เสียงที่มองเห็น • ภาวะต้องเลือก

➜ การเกิดขึ้นของเครื่องพิมพ์ดีด (Typewriter) เป็นผลจากการปฏิวัติด้านเทคนิคการสื่อสาร (Techinical Communication Revolution) ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) เครื่องพิมพ์ดีดถูกคิดค้นขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่จะเขียนได้อย่างรวดเร็ว และเป็นระเบียบกว่าการเขียนหรือคัดลอกด้วยลายมือ ซึ่งก็เป็นไปตามวิธีคิดของยุคสมัยดังกล่าว ที่นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับการผลิตที่เน้นปริมาณและความรวดเร็ว

เมื่อประกอบไปด้วยคุณสมบัติอย่างความรวดเร็ว ชัดเจน มีระเบียบแบบแผนและเป็นทางการ ทำให้เครื่องพิมพ์ดีดได้เข้ามามีบทบาทเป็นเครื่องมือสำหรับการเขียนต้นฉบับ ซึ่งสามารถส่งต่อไปผลิตเป็นสำเนาโดยผ่านเทคโนโลยีการพิมพ์แบบกลไก ที่เป็นการผลิตแบบเน้นปริมาณ (mass production) และสามารถผลิตซ้ำ (reproduce) ได้เรื่อยๆ โดยมีความเหมือนกันทุกระเบียดนิ้วกับสำเนาที่ถูกผลิตขึ้นผ่านต้นฉบับเดียวกัน

ในช่วงเวลาแรกที่เครื่องพิมพ์ดีดเกิดขึ้น ความตั้งใจที่จะให้เครื่องพิมพ์ดีดเป็นเครื่องมือในการเขียนที่มีคุณภาพกว่าการเขียนด้วยมือยังไม่สำเร็จในทันที เพราะชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องพิมพ์ดีดอย่างแป้นพิมพ์ในเวลานั้น ไม่สามารถที่จะพิมพ์โดยใช้นิ้วมือทั้งสิบเช่นปัจจุบันได้ แต่ทำได้เพียงใช้นิ้วมือกดจิ้มไปทีละปุ่ม เนื่องจากระยะที่ห่างกันของแต่ละปุ่ม และน้ำหนักที่ต้องใช้ในการออกแรงกดปุ่ม อย่างไรก็ตามแป้นพิมพ์เครื่องพิมพ์ดีดก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงมาตามลำดับ จนในที่สุดก็เกิดแป้นพิมพ์ที่ออกแบบให้มีระบบการใช้งานที่มีความเหมาะสมกับสรีระและสอดคล้องไปกับการเคลื่อนไหวของนิ้วมือทั้งสิบของมนุษย์ ทั้งขนาดของแป้น ขนาดของปุ่ม ระยะห่างระหว่างปุ่ม และน้ำหนักของแรงที่ต้องใช้ในการกด

สิ่งสำคัญที่สุดในการเกิดขึ้นของเครื่องพิมพ์ดีด คือการที่มันทำให้เกิดเครื่องมือในการเขียนที่เป็นนวัตกรรมของยุคอย่าง “แป้นพิมพ์” และการเกิดขึ้นของแป้นพิมพ์นี้เอง ที่นับว่าเป็นต้นแบบในการพัฒนาเทคโนโลยีการเขียนของโลกในเวลาต่อมา หรือที่เรียกว่าวิธีการเขียนผ่านแป้นพิมพ์ (Typing system) ซึ่งต่างจากการเขียนโดยใช้มือจับปากกาเหมือนในอดีต การเขียนผ่านแป้นพิมพ์กระทำ โดยใช้เพียงแค่นิ้วมือในการกดลงไปที่ปุ่ม ซึ่งวางเรียงตัวกันอยู่บนแป้น และในเวลาต่อมาแป้นพิมพ์ดีดนี้เองได้กลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาเป็นระบบคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ (Keyboard system) อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการเกิดขึ้นของแป้นพิมพ์ดีด คือการที่มันได้นำพาภาวะหนึ่งติดมาด้วย นั่นคือ “ภาวะต้องเลือก” ซึ่งหมายถึง การต้องคิดและเลือกว่าจะบรรจุตัวอักษรใดลงบนแป้นพิมพ์ หรือตัดตัวอักษรใดออกจากแป้นพิมพ์ หากเกิดสถานการณ์ที่พื้นที่ของแป้นไม่เพียงพอสำหรับการบรรจุตัวอักษรทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเขียนเกิดขึ้นเพราะการมาของเครื่องพิมพ์ดีดด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อแป้นพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ดีดได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือหลักในการเขียนอย่างสมบูรณ์ในช่วงเวลานั้น  สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ “ภาวะบังคับ” ที่แป้นพิมพ์มีต่อผู้เขียน อธิบายได้ว่าผู้เขียนด้วยเครื่องพิมพ์ดีดทุกคน ต่างได้รับอักขระที่ผ่านการเลือกให้ถูกบรรจุลงบนแป้นเพื่อใช้ในการเขียน (จากภาวะต้องเลือก) และการเขียนผ่านระบบแป้นพิมพ์ ก็ได้ให้รูปแบบที่เป็นทางการ ซึ่งมันได้ย้อนกลับมาทำหน้าที่ในการตรึงโครงสร้างของการเขียนให้กับสังคม ด้วยเหตุนี้การนิยามว่าเครื่องพิมพ์ดีดและระบบแป้นพิมพ์คือจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติการเขียนของโลก จึงดูเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินไปแต่อย่างใด

ความเป็นมาของเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย เริ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2435 (รัชสมัยของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5) โดยฝีมือของ เอ็ดวิน แมคฟาร์แลนด์ ชาวอเมริกันที่รับราชการอยู่ในประเทศไทย เขาเป็นทั้งผู้คิดแบบและควบคุมการผลิตเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้นเป็นเครื่องแรก และนำกลับมาถวายต่อพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงทดลองใช้แล้วพอพระทัย จึงได้สั่งเข้ามาจำนวน 17 เครื่อง เพื่อนำมาใช้ในงานราชการไทยโดยเฉพาะ

สิ่งที่น่าสนใจในการคิดค้นแป้นพิมพ์ดีดภาษาไทย คือการที่ตัวอักษรภาษาไทยมีจำนวนมากกว่าตัวอักษรละติน และภาวะต้องเลือกของแป้นพิมพ์ภาษาไทยถูกจัดการโดย เอ็ดวิน แมคฟาร์แลนด์ (ซึ่งไม่ใช้เจ้าของภาษาไทย) ตัวอักษรภาษาไทยที่ถูกเลือกให้บรรจุลงแป้นพิมพ์ ประกอบด้วยตัวอักษรจำพวกที่มีเสียงในตัวเอง (พยัญชนะ 42 ตัว จากทั้งหมด 44 ตัว), เครื่องหมายที่ทำหน้าที่กำกับวิธีออกเสียงและโทนเสียง (สระ และวรรณยุกต์), ตัวเลขไทย และเครื่องหมายวรรคตอนบางส่วน เช่น อัญประกาศ (“)  ทับ (/)  ยัติภาค (-)  นขลิขิต ()  มหัพภาค (.)  จุลภาค (,)  อังคั่นเดี่ยว (ฯ) โดยแป้นพิมพ์ที่สำเร็จออกมาในช่วงเวลานั้น สามารถบรรจุอักษรได้เพียงหนึ่งตัวต่อหนึ่งปุ่ม (ไม่มีฟังก์ชั่นปุ่ม shift) และจากเงื่อนไขดังกล่าว ก็ทำให้เกิดสองเหตุการณ์ที่สำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการเขียนภาษาไทยในเวลาต่อมา

เหตุการณ์แรกคือการตัดเอาตัวพยัญชนะ ฃ และ ฅ ออกจากการบรรจุลงบนแป้น และให้ใช้พยัญชนะที่มีเสียงเหมือนกันอย่าง ข และ ค ทดแทนได้ เหตุการณ์ที่สองคือการไม่สามารถบรรจุเครื่องหมายวรรคตอนอย่าง ฟองมัน โคมูตร อังคั่นคู่ อังคั่นวิสรรชนีย์ และอังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร ลงบนแป้นพิมพ์ได้ ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นจากปัญหาเดียวกัน คือพื้นที่ของแป้นไม่เพียงพอต่อการบรรจุ

เราอาจสมมติฐานได้ว่านี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ ฃ และ ฅ รวมถึงเครื่องหมายฟองมัน โคมูตร อังคั่นคู่ อังคั่นวิสรรชนีย์ และอังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร ค่อยๆ ถูกลดบทบาทลง จนหายไปจากการเขียนในที่สุด อีกสาเหตุที่มีความเป็นไปได้เช่นกันคือ การที่นักประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองในขณะนั้น ไม่ใช่ผู้ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการเขียนด้วยมือมากกว่าการกดแป้นพิมพ์ จึงไม่มีการปรึกษาหารือกัน ในเรื่องการเลือกตัวอักษรที่จะบรรจุลงบนแป้นพิมพ์ ระหว่างผู้คิดค้นแป้นพิมพ์ดีดภาษาไทย (เอ็ดวิน แมคฟาร์แลนด์) กับผู้เขียนภาษาไทย (คนไทย) อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้เช่นกันว่าสมมติฐานนี้อาจไม่เป็นจริง แต่จากข้อสมมติฐานนี้ก็ได้ชวนให้เราต้องตั้งคำถาม (ที่ย้อนกลับไปพิสูจน์ไม่ได้อีกแล้ว) ต่อไปว่า หากแป้นพิมพ์ดีดสามารถบรรจุตัวอักษรได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ รูปแบบการเขียนในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร?

เหตุผลที่สนับสนุนสมมติฐานที่ว่า การไม่ได้ถูกบรรจุลงบนแป้นพิมพ์เป็นต้นเหตุของการหายไปจากการเขียน คือการที่ผู้เขียนไม่สามารถเรียกใช้เครื่องหมายวรรคตอนเหล่านั้นได้จากการเขียนผ่านแป้นพิมพ์ดีด ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเขียนต้นฉบับ เมื่อต้นฉบับถูกส่งต่อไปในกระบวนการพิมพ์เพื่อผลิตเป็นสำเนา และเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ จึงเกิดเป็นความเข้าใจและยอมรับได้ถึงการไม่มีอยู่ของอักษรเหล่านั้น ซึ่งในท้ายที่สุดก็ได้นำมาสู่พฤติกรรมในการเขียน เมื่อผู้อ่านต้องเป็นผู้เขียน ประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการอ่าน ก็นำไปสู่การเขียนโดยไม่ใช้เครื่องหมายฟองมัน โคมูตร อังคั่นคู่ อังคั่นวิสรรชนีย์ และอังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร (รวมไปถึง ฃ และ ฅ)

สำหรับหลักฐานที่ยืนยันการมีอยู่ของเครื่องหมายวรรคตอนที่หายไปจากการเขียนในปัจจุบัน นอกจากตามบันทึกใบลานหรือสมุดข่อยซึ่งถูกเขียนด้วยมือของนักประพันธ์แล้ว ก็ยังมีหนังสือโบราณ ที่ถูกพิมพ์ขึ้นโดยใช้ตัวพิมพ์ตะกั่ว แต่เนื่องจากเครื่องมือในการเขียนต้นฉบับอย่างเครื่องพิมพ์ดีด ไม่สามารถเรียกใช้เครื่องหมายเหล่านั้นได้ ความต้องการที่จะใช้เครื่องหมายวรรคตอนที่ไม่มีอยู่บนแป้น ก็มีความจำเป็นที่จะต้องไปทำให้เกิดขึ้นในขั้นของการเรียงพิมพ์ด้วยตัวตะกั่ว ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลทำให้การแสดงความจำนงในการเรียกใช้เครื่องหมายวรรคตอนที่ไม่มีอยู่บนแป้นพิมพ์ลดน้อยลงไปด้วย เพราะต้องกลายเป็นหน้าที่เพิ่มเติม และถือเป็นการเพิ่มภาระให้ยุ่งยากมากขึ้น การเลือกที่จะเลิกใช้เครื่องหมายฟองมัน โคมูตร อังคั่นคู่ อังคั่นวิสรรชนีย์ และอังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร จึงได้เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงเวลานี้ หากพิจารณาถึงการตัดสินใจที่จะไม่ใช้เครื่องหมายที่ไม่มีอยู่บนแป้นพิมพ์ นอกจากจะเป็นเพราะความยุ่งยากที่มากขึ้นแล้ว ยังมีนัยยะที่สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับได้จากผู้ใช้ภาษา ต่อการหายไปของอักษรเหล่านั้นบนสิ่งพิมพ์ด้วยเช่นกัน