งานออกแบบไม่ใช่เรื่องไกลตัว

อ่านบทความนี้ก่อนตีพิมพ์จริงใน นิตยสาร แฮมเบอร์เกอร์ ฉบับที่ ๑๒๘ ประจำเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

➜  งานศิลปะ การออกแบบ และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ มากมาย แท้ที่จริงแล้วอยู่รอบๆ ตัวเรานี่เอง ถ้าหากไม่เชื่อ ๒ นักออกแบบจากคัดสรรดีมาก อนุทิน วงศ์สรรคกร และ พงศ์ธร หิรัญพฤกษ์ จะพาเราไปหาคำตอบ ลุกออกจากหน้าคอมพิวเตอร์ ทิ้งโปรแกรมออกแบบ ๒ มิติไปพบกับโลกจริงๆ ที่ทุกสิ่งอย่างเป็น ๓ มิติ จับได้ มองเห็น ไม่ใกล้ไม่ไกล แค่วงเวียน ๒๒ กรกฎาคมนี่เองทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มต้นจากคัดสรรดีมาก ต้องการตัวหนังสือ W หนึ่งตัว ในวันอากาศร้อนกำลังดี อนุทินและพงศ์ธร จึงออกเดินทางไปวงเวียน ๒๒ กรกฎาคม หาร้านรับทำตัวอักษร พวกเขาต้องนั่งแท็กซี่ฝ่ารถติด เดินข้างถนนผ่านไอร้อน เลือกวัสดุ สี และรูปทรงของตัวอักษร ต่อรองราคากับเจ้าของร้าน กว่าจะได้มาซึ่ง อักษร W ขนาด ๑๐ เซนติเมตร ทั้งๆ ที่ในชีวิตการออกแบบ ๒ มิติ เขาเพียงกดแป้นพิมพ์อย่างบรรจงเพียงครั้งเดียว ก็จะได้ตัวอักษร W นั้นมาแล้ว
“จะมีใครซักกี่คนที่เคยได้จับตัวอักษรตัวใหญ่ๆ จริงๆ คือคนที่เรียนดีไซน์จะสัมผัสกับตัวอักษรในแบบ ๒ มิติ ผ่านจอคอมพิวเตอร์ แต่พอมันกลายเป็น ๓ มิติที่เราสามารถยืนอยู่ข้างๆ หรือได้จับโค้งของตัวอักษรใหญ่ๆ จริงๆ เนี่ยมัน มีพลัง มากๆ”อนุทินและพงศ์ธร พาเราเดินลัดเลาะไปตามตรอกซอกของร้านทำป้าย ผ่านกำแพงที่ทางร้านใช้พ่นสีตัวอักษรทับถมหลายสีหลากแบบมาชั่วนาตาปี ทำให้เกิดพื้นผิวที่แปลกแตกต่าง ไม่นับรวมการแวะถ่ายรูปกับตัวอักษรขนาดใหญ่ที่วางพิงไว้หน้าร้าน

“การทำป้ายเป็นทักษะที่ใช้พลังมาก เมื่อก่อนคนออกแบบจะเขียนตัวอักษรขึ้นมาเอง ต้องใช้งานฝีมือในการประดิษฐ์ตัวป้าย แล้วเก็บไว้ของใครของมัน เวลาเราอยากได้แรงบันดาลใจ ก็จะไปเดินดูป้ายร้านเก่าๆ แล้วได้อะไรหลายอย่าง แต่ทุกวันนี้ทุกคนใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบ ทำให้มันค่อนข้างแห้ง ไม่ค่อย มีคุณค่าในการเป็นแหล่งที่มาของบันดาลใจ

แล้วก็แปลกตรงที่คนทำงานในร้านพวกนี้ เขาทำงานเป็นกิจวัตรจนไม่รู้สึกอะไรแล้ว จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นช่าง ซึ่งจริงๆ มันเป็นงานที่ให้พลังมาก การร่างตัวหนังสือสัดส่วนใหญ่ๆ ขึ้นมาซักตัวมันยากมากนะ คนทำงานในร้าน ผมว่าเขาเป็นคนสร้างงานที่มีคุณค่ามาก” จากหน้าร้านทำป้าย คนทำงานต่างจดจ่ออยู่กับการใช้อุปกรณ์เลื่อยตัดตัวอักษรตามโค้งเว้า อนุทินยืนมองช่างตัดเอาตัวอักษรออกจากแผ่นพลาสติก ทิ้งเศษที่ไม่ได้ใช้ลงกับพื้น

“งานออกแบบสามารถหาได้จากสิ่งแวดล้อม ไม่เฉพาะเรื่องแบบตัวอักษร เราสามารถดูพื้นผิว เสน่ห์ของที่ปรักหักพัก หรือปลูกสร้างขึ้นมาใหม่ อย่างการตัดตัวหนังสือ จะมีสิ่งที่เราตัดไปทำเป็นตัวอักษร แต่สิ่งที่เหลือกลายเป็นขยะไปเสียอย่างนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วเอาสิ่งที่เราเห็นตรงนี้ไปทำอะไรต่อได้อีกเยอะ” การเดินทางเที่ยวท่องส่องร้านป้ายกับสองนักออกแบบจากคัดสรรดีมากครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าชีวิตประจำวันเราเกี่ยวข้องกับการออกแบบและตัวอักษรมากมาย แต่ละวันๆ มีตัวหนังสือบนป้ายผ่านตาตลอดเวลา มีอุตสาหกรรมที่อยู่เบื้องหลังตัวอักษรจำนวนมาก แต่เรากลับคุ้นเคยอยู่กับตัวอักษรบนแป้นคียบอร์ดและหน้าจอคอมพิวเตอร์

ไม่ใช่เฉพาะวงเวียน ๒๒ กรกฎา ทุกหนทุกแห่งต่างมีแรงบันดาลใจซุกซ่อนอยู่ เพียงแต่ต้องรู้จักพลิกหามุมมองของสิ่งแวดล้อมรอบตัว ถ้าคุณเป็นนักออกแบบลองทิ้งหน้าจอคอมพิวเตอร์ออกไปเดินดูสิ่งสร้างแรงบันดาลใจเหล่านี้ หรือถ้าคุณไม่ได้เป็นนักออกแบบก็สามารถออกไปหาแรงบันดาลใจได้จากสองข้างทางที่มีของเจ๋งๆ มากมาย เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่คิดไม่ถึงว่าเจ๋ง

ใกล้เข้า เข้าใกล้ (Closer & Close up) ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา อนุทิน วงศ์สรรคกร ร่วมกับ คริสเตียน ชวาร์ส (ผู้ออกแบบตัวอักษร Amplitude) ร่วมนิทรรศการ ก่อสุข Positive Living ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผลงานในชื่อ Closer & Close up ว่าด้วยการใช้แบบตัวอักษรแอมพลิทูธไทยในขนาดใหญ่ ประกอบขึ้นด้วยโครงเหล็ก กรุด้านบนด้วยไม้อัดหนา หุ้มทั้งหมดด้วยกระดาษอัด พ่นด้วยสีพลาสติก ซึ่งผู้ชมนิทรรศการสามารถนั่งและรับน้ำหนักได้จริง HAMBURGER เห็นว่าน่าสนใจดี เลยตัดตอนบางส่วนจากข้อเขียนสูจิบัตรของนิทรรศการมาให้อ่านกัน

“ไม่ได้มีโอกาสบ่อยนักที่เราจะได้เห็นตัวอักษรระยะประชิดในขนาดที่เราสามารถมีปฎิสัมพันธ์ได้ ในความเป็นจริงนั้นเรารายล้อมด้วยป้ายขนาดเฉกเช่นงานชิ้นนี้ หากแต่ทั้งหมดอยู่บนระนาบสูง เราเห็นจากระยะห่างอยู่เป็นนิจ แทบคิดไม่ออกว่าสัดส่วนในความเป็นจริงนั้นเป็นเช่นไร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรจากการสัมผัสงานชิ้นนี้ ที่เราจะพบว่า เราสามารถเข้าไปยืนในหยักของ ก ไก่ ได้ หรือ นอนในโอบของ ว แหวน บ ใบไม้ เมื่อสำรวจงานชิ้นนี้แล้วเราอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการมองตัวอักษรเวลาเราอ่านหนังสือ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือเราจะพบว่าเราใช้ชีวิตอยู่กับตัวอักษรอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา”