➜ ช่วงหลังของการเปลี่ยนแปลงระบบจัดการตัวอักษรมาเป็นดิจิตอลโดยใช้โค๊ดในระบบแอสกี้ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีครั้งสำคัญ เราใช้เวลาในการแปลงแบบตัวอักษรจากระบบเรียงพิมพ์ด้วยแสง และ อักษรลอก เมื่อมีแบบตัวอักษรจำนวนมากในฟอร์แมทเดียวกัน ผนวกกับการเกิดขึ้นของฟอนต์เมนู ส่งผลให้เกิดเป็นภาพลวงตาว่าแบบตัวอักษรภาษาไทยมีความหลากหลาย เพราะว่าที่เคยอยู่กระจัดกระจายในหลายที่ สามารถมาอยู่รวมกันภายใต้เมนูเดียว
หากแต่ความหลากหลายและความสดใหม่ที่แท้จริงจากการออกแบบขึ้นมาใหม่นั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงจนกระทั่งมีการว่าจ้าง จุดเริ่มต้นของธุรกิจการออกแบบตัวอักษรในระบบดิจิตอลเริ่มต้นอย่างเงียบๆ และไม่มีความเป็นแฟชั่นฉูดฉาดเช่นปัจจุบัน หลักการและเหตุผลลำเลียงโดยตรงผ่านความต้องการของฝ่ายที่ต้องการขายฮาร์ดแวร์ และอีกฟากของความต้องการคือร้านรับทำคอมพิวและเพลท
ความจริงแล้วควรที่จะนับจุดนี้ (ปลาย ๘๐) ว่าเป็นจุดสูงสุดของตัวอักษรในโค๊ดแอสกี้ หาใช่ในช่วงปลาย ๙๐ ที่อุดมไปด้วยการสวมชื่อไฟล์กันไปมาจนสับสน แม้กระทั่งหลักฐานอ้างอิงระดับชาติที่จัดทำขึ้นในช่วงดังกล่าว ยังโดนหางเลขของการบันทึกอย่างไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เหล่านี้ล้วนเป็นภาพลวงตาที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นยุคที่มีความตื่นตัว แต่กระนั้นความเป็นธุรกิจก็ไม่ได้เริ่มจนกระทั่งช่วงท้ายของอายุไฟล์แบบแอสกี้โค๊ด
จากภาพกว้างนี้จะเห็นได้ว่า กว่าดิจิตอลฟอนต์จะกลายมาเป็นธุรกิจที่เป็นที่ยอมรับในบ้านเราอย่างปัจจุบัน ใช้เวลามากกว่าในระดับนานาชาติเกือบหนึ่งเท่าตัว ซึ่งการที่จะนับเป็นธุรกิจได้ มีส่วนผกผันอยู่กับพฤติกรรมการใช้ซอฟแวร์ การเข้าถึงฮาร์ดแวร์ ทักษะการใช้ตัวอักษรทางการออกแบบ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ฟอนต์สามารถขยับขึ้นมาเป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญ และแน่นอนสามารถเกิดเป็นธุรกิจ
การปรับพฤติกรรมการบริโภคฟอนต์ และการปรับทัศนคติเกี่ยวกับฟอนต์ ที่ผ่านมานั้นต้องยกเครดิตให้กับการเข้มงวดของพีเอสแอลสำหรับการเป็นหัวหอกในการปฎิรูป รวมถึงดีบีที่ช่วยรักษาความต่อเนื่อง หลังจากถูกสังคมยัดเยียดความเป็นฟรีแวร์ให้มาโดยตลอด
นอกจากจะสร้างให้เกิดการระมัดระวังแล้ว ยังเพาะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของต้นทุนทางการออกแบบ นับเป็นการเปิดประตูสู่เรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับฟอนต์โดยปริยาย ทำให้เกิดเป็นธุรกิจ เกิดผู้ให้บริการ เกิดการแข่งขัน ซึ่งทั้งหมดนี้นำไปสู่ความหลากหลายของแบบที่นักออกแบบเลขนศิลป์ต้องการ
กระนั้นก็ตาม ฟอนต์ไทยในเชิงธุรกิจก็ยังจำเป็นต้องพัฒนาในรูปแบบของการให้บริการอยู่อีกมากทีเดียว อาทิเช่น เรื่องของการเก็บค่าไลเซ้นท์ที่เป็นธรรม ซึ่งโครงสร้างของแต่ละค่ายก็ล้วนแตกต่างกัน เหตุมาจากมีต้นทุนทางความคิด มีมุมมองต่อสินค้า(ฟอนต์) ที่แตกต่างกัน บางที่ก็เป็นข้อเสนอที่ง่าย บางที่ก็ซับซ้อน ในขณะที่มีข้อเพิ่มเติมในบางกรณี เหล่านี้ทำให้การเลือกใช้ฟอนต์ไทยมีความยุ่งยากอยู่พอสมควร
ในประเด็นนี้ยังจำเป็นต้องใช้เวลาอีกช่วงหนึ่งทีเดียวในการหาค่ากลาง โครงสร้างทางราคาที่ซับซ้อน และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการจำหน่ายสิทธิ์ของฟอนต์สากล จะส่งผลเสียต่อธุรกิจหากยังไม่มีการปรับปรุง จะเห็นได้ว่ายังมีการใช้ชุดความคิดที่ว่าฟอนต์เป็นองค์ความรู้ปิดเช่นในอดีต และยึดถือแนวความคิดนี้มาสวมใช้ในการคิดราคาการจำหน่ายสิทธิ์ ซึ่งเสี่ยงต่อความรู้สึกไม่เป็นธรรมของผู้บริโภค
หลักการเรื่องโครงสร้างราคาที่ค้านกับความเป็นจริง(ที่เกิดขึ้นแล้ว) ในเรื่องของการมีตัวเลือกจากค่ายขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือแม้แต่นักออกแบบอิสระ อย่างไรก็ดี จะทำให้ราคาของฟอนต์สมเหตุผลมากขึ้น ทั้งนี้ผู้จำหน่ายทุกรายควรมีการคำนึงถึงความรู้สึกเกี่ยวกับความเป็นธรรมในมุมมองของผู้บริโภคหรือผู้ใช้ฟอนต์ไทยมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อประโยชน์ของภาคธุรกิจส่วนรวมที่เพิ่งเกิด
ปัญหาที่ยังมาไม่ถึงอีกเรื่องที่จะเลยข้ามไปมิได้ ในยุคปัจจุบันที่ขนาดของโลกย่อส่วนลงมาด้วยระบบการสื่อสารก็คือ ประเพณีการสวมเทเบิลฟอนต์ภาษาไทยเข้ากับฟอนต์ละตินที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด ในปัจจุบันเรื่องนี้ควรต้องทำอย่างถูกต้อง จะเป็นการดีอย่างมากที่นักออกแบบตัวอักษรไทยในฐานะผู้ออกแบบ และนักออกแบบเลขนศิลป์ในฐานะผู้ใช้ ควรเข้าใจในประเด็นนี้
การผนวกเทเบิลของละตินกับไทยเข้าด้วยกันไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่จำเป็นต้องทำอย่างถูกต้องก่อนการนำออกจำหน่าย ฉะนั้นการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาทางการออกแบบหรือแม้แต่ลดขนาดในส่วนละตินนั้น ไม่สามารถทำได้ หากไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของแบบหรือบริษัทต้นสังกัดของฟอนต์นั้นๆ
เรื่องนี้ยังกระทบในอีกสองส่วนก็คือ วิธีการออกแบบตัวอักษรไทยที่จำเป็นต้องคำนึงถึงสัดส่วนของตัวละตินเป็นหลัก และออกแบบให้สอดคล้อง มิใช่ปรับปรุงตัวละตินในฟอนต์ที่นำมาผนวกให้เข้าสัดส่วนกับตัวอักษรไทยอย่างที่ผ่านมาในอดีต อีกส่วนคือการแจกแจงให้ผู้ซื้อสิทธิ์ฟอนต์ไทยนั้นๆทราบ เพราะผู้ซื้อมีสิทธิ์ในการที่จะต้องได้รับความคุ้มครองในส่วนของละตินเช่นกัน และมีความจำเป็นต้องชำระค่าเทเบิลของตัวละตินพร้อมกันไป (หากแบบตัวอักษรละตินถูกออกแบบมาควบคู่กันกับภาษาไทยก็จะเป็นกรณียกเว้น)
ที่ผ่านมาเราจะพบว่าประเด็นเทเบิลละตินเป็นประเด็นที่ไม่ถูกนำมากล่าวถึง แต่กลับเป็นภาพของการตามเก็บค่าสิทธิ์ในการใช้ฟอนต์ภาษาไทย โดยนิ่งเฉยและหาผลกำไรจากตัวละตินเหล่านั้นโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เหล่านี้เป็นประเด็นที่นักออกแบบตัวอักษรไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อพัฒนาให้ธุรกิจฟอนต์ดิจิตอลที่เพิ่งเกิดใหม่ไปในทิศทางที่ถูกต้อง และได้รับการยอมรับจากอารยประเทศ