➜ คงเป็นเรื่องเชยเกินไปถ้าหากจะพูดถึงความหมายของโลกาภิวัตน์กันในวันนี้ แต่การตั้งข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลจากการขยายตัว (หรือหดย่อ?) ของโลก ทั้งการปกครอง สังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรือภาษา ถ้าหากมองด้วยสายตาของนักสังคมศาสตร์ การหลอมรวมและปรับใช้วัฒนธรรมที่หลากหลายให้กลายเป็นหนึ่งนี้ ก่อให้เกิดเส้นของความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่างๆ ในสังคม รวมถึงการสื่อสารที่เปลี่ยนรูปแบบไปจากอดีต ทำให้เห็นว่าขณะปัจจุบันที่โลกเข้าถึงกันได้เร็วมากเท่าไหร่ การสื่อสารที่มีมาตรฐานนั้นยิ่งสำคัญมากขึ้นเท่านั้น
ชีวิตของเราทุกคนในวันนี้จึงขึ้นอยู่กับการสื่อสารที่ดีเป็นสำคัญ
หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่แค่เพียงเทคโนโลยีที่รองรับ แต่รวมถึง สาร ที่สื่อนั้นต้องตอบสนองกับความหลากหลายผ่านการถอดรหัสจากแบบตัวอักษรด้วยเช่นกัน อย่าลืมว่านอกเหนือจากภาษาสากลอย่างอังกฤษที่ใช้แบบตัวอักษรละติน โลกใบนี้ยังมีตัวตนของแบบตัวอักษรในภาษาอื่นและสำคัญต่อกลุ่มผู้ใช้งานที่แตกต่างกันอยู่ทั่วทุกมุมโลก
คำถามคือเมื่อโลกเปลี่ยนไปเราจะรับมืออย่างไร? คำตอบคือให้เริ่มต้นจากการสำรวจเงื่อนไขของปัจจุบัน ศักยภาพของเทคโนโลยีส่งผลให้สามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจำนวนมากได้จริง แต่สินค้าหรือบริการที่ออกแบบและผลิตมาหน้าตาเหมือนกันทั้งโลกก็ไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกของผู้ใช้เสมอไป เพราะความธรรมดาที่ดาษดื่น ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้รู้สึกพิเศษหรือสะท้อนตัวตนของผู้ใช้งานได้ ดังนั้น การทำให้เป็นท้องถิ่น (Localizing) และการผลิตตามความต้องการเฉพาะ (Customizing) จึงเป็นทางเลือกใหม่ของการออกแบบในทุกสาขา รวมถึงการออกแบบตัวอักษรด้วยเช่นกัน
ประวัติศาสตร์การออกแบบตัวอักษรไม่ว่าที่ไหนในโลกก็ตาม จากเดิมเป็นเรื่องที่สำเร็จและเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจของกษัตริย์ รัฐบาล หรืออำนาจการตัดสินใจจากองค์กรขนาดใหญ่ มีบทบาทเป็นฝ่ายกำหนดรูปร่าง หน้าตา และระบบการใช้งานให้กับผู้ใช้ แต่เราจะขอยกคำชมเชยให้โลกาภิวัตน์อีกครั้ง ที่เบนเข็มอำนาจการตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นมาสู่มือผู้ใช้งาน ให้เป็นฝ่ายที่มีอำนาจในการกำหนดรูปร่างของแบบตัวอักษร ลักษณะการใช้ ที่สำคัญคือสร้างให้เกิดบทสนทนาถึงความสำคัญของแบบตัวอักษร อันเป็นพื้นฐานที่แข็งแรงที่สุดของอุตสาหกรรมการออกแบบตัวอักษร
ไม่ว่าโลกจะภิวัตน์ไปมากเท่าไหร่ เราต้องไม่ลืมกลุ่มผู้ใช้เป็นสำคัญ ความหลากหลายของชุมชน (คอมมูนิตี้) ที่มีมากนั้นก็แปรผันตรงกับความต้องการพื้นที่ของตัวเองมากขึ้นตาม ในที่นี้ไม่ใช่แค่ประชาชนของชาติหรือภาษาเท่านั้น แต่รวมถึงการรวมตัวของกลุ่มคนที่หลงใหลในสิ่งหนึ่งหรือมีความสนใจเดียวกันด้วย คอมมูนิตี้ใดๆ ล้วนอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือความต้องการแสดงออกของตัวตน วิธีคิด ปรัชญา วิสัยทัศน์ โดยแบบตัวอักษรสามารถเป็นหนึ่งในพาหนะที่เป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มคนนั้นๆ ได้ ดังนั้นในฐานะนักออกแบบตัวอักษรจึงยิ่งต้องทำหน้าที่สร้างความเป็นไปได้ให้กับคอมมูนิตี้ได้มากที่สุด ช่วยให้ผู้ใช้งานแสดงออกถึงตัวตนของตัวเองตามที่ต้องการ
การออกแบบตัวอักษรเฉพาะพื้นที่ (localized) และออกแบบตัวอักษรเฉพาะตามความต้องการ (customized) เทรนด์การผลิตแบบตัวอักษรที่เป็นความสนใจของเฮนนิ่ง เคราส์ (Henning Krause) นักออกแบบตัวอักษรและผู้จัดการด้านการผลิตแบบตัวอักษรแห่งโมโนไทป์มา นอกจากที่เขาจะสนใจในเรื่องเทคโนโลยีการผลิต การออกแบบตัวอักษรเฉพาะพื้นที่ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่เขาให้ความสนใจมาโดยตลอด โดยเฮนนิ่งและทีมจากโมโนไทป์ได้ทำการปรับแบบตัวอักษรซีริลลิก (Cyrillic) จอร์เจียน (Georgian) อินดิก (Indic) โดยทำงานกับนักออกแบบในพื้นที่ เพื่อสร้างและพัฒนามาตรฐานการผลิตที่จะเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมการออกแบบตัวอักษร รองรับความต้องการเฉพาะภาษาของผู้ใช้งานในประเทศต่างๆ
แบบตัวอักษรอย่าง Avenir Next ที่มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปได้ถึงยุคโทรเลขและตัวพิมพ์ดีด ถูกเลือกขึ้นมาเพื่อพัฒนาให้เป็นมาตรฐานการออกแบบตัวอักษรละติน การใช้งานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันทำให้ Avenir Next ได้รับการต่อยอดสู่ภาษาท้องถิ่นอื่นๆ ภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์ AVENIR NEXT 4.0: The Locl Edit
AVENIR NEXT – Cyrillic Bulgarian
แบบตัวอักษรบลูแกเรียนที่มีพื้นฐานจากอักษรซีริลลิก (ตัวเขียนที่ใช้สำหรับภาษาในกลุ่มภาษาสลาวิก ใช้งานร่วมกันในหลายประเทศอย่างรัสเซีย เซอร์เบีย ยูเครน) ในบางครั้งชาวบลูเเกเรียไม่สามารถเข้าถึงได้ในบางตัวอักษรอย่างถูกต้อง เพราะตัวอักษรไม่ถูกระบุรหัสในยูนิโค้ด การพัฒนาร่วมกันระหว่างผู้ผลิตซอฟต์แวร์กับนักออกแบบตัวอักษรได้ทำให้แบบตัวอักษรภาษาบลูแกเรียนสามารถเลือกได้จากโปรแกรมอินดีไซน์ โดยเปลี่ยนกลับไปมาระหว่างภาษาบลูแกเรียและภาษาอื่นได้
AVENIR NEXT – Cyrillic: Serbian & Macedonian
แบบตัวอักษรเซอร์เบียและมาซิโดเนีย มีลักษณะการพิมพ์ 2 รูปแบบคือแบบละตินและแบบไซลิริค แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีการมีการแปลภาษาจากเซอร์เบียเป็นซีริลลิกนั้นไม่รองรับซึ่งกันและกัน Avenir Next 4.0 แก้ไขปัญหาด้วยการทำตัวเลือกให้กับแบบตัวอักษร โดยทำเพียงหนึ่งครอบครัวแต่มีสไตล์ให้เลือกหลากหลาย ทั้งเอียงหรือตัวหนา ส่งผลให้แบบอักษรเซอร์เบียสามารถแปลกลับไปมาและมีสไตล์ที่ดีมากขึ้น
AVENIR NEXT – Latin: Guarani
กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในบราซิลใต้ อาร์เจนติน่าตอนเหนือ และปารากวัย ซึ่งมีจำนวนนับล้านคนที่พูดภาษาท้องถิ่นอย่างภาษากัวรานิ แต่ไม่สามารถพิมพ์ได้ เพราะอักขระ (glyph) ของภาษากัวรานิที่มีขีดข้างบน (macron) นั้นไม่มีรหัสปรากฏในยูนิโค้ด ทำให้อุปกรณ์ที่แลกเปลี่ยนข้อมูลไม่สามารถอ่านได้ นั่นหมายความถึงการสื่อสารที่ล้มเหลว เพราะไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปสู่อีกเครื่องหนึ่งได้ สิ่งที่โมโนไทป์จึงเป็นการสร้าง Avenir Next 4.0 ที่นำเครื่องหมายเข้าไปรวมไว้กับพยัญชนะ ทำให้สามารถใส่เครื่องหมายแสดงการออกเสียงได้อย่างถูกต้อง
LT DEVANAGARI
Devanagari: Hindi
อักษรเทวนาครี แบบตัวอักษรดั้งเดิมที่เป็นพื้นฐานของภาษาอื่นอย่างฮินดีหรือมราฐี มีลักษณะสำคัญคือการอักขระจำนวนมากที่เขียนติดกันเป็นแพ แม้บางตัวอักษรจะดูแตกต่างออกไป แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้วกลับดูคล้ายคลึงกัน ปัญหานี้ถูกแก้ไขด้วยการระบุยูนิโค้ดที่ทำให้สามารถเปลี่ยนภาษาแต่ลักษณะตัวอักษรเข้าชุดกันเหมือนเดิม
Neue Frutiger THAI
Thai: Both Modern and Traditional
แบบตัวอักษรภาษาไทยที่ประดิษฐ์ต่อจากแบบตัวอักษร Neue Frutiger ออกแบบโดยแอเดรียน ฟรูทิเกอร์ (Adrian Frutiger) และอนุทิน วงศ์สรรคกร ตามลักษณะการแบ่งตัวอักษรไทยทั้งสองประเภท คือมีหัวและไม่มีหัว ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกลักษณะตัวอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในแบบเดียวกันได้
ตัวอย่างเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้งาน ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์แบบตัวอักษรต่างๆ ที่แสดงออกถึงความเป็นท้องถิ่นสำหรับผู้คนในพื้นที่ ประวัติศาสตร์บทใหม่ของตัวอักษรในวันนี้จึงขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีในฐานะเครื่องมือและขึ้นอยู่กับความเป็นท้องถิ่นในฐานะปัจจัยกำหนด การออกแบบอย่างคำนึงถึงความเป็นท้องถิ่นจึงไม่ได้เป็นเรื่องของการตัดสินใจใช้ภาษาเพื่อสื่อความเท่านั้น แต่ยังเป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับรูปแบบและการเลือกใช้งานอย่างเหมาะสม เพื่อสะท้อนตัวตนของชุมชนหนึ่งๆ อย่างถูกต้องอีกด้วย