บรรยายพิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต

➜ สรุปการบรรยายพิเศษของ อนุทิน วงศ์สรรคกร เรื่องการเลือกและสร้างสรรค์หัวข้อโครงการศึกษาส่วนบุคคล (ดีกรีโปรเจค) ณ ห้องประชุมสุรัตน์ ๒ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐

หัวข้อการบรรยายย่อย ๑๒ ข้อ สิ่งที่ต้องคำนึงเกี่ยวกับการเสนอหัวข้อโครงการศึกษาส่วนบุคคล เรียบเรียงจากเอกสารบันทึกประกอบการบรรยาย

๑) หัวข้อโครงการมักเป็นเชิงประโยคคำถามมากกว่าประโยคบอกเล่า ลักษณะของประโยคคำถามนำมาซึ่งความสงสัย ความสงสัยนำมาสู่เรื่องที่ต้องทำให้ชัดเจน

๒) คำถาม ข้อสงสัย หรือข้อโต้แย้ง ทำให้เกิดการพิสูจน์ (ขั้นตอนในการทดลอง) อาจไม่ได้มาซึ่งทฤษฏีใหม่ แต่อย่างน้อยต้องทำให้เราเข้าใจเรื่องที่เป็นคำถามหรือข้อสงสัยมากขึ้น

๓) หากโครงการมุ่งเป้าไปที่การขยายฐานความรู้ของการออกแบบ หรือที่เรียกว่าการออกแบบเชิงทดลอง ผลที่ได้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นบวกเสมอไป การทดลองที่ให้ผลลบก็สามสารถเป็นงานที่ดีได้

๔) คุณค่าของวิทยานิพนธ์อยู่ที่วิธีการ การจัดการ การแจงปัญหา และที่สำคัญคือการค้นหาวิธีการในการพิสูจน์ หรือแก้ไขปัญหา

๕) การเลือกหัวข้อ ไม่ควรเป็นการเพียงแค่การออกแบบอะไรเพื่ออะไร หากต้องการทำงานเพียงเป็นการแสดงความสามารถในภาคทักษะทางการออกแบบ ลักษณะหัวข้อเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี แต่จะเป็นเหมือนเพียงการแจกแจง ย้ำเตือนความสามารถ โดยไม่ได้แสดงให้เห็นความสามารถทีใช้เนื้อหาวิชาต่างๆมาเป็นฐานส่งสู่ความรู้ใหม่

๖) หัวข้อที่ดีควรเอื้อหรือส่งเสริมให้เกิดการค้นคว้า ไม่ใช่เพียงการค้นคว้าในมิติที่ทำเพื่อในส่วนของการนำเสนอผลงาน

๗) ความเป็นไปได้ใหม่เป็นสิ่งที่ต้องการมากกว่าความเป็นไปได้ที่ถูกบันทึกไว้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ถูกบันทึกไว้แล้วนั้นเป็นสิ่งที่ถูกท้าทายไม่ได้

๘) ขั้นตอนสำคัญกว่างานสำเร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่างานสำเร็จสำคัญน้อยกว่าขั้นตอน หากไม่ให้ความสำคัญกับงานสำเร็จเพียงพอ ขั้นตอนก็ไม่สามารถแสดงเนื้อหาและคุณค่าของมันได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้งานสื่อสารผิดพลาดหรือไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย เกิดผลแก่เพียงคนทำ ไม่เกิดผลในวงกว้าง

๙) รูปแบบและการเลือกสื่อมาทีหลังหัวข้อ รูปแบบและสื่อจะถูกเลือกโดยตัวเนื้องานวิจัยและข้อมูล นักออกแบบมีเพียงหน้าที่ทำความเข้าใจกับตัวเลือกและทบทวนตัวเลือกนั้นๆ

๑๐) ที่มาของโครงการ อาจเริ่มจาก ความสนใจส่วนบุคคล คำถาม ข้อสงสัย สิ่งที่ยังคลุมเคลือ สิ่งที่ท้าทาย (ท้าทาย หมายถึง อะไรที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ในทางทฤษฏี)

๑๑) การเลือกศาสตร์อื่น หรือศึกษาศาสตร์อื่น เพื่อผลลัพธ์ทางการออกแบบ เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงองค์ความรู้ของการออกแบบเป็นหลัก อย่าศึกษาศาสตร์อื่นจนประเด็นทางการออกแบบเป็นหัวข้อรอง

๑๒) ขั้นตอนการออกแบบสำหรับการทำนิพนธ์หมายถึง การแสดงออกอย่างไรเพื่อให้บุคคลอื่นเห็นประเด็นคำถามของเรา และเรามีวิธีอธิบายอย่างไรให้ผู้อื่นเข้าใจได้ด้วยทักษะการออกแบบ (สื่อสาร)

การบรรยายพิเศษครั้งนี้จัดขึ้นโดยภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อปรับพื้นฐานความเข้าใจสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ก่อนการเสนอหัวข้อโครงการศึกษาส่วนบุคคล โดยวิทยากร ๓ ท่าน ได้แก่ สันติ ลอรัชวี และ กนกนุช ศิลปวิศวกุล จาก ภาคปฏิบัติ และ อนุทิน วงศ์สรรคกร จาก พฤติกรรม/คัดสรรดีมาก