ใกล้เข้า เข้าใกล้ ๒

พงศ์ธร หิรัญพฤกษ์
พฤษภาคม ๒๕๕๒

เรียบเรียงจากบทสนทนาของ อนุทิน วงศ์สรรคกร, สุพิสา วัฒนศันสนีย และ สุขษม เรืองหิรัญ เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เกี่ยวกับบางส่วนที่เกิดขึ้นจากงาน ใกล้เข้า เข้าใกล้ ๒

➜ คำว่าต่างมุมมองสามารถถูกนำมาใช้ได้ในหลายกรณี เรามักใช้คำว่า“ต่างมุมมอง” ในลักษณะของนามธรรม เป็นต้นว่าการมองต่างมุมทางความคิด อาจกล่าวได้ว่า การมองต่างมุมที่เกิดขึ้นจริงในแบบรูปธรรมที่สอดคล้องกับความหมายเชิงนามธรรม เป็นข้อสังเกตุต่องาน “ใกล้เข้า เข้าใกล้” มารู้จักแง่มุมความคิดที่แฝงอยู่ในงาน ใกล้เข้า เข้าใกล้ จากปากคำของนักออกแบบ ที่ปรับบทบาทมาเยี่ยมเยือนเนื้อที่ของงานศิลปะร่วมสมัย

งานในบทที่สองนี้แตกต่างจากบทที่หนึ่งที่ทำให้กับนิทรรศการก่อสุข ของสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อตอนต้นปีอย่างไร ดูเหมือนจะเป็นคำถามแรกที่ถูกถามเมื่อเริ่มต้นบทสนทนาที่เกี่ยวกับงานชิ้นนี้ในทุกโอกาส ในงานก่อสุขนั้นอนุทินได้ให้คำจำกัดความ และอธิบายไว้อย่างรวมๆกับสื่อมวลชน โดยละที่จะพูดถึงความคิดปลีกย่อย ทำให้เราอาจจะยังไม่แน่ใจว่าเป็นการทำด้วยความคิดที่รอบคอบแค่ไหน

ในบันทึกจากบทสนทนาระหว่าง อนุทิน วงศ์สรรคกร, สุพิสา วัฒนศันสนีย และ สุขษม เรืองหิรัญ นั่งเอกขเนกบนคำว่าปฐม ลานหน้าสยามดีสฯ หลังจากงาน บางกอก บานานา เปิดได้สามสี่วัน มีเกล็ดประเด็นที่และใจความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย…

“ใกล้เข้า เข้าใกล้” ในซีรี่แรก หรือที่เรียกว่าบทแรกนั้น ไม่มีอธิบายอะไรมากไปกว่าที่มาส่วนหลักๆของงาน ซึ่งสามารถหาอ่านได้จากข้อสรุปที่เคยถูกตีพิมพ์ไปแล้ว การละอะไรหลายๆอย่างเพื่อให้พื้นที่กับ อาร์ตแอปพริชิเอชั่น ซึ่งเป็นเรื่องปัจเจก โดยที่เปิดปลายให้กับความคิดที่ต้องไปทำความเข้าใจกันเองในส่วนหนึ่ง

เสียงสะท้อนกลับมา หลายคนมองว่าตัวงานเป็นการตอบคำถามแบบตรงไปตรงมา เพราะนิทรรศการก่อสุข หรือ โพสสิทีพลิฟวิ่ง นั้น มีชื่องานที่เชื่อมโยงการเลือกคำว่า ‘บวก’อยู่แล้ว ในมิตินึงก็ถูกต้องเช่นนั้น เพราะชัดเจนอยู่แล้วว่ามันมีความเกี่ยวเนื่องกับตัวเนื้อหาของนิทรรศการ

เห็นได้ว่าเนื้อหาที่ต้องการที่สื่อสารให้เข้าใจกันก่อนนั้น ค่อนข้างมีขนาดใหญ่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ประสบการณ์ใหม่ที่มีต่อตัวอักษรแก่ผู้ชมงาน หรือพลังของการใช้ตัวอักษร พลังของตัวอักษรที่ประกอบขึ้นเป็นคำที่มีความหมายตามมา เรื่องของการใช้พื้นที่ภายในและโดยรอบ การพาให้เกิดประสบการณ์ร่วมจากการอ่านในลักษณะที่ไม่สามารถสัมผัสได้บ่อย ต้องอาศัยการอธิบายและขยายความ

หากเรามองตัวงานแค่เพียงผิวเผินก็จะพลาด ไม่ได้ตั้งคำถามอื่นๆ อาทิเช่น ทำไมจึงนำชิ้นงานมาตั้งตรงกลางห้องนิทรรศการ ทำไมขนาดของงานจึงเป็นสัดส่วนดังกล่าว ทำไมเราจึงเลือกสีขาว เป็นต้น เมื่อสืบเหตุก็จะพบกับเรื่องพลังและธรรมชาติของตัวอักษร ลำพังประเด็นนี้ประเด็นเดียวที่พยายามจะพูดถึง ก็มีเรื่องให้มองต่างและเป็นบทสนทนาได้อย่างยืดยาว

ป็นที่น่าสนใจอย่างมากที่ “ใกล้เข้า เข้าใกล้” บทที่สองนี้ถูกหยิบออกมาจากสภาพแวดล้อมแบบจัดตั้งอย่างพื้นที่นิทรรศการมาสู่พื้นที่สาธารณะ เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว สิ่งที่ทีมงานของเราสังเกตุเห็นได้คือ ตัวงานสามารถเชื้อเชิญให้คนเข้ามานั่งหรือสัมผัสกับงานได้โดยไม่ต้องอธิบายอะไรมาก งานทุกชิ้นถูกเข้าไปใช้งานอย่างคุ้นเคย ผู้ชมไม่ได้รู้สึกว่าเกรงกับงานในทำนองว่าไม่กล้านั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ได้ตามเป้าหมายที่เราต้องการให้เป็น สุขษมสรุปจากการสังเกตุเมื่อต้องเดินตามเช็คความเรียบร้อยของงานเกือบทุกวัน

อาจมองได้หรือไม่ว่ามาจากผลทางจิตวิทยาในเรื่องของขนาดและสัดส่วนความสูงที่ตั้งใจเลือกให้เข้ากับฟังชั่นการใช้งานหลักซึ่งก็คือการนั่ง เพื่อให้ผู้ชมมีส่วนร่วม สำรวจ และเมื่อเข้ามาในบริเวณงานก็จะพัวพันเป็นส่วนหนึ่งกับตัวชิ้นงาน

ในบทแรก อนุทินตั้งใจที่จะวางงานตรงกลางของนิทรรศการ ด้วยเหตุที่ว่ามันเป็นการแนะให้เห็นถึงหน้าที่ของการมีอยุ่ของชิ้นงานในฐานะของคุณสมบัติการนั่ง เฉกเช่นม้านั่งที่ใช้นั่งพักในการชมงานในพิพิธภัณฑ์ ผู้เข้าชมนิทรรศการก็สามารถนั่งชมงานที่แขวนโชว์อยู่โดยรอบได้ หรือนั่งเพื่อให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับงานอื่นๆโดยรอบ ซึ่งถ้านั่งสนทนาอย่างมีสติรู้บนชิ้นงานก็จะเกิด โพสสิทีพลิฟวิ่ง อย่างที่เราตั้งใจ ประกอบกับเรื่องของตัวอักษรไม่ค่อยได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นมากนักในชีวิตประจำวัน มันน่าสนใจหากเกิดบทสนทนาเกี่ยวกับตัวอักษรในขณะที่คุณรู้ตัวว่ากำลังมีปฏิสัมพันธ์กับมันอยู่จริงๆ

“อันที่จริงนั้นแค่เดินสำรวจรอบๆตัวงานก็นับว่าเข้ามาเป็นส่วนร่วมอยู่ในอาณาบริเวณของตัวงานแล้ว เพราะตัวอักษรต้องใช้พื้นที่รอบข้างในการแสดงออกซึ่งการมีอยู่ของคำเช่นกัน เราไม่ค่อยได้คิดแบบนี้กับสิ่งพิมพ์สองมิติที่ใช้ตัวอักษรเล็กๆขนาด ๑๒ พอยต์” อนุทินกล่าว

สุพิสา ตั้งข้อสังเกตุว่า เมื่อแวดล้อมของบทที่สองเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่กิจกรรม เป็นพื้นที่เปิด มีความหลากหลายทางความสนใจ เราเห็นผลทางจิตวิทยามากอย่างชัดเจน จะสังเกตุได้ว่าผู้ชมให้ความใกล้ชิดในตัวงานต่างจากงานชิ้นอื่นที่อาจจะดูเหมือนงานศิลปะที่ไกลตัว ทุกคนคุ้นเคยกับตัวอักษร แต่ตัวอักษรไม่ค่อยออกมาตะโกนนอกกรอบของการสื่อสารแบบทั่วไป การนำตัวอักษรมาใช้ในลักษณะนี้ เราจึงได้เห็นว่าที่จริงแล้วเราคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดี ผู้ชมเข้าไปมีความสัมพันธ์กับงานได้อย่างอัตโนมัติ

ผู้ทำหน้าที่ควบคุมตั้งแต่หนึ่งถึงสิบอย่างสุขษมจึงเติมรายละเอียดให้ว่า “เราเจาะจงใช้ช่างทำเฟอร์นิเจอร์ในการผลิตชิ้นงาน เพราะเราอยากได้สัดส่วนที่สามารถสื่อสารกับผู้ชมงานในเชิงการเชื้อเชิญให้เห็นหน้าที่การใช้สอย” ก่อนที่อนุทินจะขยายความต่อว่า “หากพิจารณาตัวอักษรอย่าง ก.ไก่ หรือ บ.ใบไม้ เราตั้งใจใช้สัดส่วนของชิ้นงาน ตอบคำถามว่าทำไมเราจึงทำชิ้นงานออกมาในขนาดดังกล่าว ก็เพื่อให้สามารถเข้าไปนั่งหันหน้าหากัน เพื่อสนทนาได้โดยเข่าจะไม่ขนกันเป็นต้น” พูดไปพลางก็กระโดดลงจากตัว ฐ ฐาน มานั่งชนหน้ากันกับสุขษมเพื่อแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ภายใน ม ม้า ที่ขนาดถูกออกแบบมาให้กว้างพอดีที่เข่าจะไม่ชนกัน

“ในขณะที่เรื่องของสีนั้น เรามองเป็นเรื่องของความเป็นหนึ่งเดียวของงานชุดนี้ เราเลือกสีขาวเพราะไม่ต้องการให้มีสีอื่นมาให้ตีความหมาย และสีขาวในปริมาตรใหญ่ๆในที่สาธารณะนั้นสามารถสร้างความชัดเจนได้อย่างดี ด้านลบของการใช้สีขาวก็คงจะมีแต่การที่ต้องดูแลเรื่องของความสะอาด” สุขษม เสริม

“ใกล้เข้า เข้าใกล้” ในบทที่สองนี้เนื่องจากพื้นที่เปลี่ยน มีความหลากหลาย มีจำนวนคำที่มากขึ้น การเลือกคำและความหมาย เพื่อให้งานมีอะไรเหลือต่อให้คิดมากขึ้น การใช้การแสดงออกทางไทป์เพลย์ และ เวิร์ดเพลย์ จึงถูกดึงเข้ามาพื่อช่วยในการแสดงออก เพราะงานในพื้นที่สาธารณะนั้นอาจต้องการความฉูดฉาดมากกว่าปกติ เพื่อแข่งกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เกิดสมาธิในการชมงาน

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นการขยับอีกขั้น เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ในการแสดงออกด้วยการใช้ตัวอักษรที่มากกว่าการเรียงเป็นคำตามปกติ อันที่จริงแล้วเป็นเรื่องพื้นฐานในเชิงของการเรียนการสอนไทป์พอกราฟี่ หากแต่นำมาใช้ในกลวิธี สื่อ และสัดส่วนที่แปลกออกไป ตั้งแต่คำว่า เปิด ที่คู่กับ ปิด ฉงน สติ และอื่นๆ

ท้ายสุดก่อนเดินเท้ากลับไปเช็คความเรียบร้อยของชุดคำ บวก และ ลบ ที่เพิ่งติดตั้งเสร็จในวันคืนวันก่อน ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ อนุทินกล่าวว่า “ผมยกความดีความชอบสำหรับในด้านการผลิตและประสานงานให้กับทีมงาน โดยเฉพาะ สุขษม เรืองหิรัญ ผู้ที่เรียกได้ว่าเป็น โปรเจคแมเนเจอร์ เป็นผู้ควบคุมการผลิต และเป็นผู้ถ่ายทอดจินตนาการของให้ออกมาเป็นชิ้นงาน”

ด้วยเหตุเพราะการทำงานกันอย่างคุ้นเคย ทุกขั้นตอนการทำงานจึงเป็นการถ่ายทอดจิตนาการจากคำพูดและคำอธิบายแทบจะล้วนๆ “จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีภาพตรงกัน ต้องคิดและจิตนาการตามในทุกรายละเอียดระหว่างการทำงาน เพื่อให้แน่ใจว่าถ่ายทอดสิ่งที่อนุทินค้องการที่จะสื่อ” สุขษม เพิ่มเติมรายละเอียด พร้อมเปิดไฟล์พีดีเอฟไฟล์เดียวที่ใช้เป็นไกด์ไลน์ในการทำงาน “นี่คือพิมพ์เขียวเดียวที่มีสำหรับโปรเจคนี้” นอกเหนือจากนี้คือต้องเข้าจังหวะกันล้วนๆ