเลียนแบบเสียงตัวพิมพ์ตะกั่วร่วงหล่นลงบนพื้น

จากยุคของการพิมพ์ที่ดิงแบททำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขัน ไล่เรียงมาจนถึงในช่วงต้นยุคที่ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของแบบตัวอักษร (Typeface) วิวัฒนาการของดิงแบทจึงได้รับกา

รปรับฟอร์แมทใหม่โดยบุคคลสำคัญอย่าง แฮร์มันน์ ซ้าปฟ์ (Hermann Zapf) ภายใต้ชื่อ ITC Zapf Dingbats ในช่วงปลายยุค 1970s ได้บรรจุรวมในคอมพิวเตอร์ เครื่องปริ้นท์เลเซอร์ (PostScript โดย adobe) ตลอดจนบรรจุอยู่ในซอฟต์แวร์ และเปิดโอกาสให้ใช้งานกันฟรีๆ สำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประจำบ้าน Zapf Dingbats มีจุดเด่นคือไม่ใช่สัญลักษณ์ทั่วไป โดยไม่มีรูปการยกนิ้วโป้งขึ้นหรือลง แต่จะมีรูปกรรไกรหรือดวงดาวกว่า 20 แบบ ไม่มีรูปหน้าบึ้ง แต่จะมีเป็นหน้ายิ้ม (smiley face) ในหลากหลายสี

การใช้งานของดิงแบทจึงเริ่มหลากหลายมากขึ้น และได้รับความนิยมในการส่งผ่านการพิมพ์เพื่อบอกผู้รับปลายทางว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร

จุดเปลี่ยนเดินทางมาถึงอีกครั้ง เมื่อไมโครซอฟต์จะซื้อลิขสิทธิ์ของ Zapf Dingbats ไปในช่วงปี 1980s โดยมีตัวละครคนสำคัญเพิ่มเติมขึ้นมาคือชาร์ลส์ บิเกโลว์ (Charles Bigelow) และคริส โฮล์มส์ (Kris Holmes) เขาทั้งสองคนเป็นผู้บุกเบิกในการออกแบบฟอนต์อย่างเป็นเอกลักษณ์ให้เข้ากับการใช้งานในยุคดิจิทัล และยังเป็นผู้ออกแบบคาแรกเตอร์พิเศษที่มีชื่อเรียกว่า Lucida Icons, Lucida Arrows, Lucida Stars คาแรกเตอร์พิเศษที่สามารถทำงานได้ดีกับจดหมาย ออกแบบมาให้จัดวางสอดคล้องกับข้อความ ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ไอคอนได้อย่างเหมาะสมด้วยการพิมพ์แบบตัวอักษรเข้าไปเพื่อประดับประดาลงในเอกสาร ทำภาพให้ดูเคลื่อนไหว โดยไม่ต้องกังวลเรื่องขนาดไฟล์หรือคุณภาพต่ำอีกต่อไป

หลังจากการออกแบบ ไมโครซอฟท์ได้ซื้อสิทธิ์ Lucida Icons, Lucida Arrows, Lucida Stars ในปี 1990 และรวมเข้ากับฟอนต์ Zapf Dingbats ของไมโครซอฟท์เองและตั้งชื่อให้ว่า  วิงดิง (Wingdings) ที่รวมเข้ากับตัวทดลองเบต้าของวินโดวส์ในปีนั้น ขนาดของการบรรจุนั้นได้จำกัดว่ามีจำนวนคาแรคเตอร์รวมเข้า 11 เว็บฟอนต์

…ท่ามกลางข้อจำกัดทางเทคโนโลยี เมื่อนั้นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมก็ได้เกิดขึ้น

ไมโครซอฟท์ตั้งชื่อ Wingdings จากการผสมคำเรียกชื่อฟอนต์ Dingbat เข้ากับ Windows โดยชื่อใหม่นี้นั้นมีการแสดงออกถึงความหมายโดยนัยของความน่าตื่นเต้น และคำนี้ยังเป็นแสลงสำหรับชาวอเมริกันแปลว่าปาร์ตี้อีกด้วย วิงดิงได้รับความนิยมอย่างจากระบบนิเวศที่แข็งแรงของไมโครซอฟท์ที่ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้วิงดิงเป็นฟอนต์ที่เป็นที่รู้จักสำหรับผู้ใช้ทั่วไป

การเกิดขึ้นของวิงดิงจึงเป็นครั้งแรกที่ฟอนต์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมสมัย และเมื่อเราลองลงลึกไปถึงจุดเริ่มต้นของ วิงดิงจะยิ่งชัดเจนว่าทำไมถึงกลายเป็นอีกหนึ่งตำนาน

วิงดิงถูกสร้างขึ้นมาในฐานะเครื่องมืออันมีเอกลักษณ์ในยุคก่อนอินเทอร์เน็ต เหมือนกับอิโมจิในวันนี้แต่มีประโยชน์มากกว่า จริงอยู่ที่ว่าในวันนี้เป็นเรื่องง่ายที่จะตัดและวางรูปจากอินเทอร์เน็ต แต่หากนึกไปในอดีตนั้นเป็นเรื่องยากกว่ามาก เพราะมีเพียงไม่กี่วิธีเท่านั้นที่จะได้มาซึ่งรูปภาพ ไฟล์มีน้ำหนักมาก เปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บ แล้วยังได้รูปคุณภาพต่ำ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ เป็นเรื่องยากขึ้นไปอีกที่จะวางรูปให้เข้ากับเท็กซ์ได้อย่างสวยงาม ดังนั้น ฟอนต์อย่างวิงดิงจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ใช้ในยุค 1990s ได้สามารถจัดวางรูปเข้ากับเท็กซ์ได้อย่างสวยงาม โดยไม่เปลืองพื้นที่จัดเก็บ

ผลกลายเป็นว่า วิงดิงนั้นสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจและได้รับความนิยมเกินกว่าที่ไมโครซอฟท์คิดเอาไว้ จนเกิดเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่ถูกเผยแพร่ออกมาว่า วิงดิงนั้นซ่อนความหมายบางอย่างเอาไว้ มีตัวอย่างหนึ่งที่รองรับทฤษฎีนี้คือ เชื่อว่าวิงดิงนั้นซ่อนข้อความต่อต้านเมืองนิวยอร์กเอาไว้ เพราะถ้าหากพิมพ์ว่า NYC จะเป็นรูปหัวกะโหลก ดวงดาวของเดวิด และรูปนิ้วโป้งชี้

ซึ่งบิเกโลว์ก็ได้เคยออกมาบอกแล้วว่า ไมโครซอฟท์ไม่ได้มีเจตนาซ่อนสารความหมายแฝงไว้ทั้งนั้น เป็นเพียงความบังเอิญของกระบวนการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ซึ่งทฤษฎีสมคบคิดนี่เองที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของวิงดิง แม้ว่าจะเป็นเหตุบังเอิญ แต่ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่รวมเอาประเด็นนของจิตวิทยาสังคมแห่งการให้คอมพิวเตอร์ในคนหมู่มาก

“พวกเราได้รับอิทธิพลโดยรูปจากแหล่งประวัติศาสตร์และโมเดิร์น อย่าง Lucida Icons นั้นได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาหลายยุคสมัย นิ้วที่ชี้ออกไปและรูปมือนั้นกลับมาสู่แบบลายมือในยุคกลาง ก่อนหน้านั้นคือท่าทางแบบยุคโรมันโบราณ มาจนถึงรูปที่เป็นสัญลักษณ์แห่งนวัตกรรมแห่งศตวรรษที่ 20 อย่างเครื่องบิน และแป้นพิมพ์ คอมพิวเตอร์ เม้าส์ เครื่องพิมพ์”

วิงดิงที่บิเกโลว์โปรดปรานมากที่สุดคือองค์ประกอบที่เป็นดอกไม้ ซึ่งล้วนแต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกไม้จากสวนของเขาและโฮล์มส์ที่เบ่งบานในฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พวกเขาเริ่มออกแบบฟอนต์ชุดนี้ ส่วนดอกไม้อื่นๆ นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพพิมพ์ของยุคเรเนสซองค์ ดอกกุหลาบอังกฤษ และใบไม้อื่นๆ จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่วิงดิงนั้นวาดขึ้นจากมรดกการพิมพ์ การมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่ยุคดิจิทัล แต่มีเรื่องเล่ายาวนานผ่านเวลากว่าศตวรรษก่อนหน้า

ดิงแบทคือสะพานที่เชื่อมผ่านช่วงเวลาที่ตัวตะกั่วสื่อสารความสวยงาม จนถึงอีโมจิที่เป็นภาษาสากลที่ทั้งโลกเข้าใจได้ตรงกัน