จดหมายเหตุเกี่ยวกับโลโก้ไทยก้า

“บทความนี้เดิมทีตั้งใจจะเขียนถึงสัญลักษณ์ของสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทยที่เริ่มเผยแพร่ให้เห็นกันแล้ว แต่พอเริ่มเรียบเรียงความคิดที่จะเขียน กลับกลายเป็นว่า…วัตถุดิบในสมองผมมีแต่ข้อมูลที่เป็นเรื่องแวดล้อมของสัญลักษณ์ตัวนี้ ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นในลักษณะจดหมายเหตุเพื่อบันทึกเรื่องราวหนึ่งๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ.. ที่ในอนาคต…อาจจะสำคัญหรือไม่ …ผมไม่อาจทราบได้ อีกทั้งพยายามจะหลีกเลี่ยงการวิเคราะห์และวิพากษ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เรื่องราวถูกนำเสนออย่างที่มันเป็น” — สันติ ลอรัชวี มิถุนายน ๒๕๕๒

—–» เริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ (๒๕๕๒) ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสร่วมรับประทานอาหารกับ คุณวิสุทธิ์ มณีรัชตวรรณ นายกสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย, คุณสำเร็จ จารุอมรจิต แห่ง วี อาร์ ทู สตาร์ดัส พร้อมกับคุณวิเชียร โต๋ว และคุณสยาม อัตตริยะ แห่งคัลเลอร์ ปาร์ตี้ ซึ่งทุกท่านล้วนแต่เป็นกรรมการและเป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งสมาคมฯ นี้ขึ้นมาหลายปีแล้ว ในวันนั้น…บทสนทนาส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการของสมาคมฯ ซึ่งหลายๆ คนคงทราบว่ามีสมาคมนี้เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน แต่อีกหลายๆ คนก็ไม่ทราบว่ามีการจัดตั้งสมาคมฯ กันขึ้นแล้ว ทั้งสี่ท่านที่ร่วมสนทนามีความตั้งใจอย่างมากในการที่จะให้สมาคมฯ เริ่มที่จะมีความเคลื่อนไหวและจัดกิจกรรมออกสู่สาธารณะ และเพื่อให้สมาคมฯ ได้ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น อย่างน้อยก็จะทำให้นักออกแบบกราฟิก(ไทย) ได้รับรู้โดยทั่วกันว่าเรามีสมาคมทางวิชาชีพและก็เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

ผมได้ถูกชักชวนให้มาได้ร่วมสนทนาโดยพี่วิเชียร โต๋ว และคุณสยาม อัตตริยะ ด้วยความที่เคยจัดกิจกรรมทางการออกแบบกราฟิกมาบ้าง ทั้งสองจึงเห็นว่าผมน่าจะได้มีโอกาสมาร่วมพูดคุยและแสดงความคิดเห็น การสนทนาในวันนั้นได้ข้อสรุปบางอย่างที่ทำเกิดการดำเนินการได้ทันที ซึ่งผมคิดว่าเป็นสัญญาณที่ดีทีเดียว… นั่นคือ ทางสมาคมฯ จะเริ่มเปิดรับสมาชิกทั่วไป โดยยังไม่จำกัดคุณสมบัติที่เฉพาะเจาะจงและยังไม่มีการเก็บค่าสมัครใดๆ หมายถึงรวมทั้งนักศึกษา คณาจารย์ นักออกแบบเรขศิลป์และผู้ประกอบกิจการที่สัมพันธ์กันกับงานออกแบบเรขศิลป์ ในความเห็นของผมแล้ว นั่นเท่ากับสมาคมฯ เองจะมีโอกาสได้สำรวจสมาชิกของสมาคมฯ เองว่าเป็นใครมาจากไหนบ้าง เพราะนอกจากสมาคมฯ จะมีสมาชิกมากขึ้นแล้ว ในอนาคต…สมาคมฯ ยังสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมได้สอดคล้องกับสมาชิก(ที่น่าจะหลากหลาย)ได้อีกด้วย ส่วนอีกเรื่องที่เป็นข้อสรุปก็คือการจัดเตรียมช่องทางการสื่อสารกับสมาชิกและประชาชนทั่วไปโดยจะเริ่มจากการทำเว็บไซต์ของสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย โดยทั้ง ๒ ภารกิจจะทำให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ นี้

ผมกลับจากวงสนทนาด้วยภารกิจที่ได้รับปากไว้ในเรื่องการหาสมาชิกให้ทางสมาคมฯ เนื่องจากผมและแพรคทิเคิล สตูดิโอ กำลังเตรียมจัดกิจกรรมที่ชื่อว่า “ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย (I am a Thai graphic designer™) จึงคิดว่าน่าจะเป็นช่องทางในการสื่อสารกับเพื่อนๆ นักออกแบบให้ทราบเรื่องนี้ไปด้วยกันได้จากการพูดคุยเพิ่งทราบว่าสมาคมฯ เองยังไม่มีสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของสมาคมฯ มีแต่สัญลักษณ์ชั่วคราวที่เป็นแบบเรียบง่ายใช้กันในวงแคบๆ ส่วนแบบที่เป็นทางการยังไม่ได้สรุปกัน… จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยแปลกใจนักที่ทางสมาคมฯ ยังไม่ได้สรุปเกี่ยวกับเรื่องโลโก้ทั้งๆ ที่คราคร่ำไปด้วยนักออกแบบโลโก้ เพราะนั่นแหละที่ยาก…ว่าใครควรจะเป็นคนทำหรือควรจะเลือกแบบของใครดี…อีกเหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะอาจจะยังไม่มีกิจกรรมที่จะต้องใช้จึงยังไม่ได้สรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ (ผมเดาเอาเองทั้งสองเหตุผล)

แต่ผมเองจะต้องเริ่มดำเนินการจัดหาสมาชิกแล้ว ผมจึงต้องการสัญลักษณ์ที่เป็นทางการของสมาคมฯ เพื่อเผยแพร่ผ่านใบสมัครและเว็บไซต์ จึงได้ปรึกษาพี่วิเชียรว่าจะหาใครซักคนมาทำ ซึ่งตอนนั้นผมก็เสนอคุณอนุทิน วงศ์สรรคกร ที่มีความเชี่ยวชาญทางการออกแบบตัวอักษรร่วมสมัย ด้วยเหตุผลที่ว่าแบบสัญลักษณ์ชั่วคราวเป็นแบบโลโก้ไทป์ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ คุณอนุทินจึงน่าจะเหมาะกับงานนี้ ซึ่งพี่วิเชียรก็เห็นด้วยกับความคิดนี้

คุณอนุทินตอบรับที่จะออกแบบให้และส่งผลงานมาให้ทางอีเมล์หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ โดยคุณอนุทินให้แนวคิดกับโลโก้ไทป์ของสมาคมฯ ไว้ดังนี้ครับ…

อนุทิน กล่าวว่า “ผมเห็นด้วยในการทำให้โลโก้ไทป์นี้ออกไปในแนวไทป์เซ็ตติ้ง (typesetting) เพื่อให้ไม่เป็นแฟชั่นมากเกิน เพราะมันจะต้องดูเป็นองค์กรมีความน่าเชื่อถือ ผมเลยเขียนตัวอักษรขึ้นมาใหม่หมด”

พวกพับพวกตัดเฉียงผมเอามาใส่เพื่อให้มันขับบุคลิกเฉพาะมากขึ้น ซึ่งได้ไล่เส้นมาอย่างดี เส้นเฉียงมันทำให้เกิดการเห็นเป็นมิติมากขึ้นในโลโก้ที่เป็นสองมิติ เป็นเรื่องของวิชวลเพอร์เซ็พชั่น (visual perception) พื้นฐานการออกแบบกราฟิกล้วนๆ ซึ่งผมว่าลูกเล่นง่ายๆ อย่างการดูสมดุลย์ของ figure & ground แบบนี้ มันก็พื้นฐานดี แล้วก็เหมาะสมกับความเป็นสถาบันของ ThaiGa เพราะผมเห็นว่ามันเป็นไทยได้แบบไม่ต้องเลื้อยไปมา ดูเป็นไทยร่วมสมัย ผ่านการปฎิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว ในมุมจากที่ผมเห็นคือ ไม่ใช่ข้ามไปหยิบความเป็นไทยในอดีตมาแปะลงไปบนไทป์สมัยใหม่ (หมายถึงแปะกนกลงไปอะไรแบบนั้น)

ส่วนเรื่องสี อนุทินได้มีการแจกแจงไว้ว่า “พยายามเลี่ยงคู่ที่ใกล้ที่สุดกับที่เลือกมาแต่แรก (แบบสัญลักษณ์ชั่วคราวใช้สีส้มและดำ) แต่ยังเก็บความตั้งใจเขาไว้คือสองสีตัดกัน ผมเลี่ยงดำไปใช้สีนำ้ตาลเข้มๆ มันดูแนวๆสีมังคุดหรือพวกสีเสาไม้สักของบ้านไทย อีกอย่างที่ทำให้ผมนึกถึงคือ มะขาม ซึ่งผมว่าไทยมากเลย ส่วนสีส้มผมปรับให้มันออกฝุ่นๆนิดหน่อย เพราะสีไทยยิ่งพวกจิตรกรรมฝาผนัง จะออกแนวฝุ่นๆหน่อย พยายามให้จิตใต้สำนึกเราเอาไปลิ้งค์กับจีวรพระนิดๆ คือไปลิ้งค์เองในชั้นนั้นไม่ต้องลิ้งค์กันเห็นๆ โดยรวมคือตั้งใจให้เป็นแบบนั้นครับ…”

แนวคิดในการออกแบบสัญลักษณ์ของคุณอนุทินข้างต้น ก็ทำให้ผมไม่จำเป็นต้องเขียนถึงในเชิงวิเคราะห์ให้มากความ เพราะจากถ้อยคำดังกล่าวก็ทำให้เข้าใจได้ถึงที่มา ทั้งในแง่ของไวยกรณ์ทางกราฟิกและการใช้สัญญะผ่านการออกแบบตัวอักษร… อีกประเด็นที่พอจะเพิ่มเติมก็คือ คุณอนุทินยังเสนอเรื่องตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษ ThaiGa (Thai Graphic Designer Association) ในแง่การใช้ตัวพิมพ์ใหญ่กับตัว ‘T’ และตัว ‘G’ ตามด้วยตัว ‘a’ พิมพ์เล็กแทนที่ ‘A’ พิมพ์ใหญ่ในแบบเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับการออกเสียง “ไทยก้า” โดยไม่สับสนกับกับการอ่านออกแป็น “ไทยจีเอ” จึงสรุปการย่อตัวอักษรเป็น “ThaiGa” อย่างที่เห็นกันนั่นเอง

ท้ายที่สุดแล้ว… สมาคมฯ ก็ได้สัญลักษณ์อย่างเป็นทางการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างที่ผ่านตาหลายๆ คนไปแล้ว แล้วเริ่มถูกนำไปใช้ในหลายโอกาสตามลำดับ… นอกเหนือจากการมีคนหน้าใหม่อย่างผม อย่างคุณอนุทินและอีกหลายคนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมนั้น ยังต้องกล่าวถึงหลายๆ สำนักงานออกแบบที่ให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ มีการระดมทุนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น มีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับสมาคมฯ มากขึ้น “อ้าว! มีสมาคมนี้ด้วยหรือ” “ยังมีอยู่อีกเหรอ” “สมัครเป็นสมาชิกแล้วได้อะไร?” เว็บไซต์หลายแห่งมีบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น เป็นต้น ไม่ว่าเสียงสะท้อนจะดังว่าอย่างไร แต่การสะท้อนกลับอาจแปลได้ว่าสารได้กระทบไปที่ผู้รับสารแล้ว นั่นอาจหมายถึงเกิดการรับรู้ในการมีอยู่ของสมาคมฯ

จากวันนั้นถึงวันนี้ สมาชิกนักออกแบบเรขศิลป์กว่าพันคนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากช่องทางเว็บไซต์ iamathaigraphicdesigner.com และใบสมัครที่บริษัท แอนทาลิส (ประเทศไทย) จำกัด ช่วยจัดพิมพ์ให้ฟรีแถมยังให้พนักงานขายของบริษัทนำไปส่งให้ถึงมือนักออกแบบตามบริษัทต่างๆ เลยทีเดียว เป็นภาพสะท้อนถึงความร่วมมือเล็กๆ ดังกล่าวที่เสมือนก้าวย่างที่มีการตอบรับกลับอย่างมีความหวัง แน่นอนว่ายังวัดผลอะไรไม่ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถเรียกว่าการเริ่มต้นได้ด้วยซ้ำ แต่การร่วมมือที่จะทำอะไรซักอย่างในนามสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ได้เกิดขึ้นอีกครั้งแล้ว… จะเป็นอย่างไรต่อไป… คงขึ้นอยู่ที่แนวร่วมเดิมยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่… แนวร่วมใหม่จะเข้ามาหนุนหรือไม่… ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป…