เสียงที่มองเห็น • รวดเร็วพ่ายเคยชิน

➜ อีกเกร็ดประวัติศาสตร์สำคัญที่มีค่าควรแก่การกล่าวถึงคือ พัฒนาการของแป้นพิมพ์ภาษาไทย ซึ่งต้องเท้าความกลับไปตั้งแต่แป้นพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรก ที่ถูกคิดค้นโดย เอ็ดวิน แมคฟาร์แลนด์ และผลิตขึ้นที่โรงงานเครื่องพิมพ์ดีดสมิท พรีเมียร์ จากประเทศอเมริกา แป้นดังกล่าวมีลักษณะเป็นปุ่มกดเรียงตัวแถวละ 12 ปุ่ม จำนวน 7 แถว และในหนึ่งปุ่มสามารถบรรจุตัวอักษรได้เพียงหนึ่งตัว (ไม่มีปุ่ม shift) ทำให้แป้นพิมพ์มีขนาดใหญ่เทอะทะ และการใช้งานยังทำได้เพียงการกดทีละปุ่ม เนื่องจากต้องอาศัยแรงในการกดปุ่มเป็นอย่างสูง

ต่อมาเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยดังกล่าว ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ (พระอาจวิทยาคม) น้องชายของเอ็ดวิน แมคฟาร์แลนด์ จากการมอบให้ของเขาเอง ก่อนที่จะกลับประเทศอเมริกา หลังจากนั้นไม่นาน ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ ได้นำเครื่องพิมพ์ดีดไปตั้งแสดงที่สำนักงานทำฟันที่ปากคลองตลาด (ร้านทำฟันแห่งแรกของประเทศไทย) เพื่อเผยแพร่ให้คนไทยโดยทั่วไปได้รู้จักและทดลองใช้ จนกระทั่งเกิดความนิยมอย่างสูง ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ จึงได้เปิดร้านจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดและเครื่องใช้สำนักงานขึ้น ภายหลังมีหน่วยงานราชการหลายแห่ง ติดต่อให้มีการนำเข้าเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเข้ามาจำหน่าย เมื่อมีจำนวนที่มากพอ ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ จึงได้สั่งผลิตเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยจากบริษัทสมิท พรีเมียร์ เพื่อเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยสมิท พรีเมียร์ รุ่นแรกเดินทางมาถึงประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2440 หลังจากนั้นความนิยมของเครื่องพิมพ์ดีดยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ จึงได้ขยายกิจการเปิดร้านใหม่ เพื่อจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยนำเข้าโดยเฉพาะ โดยร้านตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนวังบูรพา ชื่อร้าน Smith Premier Store ในปี พ.ศ. 2441

ต่อมาบริษัทสมิท พรีเมียร์ ได้ขายสิทธิบัตรการผลิตเครื่องพิมพ์ดีดให้กับบริษัทเรมิงตัน และบริษัทเรมิงตันได้ทำการปรับปรุงระบบของเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย จากแป้นพิมพ์แบบแคร่ตาย ซึ่งไม่สามารถพิมพ์สัมผัสแบบ 10 นิ้วได้ มาเป็นแบบแคร่เลื่อน และสามารถยกแคร่หรือยกกระจาดได้ (Sliding, Shifting, Carriage) อย่างไรก็ตามเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยของเรมิงตัน ก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก จนกระทั่งนาย ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ นายสวัสดิ์ มากประยูร และนายสุวรรณประเสริฐ เกษมณี ได้ร่วมกันศึกษาข้อบกพร่อง และคิดค้นการเรียงตัวอักษรบนแป้นขึ้นใหม่ โดยนายสวัสดิ์ทำหน้าที่เป็นวิศวกรออกแบบประดิษฐ์กลไลของแคร่อักษร และนายสุวรรณประเสริฐ ทำหน้าที่ออกแบบจัดวางแป้นอักษรขึ้นมาใหม่ โดยศึกษาจากการนำคำที่ใช้บ่อยจำนวน 167,456 คำ จากหนังสือ 38 เล่ม และใช้เวลาทั้งหมด 7 ปี ในคิดค้นแป้นพิมพ์แบบใหม่นี้ โดยใช้ชื่อว่า “แป้นพิมพ์เกษมณี”

สิ่งที่แป้นพิมพ์เกษมณีพัฒนาขึ้นจากแป้นพิมพ์ไทยสมิทพรีเมียร์ คือ ความสามารถในการบรรจุตัวอักษรได้ถึงสองตัวต่อหนึ่งปุ่ม ซึ่งเกิดจากการพัฒนากลไกของแคร่อักษร มีการจัดเก็บตัวอักษรที่อยู่ในปุ่มเดียวกัน โดยใช้ระบบการแบ่งเป็นสองชั้น กลุ่มตัวอักษรที่ถูกใช้น้อยกว่าจะถูกเก็บไว้ชั้นบน และต้องอาศัยการกดปุ่มยกแคร่ (shift) ในการนำทางเพื่อเรียกใช้ ส่วนกลุ่มตัวอักษรที่ถูกใช้ถี่กว่าจะถูกเก็บไว้ชั้นล่าง กลไกดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจโดยใช้เงื่อนไขที่ว่าตัวอักษรที่ถูกใช้บ่อย จะถูกทำให้มีวิธีการเข้าถึงที่ง่ายกว่าด้วยการกดปุ่มโดยตรง ไม่ต้องกดปุ่มยกแคร่ร่วมในการเรียกใช้ อย่างไรก็ตามแป้นพิมพ์ดีดเกษมณี ยังไม่มีการบรรจุตัว ฃ, ฅ และเครื่องหมายวรรคตอนอย่าง ฟองมัน โคมูตร และอังคั่น ลงบนแป้นเช่นเดิม คาดว่าเพราะช่วงที่คิดค้นการวางตัวอักษรขึ้นใหม่นั้น ได้มีการวิจัยรวบรวมข้อมูลสถิติการใช้ตัวอักษรจากหนังสือที่ไม่มีการใช้ตัวอักษร ฃ และ ฅ รวมถึงเครื่องหมายวรรคตอนนั่นเอง

หลังจากที่แป้นพิมพ์เกษมณีถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย นายสฤษดิ์ ปัตตะโชติ ได้ทำการวิจัยและค้นพบข้อบกพร่องของแป้นพิมพ์เกษมณี ว่ามีการเฉลี่ยตำแหน่งของตัวอักษรที่ใช้บ่อยหนักไปทางด้านขวา ทำให้การใช้งานต้องอาศัยมือขวามากกว่ามือซ้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกดปุ่มยกแคร่อักษร ซึ่งต้องใช้นิ้วก้อยในการกด ก็ถูกเฉลี่ยโดยหนักมาทางด้านขวาด้วยเช่นกัน ทำให้ในการใช้งานจริงนิ้วมือด้านขวาจะเกิดอาการล้าเนื่องจากการโดนใช้งานหนักกว่านิ้วมือด้านซ้าย “แป้นพิมพ์ปัตตะโชติ” จึงถูกคิดค้นขึ้นใหม่เพื่อแก้ข้อบกพร่องดังกล่าว โดยมีการเรียงตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ขึ้นใหม่ และใช้ตัวอักษรชุดเดียวกันกับที่อยู่บนแป้นเกษมณี (ยังไม่มี ฃ, ฅ, ๏, ๛, ฯ, ๚, ฯะ, ๚ะ, ๚ะ๛) ในการเรียงอักษรของแป้นปัตตะโชติ มีการเฉลี่ยให้ใช้มือทั้งสองข้างในปริมาณที่เท่าๆกัน โดยลำดับการถูกใช้งานมากที่สุดของนิ้วมือจะเรียงไปตาม นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย ตามลำดับ นอกจากนี้แป้นพิมพ์ปัตตะโชติยังได้รับการยอมรับจากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่าสามารถพิมพ์ได้เร็วกว่าแป้นพิมพ์เกษมณีถึง 25.8% และยังช่วยลดอาการปวดนิ้วมือจากการพิมพ์ได้

ด้วยเหตุนี้ในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ.2508-2516 แวดวงผู้ผลิตและผู้ใช้เครื่องพิมพ์ดีดจึงเกิดความสับสนว่าจะใช้แป้นพิมพ์แบบใดเป็นมาตรฐาน คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติให้หน่วยงานราชการที่ได้รับงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องพิมพ์ดีด เปลี่ยนไปใช้เครื่องพิมพ์ดีดแป้นปัตตะโชติ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องส่งพนักงานไปอบรมการใช้เครื่องพิมพ์ปัตตะโชติกันอย่างชุลมุน แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถทำลายความเคยชินของผู้ใช้ที่มีต่อเครื่องพิมพ์เกษมณีลงไปได้ภายในเวลาอันสั้น ประกอบกับเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2516 ทำให้มีการยกเลิกมติดังกล่าวในที่สุด และปล่อยให้การจัดซื้อเครื่องพิมพ์ดีดเป็นไปตามความต้องการของข้าราชการ หลังจากช่วงเวลาดังกล่าว แป้นพิมพ์ปัตตะโชติก็ไม่เคยได้รับความนิยมในการใช้งานเท่ากับแป้นพิมพ์เกษมณีอีกเลย สาเหตุหลักจะเห็นได้ว่าเกิดจากความเคยชินของผู้ใช้ที่มีต่อแป้นพิมพ์เกษมณี ประกอบกับผู้นำเข้าเครื่องพิมพ์ดีดเองก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะสั่งผลิตเครื่องพิมพ์โดยเปลี่ยนเป็นแป้นพิมพ์ปัตตะโชติทั้งหมด เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และไม่มีท่าทีว่าแป้นพิมพ์ปัตตะโชติจะได้รับความนิยม

เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าความเคยชินของมนุษย์ก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาของเทคโนโลยีอยู่เสมอ โดยเฉพาะพฤติกรรมความเคยชินที่ได้สร้างชุดความคิดที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง และแสดงออกในรูปของชุดความเชื่อที่ว่า ของเดิมก็ง่ายหรือดีอยู่แล้ว นัยนึงความง่ายอาจเป็นสิ่งที่เป็นจริง แต่การเลือกปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นทีหลัง ทั้งที่มีคุณภาพที่เหมาะสมกับยุคสมัยมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อน เพียงเพราะความเคยชินที่มีต่อสิ่งเก่า รวมถึงการไม่สามารถหรือไม่พยายามที่จะปรับตัวตามสิ่งใหม่ อาจทำให้เราเสียโอกาสในการได้มาซึ่งสิ่งที่ดีกว่า เหตุการณ์นี้ฟังดูแล้วไม่ต่างกันกับความเชื่อในเรื่องการอ่านยาก-อ่านง่ายของแบบตัวอักษร แบบตัวอักษรบางแบบได้รับการยอมรับว่าอ่านง่ายกว่าแบบตัวอักษรอีกแบบ เป็นไปได้หรือไม่ว่า สาเหตุที่ทำให้เราคิดเช่นนั้นเกิดจากความเคยชินเช่นกัน ?