คนทำอิฐ • ตอนที่ ๓

(จบ)

+ ทุกวันนี้ลูกค้าหรือคนทั่วๆ ไปให้ค่าและมูลค่านักออกแบบแค่ไหน

ผมตอบแบบนี้ดีกว่า นักออกแบบเองให้ค่าตัวเอง ให้ค่าสิ่งที่ตัวเองทำแค่ไหน เราต้องชัดเจนตรงนี้ก่อนนะว่าเราให้ค่าตัวเองแค่ไหนก่อนที่จะขอลูกค้าให้ค่ากับนักออกแบบ ผมว่านักออกแบบบ้านเราไม่ค่อยให้ค่าตัวเอง แล้วการที่นักออกแบบไม่ให้ค่าตัวเองก็มาจากทัศนคติที่ผิดจากโรงเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่านักออกแบบหรือนักศึกษาต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นเทพ การที่จะรู้สึกแบบนั้นได้จากเนื้อแท้ข้างใน มันเรียกร้องประสบการณ์เรียกร้องอะไรหลายอย่าง เราต้องรู้และประเมินตัวเองให้ได้ก่อนว่าเรามีค่ามากแค่ไหน

ประเทศนี้มีข้อเสียอีกอย่างคือ มันค่อนข้างเบลอมากในการที่เราจะคำนวณและให้มูลค่ากับตัวเอง เราประเมินอะไรได้ยากมากในประเทศนี้ ค่าเล่าเรียนของคุณก็ถูก subsidies เรียนก็ไม่เห็นค่าใช้จ่ายจริง จ่ายค่าไฟฟ้าก็ไม่เห็นค่าใช้จ่ายจริง คุณลองคิดดูว่า คนที่เกิดขึ้นมาในแวดล้อมที่ไม่เคยพบเจอกับความเป็นจริงเลย วันหนึ่งคุณเกิดมีไอเดียที่ดีมาก อยากจัด conference ที่ดีมากเลย อยากเชิญคนที่เก่งๆ แล้วคุณไม่ได้รับการสนับสนุนทุนจากใคร คุณพยายามทำให้เกิดขึ้น เป็นกึ่งธุรกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วคุณได้พบกับตัวเลขจริงในการดำเนินการ คุณจะเริ่มรู้สึกเหมือนผมว่า เออว่ะ…ชีวิตเราไม่เคยเจอกับตัวเลขจริงมาก่อนเลย ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายหมด ในเมื่อคุณไม่เคยดีลกับเลขจริงเลย มันจะส่งผลกระทบกับคุณนะ เวลาคุณโควทราคางาน คุณไม่ได้โควทอยู่บนเลขจริง

ผมไม่เชื่อเลยว่าความรู้จะต้องฟรี ผมเชื่อในระบบเปิดที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ แต่ทุกอย่างมีค่างวด ไม่ใช่ว่าผมหน้าเงิน แต่ว่าคุณควรที่จะรู้ว่าค่าใช้จ่ายจริงมีเท่าไร เพราะเวลาที่คุณออกไปใช้ชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบหรืออะไรก็ตาม คุณจะรู้เลยว่า เฮ้ย กูเรียนมาเท่านี้ กูเสียไปอบรมมาเท่านี้ กูซื้อหนังสืออ่านมาเท่านี้ กูถึงรู้ กูถึงเป็นกู ที่จะทำงานให้มึงได้อย่างวันนี้ กูมีต้นทุนประมาณเท่านี้ ค่าใช้จ่ายจริงที่กูควรจะชาร์ตมึงจึงควรเป็นเท่านี้

มันทำให้เราไม่อยู่บนพื้นความเป็นจริง พอเราไม่อยู่บนความเป็นจริง ดีไซเนอร์ไม่สามารถประเมินตัวเองได้ว่าถูกหรือแพง บางคนอาจจะหลงกับเปลือกนอกตัวเอง แพงหน่อย เทพจริงไม่จริงไม่รู้ ทุกอย่างเป็นการ guesstimate เป็นการเดา estimate คือการประเมิน guesstimate แม่งเดาล้วนๆ คนทำธุรกิจอื่นเขาอยู่บนความเป็นจริงมากกว่าเรา บริษัทใหญ่เขาอยู่บนความเป็นจริงมากกว่าเรา เขาจะรู้ว่า ราคานี้มันเหมาะสมหรือเปล่า คำนวณจากอะไร

ผมว่าเราต้องรู้ที่อยู่ที่ยืนหรือตำแหน่งของตัวเองก่อน เราต้องให้ค่าตัวเองก่อน แล้วคุณต้องซื่อสัตย์กับการให้ค่าของตัวเองด้วยว่าบริการของเรามันควรเท่าไร ไม่ใช่เฉพาะเม็ดเงินหรอกนะ ความเชื่อมั่นหรือทัศนคติของเราที่มีให้ลูกค้าก็ด้วย เรื่องพวกนี้ยึดโยงกันหมดนะ ทัศนคติก็ส่งผลต่อลูกค้า เป็นความมั่นใจให้ลูกค้า เขาได้แรงส่งจากทัศนคติเรา แล้วเขาเชื่อใจ ก็กลับมาว่าเราต้องประเมินตัวเองให้ได้ก่อนก่อนที่เราจะมานั่งแคร์ว่าลูกค้าจะประเมินเรายังไง

เมื่อเช้าผมเพิ่งทวีตไปว่า ของแพงไม่มีหรอกในโลก มันมีแต่ของที่เขามองว่าไม่สมราคา มันไม่ได้เติมเต็มความรู้สึก มันไม่ได้เติมเต็มเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เขาเลยรู้สึกว่ามันไม่คุ้มค่า มันก็เลยถูกแปลงจากความไม่คุ้มค่าเป็นแพง ผมบอกเลยนะว่าถูกและดีไม่มีในโลกจริงๆ ไม่ว่าจะทำอะไรมีต้นทุนทั้งนั้นแหละ ของดีมันมีกระบวนการที่มากกว่าอยู่แล้ว นอกจากคุณไปตั้งราคาเวอร์ๆ แต่สุดท้ายในวันที่งานมันออกมา มันก็บอกตัวมันเอง

+ ทำไมฟอนต์ของ คัดสรร ดีมาก และรวมถึงภาพรวมของราคาฟอนต์ภาษาไทยมีราคาสูงมาก

ปัญหานี้แก้ได้ง่ายมาก ถ้าคุณเข้าใจเศรษฐศาสตร์คุณจะรู้เลยว่าจริงๆ แล้วฟอนต์ภาษาไทยถ้าจะขายในราคาเท่ากับฟอนต์ภาษาอังกฤษหรือลาตินทั่วไปนั้น เป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่จะให้มีราคาเท่ากันผมฟันธงเลยว่าเป็นไปไม่ได้ คุณลองคิดตามนะ ประการแรกคนไทยมีประมาณ 67 ล้านคน ไม่ใช่ทุกคนที่ใช้ฟอนต์ ถ้าทุกคนเป็นลูกค้าระบบจะไม่ใช่แบบนี้ ทีนี้ลาตินมีการใช้ 3 ใน 4 ของโลก แต่จริงๆ แล้วเราใช้กันทั่วโลก ประเทศที่ non-latin ก็ใช้ตัวลาตินด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นตลาดของเขาคือทั่วโลก นั่นหมายความว่าราคาของเขาสามารถที่จะขายได้กว้าง ถึงแม้จะมีคนก็อปฟอนต์ก็ตาม แต่ถ้า 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนทั้งหมดคือคนที่ซื้อจริง ตลาดมันจะใหญ่มากพอ

แต่ในขณะที่ประเทศเรา 67 ล้านคนมีคนที่ซื้อฟอนต์ภาษาไทยใช้จริงนั้นเท่าไร ถ้าจะทำให้ฟอนต์มีราคาถูกลง…แต่จริงๆ แล้วผมไม่ได้มองว่าราคาแพงเกินไปนะ ราคาที่เป็นอยู่นี้สมเหตุสมผลพอสมควร ผมเชื่ออย่างนั้นนะ เพราะว่าเราทำธุรกิจเราบอกได้เลยว่าเราไม่อยากขายของแพงหรอก อยากจะขายให้ได้เยอะ เราไม่ต้องการขายน้อยแล้วขายแพง ในระบบเศรษฐศาสตร์น่ะครับ ถ้าทุกคนซื้อเยอะมันจะถูกลง แต่นี่คนที่ควรจะซื้อแต่ไม่ซื้อไง ถ้าทุกคนที่เป็นคนควรที่จะซื้อแล้วซื้อ นั่นหมายความว่าเราจะหน้าด้านขายในราคาที่เราขายอยู่ปัจจุบันไม่ได้ ราคามันก็ต้องถูกลง ซึ่งนี่ก็คือกลไกปกติ

ความจริงอีกข้อที่ทุกคนเข้าใจผิดมาตลอดเลยก็คือ คิดเอาเองว่าฟอนต์ คัดสรร ดีมาก แพงที่สุด ผมบอกเลยว่าไปทำสำรวจดีๆ นะครับ อ่านเงื่อนไขของค่ายอื่นๆ ให้ละเอียดก่อน เรื่องการชาร์จยิบย่อย จริงๆแล้วเรามีตารางราคาเปรียบเทียบเลยด้วยซ้ำขอทางฝ่ายขายดูได้ แต่บริบทบ้านเราเอาละเอียดยิบมาพูดก็บอกว่าโจมตีคนอื่น คือผมว่าบางทีต้องการบุคคลที่สามมาอธิบายนะ เราไม่ได้อยู่ในสถานะที่พูดรายละเอียดแล้วไม่กระเทือนค่ายอื่น แต่ผมก็ยอมรับว่าเรามีภาพว่าของเราแพงเคลือบอยู่ ซึ่งจะมองว่าดีก็ดีนะ แต่ในความเป็นจริงในค่ายใหญ่สามค่าย เราถูกสุด

+ เมื่อก่อนจะมี 10 ฟอนต์แห่งชาติที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ทำออกมาแจกให้ใช้ฟรี ทุกวันนี้ก็ยังคงใช้ 10 ตัวนั้นกันอยู่?

ของฟรีไม่มีในโลก (ตอบทันที) ของฟรีไม่มีในโลก…ไม่มี คุณคิดว่าเนคเทคเอาเงินมาจากไหน ภาษีใช่ไหม เนคเทคไม่ได้พิมพ์แบงค์เอง คล้ายๆ กับสติ๊กเกอร์ Line ที่แจกฟรี ทุกอย่างมันมีคนทำ แล้วถ้าคุณอยากให้มันเวิร์ค คุณต้องเอาเขาออกมาจากการออกแบบฟอนต์เป็นงานอดิเรก คุณอยากให้ฟอนต์ถูกลง คุณอยากจะให้คนใช้เยอะขึ้น คุณต้องทำให้เกิดเป็นระบบอุตสาหกรรม

คุณกล้าดีมาจากไหนที่จะบอกว่าคนที่ออกแบบตัวหนังสือไม่ควรรับเงิน ควรทำฟรีให้สาธารณะ นี่คือจิตสาธารณะ ทุกคนคือจิตอาสา? ที่บ้านพิมพ์แบงค์เองเหรอ หรือพ่อเป็นทักษิณ หรือยังไง แล้วพอไม่มีฟอนต์ใช้ก็บ่น แต่มึงไม่ทำให้เขาเกิดรายได้เขาก็ไม่มีใจจะทำ เขาก็ต้องทำมาหากิน วันว่างๆ ค่อยมานั่งเลื่อนเมาส์ เสร็จแล้วอ่ะ พวกคุณเอาไปใช้กันนะ? คิดยังไงมันก็ตลก มันไม่สมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวง ไม่ต้องเห็นด้วยกับผมก็ได้นะ ผมแค่สะท้อนให้ฟังว่ามันไม่สมเหตุสมผล

+ หลายปีมานี้ที่ type foundry ไทยเริ่มมีเม็ดเงินเข้ามาจากการใช้บริการจากบริษัททขนาดใหญ่ เข้าใจถูกไหมครับว่าจะเหลือธุรกิจ SME ที่ยังไม่มีกำลังพอจะเข้ามาเลือกซื้อแบบตัวหนังสือ 

ความจริงแล้วในระบบของตลาดมีฟอนต์หลายราคานะ มีหลายคุณภาพ คุณต้องดูด้วยว่างบของคุณมีเท่าไหร่ ลักษณะกิจการและขนาดของกิจการเป็นอย่างไร ถ้ากิจการของคุณอยู่ในช่วง SME คุณอาจจะไม่มีกำลังเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่ในการที่จะทำ customs typeface คุณอาจต้องลงมาดู retail คุณก็มาดูว่าใน retail มีระดับของราคาเท่าไร คุณอยากจะได้แบบตัวหนังสือที่หายากหรือเป็นที่นิยม ถ้าแบบที่เป็นที่นิยมคุณก็รู้ว่าคุณต้องไปที่ไหนบ้าง เขาก็มีสเกลราคาอยู่แล้วว่างานแบบนี้มีค่าใช้จ่ายเท่าไร

ผมว่ากลไกตอนนี้มันได้ถูกก่อตั้งไปแล้ว ระบบการตลาดมันทำให้เกิดขึ้น เมื่อสัก 10 ปีที่แล้วคุณไม่มีทางเลือกเลยนะ ทุกวันนี้คุณมีทางเลือก แล้วไม่ใช่ทางเลือกเดิมๆ ด้วย มีทางเลือกใหม่ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากเห็น เป็นสิ่งที่ คัดสรร ดีมาก สนับสนุนให้เกิดขึ้น เพราะมันเป็นความมั่นคงในระยะยาว แน่ใจได้เลยว่าคุณจะมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามา contribute งานดีๆ ให้คุณได้ใช้ คุณไม่สามารถสร้างกราฟิกดีไซน์ที่ดีได้โดยไม่มีฟอนต์ที่ดี คุณจะทำได้อย่างไรในเมื่อตัวหนังสือเป็นครึ่งหนึ่งของงานออกแบบ

+ ใครคือลูกค้าของ คัดสรร ดีมาก

ลูกค้าของ คัดสรร ดีมาก เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความฉลาดและมองเห็นว่าสิ่งที่เราทำสามารถทำให้ธุรกิจของเขามีลักษณะเฉพาะได้อย่างไร เข้ากับบริบทของสังคมที่มีการสื่อสารผ่านภาพพจน์และประสบการณ์ของลูกค้าได้อย่างไร เป็นบริษัทที่เข้าใจวัฒนธรรมที่ปะปนกันของภาษาต่างๆ ในการสื่อสาร ให้ค่าในเรื่องของรายละเอียดในการสื่อสาร เขาจึงมองเห็นว่าสำเนียงของใจความส่งผ่านมากับแบบตัวอักษร นอกจากนั้นยังเป็นบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ทางการการลงทุนระยะยาว เล็งเห็นว่าสิ่งที่เราสามารถสนองให้ได้ในเรื่อง custom font สำหรับองค์กรซึ่งสามารถช่วยให้ป้องกันการสูญเสียเงินจำนวนมากไปกับการใช้การสื่อสารผ่าน retail font ที่ไม่เหมาะสมกับการลงทุน การลงทุนเรื่องกับ retail font ที่ไม่สัมพันธ์กับขนาดของกิจการ บริษัทที่ตั้งคำถามกับตนเองว่าเราวางตำแหน่งไว้ตรงไหนเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

ส่วนตำแหน่งของเราในตลาด อันนี้ผมว่าคำตอบมีความชัดเจนมากและสามารถอ่านได้จากการที่เราพิมพ์สเปกซิเม้นท์เป็นเล่มที่พรีเมียม ซึ่งไม่มีค่ายใดลงทุนทำ type specimen กระดาษในบ้านเรามามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่เราทำ หรือการที่เราจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยสงเสริมอุตสาหกรรมเท่าที่เราทำได้ ผมว่าสิ่งเหล่านี้อ่านออกไปได้หลายอย่าง ถึงแม้เราจะไม่ใช่มผู้นำตลาดในเรื่องของ retail font ก็ตาม เรามองว่าการตีความเรื่องมผู้นำตลาดอาจจะไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับยอดขายเสมอไป แต่น่าจะยึดโยงอยู่กับการมีอยู่ของเราว่ามีประโยชน์อะไรบ้าง แน่นอนเรื่องยอดขาย retail ก็เป็นเรื่องที่ดีถ้าสามารถเป็นที่หนึ่งในทางตัวเลข (หัวเราะ) ส่วนของ custom font เพื่อองค์กรเราเป็นเบอร์หนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนผมอาจจะไม่ค่อยสะดวกใจที่จะพูดในลักษณะนี้ แต่วันนี้ผมมองหลายอย่างเปลี่ยนไปเหมือนกัน ผมมองว่าเราต้องยอมรับอย่างภูมิใจก่อน