ถนนไปสู่ความชัดเจน (๑)

อ่านบทความนี้ก่อนถูกตีพิมพ์จริงใน นิตยสารอาร์ตโฟร์ดี ฉบับประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๐

➜ การเกิดสิ่งใหม่ในโลกใบนี้เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดนิ่งหรือเกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาเลยก็ว่าได้ แต่จะมีสิ่งใหม่ซักกี่ชิ้นที่สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์อนันต์ต่อผู้คน ต้นตอของการเกิดอาจไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์เพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นการเกิดสิ่งใหม่จากการเล็งเห็นปัญหาและต้องการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเดิมให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น และคำว่าสมบูรณ์แบบก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอะไรมาลบล้างความสมบูรณ์แบบของตัวมันได้เช่นกัน

ดอน มีคเกอร์ (Don Meeker) นักออกแบบเลขนศิลป์สิ่งแวดล้อม และ เจมส์ มอนเทลบาโน (James Montalbano) นักออกแบบตัวอักษร ผู้ซึ่งเล็งเห็นกับปัญหาที่ทุกคนมองเห็นซะจนเป็นเรื่องชินตา จะมีซักกี่คนที่เห็นปัญหาและต้องการจะแก้ไข เป็นเวลากว่าสิบปีที่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้จบลงแค่เปลี่ยนภาพจากการมองผ่านหน้ากระจกรถยนต์เท่านั้น ฟอนต์ Highway ถูกหยิบยกมาเป็นปัญหาสำคัญที่คนกลุ่มหนึ่งต้องการจะแก้ไขอย่างจริงจัง

ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ ไม่เกินเพียงหนึ่งช่วงอายุคน มุมมองของเราปุถุชนทั่วไปที่มีต่อการออกแบบตัวอักษรหรือที่เรารู้จักกันดีว่าฟอนต์ดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินจะจับต้อง หรืออาจถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากเหลือเกิน จะมีซักกี่คนที่รู้จัก สเตนเลย์ มอริสัน (Stanley Morison) นักออกแบบตัวอักษรชาวอังกฤษที่เป็นผู้สร้างฟอนต์ระดับตำนานอย่าง Times New Roman แต่ในวันนี้มุมมองที่เรามีต่อฟอนต์ก็เปลี่ยนไปอย่างน่าอัศจรรย์ ฟอนต์ได้กลายเป็นกุญแจสำคัญต่อสังคมโลกไปโดยปริยาย

ดอน มีคเกอร์ เรียนจบจิตรกรรมจากมหาวิทยาลัยโอเรกอนและจบปริญญาโทด้านออกแบบเลขนศิลป์และออกแบบอุตสาหกรรมจากแพรท อินสทิทิวท์ จากนิวยอร์ค หลังจากนั้นเขามีธุรกิจเล็กๆ รับทำป้ายที่ใช้ตามร้านค้าทั่วไป ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ช่วงปลาย ๘๐ มีคเกอร์ได้เป็นคนคิดค้นระบบป้ายเตือนภัยทางน้ำให้กับวิศวกรกองทัพ จากปัญหาที่คนกว่า ๒๐๐ คนจมน้ำเสียชีวิตต่อปี เนื่องจากสาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถมองเห็นป้ายเตือนได้ในสภาพแสงสลัวของเช้าตรู่และก่อนค่ำ จึงทำให้มีคเกอร์ เกิดความคิดที่จะแก้ปัญหาให้อย่างตรงจุดโดยการทำให้พื้นผิวของป้ายให้สว่างขึ้น ด้วยการใช้วัสดุเรืองแสงจาก 3M ทำให้สามารถมองเห็นป้ายได้แม้ในที่มืด หลังจากนั้นในปี ๑๙๘๙ ความสำเร็จจากการทำป้ายเตือนภัยทางน้ำของเขา ทำให้รัฐโอเรกอนต้องการดึงตัวเขาไปออกแบบป้ายการท่องเที่ยวตามท้องถนนให้แก่รัฐ ซึ่งโจทย์ที่ได้รับมอบหมายคือต้องการเพิ่มข้อมูลการท่องเที่ยวลงไปบนป้ายถนน โดยไม่ทำให้ดูรกหูรกตาและต้องไม่เพิ่มขนาดของป้ายให้ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหลังจากที่ได้ลองกลับมาทบทวนกับโจทย์ทั้งหมดแล้ว มีคเกอร์ก็รู้สึกว่าเรื่องดังกล่าวเป็นไปได้ยาก อันเป็นผลมาจากฟอนต์ด้วยประการทั้งสิ้นทั้งปวง

ฟอนต์ที่คู่มากับป้ายถนนที่มีมานานกว่าศตวรรษ หรือที่มีชื่อเรียกว่า “Highway Gothic” และด้วยลักษณะเฉพาะที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูสุดแสนจะเทอะทะ ทำให้คุณน่าจะสามารถจินตนาการได้ว่าเมื่อใส่ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมลงไปบนป้าย ก็จะยิ่งเพิ่มอุปสรรคในการอ่านมากขึ้นไปกว่าเดิม

ในขณะที่มีคเกอร์และทีมออกแบบของเขาคิดจะแก้ไขปัญหาป้ายในระดับรัฐอยู่นั้น กรมทางหลวงกลางของสหรัฐอเมริกากำลังคำนึงถึงในเรื่องปัญหาอื่นที่ใหญ่กว่า เรื่องนั้นก็คือ ความสามารถในการอ่านป้ายตามท้องถนนโดยเฉพาะเมื่อขับรถในตอนกลางคืน แสงที่ส่องจากไฟหน้ารถเมื่อไปกระทบกับป้ายจะทำให้ตัวอักษรดูเบลอและฟุ้ง จนอาจทำให้สับสน โดยเฉพาะกับคนสูงอายุ ประมาณการว่ามีสูงถึง ๑ ใน ๕ ของผู้ใช้ท้องถนนในอเมริกาที่ประสบกับปัญหานี้

จากการทดลองของมีคเกอร์ เขาได้ทดลองนำป้ายถนน ๒ แบบมาวางเทียบกันและส่องด้วยไฟฉายแบบเร็วๆไปมา ป้ายแรก เป็นแบบป้ายที่มีใช้มาตั้งต้นปี ๑๙๐๐ เป็นป้ายตัวอักษรขาวบนพื้นดำ ผลที่เกิดขึ้นจากการส่องไฟคือป้ายก็ยังคงเป็นสีดำ ตัวอักษรขาวสว่างขึ้นเล็กน้อยแต่ก็ไม่มากพอที่จะมองเห็น และเมื่อส่องไปที่ป้ายที่สอง เป็นตัวอักษรขาวบนพื้นฟ้า ซึ่งเป็นป้ายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ผลที่เกิดขึ้นคือพื้นผิวทั้งป้ายสว่างจ้า และยิ่งทำให้เห็นตัวอักษรเบลอ ดูเลือน อ่านได้ยาก ลองคิดดูว่านี่แค่ทดสอบด้วยไฟฉาย หากเราขับรถด้วยความเร็ว ๗๐ ไมล์/ชั่วโมง จะก่อให้เกิดอันตรายขนาดไหน

จากปัญหาดังกล่าวรัฐบาลกลางเลยต้องการที่จะเพิ่มขนาดของตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น ๒๐% ซึ่งหากคิดจะเพิ่มขนาดตัวอักษรก็จะต้องเพิ่มขนาดของป้ายไปด้วย โดยต้องแลกมากับการใช้เงินกว่าพันล้านดอลล่าร์เพื่อที่จะแก้ไขปัญหานี้และยังมีคำถามตามมาอีกว่าหากจะเพิ่มขนาดป้ายก็คงต้องเพิ่มทั้งโครงสร้างของป้าย หรือแม้กระทั่งเพิ่มถนนให้กว้างมากขึ้นเพื่อรองรับกับขนาดของป้ายด้วยหรือ?

จุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมดนี้น่าจะมาจากการพยายามจัดการกับรูปแบบป้ายท่องเที่ยวที่โอเรกอนและสิ่งนี้ได้กลายมาเป็นจุดกำเนิดของประวัติศาสตร์ของชาติเลยก็ว่าได้ ที่สามารถนำระบบของการออกแบบเลขนศิลป์มาประยุกต์กับเรื่องทางหลวงของอเมริกาได้อย่างลงตัวและเหมาะสมที่สุด

จุดกำเนิดของป้ายบอกทางสาธารณะที่จัดทำโดยรัฐ เกิดขึ้นครั้งแรกที่โรม ในรูปแบบหินหลักกิโล เหมือนกับที่ยังเห็นกันอยู่ทั่วไปในประเทศไทย และเมื่อมาถึงยุคที่เริ่มมีการใช้รถยนต์(ในเชิงพาณิชย์) ก็เริ่มมีป้ายถนนเกิดขึ้นตามมา ตัวอักษรที่ใช้บนป้ายในยุคแรกๆล้วนถูกเขียนขึ้นมาด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลเพียงข้อเดียวคือไม่มีใครที่สามารถเขียนตัวพิมพ์เล็กได้สวยงามและสัดส่วนเท่ากันทุกตัวได้ ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นก็คือตัวพิมพ์ใหญ่ประกอบไปด้วยเส้นตรงและเส้นโค้งเล็กน้อย แต่ตัวพิมพ์เล็กแทบทุกตัวจะประกอบด้วยเส้นโค้ง มีลักษณะที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าเยอะอย่างเห็นได้ชัดที่จะทำซ้ำในจำนวนมากด้วยการเขียน

จนกระทั่งเมื่อปีราว ๑๙๒๐ ได้เกิดเทคโนโลยีระบบการไดคัท ทำให้สามารถตัดตัวอักษรออกมาเป็นตัวๆได้จากแผ่นโลหะ จึงเป็นการง่ายขึ้นในการจัดเรียงตัวอักษรบนแผ่นป้าย เมื่อถึงในยุคอุตสาหกรรม ถนนหนทางก็เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องทำป้ายถนนจำนวนมาก และที่สำคัญคือต้องทำให้เกิดระบบมาตรฐานของประเทศ รัฐบาลอเมริกาเลยได้ให้กำเนิดฟอนต์แรกขึ้นในปี ๑๙๓๕ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคัมภีร์ไบเบิลของตัวอักษรป้ายทางหลวงที่ต้องยึดถือปฎิบัติเลยทีเดียว

ในปี ๑๙๕๖ ประธานาธิปดี Dwight D. Eisenhower ได้มีนโยบายขยายเครือข่ายถนนเชื่อมต่อตรงระหว่างรัฐที่ทุกวันนี้รู้จักกันในนาม Interstates วิศวกรโยธาต้องการให้ป้ายดูทันสมัยจึงตัดสินใจที่จะออกแบบขอบของป้ายให้โค้งมนแทนที่จะเป็นขอบเหลี่ยม กลายมาเป็นที่มาของป้ายทางหลวงขอบมนหรือมีเส้นขอบมนวิ่งโดยรอบ และหยิบเอาฺ Block letter ที่่ใช้กันแพร่หลายในช่วงที่ทำป้ายไดคัทมาใช้ หรือที่เรารู้จักกันดีว่าคือ Highway Gothic ทุกวันนี้ ฟอนต์ Highway Gothic มีทั้งหมด ๖ ชุด แต่แบบที่นิยมใช้ทำป้ายมากที่สุดคือชุดที่๕ Series E-Modified ซึ่งตัวนี้เองคือตัวที่ถูกนำมาใช้เปรียบเทียบในการออกแบบฟอนต์ Clearview ฟอนต์ใหม่สำหรับทางหลวงของสหรัฐอเมริกา

ในความไม่สมบูรณ์ของ Highway Gothic ในด้านของการออกแบบตัวอักษร ทำให้เกิดสเน่ห์ของความไม่สมบูรณ์ขึ้นอย่างน่าประหลาด และทำให้เกิดกลุ่มแฟนคลับคนที่หลงไหลและชมชอบ ทั้งๆที่ในการออกแบบนี้ไม่ได้ผ่านกระบวนทางความคิดและทดสอบความสามารถทางการอ่านใดๆเลย โทบิอาส เฟรร์-โจนส์ (Tobias Frere – Jones) นักออกแบบตัวอักษรที่มีชื่อเสียงในนิวยอร์คกล่าวว่า มันเป็นเรื่องที่มีความเป็นอเมริกันมากๆ ต้องการแค่ทำออกมาให้เสร็จ แค่ให้ใช้งานได้เป็นพอ โดยที่ไม่ได้คำนึงในเรื่องกระบวนการออกแบบเลย แต่เขาก็เป็นผู้หนึ่งที่หลงใหล Highway Gothic เช่นกัน มันกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาในการออกแบบฟอนต์ Interstate ซึ่งเค้ารู้สึกว่ามันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่จะออกแบบขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องคิดหรือใส่ใจรายละเอียดอะไรมากมาย เพราะผลที่ได้ออกมาคือมันทำให้รู้สึกไม่ปรุงแต่งและมีความจริงใจแฝงอยู่

ติดตามอ่านต่อใน ถนนไปสู่ความชัดเจน (๒)

หมายเหตุ : บทความนี้ใช้ข้อมูลพื้นฐานอ้างอิงจาก The Road to Clarity ของ โจชัวร์ ยัฟฟา (Joshua Yaffa) ตีพิมพ์ในนิตยสารนิวยอร์คไทม์ (นิตยสารฉบับวันวันอาทิตย์) ประจำวันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๐ เรียบเรียงและแปลเป็นภาษาไทยโดย อนุทิน วงศ์สรรคกร และ สุพิสา วัฒนะศันสนีย