➜ ย้อนกลับไปในปี 1878 ภาพเคลื่อนไหวม้าวิ่งของเอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์ (Eadweard Muybridge) โดยช่างภาพชาวอังกฤษคือภาพที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์การสร้างภาพเคลื่อนไหวในโลก หมุนเข็มนาฬิกามาปัจจุบันกับการที่เราได้เห็นภาพม้าวิ่งในลักษณะเดียวกันแต่เกิดจากการแทนค่าตัวอักษรในยูนิโค้ดด้วยอิโมจิ หนึ่งในความเป็นไปได้ที่เกิดจากการใช้งานเทคโนโลยีตัวอักษรที่เรียกว่า Variation Fonts
… เทคโนโลยีที่เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของตัวอักษรเช่นกัน
ในขณะที่นักออกแบบไทยยังไม่เข้าใจความหมายของ variation fonts อย่างถ่องแท้ นักออกแบบระดับโลกก็เลือกเดินนำหน้าด้วยการเล่นสนุกและสร้างความเป็นไปได้ใหม่จากแบบตัวอักษรนี้กันต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด ด้วยข้อดีอย่างหนึ่งคือการบรรจุน้ำหนักของตัวอักษรทั้งหมดได้ในไฟล์เดียว การปรับเปลี่ยนตัวอักษรจากแกน (axis) หรือลักษณะสำคัญอย่างการเพิ่มความบาง หนา กว้าง แคบได้ง่ายๆ เพียงเลื่อนแถบสไลด์ จึงเป็นการปลดล็อคข้อจำกัดครั้งสำคัญของแบบตัวอักษรเดิมที่เคยมี
Axis-Praxis (https://www.axis-praxis.org) คือเว็บไซต์ที่เปิดให้ทดลองใช้งาน Variable Fonts กว่า 30 แบบตัวอักษร ทดลองพิมพ์ ทดลองเปลี่ยนแบบ ขนาด การจัดวาง พื้นที่ว่าง แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงผ่านการใช้งานจริงได้จริง ก่อตั้งโดยลอวเรนซ์ เพนเนย์ (Laurence Penney) การเกิดขึ้นของ variable fonts ถูกใช้งานได้โดยนักออกแบบตัวอักษรระดับโลกที่สร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยการแทนที่เวกเตอร์ด้วยพิกเซลที่พลิกกลับไปมา มีทั้งสีและจุดขาว-ดำ ด้วยหลักการเดียวกับ Halftone หรือการทำสำเนาของภาพถ่ายที่ใช้จุดหนาใหญ่เพื่อแสดงส่วนที่เป็นสีดำและใช้จุดเล็กๆ แทนส่วนที่เป็นสีจางจนเป็นสีเทาอ่อน นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่พิสูจน์ให้เห็นว่าศักยภาพของ Variation Fonts นั้นมีเป็นอะไรได้บ้าง
นอกเหนือจากภาพเคลื่อนไหว ความสามารถของ Variation Fonts ยังไปไกลถึงขั้นที่สามารถทำเป็นพิกโตแกรมที่เคลื่อนไหวได้ ด้วยการใช้ไฟล์ฟอนต์ทำเป็นแอนิเมชั่น โดยยังรักษาคุณสมบัติเรื่องไฟล์ขนาดเล็ก ทำให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดเร็วกว่าไฟล์ .gif รวมถึงส่งต่อข้อมูลได้เร็วขึ้นผ่านผลลัพธ์ที่เหมือนกัน
การแสดงตัวอย่างการใช้งาน Variation Fonts เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายหัวข้อ “More Fonts, More Fun” โดยลิซ่า ชอล์ทส์ (Lisa Schultz) และ Rainer Erich Scheichelbauer สองนักออกแบบตัวอักษรจากค่ายฟอนต์ Schriftlabor ประเทศออสเตรีย สตูดิโอออกแบบตัวอักษรที่เรียกตัวเองว่าเป็น Digital punchcutter การร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแบบตัวอักษรที่กำลังเปลี่ยนทิศทางไปตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ความสามารถที่ตัวอักษรทำได้ในตอนนี้และอนาคตอันใกล้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าใครจะเรียนรู้ เข้าใจ และจับจองพื้นที่การเป็นเจ้าของอนาคตนี้ได้ก่อนกัน