ลงรายละเอียด สัมมนาอักขรศิลป์นานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 3 (ตอนที่ 2)

➜ เช้าวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2556 บริเวณชั้น 5, BACC คราคร่ำไปด้วยผู้เข้าร่วมงานสัมมนาฯ ที่เริ่มทยอยกันเดินทางมาถึงสถานที่จัดงานก่อนเวลาเล็กน้อย ทันทีที่มาถึงทุกคนไม่รอช้าที่จะลงทะเบียนเพื่อขอรับบัตรเข้างาน บ้างรับเฉพาะบัตร บ้างรับทั้งบัตรและเสื้อยืดซึ่งเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้ซื้อบัตรในช่วง Early Bird ส่วนผู้ที่เสร็จสิ้นขั้นตอนลงทะเบียนแล้ว ต่างยืนกระจายกันออกไปตามบริเวณทางเดินโดยรอบของห้องออดิทอเรียมเพื่อรอเวลางานเริ่ม ระหว่างนี้หากกวาดสายตามองบรรยากาศรอบๆงาน จะพบกับผู้คนซึ่งจับกลุ่มพูดคุยทักทายกันตามประสาเพื่อนร่วมอาชีพ บ้างก็กำลังทานของว่างที่ทีมงานจัดเตรียมเอาไว้ บ้างก็เดินชมผลงานศิลปะที่ติดตั้งอยู่ภายในบริเวณหอศิลป์ บ้างกำลังเลือกซื้อเสื้อยืดที่ออกแบบโดยวิทยากรของงาน ซึ่งดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายโดย Designiti พาร์ทเนอร์ที่ดูแลเรื่องของที่ระลึกเหมือนทุกๆปี เช่นเดียวกันกับ Asia Books ที่จัดบูธอยู่ถัดจาก Designiti เพื่อจำหน่ายหนังสือในราคาพิเศษ ทั้งสองบูธต่างได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอยู่เป็นระยะไม่ขาดสาย

ในช่วงก่อนที่งานจะเริ่มต้น ทีมงานทุกคนต่างวิ่งวุ่นอยู่บริเวณรอบนอกของห้องออดิทอเรียมในการเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้าย ชวนให้ผู้คนได้สะดุดตากับข้อความบนเสื้อยืดที่เป็นภาษาแสลงว่า “ฝุดๆ” ไล่เรียงทั้งหมด 6 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี (ภาษาจากประเทศของวิทยากรทุกคน) นับเป็นวิธีสื่อสารและทักทายกับผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้อย่างน่ารักและเป็นกันเอง

ทันทีที่ประตูห้องออดิทอเรียมเปิดขึ้น ทุกคนใช้เวลาไม่นานนักในการเลือกที่นั่งตามความพอใจ หลังบรรยากาศภายในห้องออดิทอเรียมอยู่ในความสงบ อนุทิน วงศ์สรรคกร ไม่รอช้าที่จะเดินออกมาบริเวณหน้าเวที เขารับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการร่วมกับ วีร์ วีรพร จาก conscious ที่ให้เกียรติมาร่วมดำเนินรายการเหมือนเช่นเคย หลังการกล่าวทักทายผู้ร่วมงานอย่างเป็นกันเองของผู้ดำเนินรายการทั้งสอง ก็ถึงคิวของประธานการจัดงาน ดร.มาร์ลา ชตูเคินแบร์ก (ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่แห่งประเทศไทย) และคุณโอภาส ลิมปิอังคนันต์ (นายกสมาคมนักออกแบบกราฟิกแห่งประเทศไทย) ร่วมกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ สิ้นเสียงคำกล่าวเปิดงานของประธานทั้งสอง พรีเซนท์เทชั่นแนะนำตัววิทยากรคนแรกก็ได้เริ่มขึ้น

วรทิตย์ เครือวาณิชกิจ วิทยากรคนแรกของวันก้าวขึ้นเวทีพร้อมแนะนำตัวสั้นๆ เขาเริ่มด้วยการพูดถึงการสำรวจความสนใจส่วนตัวในชีวิตประจำวัน ผ่านโซเชียลมีเดียที่ว่าด้วยการเล่าเรื่องด้วยภาพถ่ายอย่างอินสตราแกรม เขาจำแนกลักษณะของภาพถ่ายทั้งหมดในบัญชีอินสตราแกรมส่วนตัว โดยเลือกให้เนื้อหาของภาพถ่าย เป็นฐานในการจำแนกประเภทของภาพ สถิติทั้งหมดถูกสรุปออกมาและนำเสนอด้วยรูปแบบของการออกแบบสื่อสารเชิงข้อมูล (Information Graphic) สำหรับข้อมูลเชิงสถิติที่สรุปออกมามีทั้งที่คาดเดาได้ อย่างภาพถ่ายประจำวันของลูกชาย ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด ไปจนถึงสถิติที่ทำให้เขาต้องแปลกใจอย่างภาพถ่ายตัวหนังสือในบริบทต่างๆ ทั้งแบบที่เขาพบเจอทั่วไปในชีวิตประจำวันแล้วถ่ายเก็บไว้ หรือผ่านงานออกแบบของฟาร์มกรุ๊ปเองก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้เขาแปลกใจที่สุด คือภาพถ่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวอักษร ซึ่งมีจำนวนมากกว่าภาพถ่ายของเขาและภรรยาเสียอีก อย่างไรก็ตามสถิติของภาพถ่ายทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ตัวเขามีความสนใจเป็นอันดับต้นๆ หลังจากแสดงข้อมูลเชิงสถิติทั้งหมดที่รวบรวมมาเพื่อปูทางสู่หัวข้อการบรรยาย เขาได้พูดถึงงานของฟาร์มกรุ๊ปที่มีลักษณะการใช้ตัวอักษรเป็นองค์ประกอบหลักในการสื่อสาร ไล่ตั้งแต่งานในขนาดเล็กจนถึงใหญ่ อาทิ นามบัตรงานรีดีไซน์โลโก้ งานออกแบบอัตลักษณ์สำหรับนิทรรศการ งานออกแบบธีมของศูนย์การค้าสำหรับเทศกาลสำคัญต่างๆ ไปจนถึงงานออกแบบเฉพาะสภาพแวดล้อมที่มีการติดตั้งถาวร โดยผลงานที่กล่าวมาข้างต้น มีบางผลงานที่เขาออกแบบตัวอักษรขึ้นใหม่โดยเฉพาะเพื่อใช้ในงานนั้น สิ่งหนึ่งที่เขามักจะพบเจออยู่เสมอเมื่อปล่อยผลงานออกสู่สาธารณะ นั่นคือความคิดเห็นในเชิงลบต่อผลงาน ซึ่งเขาได้อธิบายไว้อย่างน่าฟังว่า เป็นเพราะการทำงานหนึ่งๆ แล้วได้ผลลัพธ์ออกมาไม่เป็นที่คุ้นชินของคนในวงกว้าง ก็จะต้องพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้อยู่เสมอ และวิธีการรับมือของเขาต่อสถานการณ์ดังกล่าว ไม่ใช่การเก็บความคิดเห็นเหล่านั้นมาบั่นทอนความตั้งใจในการทำงาน แต่เป็นการรับฟัง เรียนรู้ถึงความคิดเห็น และพร้อมที่จะอธิบายในสิ่งที่ทำเสมอ ช่วงท้ายของการบรรยาย เขาไม่ลืมที่จะสรุปถึงเหตุผลที่ทำให้เขามีความสนใจในศาสตร์ของตัวอักษรมาโดยตลอด เขาเชื่อว่าความสามารถในการสื่อสารด้วยตัวอักษรไม่ได้มีประสิทธิภาพน้อยไปกว่าการสื่อสารด้วยภาพแต่อย่างใด โดยเฉพาะงานที่มีพื้นที่มากพอให้ตัวอักษรได้แสดงความสามารถ ก่อนจะจบการบรรยาย เขาทิ้งท้ายด้วยการแนะนำผลงานการออกแบบตัวอักษรบางส่วนของเขาและทีม ซึ่งมีทั้งตัวอักษรไทยและลาติน โดยผลงานเหล่านี้จะถูกนำเสนอในช่วงปลายปี 2013 ภายใต้สังกัด Produce ไทป์ ฟาวดรี้ของเขาที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบตัวอักษรในเชิงธุรกิจของประเทศไทย

วิทยากรคนที่สอง โยเก้น ซีเบิร์ธ นำเสนอหัวข้อการบรรยายที่เน้นหนักในด้านการดำเนินธุรกิจกับฟอนต์ และการสร้างอัตลักษณ์องค์กร เขาพูดถึงการเกิดขึ้นและเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์องค์กรของ Corporate font ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงพลังในการสื่อสารด้วยตัวอักษร ที่นอกจากจะทำหน้าที่ห่อหุ้มข้อความที่ออกจากองค์กรแล้ว ตัวอักษรยังทำอีกหน้าที่หนึ่งไปด้วยเสมอ นั่นคือการสร้างภาพลักษณ์ที่แข็งแรงให้กับองค์กร สิ่งที่ทำให้องค์กรเป็นที่จดจำ ไม่ใช่แค่เพียงสัญลักษณ์ แต่รวมถึงบุคลิกของแบบตัวอักษรที่สวมทับความเป็นแบรนด์นั้นอยู่ เขาอธิบายเรื่องดังกล่าวโดยยกตัวอย่างถึงเรื่องการสร้างสัญลักษณ์ของแบรนด์ (โลโก้) ผ่านองค์ประกอบพื้นฐานทางกราฟิกดีไซน์อย่าง สีพื้นฐาน (แดง, น้ำเงิน, เหลือง, เขียว ฯลฯ) และรูปทรงพื้นฐาน (วงกลม วงรี สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม รูปดาว ฯลฯ) สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกหยิบยกมาใช้ และถูกจับจองจากแบรนด์ต่างๆ มากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ความต้องการให้สัญลักษณ์ของแบรนด์มีความเป็นเอกลักษณ์ และมีความสามารถในการฝังตัวเข้าไปอยู่ในความทรงจำของผู้คน ย่อมต้องอาศัยองค์ประกอบที่มีความเฉพาะมากขึ้น ตัวอักษรคือสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ และมีพื้นที่มากพอให้สามารถพัฒนาต่อไปได้ไม่สิ้นสุด ทั้งยังหลุดจากการถูกจับจองจากบรรดาแบรนด์ต่างๆ ได้ไม่ยาก จากประเด็นนี้เขาใช้ภาพในการอธิบายเสริม โดยยกตัวอย่างผ่านโลโก้ของ STARBUCKS เขาเลือกใช้สีเขียว และรูปทรงวงกลม ในการทดลองโน้วน้าวให้ผู้ฟังนึกถึงโลโก้ แน่นอนว่าลำพังสององค์ประกอบดังกล่าวย่อมไม่เพียงพอ เขาอธิบายเพิ่มว่าคนจะรับรู้ถึงโลโก้ STARBUCKS ได้ก็ต่อเมื่อมีตัวอักษรในรูปแบบเดียวกันกับโลโก้ของจริงเพิ่มเข้ามา, คำว่า TYPEFACE (ไม่ได้ใช้คำว่า STARBUCKS) ถูกเพิ่มเข้ามาเป็นองค์ประกอบที่สาม เพื่อประกอบเข้ากับฟอร์มวงกลมและสีเขียวทำให้ผู้ฟังนึกถึง STARBUCKS ได้โดยที่ไม่ต้องสะกดคำว่า “STARBUCKS” และยังไม่เห็นสัญลักษณ์นางเงือกด้วยซ้ำ เขาสรุปปรากฏการณ์ของเหตุการณ์นี้ไว้ว่า ตัวอักษรเปรียบเสมือน “กลิ่น” ของแบรนด์ ซึ่งก็สอดคล้องกันดีกับคำกล่าวของเอริค สปีคเกอมานน์ ที่ว่า Typefaces are the invisible building blocks of brands. หรือแบบตัวอักษรเปรียบเสมือนรากฐานในการสร้างแบรนด์ ที่ต้องมีแต่มองไม่เห็น นอกจากนี้เขายังอธิบายถึงกลไกความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างหลักในการประกอบขึ้นเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ ดังนี้

(Corporate Culture) > (Corporate Philosophy)  >
(Corporate Behaviour, Corporate Communication, Corporate Design)  >
(Corporate Image)

ช่วงสุดท้ายของการบรรยายเขาพูดเสริมในส่วนของ Corporate font ที่จัดอยู่ในชั้นของ Corporate design ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนที่สำคัญที่สุดของการสร้าง Corporate identity ให้กับองค์กร และยังมีความเกี่ยวข้องกับนักออกแบบโดยตรง เนื้อหาของ Corporate font เขานำเสนอผ่านไดอะแกรมทรงพีระมิด ว่าด้วยเรื่องของวิธีการในการเกิดขึ้น ตั้งแต่การเลือกแบบตัวอักษรที่มีอยู่แล้วมากำหนดใช้กับองค์กร หรือการออกแบบตัวอักษรโดยตั้งต้นคิดจากลักษณะความเป็นองค์กรเพื่อสะท้อนบุคลิกขององค์กร ทั้งหมดนี้ช่วยปลดข้อสงสัยและเสริมความเข้าใจให้ผู้ฟังในเรื่องของอิทธิพลที่ Corporate font ส่งผลถึงภาพลักษณ์องค์กรได้เป็นอย่างดี

เข้าสู่การบรรยายในช่วงบ่ายกับ ลี ยองเจ วิทยากรชาวเกาหลีใต้ ที่พาผู้ฟังข้ามไปเรียนรู้เรื่องราวทางด้านอุตสาหกรรมการออกแบบตัวอักษรของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาตัวอักษรประจำชาติหลังสุดในภูมิภาคเอเชีย แต่กลับมีความสามารถ ในการวางแผนพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาเล่าถึงประวัติศาสตร์ของตัวอักษรเกาหลีแบบดั้งเดิม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากตัวอักษรจีน ส่งผลให้ตัวอักษรเกาหลีประกอบไปด้วยอักขระจำนวนมากเช่นเดียวกับตัวอักษรจีน จนในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคโลกสมัยใหม่ รัฐบาลเกาหลีใต้เองได้มีนโยบายในการพัฒนาวัฒนธรรมในทุกๆ ด้าน เพื่อแปรรูปวัฒนธรรมดั้งเดิมเหล่านั้น ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความร่วมสมัย และส่งออกวัฒนธรรมเหล่านั้นสู่นานาประเทศ ตัวอักษรฮันกึล (ตัวอักษรภาษาเกาหลี) คือหนึ่งในวัฒนธรรมแรกๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นพื้นฐานในการรองรับวัฒนธรรมด้านอื่น สิ่งที่ฮันกึลพัฒนาจากตัวอักษรจีนคือการลดจำนวนอักขระลง และกำหนดระบบการเขียนแบบใหม่ที่คิดขึ้นจากตัวอักษรฮันกึลเอง เพื่อที่จะแทนที่ระบบการเขียนภาษาเกาหลีแบบเดิมซึ่งใช้ตัวอักษรจีนเป็นเครื่องมือในการรองรับการเขียน ช่วงกลางของการบรรยายเขาได้พูดถึง การระดมทุนเพื่อร่วมพัฒนาตัวอักษรฮันกึลจากหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากอุตสาหกรรมตัวอักษรของเกาหลีไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร อีกทั้งยังประสบปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ฟอนต์ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ตัวอักษรฮันกึลขาดการพัฒนา อีกทั้งยังประสบปัญหาการขาดแคลนนักออกแบบที่คิดจะพัฒนาตัวอักษรฮันกึลอย่างจริงจัง เขาได้อธิบายถึงหลักการและระบบการออกแบบตัวอักษรฮันกึล ว่ามีพื้นฐานแนวคิดมาจากการประกอบกันของเส้นและส่วนโค้ง หรือที่เรียกกันว่า modular system ซึ่งระบบคิดดังกล่าวส่งผลให้ตัวอักษรฮันกึล มีรูปทรงที่เรียบง่าย และสมสัดส่วน จนเกิดเป็นการเขียนในลักษณะที่เป็นเรขาคณิต ช่วงท้ายของการบรรยาย เขาได้พูดเสริมในส่วนของลักษณะเชิงกายภาพที่ดีของโครงสร้างตัวอักษรฮันกึลว่า ทุกชิ้นส่วนต้องมีลักษณะที่ถูกดึงดูดเข้าสู่จุดศูนย์กลางให้เกิดเป็นความสมดุล รวมไปถึงเรื่องของการจัดวางตัวอักษรฮันกึล ทั้งแนวราบจากซ้ายไปขวา และแนวดิ่งจากบนลงล่าง จากการใช้งานได้สองลักษณะ ทำให้นักออกแบบต้องคำนึงถึง Baseline ของการจัดวางทั้งสองทิศทางเสมอ เขาทิ้งท้ายไว้ด้วยการนำเสนอผลงานพัฒนาตัวอักษรฮันกึลที่เลียนแบบวิธีการเขียนอันเกิดจากพู่กันของตัวอักษรจีน แต่ยังถูกกำหนดให้อยู่ในลักษณะของความเป็นเรขาคณิต ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของตัวอักษรฮันกึลอย่างแท้จริง

เมื่อพูดถึงประเทศเพื่อนบ้านรอบๆประเทศไทย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านที่น้อยมากเหตุผลข้างต้นจึงเป็นที่มาของการเชิญวิทยากรจากมาเลเซีย ฮุย เซี้ย ยิน และแทน ซุย ลี ตัวแทนจากกลุ่มไทโปคากิ ขึ้นเวทีเป็นวิทยากรลำดับสุดท้ายของงานวันนี้ พวกเธอเริ่มจากการอธิบายถึงความเป็นมาของประเทศมาเลเชีย จากอิทธิพลแวดล้อมที่หลากหลายในอดีต ประกอบกับการหลอมรวมผู้คนหลายเชื้อชาติเข้าด้วยกัน ส่งผลให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่หลากหลาย แน่นอนว่าเรื่องของภาษาคือหนึ่งในนั้น ปัจจุบันมาเลเซียมีภาษาที่ใช้อยู่หลักๆ คือ อังกฤษ จีน ยาวี ทมิฬ และมลายู โดยเฉพาะภาษาจีน จากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีสถิติการใช้ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรเชื้อสายจีนในมาเลเซีย เราสามารถพบเห็นภาษาที่กล่าวมาข้างต้น ผ่านการสื่อสารในชีวิตประจำวันของชาวมาเลเซีย แต่สำหรับแนวโน้มการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในระดับองค์กร มีความเป็นไปได้ที่จะใช้เพียงแค่ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นไปตามยุคสมัยของการสื่อสารในโลกยุคปัจจุบัน

ความน่าสนใจของบรรยายชุดนี้อยู่ตรงที่พวกเธอได้อธิบายถึงสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ตัวอักษร (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนภาษาในระบบการเขียน) ในการสื่อสารข้อความที่มากกว่าสองภาษา โดยยกตัวอย่างผ่านป้ายในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะใช้เพียงแค่สองภาษา คือภาษาประจำชาติ และภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากล แต่ด้วยเงื่อนไขของมาเลเซียซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้มากกว่าสองภาษาในการสื่อสารกับผู้คนอยู่เสมอ เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น ส่งผลให้พื้นที่สำหรับสัญลักษณ์ในการสื่อสารถูกลดน้อยลงไป ภาระหน้าที่หลักในการสื่อสารจึงตกมาอยู่กับตัวอักษร จากกรณีดังกล่าวทำให้พวกเธอมีความสนใจที่จะทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบให้กับความแตกต่างของระบบการเขียนและการออกแบบตัวอักษร เพื่อสร้างมาตรฐานในการใช้ตัวอักษรจากภาษาต่างๆร่วมกันได้อย่างเหมาะสม ช่วงท้ายของการบรรยายพวกเธอได้เปรียบเทียบภาษากับอาหารประจำชาติของมาเลเซีย ซึ่งถูกปรุงขึ้นด้วยวัตถุดิบที่หลากหลายจากวัฒนธรรมต่างๆ แต่รสชาติที่ออกมากลับกลายเป็นจุดเด่น แน่นอนที่สุด พวกเธอหวังให้เหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับการใช้ตัวอักษรเช่นกัน อีกเรื่องที่มีความน่าสนใจพอให้ต้องพูดถึงคือคำถามจากผู้ฟังว่า หากในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกับคนแปลกหน้า ภาษาใดจะถูกพิจารณาเลือกใช้เป็นลำดับแรก พวกเธอตอบคำถามนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า การสังเกตบุคลิกคู่สนทนาคือคำตอบที่ดีที่สุด แต่หากไม่สามารถคาดเดาได้ ภาษาอังกฤษดูจะมีความเป็นทางการ และเป็นที่นิยมกว่าภาษาอื่น

บรรยากาศภายนอกห้องออดิทอเรียมบริเวณห้องรับรองชั้น 4 และชั้น 5 ของ BACC ได้มีการเริ่มกิจกรรมเวิร์คช็อปไปพร้อมกับการบรรยายในภาคบ่าย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับสายงานออกแบบ มีบ้างที่เป็นคนนอกสายงาน และไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านการออกแบบมาก่อน แต่สำหรับงานสัมมนาในครั้งนี้ การขาดพื้นฐานไม่ได้หมายความว่าจะหมดโอกาสในการเรียนรู้

โยเก้น เซเบิร์ธ เปิดเวิร์คช็อปในลักษณะที่เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจกับฟอนต์ เนื้อหาการพูดคุยครอบคลุมไปถึงเทคนิคการโน้มน้าวลูกค้าให้เข้าใจถึงความสำคัญของตัวอักษรประจำองค์กร ว่ามีผลต่อการสร้างธุรกิจหรืออัตลักษณ์องค์กรอย่างไร รวมถึงกลยุทธ์ การจำหน่ายและเผยแพร่ฟอนต์ของตัวดีไซเนอร์เอง นับว่าเป็นกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เปิดมุมมองถึงความเป็นไปได้ ในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจฟอนต์ของตัวเอง ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าภาคของการออกแบบ

ลี ยงเจ อธิบายถึงหลักการและระบบที่มาของการออกแบบตัวอักษรฮันกึลของเกาหลี ซึ่งมีพื้นฐานแนวคิดมาจากการประกอบกันของเส้นและส่วนโค้งใน modular system โดยเขากำหนดให้ผู้ร่วมกิจกรรมแกะสลักรูปทรงต่างๆ ลงบนยางลบ และนำมาประยุกต์ใช้โดยการปั๊มหมึกลงบนกระดาษ เพื่อสร้างเป็นรูปร่างตัวอักษรฮันกึล ในลักษณะที่สามารถมองเป็นฟอร์มกราฟิกได้ วิธีการดังกล่าวช่วยสร้างระบบการคิดในการใช้ modular system เป็นพื้นฐานในการออกแบบ ทำให้งานออกแบบตัวอักษร มีความสอดคล้องกลมกลืน สมสัดส่วน จากการคำนึงถึงเรื่องช่องว่าง ขนาด ตำแหน่ง และรูปร่างของตัวอักษร

กลุ่มไทโปคากิ เน้นในเรื่องของการฝึกทักษะการคิดและการออกแบบตัวอักษรที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย รูปแบบของกิจกรรม คือกำหนดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสำรวจและมองหาความเป็นไปได้ผ่านการออกแบบ logotype 3 ภาษา จากกลุ่มคำที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้เลือกมา โดยคำๆนั้นจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติและวัฒนธรรมแวดล้อมในพื้นที่อาศัยของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเอง