คราส การกลืนกินของแบบตัวอักษรไทย

➜ แบบตัวอักษรที่คุณกำลังอ่านอยู่ขณะนี้ หน้าตาแปลกไปจากเดิม เราเชื่อว่าหลายๆ คนไม่ได้สังเกตเห็น หลายๆ คนสังเกตเห็น แต่ไม่ได้รู้สึกอะไรมากไปกว่านั้น เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น แฮมเบอร์เกอร์ มีคำตอบ..

ย้อนหลังไปหลายเดือนก่อนหน้า ทีมงานนิตยสาร แฮมเบอร์เกอร์ ได้พูดคุยกับ อนุทิน วงศ์สรรคกร ผู้ก่อตั้งพฤติกรรมการออกแบบ และนักออกแบบตัวอักษร ลำดับต้นๆ ของประเทศ ถึงความแตกต่างของนิตยสารที่ใช้แบบตัวอักษรจากฟอนต์ฟรีที่ใช้กันทั่วไป กับนิตยสารที่มีแบบตัวอักษรเฉพาะเป็นของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบของการพูดคุย ทำให้เรานึกถึงภาพ แฮมเบอร์เกอร์ หน้าตาใหม่ ปรากฏอยู่โดดเด่น และสร้างตัวตนที่เด่นชัดจากการมีแบบตัวอักษรเป็นของตัวเอง แบบตัวอักษร มีความสำคัญต่อนิตยสารเล่มหนึ่งๆ ขนาดนั้นเชียวหรือ?

เราได้พูดคุยกับ เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช นักออกแบบตัวอักษร เจ้าของ “คราส” ชุดตัวอักษรที่จัดจำหน่ายอยู่กับ คัดสรรดีมาก ดีสทริบิวชั่น ซึ่งจะปรากฏบนพื้นที่ส่วนหนึ่งในนิตยสาร แฮมเบอร์เกอร์ ตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป

เอกลักษณ์ ทำงานออกแบบกราฟิกภายใต้ชื่อ “B513DS!GN” เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพและที่ศูนย์ศิลปะนานาชาติ สมาคมฝรั่งเศส ทั้งยังทำงานออกแบบตัวอักษร แม้ว่าความถี่ของงานออกแบบตัวอักษรไม่มากจนไม่อาจยึดเป็นอาชีพหลักได้ แต่เขาก็ยังยืนยันว่าการออกแบบตัวอักษรเป็นงานที่เขาสนุก “ผมเคยคุยกับนิตยสารเล่มหนึ่งไปว่าไทป์ดีไซน์ รายได้ประมาณ 1 ใน 5 ของงานกราฟิก แต่ไม่ได้แปลว่างานออกแบบตัวอักษรราคาถูก แต่เพราะความถี่ของงานไม่ได้เยอะเท่างานกราฟิก แล้วคนจะเข้าใจว่าทำฟอนต์ง่ายและเร็ว คนจะชอบถามว่าผมทำมาแล้วกี่ฟอนต์ ถึงร้อยมั๊ย ผมก็ตอบได้แค่ว่าฟอนต์ชุดนึงทำเป็นปี จะเอาสิบฟอนต์ ร้อยฟอนต์เลยเหรอ”

“ที่จริงแล้ว ฟอนต์ใช้เวลาแต่ละชุดเป็นปี กว่าจะพัฒนาจนมันนิ่ง การเลือกโครงสร้างที่ร่างไว้หลายๆ แบบว่าแบบไหนเหมาะสมกับชุดอักษรชุดนั้นที่สุด สามารถสร้างความแตกต่างจากแบบตัวอักษรที่มีอยู่ในตลาด ทั้งยังต้องทดสอบการใช้งาน เรื่องระยะช่องไฟ ตัวอักษรไหนจะมาเจอกัน หากเราใช้เองก็พอจะรู้ว่าใช้งานมันอย่างไร แต่พอจะต้องมีคนอื่นเอาฟอนต์ไปใช้ จะมีผลกระทบอยู่เหมือนกัน มันแตกต่างจากกราฟิกอื่นๆ ที่เสร็จแล้วจบเลย แต่ฟอนต์ เราไม่รู้ว่าผู้ที่นำไปใช้มีความรู้เรื่องการจัดวางตัวอักษรมากน้อยแค่ไหน แล้วฟอนต์แต่ละตัวนั้นจะจบที่ไหนอย่างไร”

สำหรับ “คราส” ที่จะใช้เป็นแบบตัวอักษรของนิตยสาร แฮมเบอร์เกอร์ นับเป็นฟอนต์เชิงทดลองที่เอกลักษณ์เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปอย่างน่าสนุก “คราส ในช่วงแรกดูออกจะไทยๆ หน่อยๆ เพราะเป็นตัวอักษรแบบมีหัวโค้งๆ นิดหนึ่ง ซึ่งจังหวะนั้นผมกำลังสนใจทำตัวหนาตัวบาง สิ่งที่คิดคือ ความหนาแต่ละน้ำหนักจะมีหัวอักษรที่ค่อยๆ ลดลง เหมือนถูกกลืนลงไป เลยตั้งชื่อนี้ขึ้นมา แต่พอนำไปทำภาษาอังกฤษไว้ใช้คู่กัน ก็ลองใช้วิธีคิดแบบเดิม โดยบางส่วนที่เกิดจากความไม่ได้ตั้งใจในตัวอักษรไทยที่ทำไปแล้วมาพัฒนาเป็นต่อตัวอังกฤษ แล้วพอพัฒนาตัวภาษาอังกฤษเพื่อให้ครบทั้งชุด มันก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เหมาะสมกันทั้งชุดเพื่อให้ตัวอักษรในชุดนั้นๆสมบูรณ์ เพื่อที่จะนำตัวอักษรภาษาอังกฤษจัดจำหน่ายที่ T26 จากนั้นก็เอาตัวภาษาอังกฤษที่สมบูรณ์กลับมาเป็นโครงสร้างต้นแบบปรับแก้ไขตัวภาษาไทยอีกขั้นหนึ่ง คือผมอยากลองว่ากลืนไปกลืนมาจะได้อะไรแปลกใหม่ออกมาบ้าง”

ย้อนหลังไปหลายปีก่อนหน้า สันติ ลอรัชวี กราฟิกดีไซน์เนอร์ผู้ก่อตั้งบริษัทภาคปฏิบัติ เคยเขียนบทความผ่าน a day weekly และ anuthin.org พูดถึงการอ่านนิตยสารของเขา ว่าเปรียบเหมือนการนั่งคุยกับคนคนหนึ่ง รูปเล่มและหน้าปกเปรียบเหมือนรูปร่างหน้าตา บุคลิกภาพ การแต่งกาย หรือท่าทางของคนๆ นั้น ส่วนเนื้อหาในนิตยสารก็เหมือนกับหัวเรื่องที่พูดคุยกัน และแบบตัวหนังสือของนิตยสาร น่าจะเปรียบได้กับเนื้อเสียงของคนที่เรากำลังนั่งคุยด้วย

“การที่นิตยสารฉบับหนึ่งได้ให้ความสำคัญและพิถีพิถันต่อแบบตัวอักษรที่จะใช้ในเล่ม เพราะตัวอักษรก็คือเครื่องมือในการสื่อสารให้เราได้รับรู้เนื้อหานั้นๆ เราไม่อาจปฏิเสธว่าเนื้อเสียงของคนคนหนึ่งมีผลต่อการพูดคุยทั้งด้านการสื่อสารและด้านความรู้สึก ตราบใดที่เรายังใช้ภาษาเขียนเป็นเครื่องมือหลักในการอ่าน ฟอนต์ตัวอักษรก็มีความสำคัญเคียงคู่กับภาษาที่เราใช้ไปในขณะเดียวกัน”

มุมมองของนักออกแบบ เมื่อ “คราส” ปรากฏบนนิตยสาร แฮมเบอร์เกอร์

“แบบตัวอักษรของยุคนี้ต้องดูเสถียร ไม่มากเกินไป และมีจุดเด่นเท่าที่จำเป็น ทุกวันนี้จึงวัดกันที่ การสร้างฟอร์มใหม่ที่ดูธรรมดาแต่แอบแปลกตา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ จะออกไปในแนวเอาแปลกอย่างเดียว “คราส” เป็นอีกตัวอย่างของความพยายามผลักดันโครงสร้างและมาตรฐานแบบละตินในตัวอักษรไทย เพื่อให้นักออกแบบบ้านเรามีทางเลือกในการจัดวางตัวอักษรมากขึ้น”
– อนุทิน วงศ์สรรคกร 
นักออกแบบตัวอักษร ผู้ก่อตั้งพฤติกรรมการออกแบบ และ คัดสรรดีมาก ดีสทริบิวชั่น

“คราสคือตัวอักษรหนึ่งที่ถูกพัฒนาโดยการใช้ฟอร์มของการผสมสลับไปมาของอักษรไทย และอักษรละติน จึงทำให้เกิดรูปแบบตัวอักษรที่มีลักษณะแตกต่างและแปลกตา ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับนิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ที่มีการใช้ภาษาอังกฤษกับภาษาไทยผสมกันค่อนข้างมาก และการปรับโฉมที่ต้องการบุคลิกลักษณะที่พิเศษจึงต้องการตัวอักษรใหม่ที่ไม่คุ้นตา และทันสมัยเข้ากับรูปแบบการจัดวาง อีกทั้ง “คราส” ยังมีน้ำหนักความหนาบางของตัวอักษรที่มีให้เลือกใช้มากพอที่จะก่อให้เกิดการใช้งานที่หลากหลายในการจัดวางหน้านิตยสาร”
– เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช 
นักออกแบบตัวอักษร และผู้กำกับตัวอักษร ของคัดสรรดีมาก ดีสทริบิวชั่น

“ผู้ที่ได้ติดตามอ่านแมกกาซีนมาตั้งแต่ปีแรกๆ คงรู้สึกได้ว่าความเป็น แฮมเบอร์เกอร์ ถูกปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ เติบโตขึ้นทั้งด้านรูปแบบ เนื้อหา รวมไปถึงมุมมองที่มีต่อวงการบันเทิงไทยก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จนการเคลื่อนไหวล่าสุดคือ การนำฟอนต์ใหม่มาใช้ การปรับเปลี่ยนรูปแบบตัวอักษร ทำให้ภาพของ แฮมเบอร์เกอร์ ชัดเจนต่อผู้อ่านมากขึ้น เนื่องจากฟอนต์คราส ยังคงความเรียบง่ายไว้ แต่อ่านง่าย มีจุดเด่นแปลกตา ทางเลือกในการจัดเรียงเพิ่มขึ้น เพราะใกล้เคียงกับตัวอักษรภาษาอังกฤษ ลองสังเกต HAMBURGER เล่มนี้ดูดีๆ คุณจะเห็นความ ‘เรียบ’ แต่ ‘เก๋’ ของฟอนต์นี้แน่ๆ”
– วิวาน วรศิริ 
อาร์ตไดเรคเตอร์ นิตยสาร แฮมเบอร์เกอร์