จุดกำเนิดการเรียนรู้

➜ “การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคมที่ผู้เรียนจะต้องลงมือปฏิบัติและสร้างองค์ความรู้ขึ้นด้วยตนเอง โดยมีพื้นฐานอยู่บนประสบการณ์หรือความรู้เดิม”

ประโยคข้างต้นเป็นคำกล่าวของ เจอร์โรม บรูเนอร์ (Jerome Bruner) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับทักษะในการเรียนรู้สิ่งต่างๆของมนุษย์ จนเกิดเป็นทฤษฎีที่มีชื่อว่า “Discovery Approach” หรือการเรียนรู้โดยการค้นพบ บรูเนอร์เชื่อว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์และอยู่ในบริบทของการเรียนรู้ เมื่อดำรงอยู่ในสภาวะดังกล่าวแล้ว ผู้เรียนจะเกิดแรงผลักดันจากบริบทรอบตัว ให้ทำการสำรวจสภาพแวดล้อมนั้นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบปัญหา และอาจรวมถึงวิธีแก้ปัญหา

แต่ก่อนจะไปถึงภาวะของการเรียนรู้ที่ว่า ยังมีอีกหนึ่งกระบวนการที่คั่นอยู่ก่อนหน้านั่นคือ การประเมินสิ่งๆหนึ่ง โดยอาศัยมุมมองที่ก่อตัวจากประสบการณ์เก่า หลายครั้งเรามักมองสิ่งที่เราเห็น (ในเงื่อนไขหรือมุมมองที่ไม่เคยมีประสบการณ์ร่วม) ด้วยสายตาที่มีโฟกัสแค่ระยะเดียว โฟกัสแค่ระยะเดียวก็ย่อมมองเห็นเพียงมิติเดียว เพียงเท่านี้ก็ทำให้การสรุปคำตอบหรือตั้งสมมติฐานคลาดเคลื่อนไกลออกไปจากความเป็นจริงโดยไม่รู้ตัว

ในที่นี้ผู้เขียนกำลังพูดถึงประสบการณ์ในการมอง และวิเคราะห์แบบตัวอักษรหนึ่งๆ แน่นอนว่ามันย่อมสะท้อนถึงวิธีคิดตั้งต้น และพื้นฐานการรับรู้ของตัวผู้มองที่มีต่อแบบตัวอักษร เป็นมุมมองของผู้ที่อยู่ภายใต้ภาวะแวดล้อมของแบบตัวอักษร หากแต่ก็อยู่ภายนอกของกระบวนการในการเกิดขึ้นของแบบตัวอักษร การประเมินระดับความยาก-ง่ายในการผลิตแบบอักษรขึ้นมา จึงเป็นเพียงการคิดในมิติของผู้พบเห็น

หลายสิ่งที่ดูเหมือนเกิดขึ้นมาง่ายๆ  กลับไม่ได้ให้ความรู้สึกเช่นนั้นในขณะที่เราพาตัวเองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ อาจเป็นเพราะสิ่งที่เราเห็นว่าง่ายได้ถูกกระบวนการกลั่นกรองเอาสิ่งที่ยากออกไปจนหมดสิ้นแล้ว หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นตัวกระบวนการเองที่เก็บซ่อนสิ่งที่ยากเอาไว้ในเปลือกที่ดูเหมือนง่าย เราจึงมักมองไม่ค่อยเห็นความยากด้วยตาเปล่า

กล่าวถึงแบบตัวอักษรที่ชื่อ สุขุมวิท เชื่อว่าหลายๆคนในแวดวงกราฟิกดีไซน์คงคุ้นหูกันเป็นอย่างดีในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานี้ ว่ากันตามความเป็นจริง ต้นแบบของสุขุมวิทเกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว โดยอยู่ภายใต้ชื่อ เอสเอ็มบี แอดวานซ์ ก่อนที่จะถูกเคลื่อนย้ายถ่ายโอนคอนเซปต์ เพื่อเขียนแบบขึ้นใหม่ ปรับปรุงลายเส้นและสัดส่วนความกว้างให้เกิดเป็นแบบตัวอักษรที่สอดรับกับยุคสมัยยิ่งขึ้น ภายใต้ชื่อใหม่ซึ่งถูกคิดขึ้นจากการเดินทางของแบบตัวอักษรในขั้นของการทำงานระหว่าง กรุงเทพฯ-ชลบุรี โดยมีถนนสุขุมวิทเป็นตัวเชื่อมระหว่างสองขั้นตอนของการทำงานเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ถนนสุขุมวิทจึงเปรียบเสมือนจุดกึ่งกลางการเกิดขึ้นของแบบตัวอักษร จนกลายมาเป็นชื่อของแบบตัวอักษรในท้ายที่สุด และการเดินทางก้าวต่อไปของสุขุมวิท คือการเกิดขึ้นของสมาชิกใหม่ภายใต้ครอบครัวเดิม “สุขุมวิท ดอท”

เหตุผลในการเกิดขึ้นของสุขุมวิท ดอท ?
ความต้องการที่จะใช้ฟอนต์ เทียบกับเวลาที่แลกไปในการผลิต ?
โอกาสที่แบบตัวอักษรถูกนำไปใช้จริง ?
สิ่งที่จะได้เรียนรู้จากการทำงาน ?
…ฯลฯ…

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังชุดคำถามข้างต้น คือการสำรวจลงไปในตลาดฟอนต์บ้านเรา แน่นอนว่าแบบตัวอักษรที่ถูกมองหาย่อมหนีไม่พ้นแบบตัวอักษรประเภทจุดเรียงตัว (ดอท) สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ความหลากหลายของแบบตัวอักษรไทยในลักษณะดอทมีจำนวนน้อยมาก หากมองในนิยามของความเป็นฟอนต์ เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียด จะพบว่าแบบตัวอักษรในลักษณะดอทที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไปไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในนิยามของคำว่าฟอนต์ หากแต่ถูกจัดอยู่ในหมวดเล็ทเทอริ่ง (ตัวอักษรประดิษฐ์เฉพาะคำ) เสียมากกว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ พอจะอนุมานได้ว่า คุณภาพของแบบตัวอักษรดอทที่มีอยู่ ไม่ตรงกับความต้องการของนักออกแบบ อย่างไรก็ตาม นี่จึงเป็นสาเหตุของการทำเล็ทเทอริ่งขึ้นมาแทน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีเลยทีเดียวที่ได้เห็นความพยายามในการประดิษฐ์แบบตัวอักษรเฉพาะเหล่านี้ขึ้นมาใช้งาน ในยุคที่แทบจะหางานเล็ทเทอริ่งไทยดูได้ยากเต็มที แต่หากมองถึงเรื่องคุณภาพของเล็ทเทอริ่งแล้วคำตอบที่ได้คงไม่ทำให้พึงพอใจนัก

การขยายขอบเขตความหลากหลายของแบบตัวอักษรไทยให้กว้างขึ้น เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักออกแบบตัวอักษรไทยควรคำนึงถึง ว่ากันตามจริงความต้องการใช้ฟอนต์ในสถานการณ์ต่างๆ ย่อมไมใช่แบบตัวอักษร ที่เป็นลักษณะใดลักษณะหนึ่งไปเสียทีเดียว แน่นอนว่าในบางสถานการณ์ยังมีความต้องการใช้ฟอนต์ในลักษณะดอท ความถี่ในการถูกเลือกใช้ อาจไม่สามารถเทียบได้กับแบบตัวอักษรสมัยใหม่ แต่เชื่อว่าอีกหนึ่งข้อดีที่ซ่อนอยู่ในการมีอยู่ของฟอนต์ดอทคือ ช่วยเพิ่มทางเลือก และขยายขอบเขตความหลากหลายของแบบตัวอักษรไทย ผลของการขยายขอบเขตความหลากหลายของแบบตัวอักษรไทย ยังคาบเกี่ยวไปถึงงานกราฟิกดีไซน์ที่สื่อสารโดยใช้ภาษาไทย อย่างที่นักออกแบบกราฟิกทุกคนทราบกันดี สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากพอที่จะสามารถกำหนดทิศทางของงานกราฟิกดีไซน์ได้ก็คือ แบบตัวอักษร หากจะพูดย่อยลงไปในรายละเอียด นั่นหมายถึง การเกิดความหลากหลายของแบบตัวอักษรไทย ย่อมส่งผลถึงรูปแบบของงานกราฟิกที่หลากหลายเช่นกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นในขั้นของการทำงาน สามารถสรุปได้ตามลำดับดังนี้

การย้อนกลับไปวิเคราะห์ สุขุมวิท เพื่อทำความเข้าใจกับแนวคิดของแบบตัวอักษร รวมถึงวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังโครงสร้างและสัดส่วนของตัวอักษร พื้นผิวของตัวอักษรเมื่อถูกนำมาพิมพ์ ไปจนถึงลักษณะการใช้งานของฟอนต์ในเลย์เอาท์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งขนาดที่แบบตัวอักษรแสดงผลได้เต็มประสิทธภาพ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างหลักในการกำหนด ลักษณะการเรียงตัวของจุด (ดอท) ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแสดงผลเพื่อการอ่านต่อไป

การกำหนดขนาดและระยะห่างของดอท ทั้งสองอย่างนี้สัมพันธ์อยู่กับลักษณะการนำไปใช้ ขนาดของตัวอักษรที่ใช้บ่อยขนาดเล็กสุดไปจนถึงใหญ่สุด ในกรณีของสุขุมวิท ดอท ได้คำนึงถึงขนาดของตัวอักษรที่เล็กที่สุด ที่ยังคงความสามารถในอ่านได้เป็นกรอบตั้งต้นในการกำหนดทั้งขนาดและระยะห่าง โดยทั้งสองอย่างนี้ ล้วนส่งผลถึงโครงสร้างและสัดส่วนของตัวอักษรนี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ หากขาดความรอบคอบในการคำนวณ แน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นปัญหาที่จะเกิดขึ้นโดยใช่เหตุ

ว่ากันถึงเรื่องการคำนวณหาระยะห่างระหว่างดอท ซึ่งในตัวซอฟแวร์เองก็มีเครื่องมือที่จะช่วยในการกำหนดระยะ หากแต่เราไม่สามารถกำหนดให้ระยะห่างระหว่างดอทเป็นตัวเลขที่ตายตัวได้ เนื่องจากตัวอักษรแต่ละตัวมีมวลที่ไม่เท่ากัน สิ่งที่พึงทำได้คือการมีตัวเลขของระยะห่างอย่างคร่าวๆ เป็นมาตรฐานอยู่ในใจ อย่างไรก็ตามเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการกำหนดระยะห่างของดอท หรือแม้กระทั่งในการออกแบบตัวอักษรคือ “สายตา” ไม่ใช่เครื่องมือในซอฟแวร์แต่อย่างใด

สัดส่วนของตัวอักษร เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการออกแบบตัวอักษร เพราะแบบตัวอักษรที่ดี ย่อมถูกประกอบสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่ถูกต้องเหมาะสมในส่วนของสุขุมวิท ดอท เนื่องจากมีแบบตัวอักษรต้นทาง สัดส่วนในที่นี้จึงถูกกำหนดมาแล้ว สิ่งที่สำคัญในชั้นนี้คือ การรักษาไว้ซึ่งสัดส่วนของแบบต้นทาง เพื่อคงเจตนาเดิมของแบบ ซึ่งจุดนี้ตัวนักออกแบบต้องมีความซื่อสัตย์กับแบบต้นทางอย่างสูง อาจมีกรณีพิเศษที่จำเป็นต้องทำให้ต่างจากแบบต้นทางแต่ก็เพื่อรักษาความสามารถในการอ่าน ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะแก้ไขสัดส่วนหรือรายละเอียดเล็กๆน้อย ที่ต่างไปจากแบบต้นทางต้องตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผลที่จะปรับเปลี่ยน และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบคิดของแบบตัวอักษรในระดับที่มากเกินไป

พื้นผิวของตัวอักษร เป็นเรื่องปลายทางที่ถูกคิดมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือพื้นผิวของแบบตัวอักษรคือหนึ่งในสิ่งที่ยืนยันถึงความเป็นแบบตัวอักษรเดิมในเปลือกที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ หากสามารถรักษาสัดส่วนเดิมของแบบไว้ได้เพียงพอ (ตั้งแต่การกำหนดโครงสร้างและสัดส่วนของตัวอักษรแต่ละตัว) การจะได้พื้นผิวแบบเดียวกับตัวต้นทาง ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นผลตามกันมาโดยอัติโนมัติ

การบันทึกปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน เพื่อท้ายที่สุดแล้วจะสามารถหาข้อตกลงร่วมในการแก้ปัญหา แน่นอนว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานล้วนตั้งอยู่บนเงื่อนไขเดียวกัน หากมีการบันทึกแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น เราสามารถที่จะย้อนกลับมาทำความเข้าใจกับปัญหาในภาพรวม เพื่อสร้างวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ร่วมกัน หรือวิธีแก้ปัญหาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานวิธีคิดเดียวกัน ส่งผลให้แบบตัวอักษรทั้งชุดสามารถคงไว้ซึ่งวิธีคิดไปจนถึงวิธีแก้ปัญหา ที่อยู่บนระนาบเดียวกันได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เพียงวิธีแก้ปัญหาเดียวจะสามารถใช้กับทุกปัญหาที่เกิดขึ้นได้ (ลองนึกภาพว่าหนึ่งคำตอบ ไม่สามารถที่จะใช้ตอบทุกคำถามได้) แน่นอนว่าในบางสถานการณ์ก็ไม่สามารถใช้วิธีแก้ปัญหา ร่วมกันกับปัญหาอื่น เมื่อเกิดเหตุการในลักษณะนี้ การพิจารณาตามหน้างานย่อมเป็นสิ่งที่สามารถทำได้โดยชอบธรรม ทั้งนี้ทั้งนั้นการตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาที่ต่างออกไป ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าในในแบบตัวอักษรที่เพียงพอ

ความใส่ใจในรายละเอียด คือสิ่งที่จะเสริมถึงการทำงานอย่างมืออาชีพ แน่นอนว่าแบบตัวอักษรเมื่อพ้นมือของนักออกแบบตัวอักษรไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการของนักออกแบบกราฟิก แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น สิ่งที่นักออกแบบตัวอักษรทำได้คือ การจัดการกับปัญหาทุกอย่างที่คาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นในขั้นของการใช้งานซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และทักษะในการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างสูง

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เพียงเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า การเรียนรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างแท้จริง ย่อมต้องเกิดจากการลงมือปฏิบัติ “Learning by Doing” คือหลักปรัชญาอันโด่งดังของ จอห์น ดูอี  (John Dewey) นักจิตวิทยาและนักปรัชญาทางการศึกษาชื่อดังชาวอเมริกัน หากกล่าวถึงหลักปรัชญาดังกล่าว ผู้เขียนพอจะสรุปสั้นๆ ผ่านความเห็นส่วนตัวได้ว่า ในการเรียนรู้สิ่งๆหนึ่งของมนุษย์ย่อมต้องอาศัยจุดกำเนิดที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ และจุดกำเนิดดังกล่าว ผู้เขียนเชื่อว่าหมายถึง การลงมือทำ การพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาวะของการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติ สำรวจโครงสร้างและชิ้นส่วนยิบย่อยต่างๆ ด้วยความเข้าใจที่ว่า ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วประกอบกันขึ้นเป็น สิ่งที่เรากำลังเรียนรู้

จะเห็นได้ว่า การเรียนด้วยประสบการณ์มีประโยชน์มาก เพราะต้องอาศัยการบริหารภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติไปพร้อมๆ กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องของการเรียนสัดส่วนของตัวอักษรด้วยวิธีศึกษาดอท จึงเป็นการเรียนแบบลัดเชิงบังคับ เพื่อให้ได้เข้าใกล้และเลียนแบบการตัดสินใจในสัดส่วนต่างๆ ของตัวอักษรแต่ละตัว สำหรับสาระสำคัญของการออกแบบตัวอักษรในรูปลักษณ์ใหม่ซึ่งถูกกำกับไว้ด้วยคอนเสปต์และวิธีคิดเดิม สามารถสรุปได้ดังนี้

แบบต้นทางต้องได้มาตรฐาน
มาตรฐานในที่นี้ อาจถูกกำหนดขึ้นจากหลักการพื้นฐานง่ายๆ ซึ่งสามารถอ้างอิงได้จากทฤษฏีทางการออกแบบทั่วไป เช่น การขึ้นรูปตัวอักษรอย่างถูกต้อง การวาดเส้นเอาท์ไลน์  การกำหนดโครงสร้างและสัดส่วนของตัวอักษร ฯลฯ ในกรณีของการทำงานโดยที่มีแบบตัวอักษรต้นทาง แบบตัวอักษรที่ตามมาย่อมต้องยึดโยงมาตรฐานเดียวกัน เช่นนั้นแล้วหากแบบต้นทางไม่ได้มาตรฐาน แบบปลายทางที่เกิดขึ้นต่อมาจะดีได้อย่างไร

การเคลื่อนย้ายเจตนาเดิมของแบบตัวอักษร สู่รูปแบบที่เปลี่ยนไป
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การทำงานในโจทย์นี้ เป็นการเพิ่มรูปแบบความหลากหลายของแบบตัวอักษรเดิม ด้วยการสร้างรูปลักษณ์อีกแบบของตัวอักษรขึ้นมาใหม่ โดยใช้ตรรกะเดียวกันกับแบบต้นทาง ด้วยเหตุนี้แล้วสิ่งสำคัญที่สุดของการทำงานบนเงื่อนไขนี้ ย่อมเป็นการเก็บรักษาเจตนาเดิมของแบบไว้พร้อมทั้งถ่ายทอดเจตนาเหล่านี้ สู่รูปแบบใหม่ของตัวอักษรอย่างถูกต้อง และครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด

การจะเก็บเจตนาเดิมของแบบเอาไว้ได้ ต้องอาศัยทักษะในการวิเคราะห์ และทำความเข้าใจกับแบบต้นทางอย่างทะลุปรุโปร่ง ความเข้าใจในโครงสร้างและสัดส่วนของตัวต้นทาง แสดงออกผ่านทางการกำหนดโครงสร้างและสัดส่วนของแบบตัวอักษร

การถูกกำกับไว้ด้วยชุดความคิดเดิม ไม่ได้กินความถึงการต้องยึดรายละเอียดตามแบบเดิมทั้งหมด แต่ควรพิจารณาแบบเป็นรายตัวด้วยความเข้าใจในภาพรวมของแบบตัวอักษรทั้งหมด แบบตัวอักษรในชุดเดียวกัน ใช้วิธีคิดเดียวกัน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาเหมือนกัน 100% เพียงแต่แบบที่เกิดขึ้นใหม่ ต้องสะท้อนวิธีคิดบางอย่างที่สามารถเชื่อมโยงกลับไปถึงที่มาได้ หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด อาจกล่าวได้ว่า แบบตัวอักษรในชุดเดียวกัน อยู่ในนิยามของความเป็นพี่น้อง ไม่ใช่ฝาแฝดแต่อย่างใด

การทำงานอย่างมืออาชีพ
ความเป็นมืออาชีพ เกิดขึ้นจากองค์ประกอบเล็กๆ ทว่าจำนวนมากประกอบกันเป็นภาพใหญ่ การใส่ใจในทุกรายละเอียดของการทำงาน ตั้งแต่การทำความเข้าใจถึงตรรกะของโครงสร้างตัวอักษรแต่ละตัวไปจนถึงการปรากฏขึ้นของพื้นผิวโดยรวมของแบบตัวอักษร ความรอบคอบที่กินความเกินกว่าเรื่องของการออกแบบตัวอักษร เช่น การออกแบบระยะห่างระหว่างคู่อักษรไปจนถึงระยะห่างระหว่างตัวอักษรโดยรวม บริบทรอบตัวของงานออกแบบ สภาพแวดล้อมที่แบบตัวอักษรต้องไปปรากฏ ขนาดของตัวอักษรที่ถูกเลือกใช้บ่อยล้วนต้องถูกคิดมาตั้งแต่ต้นของการทำงาน

แม้กระทั่งผู้ที่ต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมของแบบตัวอักษร จะเกิดปฎิสัมพันธ์กับแบบอักษรได้ลักษณะเช่นไรเป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ คุณสมบัติทางการอ่านของแบบอักษรเมื่อต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของเวลาที่จำกัด

การให้เวลาสำหรับการคิดวิเคราะห์ ทำความเข้าใจกับตรรกะของโจทย์อย่างทะลุปรุโปร่ง ก่อนเริ่มทำงานทำให้สามารถคาดการณ์ปัญหาที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น โดยอาศัยวิธีการมองผ่านประสบการณ์พร้อมทั้งเตรียมทางเลือกในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้หากไม่ใช่นักออกแบบเอง คงไม่มีทางรับรู้ได้เลย

จะเห็นได้ว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เพียงต้องการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการค้นหาจุดกำเนิดการเรียนรู้ Discovery Approach จะเป็นทฤษฏีที่เป็นจริงก็ต่อเมื่อเราสร้างบริบทของการเรียนรู้ขึ้นมา หรือพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์นั้นเพื่อค้นหาบางสิ่ง การค้นพบจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อออกตามหา เช่นเดียวกัน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อลงมือทำ