บันทึกแนบท้าย เฮลเวทิก้า ไทย

➜ เป็นคำถามใหญ่ที่น่าสนใจอย่างมาก หากเราจะออกแบบเฮลเวทิก้าภาษาไทยลงไปในชุดเฮลเวทิก้าเวิลด์ สิ่งแรกที่จะต้องตัดสินใจให้ได้เสียก่อนก็คือ ภาษาไทยพร้อมหรือยังในการไม่ใช้หัวกลม หากมองภาษาไทยจากข้างนอกราชอณาจักรหลายคนอาจมองว่าภาษาไทยจะต้องมีหัวกลม และอะไรที่ต่างไปจากนี้จะทำให้สูญเสียลักษณะเฉพาะของความเป็นไทย แนวคิดนี้ก็ยังมีอยู่ในแนวคู่ขนานเสมอ

หากเปรียบเทียบหัวกลมของภาษาไทยกับเชิงฐานในตัวละตินแล้ว ก็ดูจะแปลกอยู่สักหน่อยถ้าเฮลเวทิก้าภาษาไทยจะถูกออกแบบโดยมีหัวกลม เนื่องจากเฮลเวทิก้านั้นเป็นที่รู้จักจากการที่ปฏิเสธเชิงฐานของตัวอักษร ซึ่งก็ดูจะไม่ค่อยสมเหตุผลในเรื่องของคอนเซ็ปท์และพื้นฐานวิธีคิด แต่การที่จะนำพาแบบไปในแนวทางที่เป็นตัวอักษรไทยแบบร่วมสมัยที่ไม่มีหัวกลมจะไม่เหมาะสมเลย ถ้าหากเราออกแบบเฮลเวทิก้าไทยเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ซึ่งวันนี้พฤติกรรมการใช้ตัวอักษรและความสามารถในการอ่านของคนไทยก็เปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ ลักษณะการใช้งานตัวอักษรไทยร่วมสมัยก็มีสัดส่วนในสังคมที่มากขึ้น เป็นอีกส่วนสำคัญในการอนุญาตให้การทำตัวไร้หัวกลมอยู่ในการตัดสินใจ ซึ่งหากเฮลเวทิก้าเป็นสิ่งใหม่สำหรับตัวอักษรละตินในกลางยุค’50 มันก็พอจะเกิดเป็นแรงผลักที่คล้ายคลึงกันให้เราท้าทายภาษาไทยในยุคปัจจุบัน

มันก็ไม่ได้ง่ายเลยในการตัดสินใจเลือกแนวทางดังกล่าว อันที่จริงเราพร้อมที่จะออกแบบในแนวทางของ “อนุภาพ” (ฟอนต์ของ คัดสรร ดีมาก เองที่ทำให้กับ ไลโนไทป์ ก่อนหน้านี้) เสียด้วยซ้ำ โดยทำให้แบบและโครงสร้างดูธรรมดาที่สุดในขณะที่เก็บหัวกลมไว้ เราก็อาจจะได้ตัวไทยหัวกลมที่เรียบง่าย ในขณะที่จะสูญเสียในเรื่องของพื้นผิวที่เกิดขึ้นและการเคารพโครงสร้างของตัวเฮลเวทิก้าที่เป็นต้นแบบ เราจึงต้องตั้งคำถามว่าเมื่อคนไทยใช้เฮลเวทิก้าไทยควบคู่กับตัวละติน พื้นผิวลักษณะไหนที่เขาน่าจะพอใจ และทำให้งานออกแบบที่เลือกใช้เฮลเวทิก้า ไม่ดูผิดเจตนาไปเมื่อเป็นภาษาไทยในเลย์เอ้าท์เดียวกัน

นอกจากนั้นเราไม่ลืมในแนวคิดเรื่องของการทำให้ฟอร์มของตัวอักษรดูเป็นกลางมากที่สุดและไม่พยายามใส่เหลี่ยมมุมที่จะทำให้ดูแล้วไม่เกิดความเป็นกลาง ในขณะที่ตัวอักษรไทยบางตัวจำเป็นต้องเก็บรายละเอียดที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงการมีอยู่ของหัวกลม เพื่อป้องกันการสับสนระหว่างตัวอักษรที่มีหน้าตาใกล้เคียงกัน บางตัวที่สามารถทำให้เหลือแต่โครงสร้างเปล่าเปลือยได้เราจะปล่อยให้เขาเป็นธรรมชาติที่สุดโดยไม่พยายามออกแบบจนทำให้มีรสชาติอื่น ซึ่งเป็นไปตามเจตนาของเฮลเวทิก้า

แนวคิดในเรื่องครอบครัวก็เข้ามามีบทบาทสำคัญมากทีเดียวในการตัดสินใจเลือกแนวทางทางการออกแบบ แนวคิดเรื่องของการเป็นครอบครัวของแบบตัวอักษรไทย อันที่จริงมีมาก่อนในยุคของตัวเรียงพิมพ์แล้ว เพื่อตามประกบตัวเรียงพิมพ์ภาษาอังกฤษ แต่ไม่ได้ถูกรับลูกอย่างจริงจังในยุคของโฟโต้ไทป์เซ็ทติ้ง จนกระทั่งเกิดฟอนต์เมนูในระบบเดสท็อปพับลิชชิ่ง เหตุสำคัญที่ผลักดันให้เกิดส่วนหนึ่งน่าจะมาจากอิทธิพลของฟอนต์ละตินที่ใช้แนวคิดนี้และปรากฏรวมกันอยู่ในฟอนต์เมนู แสดงให้เห็นถึงความหลากหลาย จึงเป็นแรงผลักให้ระบบครอบครัวกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดแบบ ฟอนต์ไทยในระยะแรกส่วนมากจะเป็นระบบฟอนต์เดี่ยวตัวตั้งตรง หรือฟอนต์เดี่ยวบางตัวก็เป็นตัวเอียง(Slanted)โดยกำเนิด ต่อมาจึงได้ค่อยๆมีการรับแนวความคิดเรื่องตัวหนา ตัวบาง และตัวเอียง(Italic) ในลักษณะครอบครัวแบบตัวละตินเข้ามา

แนวคิดเรื่องแบบตัวอักษรไทยแต่เดิม แต่ละแบบมีความเป็นเอกเทศน์ และใช้การจับคู่ข้ามแบบกันในการใช้ เช่นเน้นคำ ใช้ฟอนต์นึง ตัวเนื้อความใช้อีกฟอนต์นึง คำอธิบายใช้อีกฟอนต์นึง เป็นที่พึงปฏิบัติในยุคโฟโต้ไทป์เซ็ทติ้ง เพราะแบบภาษาไทยมีตัวเลือกจำนวนไม่มาก จึงต้องเลือกจากที่มี และขนาดของน้ำหนักในแบบปกติของตัวอักษรนั้นๆ จึงมีการใช้ตัวปกติของอีกฟอนต์ที่มีความหนากว่าในการการใช้งานแทนตัวหนาของชุดที่ควรมี ที่กล่าวมาเป็นชุดความคิดจากยุค ’50 และ ’60 ของไทย ที่ยังตกค้างอยู่ในงานออกแบบกราฟิกไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามข้อปัจจัยและข้อจำกัดของการใช้แบบตัวอักษรในยุคดังกล่าว เราคงไม่สามารถไปสรุปได้ว่าถูกหรือผิด ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่า ชุดความคิดนี้ยังคงเหลืออยู่ ความคิดที่ว่าเนื้อความคือเนื้อความ พาดหัวด้วยอีกฟอนต์ ตัวโปรยด้วยอีกฟอนต์ โดยคิดแบบแยกออกจากกัน

เมื่อการออกแบบเฮลเวทิก้าไทยนั้นต้องคำนึงถึงการแตกน้ำหนักควบคู่ไปด้วยในการเลือกแนวทางทางการออกแบบ เนื่องด้วยเฮลเวทิก้าเป็นชุดครอบครัวที่ใหญ่ และมีความหลากหลายของน้ำหนักและสไตล์ ปัญหาของตัวหัวกลมที่ทำให้เพดานความหนาไปได้ไม่ไกลเกินตัวหนา จะทำให้ฟอนต์ไทยแบบมีหัวมักมีน้ำหนักให้เลือกได้ไม่หลากหลาย เรามักจะพบว่าตัวหัวกลมที่มีน้ำหนักที่เรียกว่าหนา จะใกล้กันมากจนในหลายๆครั้งแทบไม่แตกต่าง หากต้องการเผื่อเนื้อที่ตัวเนคกาทีฟในตัวหัวกลมเพื่อให้รองรับระดับน้ำหนักที่ไต่ขึ้นไปจนหนามาก ก็จะมีผลต่อแบบที่จะเพี้ยนจากเจตนาดั่งเดิม ฉะนั้นการเสี่ยงเลือกแนวทางแบบร่วมสมัยจึงน่าจะเปิดโอกาสให้เฮลเวทิก้าไทยสามารถมีความหลากหลายได้มากพอหากมีการเพิ่มสไตล์ในอนาคต