➜ เหตุที่ทำให้เกิดความตื่นตัวทางการออกแบบตัวอักษรในรอบหลายปีที่ผ่านมา ส่วนสำคัญนอกจากเข้าถึงความรู้ทางเทคนิคพื้นฐานได้อย่างไม่ยากแล้ว น่าจะมาจากการปรับตัวกันเองของอาจารย์บางส่วนภายในสถาบันอุดมศึกษาบางแห่ง ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาจารย์ที่สอนการออกแบบตัวอักษรโดยตรงก็ตาม ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าแม้แต่คณาจารย์สำหรับการสอนการใช้และจัดวางตัวอักษรยังขาดแคลนอย่างมากอีกด้วย
ควรจะถึงเวลาที่สถาบันระดับอุดมศึกษาออกมายอมรับความจริงข้อนี้อย่างเปิดเผย หาวิธีแก้ในที่แจ้งดีกว่าเกณฑ์คนที่จากภาคส่วนอื่นมารับผิดชอบรายวิชาโดยปิดตาข้างนึง ในขณะที่บางสถาบันไม่มีแม้กระทั้งวิชาอักขรศิลป์ แต่สามารถดำเนินการเรียนการสอนเลขนศิลป์ในระดับปริญญาตรีได้อย่างเปิดเผย
โดยทั่วไปการออกแบบตัวอักษรไม่ว่าจะเป็นในบ้านเราหรือต่างประเทศ มักจะถูกปะปนอยู่ในวิชาอักขรศิลป์ ไม่นับว่าในบางครั้งยังให้ความเข้าใจที่ผิดพลาดว่าการออกแบบตัวอักษร (type design) คือสิ่งเดียวกันกับการจัดวาง (typography)
งานออกแบบตัวอักษรมักแฝงมาในลักษณะของหนึ่งในชิ้นงาน กระนั้นก็มากพอที่จะทำให้เกิดการสานต่อทางความคิด เป็นการจุดประกายสำหรับนักศึกษาหลายคนจนเกิดเป็นการฝึกฝนส่วนตัว
ในบริบทปัจจุบันที่คอมพิวเตอร์ในการออกแบบแทบจะแยกกันไม่ออก คอมพิวเตอร์ก็เป็นสื่อกลางให้เกิดกระตือรือร้นได้ดี เป็นแรงดึงดูดให้ฟอนต์ดูเป็นมากกว่าการออกแบบตัวอักษรทั่วไปที่มีภาพของความคร่ำครึ การออกแบบตัวอักษรจึงถูกมองเป็นเรื่องที่น่าสนใจไปด้วยโดยปริยาย
เมื่อการออกแบบตัวอักษรถูกมองว่าเป็นแฟชั่น ผลพวงเนื่องจากภาพที่ถูกสร้างขึ้นผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอินเทอร์เนตที่มีส่วนอย่างมากในช่วงของการเกิดขึ้นของค่ายฟอนต์ขนาดเล็ก การเปลี่ยนแปลงในวงการฟอนต์ และภาพมายาของความเป็นนักออกแบบตัวอักษรที่ถูกปรุงขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
สำหรับบ้านเราก็ได้เกิดผลพวงจากปรากฎการณ์นี้ด้วยเช่นกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นส่วนสำคัญไม่น้อยที่กระตุ้นให้เกิดความสนใจ และนำไปสู่การเกิดนักออกแบบรุ่นใหม่อีกมากมายหลายคน บุคคลเหล่านี้เองที่ช่วยนำความสดใหม่และมุมมองที่น่าสนใจ เป็นอิสระจากกรอบของการออกแบบด้วยชุดความคิดแบบนักออกแบบตัวอักษร(ที่ทำงานมานาน) หรือนักออกแบบที่ผ่านช่วงการทดลองและค้นหาไปแล้ว เหล่านี้เป็นผลดี หากแต่ก็เป็นผลเสียไปพร้อมๆกัน
ผลดีคงไม่ต้องกล่าวลงรายละเอียดมากนัก เพราะค่อนข้างชัดเจนและเป็นที่ประจักษ์ในหมู่นักออกแบบเลขนศิลป์ ความยืดหยุ่นในตัวเลือกและการนำมาซื่งการตอบโจทย์ทางด้านสไตล์การทำงาน ดูจะเป็นการลากปีกกาของผลดีต่อประเด็นดังกล่าว
ในทางกลับกันผลของการที่ไม่มีระบบการศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบตัวอักษรที่ชัดเจน นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของปัญหาหลายมาตรฐานในการทำงานออกแบบตัวอักษร ดังเช่น คุณภาพของเส้นร่างแบบ ความสัมพันธ์ของสัดส่วน ความเข้าชุดกันในลักษณะต่างๆโดยมีความผกผันของสถานการณ์เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ การฝึกฝนตามแบบหลักการในระบบมาตรฐาน การวิจัยค้นคว้าเพื่อขยายขอบเขตความรู้ หรือทำความเข้าใจในวิวัฒนาการทางการออกแบบ การเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์และการวิเคราห์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของในทุกมิติของการออกแบบตัวอักษร ซึ่งรวมถึงคุณภาพงานในหมู่นักออกแบบตัวอักษร และแน่นอนหางเลขไปที่นักออกแบบเลขนศิลป์ที่เลือกใช้งานตัวอักษร
ในขณะที่ปัญหาเรื่องของการเข้าถึงชุดความรู้พื้นฐานในการเกิดขึ้นของไฟล์ฟอนต์ได้ถูกทำให้กระจ่างแล้วในระดับหนึ่ง ภาคของทักษะและศิลปะในการออกแบบกลับถูกทิ้งให้เป็นเรื่องเรียนรู้ด้วยตนเอง จนกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการความเข้าใจพื้นฐานที่ตรงกันเพื่อให้เกิดการพัฒนา
กรณีเช่นนี้การศึกษาในระบบอุดมศึกษาสามารถช่วยได้อย่างมาก หากมีการพิจารณาบรรจุเป็นภาควิชา หรืออย่างน้อยเป็นวิชาเลือกที่ชัดเจน สำหรับการเปิดเป็นภาควิชาที่ชัดเจนก็น่าจะยิ่งดีที่สุด จะทำให้เราสามารถรวบรวมบุคลากรที่กระจัดกระจายเพื่อให้เกิดมาตรฐานกลางของฟอนต์ไทย ในความเป็นจริงเรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะความเข้าใจในเรื่องคุณค่าของตัวพิมพ์ในลักษณะของในระดับรหัสข้อมูลภาษา น่าจะเกิดขึ้นก่อนการเข้าใจคุณค่าของแบบตัวพิมพ์ในเชิงการออกแบบ
คนส่วนมากตีมูลค่าของฟอนต์ โดยใช้ความรู้สึกความตื่นเต้นกับการที่สามารถเรียงพิมพ์ แสดงผลจัดวางได้บนหน้าจอและใช้ในอาร์ตเวิร์คต่างๆ เมื่อประกอบกับการโหยหาพื้นผิวใหม่ๆ เข้ามาใช้ในงานออกแบบของตน เป็นเหตุทำให้คุณภาพของการออกแบบ“ตัวอักษร” ถูกมองข้ามไป เพราะไม่ได้อยู่ในกระบวนการพิจารณา หรือถึงจะมีกระบวนการพิจารณาก็อาจมองไม่ออกว่าคุณภาพของแบบอยู่ที่ตรงไหน ฉะนั้นฟอนต์ที่เขียนดี กับฟอนต์ที่เขียนแล้วยวบหรือล้ม มีค่าเท่ากันในสมการนี้ กล่าวคือไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้ นอกจากนั้นผลพวงของการขาดแคลนแบบตัวอักษรในช่วงทศวรรษก่อนหน้ายังทำให้เกิดวิธีการเลือกใช้แบบตัวอักษรจากความแปลก เพื่อแค่ที่จะสร้างความแตกต่างโดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม
นักออกแบบตัวอักษรรุ่นใหม่จึงมีการบ้านที่ต้องทำในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการผลักดันเชิงการยอมรับทางสังคมดังในยุคที่ผ่านมา นั่นก็คือการผลิตงานออกแบบที่น่าสนใจและสร้างมาตรฐานกลาง ให้ความรู้เหล่านี้แก่ลูกค้าและผู้ใช้ฟอนต์ เพราะว่ายุคปัจจุบันเป็นยุคหลังจากที่สังคมไทยทำความรู้จักกับไทป์และไทป์พอกราฟี่แล้ว จะเห็นได้จากการสนับสนุนแนวทางของการจำหน่ายสิทธิ์ที่ถูกต้อง มีการนับรวมฟอนต์เป็นต้นทุนทางการออกแบบ มีการพิจารณาเลือกทำคอสตอมฟอนต์สำหรับโครงการหรือองค์กรที่สมควรมีแบบตัวอักษรเป็นของตนเอง
ฉะนั้นนักออกแบบที่พอใจที่จะเรียกตนเองเป็นนักออกแบบตัวอักษร จะต้องตั้งคำถามกับตนเองให้มากกว่าการตั้งคำถามสู่สังคมภายนอก เพราะกลุ่มของปัญหาใหม่จากนี้ไปเป็นเรื่องของคุณภาพ การพัฒนาตนเองและผลิตภัณฑ์ (ฟอนต์) ให้ได้มาตรฐาน ไม่ใช่ปัญหาความเข้าใจในวิชาชีพหรือที่ยืนในสังคมผ่านความเป็นธุรกิจและศิลปะการออกแบบอย่างที่ผ่านมา