Color Font

ในช่วงที่การมาของวาไรเอเบิล ฟอนต์ (Variable Font) เป็นที่สนใจและถูกพูดถึงมากในหมู่นักออกแบบตัวอักษร แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนหน้าเล็กน้อย แต่ไม่เป็นจุดสนใจมากนัก นั่นก็คือการมาของ คัลเลอร์ ฟอนต์ (Color Font)

คัลเลอร์ ฟอนต์ คือแบบตัวอักษรที่สามารถบรรจุสีที่หลากหลาย (Multiple Color) ไล่เฉด (Shade) พื้นผิว (Texture) และเจาะใส (Transparency) ลงไปในแบบตัวอักษรได้ โดยใช้วิธีการบรรจุเวคเตอร์ ภาพบิทแมพ หรือทั้งคู่ลงในฟอนต์ไฟล์

อันที่จริง แนวคิดเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่มากนัก เพราะมีความต้องการและความพยายามที่จะทำให้มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะงานประเภทแคมเปญหรืองานเทศกาลต่างๆ โดยการใช้แบบตัวอักษรที่มีความพิเศษทั้งสีสัน พื้นผิวแบบต่างๆ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ไม่เอื้ออำนวย จึงมักจะใช้วิธีสร้างเฉพาะคำที่ต้องใช้หรือไม่ก็ทำตัวอักษรพิเศษแล้วมาประกอบเป็นคําขึ้นมา เรียกได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามหน้างานนั้นๆ แต่ถ้าเป็นสื่อดิจิทัลก็แทบจะเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากมาก จนกระทั่ง โมซิลลา (Mozilla) และอะโดบี (Adobe) ร่วมมือกันพัฒนาให้เกิดขึ้น โดยมีการพูดถึงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในช่วงต้นปี 2016 อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากไมโครซอฟต์ (Microsoft) และกูเกิล (Google)  ในการตกลงร่วมกันที่จะใช้ไฟล์ชนิดนี้เป็นมาตรฐานใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ต่างฝ่ายต่างพัฒนาในรูปแบบและแนวทางของตัวเอง

ซึ่งนั่นหมายถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในการเลือกใช้แบบตัวอักษรบนสื่อดิจิทัล รวมไปถึงอีโมจิ (Emoji) ที่ทุกวันนี้แทบจะเป็นมาตรฐานของระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ไปแล้ว

คัลเลอร์ ฟอนต์ อาจจะไม่ได้มีผลกับสื่อสิ่งพิมพ์มากนักเมื่อเทียบกับสื่อดิจิทัลที่จะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฟอนต์แบบพิเศษที่เรียกร้องการใช้งานแบบตัวอักษรแบบซ้ำๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเปลี่ยนคำได้ง่ายเพียงแค่พิมพ์คำออกมา ไม่ต้องมีการบ่นจากนักออกแบบที่จะมาปรับแก้เอฟเฟกต์หรือต้องเรียงคำใหม่ อีกทั้งยังสามารถนำไปแสดงผลบนเว็บไซต์เพื่อให้ได้ภาพเดียวกันอีกด้วย นอกจากนี้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ หนัง และเกม สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน

บางคนอาจจะเกิดคำถามในใจว่า แล้วข้างในไฟล์ คัลเลอร์ ฟอนต์ นั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เพราะปกติแล้วฟอนต์ไฟล์จะสามารถบรรจุแค่เส้นเวคเตอร์ การจัดการ และการแสดงผลเท่านั้น แต่ คัลเลอร์ ฟอนต์ นั้นจะบรรจุ ข้อมูลเอสวีจี (SVG Data)¹ ภายใน โอเพนไทป์ (OpenType) ฟอนต์ไฟล์ ซึ่งเราเรียกรูปแบบไฟล์ชนิดนี้ว่า “โอเพนไทป์-เอสวีจี ฟอนต์ (OpenType-SVG fonts)”

แน่นอนว่าการที่ต้องบรรจุข้อมูลต่างๆ ของ คัลเลอร์ ฟอนต์ นั้นจะทำให้ขนาดของไฟล์ฟอนต์นั้นใหญ่ขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่าเราจะมีความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่มากพอที่จะใช้เข้าถึงไฟล์ขนาดใหญ่ได้ไม่ยาก แต่การที่จะต้องโหลดไฟล์ที่ขนาดใหญ่แบบซ้ำๆ เป็นปริมาณมากก็ยังคงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเท่าไหร่นัก คัลเลอร์ ฟอนต์ จึงเหมาะกับงานที่จำเป็นต้องการความสามารถของมันจริงๆ ซึ่งผลปลายทางนั้นไม่ควรจะอยู่ในสัดส่วนที่ใหญ่มากจนเกินไป

ถึงแม้ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาเริ่มมีมากขึ้น2 แต่แอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งานของไฟล์ชนิดนี้ก็ยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด³ ทั้งยังคงต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่จะสามารถรองรับการใช้งานไฟล์ชนิดนี้ให้เป็นมาตรฐานได้ และเมื่อวันนั้นมาถึงหน้าตาของเว็บไซต์รวมไปถึงแอปพลิเคชันต่างๆ ก็คงจะมีอะไรใหม่ๆ ให้เราได้ตื่นตาตื่นใจอย่างแน่นอน

1 SVG (Scalable Vector Graphics) รูปแบบการเก็บไฟล์ที่สามารถบรรจุสี ไล่เฉด พื้นผิว เจาะใส และภาพแบบบิทแมพได้

2 ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาในปัจุบัน (Mid 2018) Adobe Phoshop CC และ Adobe Illustrator CC (2017 ขึ้นไป โดยใช้ Plug-In), Glyphs ,Fontlab VI

3 ซอฟต์แวร์ที่ร้องรับการใช้งานในปัจุบัน (Mid 2018) Adobe Phoshop CC และ Adobe Illustrator CC (2017 ขึ้นไป), Firefox (Virsions 32 ขึ้นไป), Microsoft Edge