ความสุขของกะทิ

พงศ์ธร หิรัญพฤกษ์

มกราคม ๒๕๕๒

ภาพยนตร์ผลงงานการออกแบบของผู้กำกับ เจนไวยย์ ทองดีนอก แห่ง ภาพยนตร์ชูใจ ดัดแปลงจากจากบทประพันธ์รางวัลซีไรท์ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ

➜ วรวุฒิ ลีวัฒนะ ผู้ดูแลอาร์ตไดเร็คชั่นสื่อสิ่งพิมพ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ในขณะนั้น ส่งต่องานเกี่ยวกับไทป์ทรีทเม้นท์ให้ บริษัท คัดสรรดีมาก จำกัด ในฐานะผู้ชำนาญการทางด้านตัวอักษร ผลงานการออกแบบเล็ตเทอร์ลิ่งของ สุพิสา วัฒนะศันสนีย ภายใต้การดูแลของ อนุทิน วงศ์สรรคกร

สุพิสา วัฒนะศันสนีย กล่าวถึงงานเล็ตเทอร์ลิ่งชิ้นนี้ “จากเรื่องราวที่แสดงถึงความรัก ความผูกผัน ความอบอุ่น ถูกนำมาเป็นคอนเซปต์หลักทางด้านนามธรรม เพื่อต่อยอดให้เกิดภาพเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด จึงเลือกแสดงออกผ่านการออกแบบฟอร์มตัวอักษรภาษาไทย ที่มีลักษณะของลายเส้นเชื่อมโยง สอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดความเป็นองค์ประกอบกลุ่มก้อน ซึ่งน่าจะได้ความรู้สึกมากกว่า การเขียนในลักษณะให้อ่านตามแนวขวางตามปกติ การตัดทอนฟอร์มของตัวอักษร และใช้ความสอดคล้องของลายเส้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

“พยายามนำเสนอเรื่องความผูกพันในเชิงของนามธรรม เชื่อมต่อกันเป็นลักษณะคล้ายๆกับรูปหัวใจสอดแทรกลงไปด้วย เพื่อให้เกิดความหมายลึกซ้อนชั้นขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่ให้ออกมาดูเป็นหนังสำหรับเด็กเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อให้ต้อนรับทุกวัย เล็ตเทอร์ลิ่งที่ได้ออกมาจึงต้องให้ความรู้สึกเป็นมิตรต่อผู้อ่าน มีความร่วมสมัยและไม่เป็นตัวหนังสือนิ่งๆ เพียงอย่างเดียว แบบที่คุ้นกันบนปกหนังสือ เราพยายามปฎิเสธแนวทางการออกแบบเล็ตเทอร์ลิ่งแบบชื่อภาพยนตร์แบบทั่วไปเพราะมันทำให้ดูเหมือนๆกันไปหมดทุกเรื่อง”

งานสำเร็จที่เราเห็นตามสื่อต่างจากดั่งเดิมที่ วรวุฒิ ลีวัฒนะ วางไว้อย่างสิ้นเชิง ซึ่ง อนุทิน วงศ์สรรคกร เองได้กล่าวอย่างเสียดายว่า “คุณวรวุฒิและผม ค่อนข้างมองเป็นนามธรรมที่ลึกซึ้งมากกว่านี้” พร้อมกับเสริมด้วยคำถามทิ้งท้ายที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับการนำงานออกแบบชิ้นนี้ไปใช้จริง, ความเคารพต่อแบบ, วงกลมที่ถูกบรรจงใส่ไว้หายไปได้อย่างไร, และเอ้าท์ไลน์ที่วิ่งรอบตัวอักษรมาจากไหน ฯลฯ ความสุขของกะทิ จึงเป็น ความทุกข์เล็กๆของนักออกแบบ