เสียงที่มองเห็น • ภาพของความคิด

➜ “ความคิดของคนขึ้นต่อภาษา” คือทฤษฎีหลักของกลุ่มความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์ และเป็นฐานคิดสำคัญที่นักภาษาศาสตร์พยายามใช้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและความคิด ทฤษฏีดังกล่าวนอกจากจะได้รับการยอมรับในวงกว้างแล้ว ยังได้นำมาซึ่งข้อเท็จจริงที่ทำให้เราตระหนักว่า มนุษย์ดำรงอยู่ภายใต้อำนาจของภาษาตลอดเวลา เพราะ “มนุษย์ต้องพึ่งพาภาษาในการดำเนินชีวิต” แม้กระทั่งการคิดก็เกิดขึ้นโดยมีภาษาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ เมื่อคลุกคลีอยู่กับภาษาตลอดเวลาเช่นนี้ ย่อมทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ภาษาในทุกขณะของการมีชีวิต ส่งผลให้ภาษา (ซึ่งเป็นกลุ่มความรู้ชนิดหนึ่ง) ตกอยู่ในสภาวะที่พร้อมจะถูกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าภาษา นอกจากจะเป็นเสมือนรหัสของการสื่อสารแล้ว ยังเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนวัฒนธรรมที่สำคัญของแต่ละสังคมในช่วงเวลาหนึ่งๆ

ความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ ความคิด และภาษา ดำเนินไปในลักษณะของการที่มนุษย์ใช้ภาษาในการคิดและแสดงออกถึงความคิด อาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะที่ภาษามีอำนาจเหนี่ยวนำความคิด นอกจากนั้นมนุษย์ยังใช้ความคิด (ซึ่งอยู่ในรูปของภาษา) เพื่อสร้างถ้อยคำ แล้วถ้อยคำก็กลับมาทำหน้าที่รองรับการเกาะอิงจากความหมาย หรือที่เรียกว่าภาวะมนุษย์ให้กำเนิดภาษา อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสามสิ่งนี้จะดำเนินไปอย่างไร สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือการไม่สามารถที่จะแยกทั้ง มนุษย์ ความคิด และภาษา ออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ทั้งสามสิ่งนี้ต่างตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกันและกัน เปรียบดังแสง เงา และวัตถุ โดยสลับบทบาทกันไปตามสถานการณ์ และมันจะเป็นเช่นนี้เสมอ ไม่มีทางที่มนุษย์ ความคิด และภาษา จะหลุดพ้นจากสภาพที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน ตราบใดที่…โปรดย้อนกลับไปอ่านบรรทัดที่สาม

เมื่อภาษามีวิวัฒนาการตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวอักษร (สัญลักษณ์ของภาษา) ย่อมเป็นผลที่จะต้องเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราทำความเข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ตัวอักษรเกิดขึ้นมาได้โดยผ่านการตกลงกันของมนุษย์ (เช่นเดียวกับภาษา) เรียกได้ว่าเป็น “ข้อตกลงร่วมกันของมนุษย์” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความคิด ให้ปรากฏออกมาในรูปของภาษาที่สามารถมองเห็นได้ ข้อสังเกตุอีกอย่างเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของตัวอักษร คือการที่มันได้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากผัสสะที่ใช้ในการรับรู้ของมนุษย์ จากการฟังเพื่อแปรสัญญาณเสียงที่เปล่งออกมาในรูปของภาษา โดยอาศัยการทำงานของอวัยวะอย่าง ปากและหู เพื่อสร้างกระบวนการพูดและการฟัง ซึ่งเป็นการสื่อสารในระดับพื้นฐานที่สุด จนกระทั่งการเกิดขึ้นของตัวอักษร ที่ได้ทำให้เกิดการเรียกร้องทักษะที่สูงขึ้นเพื่อเข้าถึงการสื่อสารที่ก้าวหน้ากว่าเดิมอย่าง “การอ่าน” ซึ่งเป็นการมองเพื่อแปรสัญญาณจากตัวอักษร จะเห็นได้ว่านอกจากตัวอักษรจะเป็นเครื่องมือในสื่อสารแล้ว ยังทำหน้าที่ในการบันทึกภาษาพูด หรือทำให้เรามองเห็นภาษาพูดด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นการเกิดขึ้นของตัวอักษร ยังได้นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของระบบการเขียน อันหมายถึงข้อตกลงที่เป็นแบบแผนมาตรฐาน และทุกคนที่ใช้ภาษาสามารถเข้าถึงได้ โดยอาศัยเงื่อนไขสำคัญเพียงข้อเดียวนั่นคือ “การอ่านออกเขียนได้”

ระบบการเขียนของภาษา (Writing system) ประกอบไปด้วยกลุ่มตัวอักษรที่มีเสียงในตัวเองและอ่านออกเสียงได้ (พยัญชนะ), กลุ่มตัวอักษรที่เป็นตัวกำหนดทิศทางการออกเสียง (สระ), กลุ่มตัวอักษรที่ทำหน้าที่กำหนดโทนเสียง (วรรณยุกต์), และกลุ่มตัวอักษรที่ไม่อ่านออกเสียง แต่ทำหน้าที่บันทึกใจความให้สมบูรณ์ และเลียนแบบจังหวะและท่วงทำนองของการพูด (เครื่องหมายวรรคตอน) ในระบบการเขียนของภาษาไทย ประกอบไปด้วย พยัญชนะ 44 รูป สระ 21รูป วรรณยุกต์ 4 รูป และเครื่องหมายวรรคตอน 32 รูป เมื่อพิจารณาถึงสถานะของตัวอักษรไทยยุคปัจจุบันในแง่ของวิวัฒนาการ จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวอักษรไทย ได้ส่งผลกับกลุ่มตัวอักษรที่เป็นเครื่องหมายวรรคตอนมากที่สุด เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ที่ยังมีอยู่ตามหลักไวยากรณ์ แต่กลับหายไปจากการเขียนในยุคปัจจุบัน

การปรากฏขึ้นของเครื่องหมายวรรคตอนในอดีต ใช้สำหรับการแบ่งความเรียงในวรรณคดี เช่นเครื่องหมายฟองมัน (๏) ที่ใช้สำหรับเริ่มบทกลอน และเครื่องหมายโคมูตร (๛) ที่ใช้สำหรับการจบบทกลอน เนื่องจากการเขียนโคลงกลอนในอดีต ไม่ได้เว้นวรรคตามฉันทลักษณ์แบบปัจจุบัน แต่เขียนต่อเนื่องกันคล้ายความเรียง เพราะวัสดุที่รองรับการเขียนอักษรไทยในตอนนั้นคือ “ใบลาน” หรือ “สมุดข่อย” ซึ่งมีลักษณะเป็นแถบยาว การเว้นวรรคแบบปัจจุบันจึงทำให้เปลือง “พื้นที่ที่ใช้บันทึก” และไม่สอดคล้องกับรูปร่างของสมุดข่อย จึงจำเป็นต้องมีการใช้เครื่องหมายวรรคตอนในขณะนั้น

นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมายวรรคตอนอื่นๆเช่น “อังคั่นเดี่ยว” (ฯ) ที่ใช้ในการจบบท จบตอน หรือจบเรื่อง ทั้งการเขียนแบบร้อยกรองและร้อยแก้ว, “อังคั่นคู่” (๚) ที่ใช้สำหรับจบตอนในบทกวี และยังมีการใช้เครื่องหมายอังคั่น คู่กับตัวอักษรอื่นอย่าง “อังคั่นวิสรรชนีย์” (ฯะ, ๚ะ) เพื่อใช้สำหรับการจบบทกวี และ “อังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร” (๚ะ๛) ซึ่งใช้สำหรับการจบบริบูรณ์ของการเขียนทั้งแบบร้อยกรองและร้อยแก้ว จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดข้างต้น ล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์ในการบ่งบอกว่าผู้เขียนได้เริ่มหรือจบการเขียนลง ณ ตำแหน่งที่มีเครื่องหมายเหล่านั้นกำกับอยู่ ปัจจุบันเครื่องหมายวรรคตอนเหล่านี้ได้เสื่อมความนิยมลงอย่างเห็นได้ชัด และจะถูกพบเห็นได้เฉพาะในหนังสือโบราณเป็นส่วนใหญ่ แต่การหายไปซึ่งเกิดจากการไม่ได้ถูกใช้ ไม่ได้หมายความว่าเครื่องหมายวรรคตอนเหล่านี้จะสาบสูญไปแล้วอย่างสมบูรณ์

หากลองสังเกตุการเขียนในยุคปัจจุบัน จะพบว่ายังคงมีสัญลักษณ์ที่ทำหน้าที่ “ขึ้นตนและจบลง” เพียงแต่สัญลักษณ์ที่พบเห็นในปัจจุบัน ไม่ได้คงอยู่ในสภาพภายนอก (รูปลักษณ์) เช่นในอดีต (๏, ๛, ฯ, ๚, ฯะ, ๚ะ, ๚ะ๛) กล่าวคือรูปลักษณ์ของมันได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ยังคงอยู่และไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก คือบทบาทหน้าที่ของเครื่องหมาย พิจารณาจาก เครื่องหมายฟองมันที่ใช้สำหรับการเริ่มต้นความเรียง ถูกตัดออกให้เหลือเพียงแค่การใช้เครื่องหมาย มหัตถสัญญา (ย่อหน้า) เครื่องหมาย “โคมูตร, อังคั่นเดี่ยว, อั่งคั่นคู่, อังคั่นวิสรรชนีย์ และอังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร” ที่เป็นสัญลักษณ์ในการบอกว่าผู้เขียนพอใจที่จะจบการเขียน ถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์ที่มีสภาพภายนอกที่ไม่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับการจัดการของผู้เขียน เราอาจพบสัญลักษณ์ที่ถูกใช้เพื่อแสดงถึงการจบลงของการเขียนในรูปแบบของเส้นขีด จุดเรียงตัว วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือรูปทรงที่ไม่ใช่เรขาคณิต จะเห็นได้ว่าสัญลักษณ์ที่ทำหน้าที่จบการเขียนในปัจจุบัน ล้วนผ่านการจัดการกับรูปลักษณ์ให้มีรูปร่างที่เรียบง่ายขึ้น เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการใช้งาน ทั้งจากขนาดของวัสดุที่รองรับการเขียน และลักษณะการจัดหน้า (Layout)

เราอาจสรุปปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ว่า เครื่องหมายฟองมัน, โคมูตร, อังคั่นเดี่ยว, อังคั่นคู่, อังคั่นวิสรรชนีย์ และอังคั่นวิสรรชนีย์โคมูตร ได้หายไปเพียงแค่รูปแบบภายนอก แต่วิธีคิดของเครื่องหมายเหล่านี้ยังคงมีอยู่ ไม่ได้สูญหายไปตามกาลของปัจจุบันแต่อย่างใด คำถามที่น่าสนใจของเหตุการณ์นี้คือ อะไรคือจุดเริ่มต้นหรือสาเหตุที่ทำให้เครื่องหมายวรรคตอนเหล่านี้ ได้หายไปจากระบบการเขียนในยุคปัจจุบัน บทความชิ้นนี้ได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ใหญ่ๆ และเสนอสมมติฐานที่ว่าเรื่องราวทั้งหมดอาจเริ่มขึ้นตรงที่