➜ เว็บไซต์สำนักข่าวไทยที่เป็นหนังสือพิมพ์มาก่อน มักจะมีความอ่อนแอเรื่อง typography มากกว่าสำนักข่าวที่เป็น native digital ซึ่งเห็นความแตกต่างชัดมากด้วยตาเปล่า บอกเลยว่า ณ ตอนนี้ ความรื่นรมย์ในการอ่านไม่มีเอาเสียเลย ไม่ว่าจะ ฐานเศรษฐกิจ ประชาชาติธุรกิจ กรุงเทพธุรกิจ มติชน หรือหัวสีเดิมทั้งหลายที่มาทำเว็บทั้งหมด มันสะท้อนเรื่องระดับความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบ น่าเศร้าใจที่ไม่ได้เกิดการเรียนรู้อะไรเอาเสียเลย อันที่จริงแล้วคนทำหนังสือพิมพ์เป็นเล่มมาหลายสิบปีควรมีความได้เปรียบเรื่องทักษะการให้ข้อมูล แปลกมาก และเรื่องพื้นฐาน Traditional Typography แต่อาจจะเนื่องด้วยมันไม่มีหรือไม่ค่อยสนใจแต่แรกอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่แปลกหรอกที่ The Momentum, The Matter, VoiceTV หรือ The Standard จะให้ความรู้สึกในการอ่านได้ดีกว่า (ขอไม่กล่าวถึงเนื้อหา)
ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยการยอมรับก่อนว่าทีมเว็บเอ็นจิเนียไม่ได้มีความรู้เรื่อง typography การเขียน CSS สเป็กแบบตัวอักษร และอื่นๆ ไม่เกี่ยวกับการใช้ Web Typography ได้ดี ทีมออกแบบมีความสามารถทางการออกแบบ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีความเข้าใจลึกซึ้งเรื่องแบบตัวอักษรและเทคโนโลยีตัวอักษร (Type Technology) เสมอไป ปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายเผชิญไม่อาจแก้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เข้าใจได้ และไม่ได้ทำให้เว็บเอ็นจิเนียและเว็บดีไซน์เนอร์มีคุณค่าน้อยลงแต่อย่างใด ถ้าเข้าใจตรงนี้ มีแต่ทำให้งานดีขึ้นด้วยซ้ำ
ตัวอย่างปัญหา
หัวของมติชนออนไลน์ ช่องไฟพังมากทีเดียว ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องแบบเลย เอาแค่ช่องไฟ MAT ห่าง TI ชิด คือปล่อยออกมาได้อย่างไร ไม่น่าเชื่อ ส่วนวิธีคิดเรื่องการเอาตัวพาดหัวหนังสือพิมพ์ปกติมาใช้พาดหัวในออนไลน์ แต่ไม่ได้คิดกับฟอนต์ที่นำมาใช้ในกรอบของหน้าจอ นอกจากช่องไฟจะไม่พอและติดกันเป็นพืดๆ แล้ว ความหนา-บางและการแสดงผลยังแย่อีกต่างหาก เหมือนอ่านบาร์โค้ดที่พิมพ์แล้วหมึกบวมตลอดเวลา คือถ้าจะยืนยันใช้พาดหัวตัวไม้กับเว็บ ก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า เพราะแบบตัวอักษรที่มติชนใช้ในสิ่งพิมพ์มันไม่เข้ากับสื่อที่อ่านผ่านหน้าจอ ยิ่งดูบนมือถือนี่ดูไม่จืดเลย พังมาก หากยังยืนยันเรื่องอาร์ตไดเร็คชั่นว่าวางแผนให้คู่กันระหว่างเล่มพิมพ์กับดิจิตอลเช่นนี้ มันก็ต้องการการ re-engineer และปรับการออกแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและมีเดีย ข่าวมติชนดีนะในความคิดผม แต่มันไม่น่าอ่านเลย ที่ยังอ่านอยู่เพราะเนื้อหาอย่างเดียวเท่านั้น คือดับจิตเรื่องการออกแบบไปเลย
ไทยรัฐก็ยังปล่อยให้โอโซนวรรณยุกต์ลอยอยู่เรื่อยไปโดยไม่มีทีท่าว่าจะเห็นว่ามันเป็นปัญหามาเป็นสิบปีได้แล้วกระมัง ไม่ต้องคอมเม้นท์มาอะไรมากสำหรับเลย์เอ้าท์ ก็มีความเป็นไทยรัฐเดิมอยู่ปกติ ก็คงอยากให้เป็นแบบนั้น อันนี้ว่ากันไม่ได้ การแปลงสัญญาณจากสิ่งพิมพ์มาเป็นเว็บ ก็เป็นเว็บแบบไทยรัฐที่ยัดเยียดลักษณะการนำเสนอเนื้อหาและ typography แบบสุดขีดจำกัด คงเส้นคงวาแบบนี้มาหลายทศวรรษไม่ต่างจากเวอร์ชั่นกระดาษ ไทยรัฐมีสิทธิ์ในการจะยืนบนจุดยืนนั้น หัวเดิมก็ไม่ปรับไม่เปลี่ยนก็ไม่เป็นไร แต่ก็น่าจะปัดฝุ่นอัพเดทเสียหน่อย มันดูเหนื่อยล้ามากกว่าการที่จะทำให้เข้าใจว่าคลาสสิค เหมือนคุยกับลุงแก่ๆ ที่เกษียณ “อายุราชการ” มาแล้วยี่สิบปีแล้วเพิ่งค้นพบว่าโลกนี้มีอินเทอร์เนต ส่วนโลโก้เวอร์ชั่นไทยรัฐทีวีนี่ยิ่งดูไม่ได้เลย คือไม่เปลี่ยนดีไซน์ก็ได้แต่ขอปรับในกรอบของเจตนาเดิมนั้นให้ดีกว่านี้
หัวของ The Standard น่าจะเขียนใหม่ หนาๆ บวมๆ ผิดที่ผิดทางไปหมด เหตุเพราะทดให้เส้นนอนบางลงไม่พอ หรือไม่ก็ไม่ได้ทดเลย เลยทำให้ดูบวมๆ แปลกๆ ส่วนช่องไฟเหมือนปรับไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังปรับได้อีกเยอะทีเดียว ตัวอักษรเรียบๆ แบบนี้ถ้าเขียนขึ้นใหม่เองไม่ได้ (ซึ่งเอาจริงๆ ไม่ได้ง่าย) แนะนำให้พึ่งฟอนต์สำเร็จรูป ปัญหาที่เจอ S ไม่ทด overshoot หรือทดไม่พอ ทำให้ S จะดูเล็กผิดปกติ ส่วน N แคบเกินไป E กว้างเกินไป ส่วนยอดสุดของตัวอักษร (Apex) ของ A ก็กว้างผิดสัดส่วน ช่องไฟ AN และ DA ขยับได้ดีกว่านี้ คือต้องจัดการช่องไฟระหว่างคู่ตัวอักษรเฉพาะ (kern) ติดลบกว่านี้ แต่เรื่องการออกแบบเพจที่เข้าใจธรรมชาติของเว็บช่วยภาพรวมเอาไว้ได้เยอะมาก ซึ่งน่าชมเชย เลยทำให้กลับไปมีจุดด้อยตรงที่ต้องใช้ทักษะพวก Traditional Graphic design อย่างพวกโลโก้แทน พอโลโก้ The Standard ออกมาแบบนี้มันเลยหักล้างกับความหมายของชื่อทันที
บทสรุป
หลายสำนักก็ทนใช้ฟอนต์ฟรีที่มีให้เลือกใช้จำกัด พอดีกับความต้องการบ้าง ไม่พอดีบ้าง บางสำนักก็แปลงฟอนต์สิ่งพิมพ์ไปใช้กับเว็บ ออกแบบไปก็ภาวนาไปว่ามันจะโอเค ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่โอเคเลย และเป็นเพียงทางออกชั่วคราวก่อนมีมาตรฐานเว็บฟอนต์ ทั้งๆ ที่มันเป็นเครื่องมือทางการประกอบธุรกิจ คิดดูดีๆ ช่างไม่สมเหตุสมผลเลยที่ไม่ใส่ใจกับเครื่องมือประกอบธุรกิจ ของบางอย่างประหยัดแล้วมันทำให้ภาพที่คุณคิดไว้ หรือทำให้ที่อยากได้อยากเป็นมันดูด้อยลง เครื่องมือมีจำกัดก็ทำงานได้จำกัด เป็นสัจจะ ลงทุนกับการสร้างเนื้อหาแต่ไม่ลงทุนกับเครื่องมือที่ถ่ายทอด ไม่เมคเซนส์เอาเสียเลย