ลงรายละเอียด สัมมนาอักขรศิลป์นานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 3 (ตอนที่ 3)

➜ 23 พฤศจิกายน 2556 เข้าสู่วันที่สองและเป็นวันสุดท้ายของงานสัมมนาในปีนี้ ผู้เข้าร่วมงานที่มาถึงก่อนเวลาจับกลุ่มยืนรอเวลางานเริ่มบริเวณรอบๆ ห้องออดิทอเรียมต่างสะดุดตาตากับข้อความบนเสื้อยืดของทีมผู้จัดที่เปลี่ยนไปจากเมื่อวาน “ระยะห่างเฉพาะ” ถูกแปลเป็น 6 ภาษา เชื้อเชิญให้ผู้คนใช้เป็นหัวข้อเริ่มต้นในการพูดคุยได้เป็นอย่างดี จริงอยู่ที่คำดังกล่าวเป็นศัพท์พื้นฐานของไทโปกราฟี แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงสับสนอยู่กับคำว่า “ระยะห่างระหว่างตัวอักษร” ซึ่งหมายถึงระยะห่างในภาพรวมของชุดตัวอักษรหนึ่งๆ ส่วนอย่างแรกที่อยู่บนเสื้อยืดทีมงาน หมายถึงระยะห่างที่เป็นคู่ๆไป

กิจกรรมสัมมนาในวันนี้เริ่มต้นด้วย การแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์จาก มร.บอริส โกชาน (ผู้อำนวยการในการจัดงาน Granshan ประจำประเทศไทย) ถึงเรื่องการเพิ่มหมวดตัวอักษรไทยเข้าไปเป็นประเภทล่าสุดของการประกวดออกแบบตัวอักษรประจำปีของ Granshan นับเป็นข่าวดีสำหรับนักออกแบบตัวอักษรไทยที่จะมีพื้นที่ในการนำเสนอผลงานเพิ่มขึ้น จบจากข่าวประชาสัมพันธ์ก็ถึงเวลาที่วิทยากรคนแรกเดินขึ้นสู่เวที

พอล บาร์นส์ นักออกแบบชาวอังกฤษ เขานำผลงานมาเล่าถึงวิธีคิดเบื้องหลังแก่ผู้ฟัง โดยเริ่มจากการร่วมงานกับแบรนด์กีฬาชั้นนำอย่างพูม่า ในการออกแบบตัวหนังสือบนเสื้อฟุตบอลให้กับทีมชาติอิตาลี (European Championship 2008) อุรุกวัย สวิตเซอร์แลนด์ แอลจีเรีย แคเมอรูน กานา และไอวอรี่ โคสต์ (World cup 2010) ในปี 2010 เขาได้ร่วมงานกับปีเตอร์ เซวิลล์ ภายใต้การว่าจ้างของแบรนด์ Umbro เพื่อออกแบบเสื้อฟุตบอลให้กับทีมชาติอังกฤษ โดยเขารับหน้าที่ในส่วนของการออกแบบตัวหนังสือบนเสื้อ ทั้งตัวเลข และชื่อของนักฟุตบอล ความเรียบง่ายคือคาแรคเตอร์ของตัวอักษรในชุดนี้ โดยเฉพาะเบอร์เสื้อซึ่งต้องคำนึงถึงการมองจากหลายจุด ทั้งกรรมการในสนาม ผู้ชมบนอัฒจันทร์ และผู้ชมจากการถ่ายทอดสด และเนื่องจากทุกคนที่ดูฟุตบอลมีเวลาไม่มากนักในการมองผู้เล่นแล้วทราบได้ทันที่ว่าเป็นใคร โดยเฉพาะในสถานการณ์ของช่างภาพที่ใช้เวลาเสี้ยววินาทีในการบันทึกภาพนักฟุตบอลที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ในสนาม ดังนั้นสัดส่วนของตัวอักษรกับพื้นที่ด้านหลังเสื้อจึงถูกนำมาคิดเป็นสิ่งแรก เพื่อกำหนดความชัดเจนของตัวอักษรแต่ละตัวจากระยะการมองต่างๆ

ในส่วนที่สองของการบรรยาย เขาได้พูดถึง Darby sans ชุดตัวอักษรล่าสุดที่ออกแบบเพื่อปรับภาพลักษณ์ให้กับวอลเปเปอร์ นิตยสารชั้นนำจากประเทศอังกฤษ เขาเล่าถึงประสบการณ์ทำงานตั้งแต่ได้รับโจทย์ เริ่มจากการตั้งคำถามถึงลักษณะที่ทำให้ตัวอักษรมีบุคลิกที่หรูหรา และทำการสำรวจ classification ต่างๆ ของแบบตัวอักษรละตินจากประเทศที่มีประวัติศาสตร์ในด้านตัวอักษรอย่างยาวนาน เขาจำแนกแบบตัวอักษรที่เป็นตัวแทนของ Classification จากแต่ละประเทศ อย่างตัวอักษรมีเชิงที่เป็นลักษณะเหลี่ยมและมีความหนาบางที่ต่างกันสูง ปรากฏดังนี้ English : Modern / Italian : Bodoni / French : Didot นอกจากนี้เขายังพูดถึงลักษณะของตัวอักษรในกลุ่ม Sans serif ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองในประเทศอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงสุดท้ายเขาได้นำเสนอแบบตัวอักษรทั้งหมดที่ทำให้กับวอลเปเปอร์ในครั้งล่าสุด รวมไปถึงภาษาไทยที่ออกแบบให้เข้ากับตัวละตินโดยคัดสรร ดีมาก จากบรรยายทั้งหมดของเขา ทำให้เราได้เห็นถึงการให้น้ำหนักกับขั้นตอนก่อนการออกแบบเป็นอย่างสูง และนี่คือวิธีการทำงานของนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จในวงการอีกหนึ่งคน

สันติ ลอรัชวี วิทยากรคนต่อมา เริ่มต้นด้วยการนิยามถึงเรื่องราวที่เขากำลังจะพูด ว่าเป็นเพียงสิ่งที่นักออกแบบคนหนึ่งได้พบเจอในช่วงระหว่างการสืบค้นข้อมูล (ในการทำวิจัยเกี่ยวกับความเป็นมาของหนังสือตั้งแต่สมัยอยุธยาจวบจนถึงปัจจุบัน) สิ่งที่เขาจะพูดในวันนี้ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ถูกสรุปอย่างเป็นทางการแล้วแต่อย่างใด คำพูดดังกล่าวเชื่อว่านอกจากจะทำให้เขาสบายใจที่จะนำเสนอแล้ว ยังส่งผลให้สิ่งที่เขาจะพูดกลับยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก การเรียนรู้เรื่องราวในอดีตผ่านมุมมองของนักประวัติศาสต์เป็นสิ่งที่หลายคนล้วนเคยมีประสบการณ์มาไม่น้อย หากแต่การเรียนรู้เรื่องราวในอดีตผ่านมุมมองของนักออกแบบไม่ใช่สิ่งที่จะหาได้ง่ายๆ ในประเทศไทย

เขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่ประสบในช่วงการเก็บข้อมูล ทำให้เขาพบว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงกับสิ่งที่เขากำลังค้นหา ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยที่ดีนัก เนื่องจากแทบไม่มีข้อมูลในอดีตที่ถูกจัดเก็บบันทึกไว้อย่างเป็นระบบแบบแผน เพื่ออำนวยความสะดวกในการกลับมาศึกษาจากผู้คนในปัจจุบันหรืออนาคต แต่กลับเป็นหน่วยงานเอกชน หรือในระดับปัจเจกบุคคลที่ต้องก้าวมาทำหน้าที่นั้นแทน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิด ระบบการจัดการ จนถึงการให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ในอดีตของบ้านเราได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามสันติบังเอิญได้พบกับห้องสมุดส่วนตัวของบุคคลที่เขารู้จัก ซึ่งได้มีการจัดเก็บหนังสือในอดีตจำนวนมหาศาล นี่ถือเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญ หากจะมีการสืบค้นวิวัฒนาการของหนังสือในประเทศไทย แต่ทันทีที่ก้าวเข้าสู่กองหลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนมหาศาลเหล่านั้นเขาก็พบว่า การเริ่มต้นสืบค้นในครั้งนี้ ไม่ใช่งานที่เขาจะลงมือทำได้ หากปราศจากความเข้าใจพื้นฐานถึงเรื่องอื่นที่มีความเกี่ยวโยงกันอยู่ เช่น ความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ เครื่องพิมพ์ตัวตะกั่ว เครื่องเรียงพิมพ์ฉายแสง ตัวอักษรลอก มาจนถึงตัวอักษรในช่วงเริ่มต้นของยุคดิจิตอล เขาตัดสินใจกลับไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์เบื้องต้น เพื่อทำความเข้าใจในลักษณะที่เป็นภาพรวมอย่างคร่าวๆ ก่อนที่จะกลับไปยังห้องสมุดแห่งนั้น และนี่คือที่มาของหัวข้อบรรยายชุดนี้

สันติเลือกใช้วิธีการนำเสนอข้อมูลด้วยการพาผู้ฟังย้อนอดีตไปร่วมสำรวจความเป็นมาของเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบ ตั้งแต่สมัยอยุธยาฯ ไล่มาจนถึงยุคปัจจุบัน ผ่านเส้นแบ่งเวลาที่เขาสร้างขึ้น โดยจุดเริ่มต้นของเส้นแบ่งเวลา มีช่วงปีที่เขาเกิดเป็นจุดศูนย์กลาง ด้วยเหตุผลที่เขาเชื่อว่าวิธีตั้งต้นการทำงานใดๆก็ตาม ควรเริ่มจากจุดที่เรารู้จักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องพบเจอกับข้อมูลจำนวนมหาศาล จนทำให้ไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นจากตำแหน่งไหน ด้วยวิธีใด ยิ่งจำเป็นต้องอาศัยหลักยึดที่มั่นคงบรรยายของเขามีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของสภาพโครงสร้างสังคมไทยในอดีต รวมถึงการเข้ามามีบทบาทต่อการเกิดขึ้นของวิทยาการในการผลิตแบบตัวพิมพ์ไปจนถึงระบบการพิมพ์ในประเทศไทย โดยฝีมือของกลุ่มมิชชันนารีชาวตะวันตก (ที่เข้ามาโดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ศาสนา สิ่งนี้สะท้อนให้เราได้เรียนรู้ถึงวิธีคิดของชาวตะวันตก ซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ค้นหาวิธีในการสื่อสารก่อนที่จะถ่ายทอดวัฒนธรรมของตัวเองลงไป) จนถึงเทคโนโลยีของศตวรรษที่ 20 ที่ส่งอิทธิพลต่อวิทยาการการออกแบบของโลก อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของบรรยายชุดนี้คือ การศึกษาว่าอะไรที่นำไปสู่การตัดสินใจในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ เหตุที่ทำให้เกิดความจำเป็นที่ตัวพิมพ์ภาษาไทยต้องมีทั้ง ตัวหนา ตัวเอียง จากการศึกษาของสันติพบว่าเกิดจากปัจจัยความต้องการภายใน และความจำเป็นจริงในการออกแบบและจัดทำหนังสือภาษาไทยเอง มากกว่าการทำให้เกิดขึ้นเพียงเพื่อให้สอดรับกับตัวพิมพ์ละติน

ตลอดการบรรยายสันติเล่าเปรียบเทียบประวัติศาสตร์การออกแบบไทย สลับกับเหตุการณ์ความเป็นไปในช่วงเวลาเดียวกันกับโลกฝั่งตะวันตก เพื่อเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ด้านการออกแบบของโลกในภาพรวม ทั้งยังโยงไปถึงเรื่องราวจากประสบการณ์ในอดีตของเขา เพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเนื้อหาที่กำลังนำเสนอเป็นการเล่าจากเพื่อนสู่เพื่อน และไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวนัก นี่คือชั้นเชิงในการเล่าเรื่องซึ่งทำให้การบรรยายชุดนี้น่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบโดยที่ผู้ฟังไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดซับซ้อนเกินไป ในช่วงท้ายของการบรรยาย เขาได้พูดถึงช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเขาว่า “ดูคล้ายกับช่วงเวลาราวเที่ยงคืนของทุกวัน ที่วันนี้กำลังจะเป็นพรุ่งนี้… พรุ่งนี้จะกลายเป็นวันนี้…และวันนี้จะกลายเป็นเมื่อวาน” และยังฝากข้อคิดที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งมีลักษณะเป็นคำถามแฝงไว้กับผู้ฟังว่า “การเดินไปข้างหน้า… ด้วยการทำความเข้าใจเบื้องหลัง… ที่เต็มไปด้วยพื้นฐานแห่งยุคสมัย อาจทำให้เราเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร… และเราจะมีท่าทีต่อสิ่งที่เราทำอย่างไร…” สุดท้ายก่อนเอ่ยคำลาและลงจากเวที เขาได้สอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ของคำกล่าวทักทายเอาไว้ได้อย่างคมคายและแยบยลผ่านคำพูดที่ออกเสียงว่า “สวัสดีครับ”

เรียวอิจิ ซึเนกาว่า วิทยากรคนที่สามของวัน นักออกแบบชาวญี่ปุ่น ผู้หลงใหลในวัฒนธรรมพื้นเมือง เปิดประเด็นการบรรยายด้วยการตั้งคำถามถึงการออกแบบที่อยู่บนระนาบมาตรฐานความเป็นสากล (Universal design) เขาให้ความหมายของคำว่า Universal design ในที่นี้ผ่านมุมมองของตัวเองว่า คือการออกแบบที่มีรูปแบบลักษณะของยุคโมเดิร์น หรือที่คุ้นเคยกันดีว่า Swiss design การใช้แบบตัวอักษรสำเร็จรูปในการออกแบบ ไม่สามารถที่จะแสดงถึงวัฒนธรรมเฉพาะของท้องถิ่น เขาไม่เชื่อว่าแบบตัวอักษรประเภทที่มีความเป็น universal type design อย่าง Helvetica จะสามารถทำหน้าที่ครอบคลุมถึงประเด็นดังกล่าวได้อย่างดีพอ ตรงกันข้ามเขากลับสนใจการออกแบบของท้องถิ่น ที่ไม่อิงกับตำราและแบบแผน แรงบันดาลใจจากศิลปินนิรนามที่สร้างงานจากความรู้สึกมากกว่าวิธีการที่อิงกับระบบการศึกษา สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเชื่อของเขาได้เป็นอย่างดี การออกแบบตัวอักษรเฉพาะคำ คืออีกสิ่งที่เขานำเสนอโดยยกตัวอย่างผ่านงานออกแบบของเขาเอง ซึ่งได้มีการเขียนสคริปต์พิเศษเพื่อให้ตัวอักษรแสดงผลได้อย่างเหมาะสมกับวัฒนธรรมที่ตัวอักษรเข้าไปทำหน้าที่ในการสื่อสาร บรรยายชุดนี้ใช้เวลาไม่นานนักในการนำเสนอเนื้อหาทั้งหมด

ข้ามไปในส่วนของกิจกรรมเวิร์คช็อปของวันที่สอง ยังคงจัดขึ้นโดยใช้กำหนดการณ์เดียวกันกับเมื่อวาน คือเริ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ขนานไปกับการบรรยายในภาคบ่ายของวิทยากรที่เหลือ สำหรับวันนี้มีกิจกรรมเวิร์คช็อปทั้งหมด 3 กลุ่ม

พอล บาร์นส์ ตั้งโจทย์สำหรับเวิร์คชอป กำหนดให้ผู้ร่วมกิจกรรมเลือกทีมฟุตบอลที่เขาเตรียมมา และออกแบบตัวอักษรบนเสื้อทีมโดยให้สะท้อนบุคลิกของความเป็นทีมนั้นๆ ก่อนลงมือออกแบบผู้ร่วมเวิร์คชอบจะต้องคุยกับเขาเพื่อรับทราบข้อมูลของทีมฟุตบอลแต่ละทีม จากการสังเกตพบว่าผู้ร่วมกิจกรรมในห้องเรียนนี้ดูจะสนุกสนานไปกับการเรียนรู้เรื่องการออกแบบในพื้นที่จำกัด โดยมีเงื่อนไขแวดล้อมที่มากกว่าหนึ่ง

เวิร์คชอปของเรียวอิจิ เปิดกว้างสำหรับคนทุกกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องเป็นนักออกแบบหรือมีความรู้ด้านการออกแบบตัวอักษรมาก่อน โจทย์ของเวิร์คชอปกลุ่มนี้ คือกำหนดให้ออกแบบ โลโก้ให้กับงาน BITS โดยการดึงวัฒนธรรมพื้นเมืองมาเป็นไอเดียในการออกแบบ เพื่อให้สะท้อนถึงความเป็นท้องถิ่นนั้น ทั้งหมดนี้เขาต้องการเน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้รับความรู้ผ่านประสบการณ์การทดลองการออกแบบด้วยตัวเอง

สันติเปิดห้องเรียนเพิ่มเติมส่วนขยายของบรรยายชุด “ขูดอดีต-ลอกความหลัง หนังสือไทย” ที่เจาะลึกอย่างละเอียดและย้อนอดีตแบบเข้มข้นตั้งแต่ความเป็นมาของหนังสือในสมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงรายละเอียดและขั้นตอนที่น่าสนใจในช่วงการเก็บข้อมูล โดยเวิร์คชอปนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมได้รับบทความความยาว 30 หน้าจากผู้บรรยายซึ่งไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อนเป็นที่ระลึก

กลับมาสู่บรรยากาศภายในห้องออดิทอเรียม หัวข้อการบรรยายชุดสุดท้ายโดย นิรุติ กรุสวนสมบัติ การบรรยายในช่วงแรกของเขา ว่าด้วยเรื่องของประวัติศาสตร์ความเป็นมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงยุคเสื่อมความนิยมลงของระบบการพิมพ์ Letterpress เขาเปรียบเทียบอุปกรณ์ต่างๆของเครื่องพิมพ์ Letterpress กับเทคโนโลยีของซอฟแวร์ด้านการออกแบบในปัจจุบันผ่านอารมณ์ขันได้อย่างน่าฟัง หลังแนะนำกลไกการทำงานของระบบการพิมพ์ เขาได้นำเสนอโปรเจคที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นประเด็นหลักของการบรรยาย โดยมีเนื้อหาคือการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งระหว่างโรงพิมพ์ และโรงหล่อตัวพิมพ์ (ในอดีตโรงพิมพ์ได้ทำหน้าที่หล่อตัวพิมพ์ด้วยเช่นกัน) โดยสถานะทั้งสองนั้นถูกแทนที่ด้วยเปิ๊ดสะก๊าด โรงพิมพ์ตัวตะกั่วของเขา และคัดสรร ดีมาก ไทป์ ฟาวดรี้ ซึ่งเปรียบเป็นโรงหล่อตัวพิมพ์ (ในบริบทปัจจุบันถือว่า ไทป์ ฟาวดรี้เป็นเจ้าของแบบตัวพิมพ์เช่นเดียวกับโรงหล่อตัวพิมพ์ในอดีต)

สำหรับแบบตัวอักษรที่ถูกเลือกมาใช้ในการทำงานครั้งนี้ พิจารณาขึ้นจากการที่ต้องนำไปผลิตเป็นบล๊อคตัวพิมพ์ขึ้นมาจริงๆ โป้งไม้ คือแบบตัวอักษรที่สอดรับกับเงื่อนไขข้างต้น กล่าวถึงโป้งไม้ ถือได้ว่าเป็นแบบตัวพิมพ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการพิมพ์ด้วยระบบ Letterpress ของบ้านเราในช่วง 8 ทศวรรษที่แล้ว และได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงเวลาดังกล่าว หน้าที่ในส่วนของการปรับปรุงแบบตัวพิมพ์เป็นฝีมือของ สมิชฌน์ สมันเลาะ ภายใต้การดูแลของอนุทิน วงศ์สรรคกร สองนักออกแบบตัวอักษรจากคัดสรร ดีมาก

หลักคิดในการนำโป้งไม้กลับมาปรับปรุง คือการวิเคราะห์ระบบคิดเดิมของโป้งไม้ แล้วแทนที่ด้วยวิธีคิดและเทคโนโลยีของการออกแบบตัวอักษรในยุคปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า หากโป้งไม้ยังมีชีวิต หรือมีลูกหลานอยู่ในปัจจุบัน ย่อมต้องผูกติดอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี การออกแบบ การอ่าน แล้วรูปร่างหน้าตาของโป้งไม้จะเปลี่ยนไปอย่างไร โป้งไม้ที่ผ่านวิธีคิดดังกล่าวสำเร็จออกมาภายใต้ชื่อใหม่ว่า “เจริญใจ” โดยมีลักษณะโครงสร้างที่คิดเป็นชิ้นส่วนมาประกอบกันของเส้นและส่วนโค้ง (Modular system) ซึ่งเป็นวิธีคิดพื้นฐานในการออกแบบตัวอักษรไทยยุคปัจจุบัน

เมื่อได้แบบตัวพิมพ์ที่ออกแบบเสร็จเรียบร้อย เขาได้เล่าถึงการนำแบบตัวพิมพ์ไปผลิตเป็นบล๊อคตัวพิมพ์ และวัสดุที่ถูกเลือกสำหรับการผลิตคือไม้ เราจึงเรียกแบบตัวพิมพ์ในลักษณะดังนี้ว่า “ตัวพิมพ์แกะไม้” การตามหาช่างแกะไม้ที่มีความสามารถพอในการที่จะรักษาเจตนาของแบบไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด คืออีกขั้นตอนที่เป็นอุปสรรค แต่อย่างไรก็ตามเขาใช้เวลาไม่นานนักในการตามหา นิรุติจบการบรรยายด้วยการนำเสนอใบปิด ที่ได้จากการพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์แกะไม้ “เจริญใจ” ผ่านเครื่องพิมพ์ Letterpress จากโรงพิมพ์ของเขา และทั้งหมดนี้คืออีกหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของแวดวงการออกแบบตัวอักษรและการพิมพ์ด้วยระบบ Letterpress ของประเทศไทย

หลังจบการบรรยายของวิทยากรลำดับสุดท้าย อนุทิน วงศ์สรรคกร ในฐานะผู้จัดงานและผู้ดำเนินรายการได้มีข่าวประกาศ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่มีความสำคัญต่อแวดวงอุตสาหกรรมตัวอักษร และการออกแบบในแขนงที่เกี่ยวข้อง นั่นคือการเกิดขึ้นของ TAB หรือ Typographic Association of Bangkok เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการออกแบบและจัดวางตัวอักษรแห่งประเทศไทย โดย TAB จะทำงานร่วมกับ ThaiGa ในการรับหน้าที่จัดงานสัมมนาอักขรศิลป์นานาชาติ กรุงเทพฯ (BITS) ครั้งต่อไป นั่นคือแผนงานคร่าวๆ ในตอนนี้ หลังเสร็จสิ้นการแจ้งข่าว อนุทินได้พูดคุยสรุปภาพรวมของงานในปีนี้กับผู้ฟังอย่างเป็นกันเอง พร้อมทั้งเปิดรับคำถาม ข้อสงสัย รวมไปถึงคำแนะนำในการจัดงานจากกลุ่มผู้ฟัง ไม่นานนักก็ถึงช่วงเวลาที่ต้องกล่าวคำขอบคุณและเอ่ยคำอำลาอย่างเป็นทางการ “จนกว่าจะพบกันใหม่” คือเสียงสุดท้ายที่อนุทินพูดผ่านไมค์โครโฟน แล้วงานทั้งหมดในปีนี้ก็ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์


ส่วนขยาย

ภาษาคือสิ่งที่บรรจุความคิดของมนุษย์ คือหนึ่งในสิ่งที่ผูกติดอยู่กับการมีชีวิตของมนุษย์อยู่ตลอดเวลา และมนุษย์ทุกคนล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของภาษา ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ เราไม่เคยหลุดพ้นจากวังวนที่แวดล้อมไปด้วยภาษา ในยามที่ไม่ได้พูด เราคิด แน่นอนว่าแม้แต่การคิดก็ยังต้องพึ่งพาภาษาในการดำเนินเรื่อง อาจมีแค่เพียงช่วงเวลาของการหลับที่ทำให้เราเป็นอิสระจากภาษาที่ใช้ แต่หากความฝันเกิดขึ้น ทุกอย่างก็วนเวียนกลับสู่สภาวะเดิม ภาษาไม่ใช่ความสามารถที่เกิดขึ้นได้เองโดยธรรมชาติ มันเกิดขึ้นเพราะเราจำเป็นต้องใช้ในการดำเนินชีวิต นั่นหมายความว่า มนุษย์ทุกคนเรียนรู้การใช้ภาษาไปพร้อมๆกับการมีชีวิตในทุกๆวัน และหากภาษามีความสำคัญถึงขนาดนี้ แล้วตัวอักษรซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนภาษาในระบบการเขียน ย่อมต้องมีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

กลับมาคิดในกรอบของโลกยุคปัจจุบัน ตัวอักษรในแต่ละภาษาต่างถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับเทคโนโลยี เพื่อรองรับยุคสมัยที่การสื่อสารทุกชนิดต่างร้องเรียกหาความเร็ว และวิธีที่จะสื่อสารได้อย่างรวดเร็วที่สุดวิธีหนึ่งคือการใช้ตัวอักษรเป็นเครื่องมือ เราทุกคนต่างรู้ดีว่าตัวอักษรดำรงอยู่ในฐานะสิ่งที่รับใช้ภาษา ทั้งสองอย่างคือสิ่งที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของมนุษย์ ทุกคนในโลกล้วนเข้าใจภาษาท้องถิ่นที่ตัวเองอาศัยอยู่ และมีจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจไปถึงภาษาหลักของโลก ความพยายามในการพัฒนาตัวอักษรเกิดขึ้นอย่างเป็นปรกติในประเทศที่มีความเจริญด้านการออกแบบ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการมองเห็นและเข้าใจถึงความสำคัญของคุณภาพในการสื่อสาร สำหรับประเทศไทยเอง เรามีงานสัมมนาอย่างเป็นรูปธรรมแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ให้กับสังคม โดยนำเสนอในเรื่องของอุตสาหกรรมการออกแบบตัวอักษรจากประเทศต่างๆ รวมไปถึงภาคการออกแบบตัวอักษรของบ้านเราเอง เหตุผลในการเกิดขึ้นก็เพื่อเสริมความเข้าใจ และสร้างมาตรฐานในการออกแบบตัวอักษรของไทยให้อยู่ในระดับสากล แต่ก่อนที่วัตถุประสงค์ดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือและการตอบสนองจากผู้คนในสังคม ให้เริ่มหันมาตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ ผมคงจะไม่ขยายความไปถึงประโยชน์ของการมีอยู่ของงาน BITS ไปมากกว่าที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แล้วพบกันใหม่ในปีหน้า สวัสดีครับ