คิด เห็น เป็น เฮลเวทิก้า ไทย

➜ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบของตัวอักษรเกิดขึ้นอยู่เสมอเป็นไปตามปัจจัยหลากหลายด้าน ปัจจัยหลากลักษณะล้วนควบรวมผ่านระยะเวลาจนเกิดเป็นวิวัฒนาการ นำมาซึ่งการพัฒนาของตัวอักษรไปในหลากหลายมิติ ส่งผลต่อรูปแบบและแนวคิดเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานในวงการการออกแบบที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย หนึ่งในนั้นคือการมองหาแนวคิดของความเรียบง่าย รูปแบบที่เป็นกลางพอที่จะสามารถกลมกลืนไปได้ในหลากหลายชุดความคิด

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสงครามเย็น โมเดิร์นนิสและการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน  เฮลเวทิก้า ตัวอักษรลาตินในตระกูลไร้เชิงฐาน ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนการแปรเปลี่ยนไปของสังคมที่กำลังจะก้าวไปสู่ยุคใหม่ มันถูกออกแบบให้สามารถนำไปใช้งานสื่อสารที่เรียบง่าย ชัดเจน มีความเป็นกลาง เฮลเวทิก้าได้รับความนิยมนำไปใช้งานอย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ผ่านระยะเวลามากว่า ๕๐ ปี ของการรับใช้การสื่อสารและการออกแบบในรูปแบบต่างๆ ความนิยมเหล่านี้ส่งผลให้มีความพยายามพัฒนาแตกแขนงเฮลเวทิก้าออกไปยังภาษาอื่นๆ เพื่อให้ตอบสนองกับวัฒนธรรมการใช้ตัวอักษรของชนชาตินั้นๆ ได้อย่างกลมกลืนกับต้นฉบับของเฮลเวทิก้ามากที่สุด

การจะพัฒนารูปแบบของเฮลเวทิก้าในภาษาของแต่ละชาตินั้น เนื่องจากเป็นแบบตัวอักษรที่ได้รับความนิยมอย่างสูง จำเป็นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากไลโนไทป์ (Linotype) ต้นสังกัดของเฮลเวทิก้าเสียก่อน เพื่อพิจารณาความสมบูรณ์ของแบบตัวอักษรในภาษานั้นๆ ผ่านการตีความตามครรลองของภาษาและแนวคิดเดิมของเฮลเวทิก้าให้เกิดความสมดุลกลมกลืนกับตัวอักษรลาตินของเฮลเวทิก้ามากที่สุด ดังนั้นการใช้งานควบคู่กันระหว่างตัวอักษรลาตินของเฮลเวทิก้าและภาษาของชาติ จะต้องยึดถือความเข้ากันได้ทั้งรูปแบบทางโครงสร้างและแนวคิดของความเรียบง่าย

หากจะลองย้อนกลับไปพิจารณาเฮลเวทิก้าที่ควบคู่ไปกับบริบทภาษาไทย จริงๆ แล้ว เฮลเวทิก้าถูกใช้งานผ่านยุคสมัยต่างๆ ในสังคมไทยมาอย่างยาวนานตามการเปลี่ยนแปลงของโลกตะวันตก และการนำภาษาอังกฤษเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาของรูปแบบตัวอักษรไทยไปในหลากหลายมิติซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบตัวอักษรไทยในปัจจุบัน ในวันนี้หากหันกลับมามองเฮลเวทิก้ากับภาษาไทย ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งเมื่อทาง ไลโนไทป์ ให้ความสนใจที่จะพัฒนาเฮลเวทิก้าในรูปแบบภาษาไทยเพื่อบรรจุอยู่ในชุดเฮลเวทิก้าเวิลด์ ความเป็นเฮลเวทิก้าจะต้องถูกถ่ายทอดออกมาเพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุดทั้งจากแนวคิดรูปแบบ ตลอดจนวัฒนธรรมการใช้งานของภาษาไทย โดยกระบวนการทั้งหลายล้วนต้อง ผ่านการคิด และเห็น จนกลายมาเป็นเฮลเวทิก้าในรูปแบบของตัวอักษรไทย

คิด…

หากคิดย้อนกลับไปเมื่อเราเริ่มจำความได้ รูปแบบตัวอักษรไทยที่เราเคยชินกันมากที่สุดคือ ตัวอักษรไทยแบบมีหัวกลม ตามข้อกำหนดของราชบัณฑิตยสถาน เราจดจำมันได้เพราะเราอ่านตัวอักษรลักษณะอุดมคติมาตั้งแต่หัดเขียน ก ถึง ฮ เราจดจำมันได้จากแบบเรียนในสถานศึกษาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง เราเคยชิน เราอ่าน เราเห็นตัวอักษรไทยที่มีหัวกลม จนกลายเป็นสิ่งที่สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ว่าตัวอักษรในลักษณะนี้อ่านได้ง่าย สื่อสารได้ดีต่อคนไทยทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคใหม่ส่งผลให้เกิดความต้องการในการสื่อสารที่ละเอียดอ่อนและหลากหลายมากขึ้น มีความเป็นไปได้ว่าการใช้งานของตัวอักษรไทยแบบไม่มีหัวกลมและตัวอักษรลาตินดูจะมีโอกาสสร้างความเชื่อมโยงกันได้ง่ายกว่าตัวอักษรไทยแบบมีหัวกลม ด้วยลักษณะทางกายภาพที่ถูกออกแบบให้มีความใกล้เคียงกันที่สุด ก่อให้เกิดชุดความคิดที่แบ่งออกเป็นสองขั้วคือความร่วมสมัยและอนุรักษ์นิยม ตามมาด้วยการกำหนดให้รูปแบบของการใช้งานตัวอักษรไทยเป็นไปตามความเข้าใจและอยู่ในกรอบจารีตของความเคยชิน ผสมผสานกับความร่วมสมัยตามบริบทของสังคมยุคใหม่ จนเกิดเป็นข้อพึงปฏิบัติที่ว่า ตัวอักษรไทยไม่มีหัวเหมาะสำหรับใช้พาดหัว ส่วนเนื้อความต้องเป็นแบบหัวกลมเท่านั้น

ใช้เวลาราวทศวรรษ ตัวอักษรไทยแบบไม่มีหัวกลมค่อยๆ แทรกซึมให้คุ้นเคยกันมากขึ้น สุดท้ายแล้วตัวอักษรไทยทุกวันนี้ เรื่องมีหัวหรือไม่นั้นกลับไม่ใช่สาระสำคัญมากนักอย่างที่เคย ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เราถูกแวดล้อมด้วยตัวอักษรภาษาไทยแบบไม่มีหัวกลม หลายคนอาจไม่ทันสังเกตปรากฏการณ์นี้ที่เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนว่ายุคสมัยได้ทยอยผลัดเปลี่ยนไปแล้ว น่าสังเกตว่าบนหน้าโฆษณา ฉลากสินค้า ป้ายบอกทาง หรือตัวเนื้อความในนิตยสารบางฉบับ มีการใช้งานร่วมกันระหว่างตัวอักษรไทยแบบมีหัวและไม่มีหัวอย่างกลมกลืนจนกลายเป็นเรื่องปกติ จำนวนตัวอย่างไม่น้อยโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์สมัยใหม่ อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนใจความว่าตัวอักษรไทยไม่มีหัวกลมถูกเลือกมาจัดการบนเลย์เอาท์ควบคู่กับตัวอักษรลาตินเพราะความทันสมัย และง่ายกว่าในการจัดการตัวอักษร เป็นไปได้ว่านักออกแบบอาจเริ่มมองเห็นว่าตัวอักษรหัวกลมมีข้อจำกัดต่องานออกแบบในรูปแบบเลย์เอ้าท์สมัยใหม่ที่จะทำให้ดูกลมกลืนไปกับตัวอักษรลาตินอยู่บ้าง

อีกข้อเท็จจริงคือ คนไทยนั้นมีวิวัฒนาการการอ่านหรือการรับรู้ตัวอักษรได้เร็วมากหากเปรียบเทียบกันระหว่างระยะเวลาตั้งแต่อดีตและความสามารถในการอ่านที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกวันนี้เราสามารถอ่านตัวอักษรแบบไม่มีหัวได้ดีขึ้น หากมองถึงรูปแบบของตัวอักษรไทยแล้ว รูปร่างหน้าตาของตัวอักษรไทยแบบมีหัวกลมและไม่มีหัวกลมถูกแยกประเภทรูปแบบออกจากกันโดยสิ้นเชิง จุดนี้เองที่ทำให้การพัฒนารูปแบบตัวอักษรไทยสามารถตอบสนองกับรูปแบบตัวอักษรลาตินได้ดีหากเปรียบเทียบกับภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวอักษรลาติน

การเกิดขึ้นของเฮลเวทิก้าเวอร์ชั่นภาษาไทย นับว่าเกิดในจังหวะเวลาที่พอเหมาะพอดี เป็นช่วงเวลาที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับตัวอักษรแบบไม่มีหัวกลม และได้อยู่ร่วมกับมันมาในชีวิตประจำวันเป็นระยะเวลาพอสมควร จึงสามารถเปิดประตูรับได้สะดวกใจ สำหรับเฮลเวทิก้าไทยแล้วแนวคิดทางการออกแบบจำเป็นต้องใกล้เคียงกับความเป็นเฮลเวทิก้าแบบลาตินมากที่สุด แนวคิดของความเรียบง่าย เป็นกลาง ถูกนำมาเป็นประเด็นหลักที่ต้องคำนึงถึงมากกว่ารูปแบบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อแนวคิดนี้สามารถส่งผ่านออกมายังรูปแบบของตัวอักษรไทยจึงทำให้เฮลเวทิก้าไทยสามารถกลมกลืนไปกับรูปแบบของเฮลเวทิก้าฉบับต้นแบบได้อย่างลงตัว

เห็น…

ย้อนกลับไปในช่วง 30 ปีที่แล้ว เมื่อการใช้งานของเฮลเวทิก้าแบบลาตินในประเทศไทยมองหาตัวอักษรไทยที่สามารถใช้งานควบคู่กันไปได้โดยไม่เสียรูปแบบ จึงเป็นที่มาของ มานพติก้า ตัวอักษรไทยที่ประดิษฐ์มาเพื่อทำหน้าที่ของตัวดิสเพลย์สำหรับทำเป็นตัวอักษรพาดหัว ป้าย และที่สำคัญสามารถใช้งานควบคู่กับเฮลเวทิก้าได้ทันที และน่าจะเป็นที่มาของชุดความคิดที่ว่าตัวอักษรไทยที่ใช้เป็นดิสเพลย์หรือตัวพาดหัวต้องเป็นตัวอักษรแบบไม่มีหัวกลม ในขณะที่ตัวอักษรสำหรับเนื้อความต้องมีหัวกลม ด้วยความเข้าใจตามประสบการณ์ว่าตัวอักษรไทยแบบมีหัวกลมอ่านได้ง่าย และข้อจำกัดของแบบตัวอักษรที่มีให้เลือกใช้จากประสบการณ์จากยุคของโฟโต้ไทป์เซ็ทติ้ง ในขณะที่แนวคิดของชุดครอบครัวที่มีน้ำหนักของตัวอักษรสำหรับเลือกใช้งานก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก

มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานตัวอักษรเกิดขึ้น เมื่อนิตยสารฟรีสซ์  ฉีกรูปแบบตามความเชื่อเดิมๆ จากกรอบด้วยการเลือกใช้ตัวอักษรแบบไม่มีหัวกลมมาเป็นตัวเนื้อความ อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานั้นบ้านเรายังไม่เคยชินกับการอ่านตัวอักษรในลักษณะนี้ รวมถึงการใช้สีและความบางของตัวอักษรก่อให้เกิดกำแพงที่ยากจะกระโดดข้ามไปได้

ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกเห็นจะเป็นกรณีของค่ายบริการโทรศัพท์ออเรนจ์ ที่นำเสนอภาพลักษณ์ร่วมสมัยผนวกกับใช้ตัวอักษรแบบไม่มีหัวกลมอย่าง กิติธาดา ในสื่อโฆษณาทั้งหมด ทำให้เกิดช่วงเวลาที่นิยมใช้งานตัวอักษรแบบไม่มีหัวกลมอย่างมากในสังคม จนกล่าวได้ว่าคนไทยคุ้นเคย กิติธาดา เหมือนเป็นเพื่อน เพราะมันถูกใช้งานและพบเห็นกันบ่อยกว่าเพื่อนเสียอีก กรณีกิติธาดานั้น เป็นตัวอย่างของครอบครัวแบบตัวอักษรโดยแท้ เพราะมีครบทั้งน้ำหนักหนา บาง เอียง  นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ภาษาไทยเริ่มรับเอาแนวคิดการใช้ครอบครัวตัวอักษรในสิ่งพิมพ์หนึ่งๆ ทำให้เกิดความหลากหลาย เกิดหน้าที่ในแต่ละน้ำหนัก ทั้งยังช่วยอุ้มงานออกแบบให้ไปด้วยกันอย่างกลมกลืน

การเปิดทางให้แบบตัวอักษรทำหน้าที่ของมันได้หลากหลายขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีหลังเราจะเห็นการใช้ตัวอักษรที่ออกนอกกรอบความคิดเดิมๆ ไม่ว่าจะผ่านโบรชัวร์ แบรนด์เสื้อผ้า ห้างสรรพสินค้า ป้ายโฆษณา รวมไปถึงนิตยสารหัวสมัยใหม่ที่ทำให้เราเริ่มเห็นว่าตัวอักษรแบบไม่มีหัวกลมสามารถใช้เป็นเนื้อความได้ ในทางกลับกันก็มีการใช้ตัวอักษรที่เคยใช้เป็นเนื้อความมาเป็นตัวโปรยหรือพาดหัวขนาดใหญ่ การที่นักออกแบบเรากล้ามากขึ้นในการใช้ชุดตัวอักษร ทำให้เกิดปรากฏการณ์ลูกโซ่ตามมา เมื่อนักออกแบบกล้าทำ คนอ่านก็กล้าอ่านมากขึ้น ความคุ้นเคยกับการใช้ตัวอักษรที่หลากหลายก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

เป็น…

เฮลเวทิก้าในรูปแบบของตัวอักษรไทยเมื่อสิบปีที่แล้ว ตัวอักษร ฟองน้ำหรือชวนพิมพ์ ซึ่งเป็นตัวอักษรที่มีแนวคิดของความเรียบง่าย เป็นกลาง แต่เป็นตัวอักษรแบบมีหัวกลม อาจเป็นแบบตัวอักษรที่ตอบโจทย์ในเรื่องของแนวคิด แต่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของรูปแบบทางด้านกายภาพของตัวอักษรได้ อันที่จริงแล้วหากเปรียบเทียบหัวกลมของภาษาไทยกับเชิงฐานในตัวละตินแล้ว อาจจะดูแปลกถ้าเฮลเวทิก้าภาษาไทยจะถูกออกแบบโดยมีหัวกลม เนื่องจากเฮลเวทิก้าลาตินนั้นเป็นที่รู้จักจากการที่ปฏิเสธเชิงฐานของตัวอักษร ซึ่งก็ดูจะไม่ค่อยสมเหตุผลในเรื่องของพื้นฐานวิธีคิดของความเรียบง่ายและบริบทของสังคมในปัจจุบัน อีกทั้งเมื่อนำมาใช้เป็นตัวพาดหัวยังไม่สามารถแสดงเจตนาได้เช่นเดียวกับเฮลเวทิก้า กลายเป็นข้อถกเถียงที่ต้องตั้งคำถามว่า “เฮลเวทิก้าไทยควรเป็นอย่างไร”

เฮลเวทิก้าไทย ในเวอร์ชั่นล่าสุดนี้ ถูกพัฒนาภายใต้กระบวนการทางความคิดของเฮลเวทิก้าแบบต้นฉบับ ความเรียบง่ายของแนวคิดส่งผลให้ลักษณะทางกายภาพถูกกำหนดว่าควรอยู่ในรูปแบบของตัวอักษรไทยแบบไม่มีหัวกลม เพื่อให้ตอบสนองกับการใช้งานที่หลากหลายทั้งตัวพาดหัว ป้าย หรือแม้แต่เนื้อความสำหรับอ่าน ที่สำคัญจะต้องมีความกลมกลืนไปกับเฮลเวทิก้าแบบลาตินในกรณีที่ต้องใช้งานร่วมกันในลักษณะสองภาษา นอกจากนี้การออกแบบยังต้องคำนึงถึงการแตกน้ำหนักควบคู่ไปด้วย

เฮลเวทิก้าไทย คือการตัดสินใจเลือกแบบตัวอักษรที่เรียบง่าย น้อยเท่าที่จะน้อยได้ มากเท่าที่จะจำเป็น โดยกลับไปดูพื้นฐานความเป็นไปได้ของโครงสร้างตัวอักษรไทยในแบบที่ไม่มีหัวกลมในลักษณะต่างๆ เพื่อหาค่ากลางของแบบที่สมเหตุผลที่สุดในการลดทอน และไม่ค้านกับการรับรู้ในความเป็นตัวอักษรลดรูป ซึ่งจะต้องดูแลความเสี่ยงในการไม่ให้ดูเป็นการออกแบบจนเกินไป เพราะความเป็นกลางทางบุคลิกมีความสำคัญมากในแบบตัวอักษรชุดนี้ ประกอบกับต้องหาจุดเกรงใจในการใช้ความพ้องทางกายภาพที่กลมกลืนกับต้นเฮลเวทิก้าต้นฉบับ มีน้ำหนักที่ครอบคลุมการใช้งาน ผ่านความเห็นชอบจากต้นสังกัดอย่างไลโนไทป์ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการง่ายเลยที่จะโน้มให้เข้าใจและยอมรับตัวอักษรไทยในลักษณะลดรูป จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันอยู่หลายครั้งโดยนักออกแบบตัวอักษรหลายต่อหลายคนรวมถึงผู้บริหารของไลโนไทป์จนกว่าจะได้ข้อสรุป และเหตุที่ต้องทบทวนแบบกันอยู่หลายครั้งเนื่องจาก เฮลเวทิก้า เป็นตัวพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูง การผ่านแบบของตัวพิมพ์ในลักษณะนี้จำเป็นจะต้องมีความแน่ใจในทุกๆ ด้าน

เฮลเวทิก้าไทย เป็นแบบตัวอักษรไทยแบบไม่มีหัวกลม น้ำหนักหนา บาง เอียง รวม ๖ น้ำหนัก เป็นชุดครอบครัวตัวอักษรที่สามารถตอบสนองการใช้งานได้ครบทุกความต้องการพื้นฐาน สิ่งที่ถูกบรรจุและควบรวมมาพร้อมกัน อยู่ในแนวคิดของการออกแบบนี้ด้วยคือแบบตัวอักษรหนึ่งๆ จะสะท้อนความเป็นไปของสังคมนั้นๆ บ่งบอกถึงวิธีคิด สิ่งที่คนในสังคมเป็นในเชิงของการใช้ชีวิต สำหรับมุมมองสังคมไทย เราเดินทางมาถึงเวลาที่พอเหมาะกับการเกิดของเฮลเวทิก้าไทย แบบตัวอักษรที่ทั้งแนวคิดและรูปแบบอยู่ตรงกลางพอดิบพอดี ท่ามกลางบริบทสังคมในปัจจุบันที่ต้องการหลักกิโลเมตรใหม่เพื่อบอกให้ทราบถึงการเคลื่อนตัวของสังคม