เสียงที่มองเห็น • เสียงเดิมความหมายใหม่

➜ เข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างสูงสุด แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ (Keyboard) ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีแป้นพิมพ์ดีดเป็นต้นแบบ โดยแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์มีหน้าที่สำหรับการเรียกใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ถูกบรรจุในระบบปฏิบัติการ และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถที่จะบรรจุตัวอักษรได้มากกว่าหนึ่งภาษา ซึ่งเป็นสิ่งที่เครื่องพิมพ์ดีดไม่สามารถทำได้ โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ได้บรรจุภาษาอังกฤษเป็นมาตรฐานตรงกันทั่วโลก และสามารถที่จะบรรจุภาษาที่สองซ้อนทับลงไปได้ โดยอาศัยฟังก์ชั่นปุ่มเปลี่ยนภาษาจากแป้นคีย์บอร์ด

สำหรับแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ภาษาไทย ได้นำระบบการเรียงตัวอักษรของ “แป้นพิมพ์เกษมณี” ในเครื่องพิมพ์ดีดมาปรับใช้ จากการกำหนดของสำนักงานมาตรฐานการผลิตอุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นการตอกย้ำการตัดสินใจที่จะไม่เปลี่ยนเป็นแป้นปัตตะโชติ ทั้งที่แป้นปัตตะโชติมีผลการวิจัยซึ่งรับรองโดยสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถึงประสิทธิภาพที่สูงกว่าแป้นพิมพ์เกษมณี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแป้นพิมพ์เกษมณีได้ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานสำหรับแป้นพิมพ์ภาษาไทยอย่างเป็นทางการ

เหตุการณ์สำคัญของภาษาไทยที่เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์ก็คือ ความสามารถในการนำตัวอักษร ข และ ฅ กลับมาบรรจุลงบนแป้นพิมพ์ได้โดยตรง และเครื่องหมายวรรคตอนที่หายไปจากแป้นพิมพ์เครื่องพิมพ์ดีดอย่าง ฟองมัน, โคมูตร, อังคั่นคู่, อังคั่นวิสรรชนีย์ และอังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร ต่างถูกนำกลับมาบรรจุในระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ได้อย่างครบถ้วน เหตุที่คอมพิวเตอร์สามารถจัดเก็บตัวอักษรไทยได้ทั้งหมด ก็เพราะเทคโนโลยีของแป้นพิมพ์ได้รับการพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของปุ่มนำทางสำหรับคำสั่ง (Key combo) เพื่อใช้ในการเรียกใช้ตัวอักษรที่ไม่ได้ถูกบรรจุไว้เป็นชั้นแรก เช่น กลุ่มเครื่องหมายวรรคตอน

ในระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ อักษรไทยทั้งหมดซึ่งประกอบไปด้วย พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ตัวเลขไทย และเครื่องหมายวรรคตอน ถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบของฟอนต์ โดยใช้ตาราง Unicode เป็นพื้นที่สำหรับจัดเก็บเพื่อเรียกใช้ตามมาตรฐานสากล (ช่วงรหัส Unicode ของตัวอักษรไทย คือ U+0E00 ถึง U+0E7F) แต่ด้วยความที่เครื่องหมายฟองมัน, โคมูตร, อังคั่นคู่, อังคั่นวิสรรชนีย์ และอังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร ได้หายไปจากระบบการเขียนอย่างยาวนาน ทำให้นักออกแบบตัวอักษรไทยจำนวนไม่น้อย เกิดความเข้าใจที่ว่าเครื่องหมายดังกล่าวไม่มีความจำเป็นสำหรับการเขียนในยุคปัจจุบันอีกต่อไป และได้ละเลยการออกแบบหรือพัฒนาเครื่องหมายเหล่านั้น ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าการเลือกที่จะไม่ออกแบบหรือพัฒนาจะถือเป็นความผิดแผกแต่ประการใด ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และความต้องการส่วนตัวของนักออกแบบเอง แต่ประโยชน์ของการเก็บรักษาไว้ซึ่งเครื่องหมายที่ได้หายไปจากระบบการเขียน สามารถยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นได้โดยอ้างอิงจาก เครื่องหมายวรรคตอนของตัวอักษรละตินอย่าง Number sign (#) และ At sign (@)

จากข้อตกลงที่สร้างขึ้นในอดีต Number sign (#) ถูกกำหนดให้ใช้งานร่วมกับตัวเลข โดยทำหน้าที่ในการกำกับความหมายของตัวเลขว่าเป็นเพียงหมายเลขที่ไม่มีความหมายในเชิงลำดับ จำนวนหรือปริมาณ เช่น หมายเลขเบอร์โทรศัพท์ แต่ในปัจจุบันขอบเขตของการใช้เครื่องหมาย Number sign (#) ได้ขยายกว้างขึ้น จนสามารถนำมาใช้คู่กับตัวอักษรได้ และถูกนำไปใช้เป็นป้ายกำกับคำของหมวดหมู่ (Hashtag) ในระบบโซเชียลมีเดีย เพื่อทำการรวบรวมจัดเก็บข้อมูล สำหรับรองรับการค้นหาจากกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และทำให้การค้นหาหรือแบ่งปันข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกันเป็นไปได้โดยสะดวกขึ้น

อีกตัวอย่างคือเครื่องหมาย At sign (@) ซึ่งเดิมเป็นเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ และถูกใช้เพื่อกำกับจำนวนของตัวเลขในลักษณะที่เป็นลำดับหรือปริมาณ เช่น Apple 3 unit @ 5$ (แอปปเปิ้ล 3 ลูก ที่ราคา 5 เหรียญ) ต่อมามีการนำไปใช้เป็นเครื่องหมายในการบ่งชี้สถานที่ เช่นเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า Address และปัจจุบันความหมายของ At sign (@) ได้ขยายกว้างขึ้นจนหมายรวมไปถึงการใช้เพื่อบ่งชี้สถานที่ หรือตำแหน่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น การใช้ในอีเมล์, ทวิตเตอร์ ฯลฯ

จากกรณีศึกษาข้างต้น การเก็บรักษาเครื่องหมายฟองมัน, โคมูตร, อังคั่นคู่, อังคั่นวิสรรชนีย์ และอังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราเข้าใจถึงสมการที่ว่า มนุษย์ + ภาษา + ความคิด = ความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเสมอ จริงอยู่ที่เครื่องหมายวรรคตอนเหล่านั้น แทบจะเหลือโอกาสในการถูกใช้น้อยลงทุกที แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่การเลื่อนไหลของความหมายใหม่ จะเกิดขึ้นกับเครื่องหมายวรรคตอนเหล่านั้น? มันอาจถูกนำกลับมาใช้ใหม่โดยมีบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป อาจกลับมาภายในเวลา 5 ปี 10 ปี หรืออีก 20 ปี หรืออาจไม่มีวันได้กลับมาอีกเลย ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์จากอนาคต แต่สิ่งที่เราพึงทำได้คือการเก็บรักษาเอาไว้ให้ยังมีอยู่ เพราะด้วยความสามารถของเทคโนโลยีเองก็เอื้อให้สามารถเก็บเครื่องหมายวรรคตอนเหล่านั้นเอาไว้ได้อย่างไม่ยากเย็น

อีกข้อเท็จจริงหนึ่งของเครื่องหมายวรรคตอนที่เราอาจไม่ทันได้สังเกตุ คือ มันประกอบไปด้วยกลุ่มเครื่องหมายวรรคตอนที่มีความเป็นสากล และกลุ่มเครื่องหมายวรรคตอนเฉพาะของภาษา ในเครื่องหมายวรรคตอนที่มีความหมายและการใช้งานที่เป็นสากล สังเกตุได้จากการถูกอ่านโดยคนต่างภาษา แต่สามารถที่จะเข้าใจถึงหน้าที่ของเครื่องหมายนั้นได้ โดยอาศัยการเดาจากบริบท และเชื่อมโยงกับเครื่องหมายวรรคตอนในภาษาตัวเอง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเครื่องหมายวรรคตอนของทุกภาษา ล้วนถูกกำหนดขึ้นมาให้มีคุณสมบัติอย่าง การไม่มีเสียงในตัวเอง และมีหน้าที่ เพื่อบันทึกใจความ ทำให้ภาษาเขียนเปรียบเสมือนภาษาพูด และเลียนแบบความนึกคิดของมนุษย์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องหมายวรรคตอนได้ช่วยเติมเต็มให้การแสดงออกถึงความคิดของมนุษย์ ในรูปของภาษาที่สามารถมองเห็นได้นั้น (ภาษาเขียน) เกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เครื่องหมายวรรคตอนจึงเปรียบเสมือนเสียงที่ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยการฟัง แต่สัมผัสได้ด้วยการมอง และถึงแม้เราจะไม่สามารถรู้ได้ว่าอนาคตของ ฟองมัน, โคมูตร, อังคั่นคู่, อังคั่นวิสรรชนีย์ และอังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่เสียงที่เปล่งออกมาให้เราได้เห็น ก็ควรค่ากับการที่จะรักษาเอาไว้มิใช่หรือ?