บทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช ในนิตยสาร Computer Arts (Thai Edition) คอลัมน์ The Next big thing ประเด็นเกี่ยวกับฟอนต์ Kondolar
เดิมทีฟอนต์ชุดนี้เกิดจากการที่ใช้เวลากับ Kridpages ฟอนต์เก่าของเราแล้วเกิดคำถามขึ้น คงต้องย้อนเรื่องก่อนว่า Kridpages คือ แบบตัวอักษรชุดหนึ่งที่ทำไว้ตั้งแต่ปี ๒๐๐๖ กับการทดลองออกแบบตัวอักษรด้วยแนวคิดที่ขัดแย้งกันระหว่าง ความคลาสสิก กับ นวัตกรรม, ดิจิตอล กับ ความเป็นมนุษย์ และ ตัวอักษรแบบเนื้อความ กับ พาดหัว นำมาตีความเป็นส่วนผสมจนได้ออกมาเป็นโครงสร้างกึ่งเหลี่ยม มีระบบต่อเป็นยูนิต มีเส้นทแยงและปลายตัดคล้ายการเขียน ฐานเชิงแบบ Slab Serif และอื่นๆ ตามแบบที่จะเห็นได้ใน Kridpages เพื่อให้เป็นตัวอ่านและตัวเน้นได้ทั้งสองอย่างตามที่ตั้งต้นไว้
แต่เมื่อเวลาผ่านไป กับบุคลิกที่ค่อนข้างจัดจ้านตามที่เราเคยตั้งใจไว้ ทำให้เกิดคำถามที่แอบถามไว้กับตัวเองว่า ถ้าเราต้องการให้เป็นตัวที่อ่านง่ายกว่านี้ และใช้งานได้หลากหลายกว่านี้ หน้าตามันจะเป็นอย่างไร เราทำอะไรได้บ้าง ที่สำคัญควรจะใหม่พอที่จะไม่ซ้ำกับแบบอื่นๆที่มีอยู่แล้ว จุดเริ่มต้นที่เราทำคือการร่างแบบปรับส่วนมุมต่างๆที่ดูเป็นดิจิตอลทั้งหมดให้เป็นโค้งที่นุ่มนวลขึ้น ซึ่งผลลัพท์ที่ออกมาก็น่าสนใจดี
ฟอนต์ชุดนี้ที่คิดไว้จะมี ๕ น้ำหนัก ๑๐ สไตล์ คือThin, Thin Italic, Light, Light Italic, Regular, Regular Italic , Bold, Bold Italic , Black, Black Italic แต่ทางคุณอนุทินมองในเรื่องของการทำตลาดประกอบด้วย ก็เลยคิดว่าน่าจะปล่อยออกมาเป็น Set ที่เล็กกว่านั้น โดย ๔ weight ที่ออกมาตอนแรกนี้จะเป็น Set A
ก่อน และจะออกมาเป็น Set B อีกที คำถามนี้โดนฝรั่งถามอยู่เหมือนกัน เพราะว่ามันแปลกที่เราขาย Regular, Italic, Bold, Black เพราะธรรมชาติคนจะจับคู่ตัวตรงกับตัวเอนเป็นคู่ของมันไป แต่เรามองว่า Set A คือ Set ที่มันครบตามการใช้งานจริง เราเลยลองปล่อยแบบไม่กั๊ก ส่วน Set B จุดขายจะอยู่ที่ตัวบางเพราะน่าจะให้ภาพรวมของชุดตัวอักษรที่ต่างออกไปจาก Set A ที่คนนิยมแล้ว คิดว่าช่วงกลางถึงปลายปีน่าจะพร้อมปล่อยออกมา แล้วค่อยมาดูกันอีกทีว่าจะเป็นอย่างไร
ส่วนรายละเอียดจำนวนตัวอักษรในฟอนต์ ที่จริง Kondolar ทำไปตามมาตรฐานใหม่ของฟอนต์ในยุคนี้ ที่ครอบคลุมยุโรปตะวันออกด้วยมาตรฐานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการถูกกำหนดกฎเกณฑ์อะไร เพียงแต่มันเป็นส่ิงที่ฟอนต์น่าจะทำให้ใช้งานได้ครอบคลุมและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เราคิดว่าควรจะมี ส่ิงที่เพิ่มขึ้นมาจากตัวปกติคือ ๒๕๖ glyphs เดิมคือ Small Caps (ตัวพิมพ์ใหญ่ที่สูงใกล้เคียงกับพิมพ์เล็ก), Stylistic Alternative (ตัวพิเศษที่มีการออกแบบต่างออกไปเพื่อให้เป็นทางเลือก), Ligature (ตัวเชื่อม) และตัวเลขแบบต่างๆ Oldstyle, Tabular, Lining, Subscript, Superscript, Fractions, Denominators, Numerators เป็นต้น โดยรวมในฟอนต์นี้จะมี glyph อยู่ ๗๐๐ กว่า glyph ในหนึ่งน้ำหนัก
ความยากของ Kondolar ในส่วนตัวคิดว่าก็ตามปกติ ไม่ได้ยากเกินไปนัก เพราะมีภาพในแบบร่างค่อนข้างชัด เพียงแต่เวลาออกแบบเพื่อให้คนสนใจพอที่จะซื้อได้อย่างแรกคือ ดูแล้วไม่ซ้ำกับฟอนต์ที่มีอยู่ ไม่ซ้ำกับฟอนต์ที่กำลังฮิต มันต้องมีความต่างพอที่จะทำให้ตัวมันเองน่าสนใจ เราก็พยายามเช็คตัว Slab Serif ที่มีอยู่ในตลาด และทำให้มันเกิดความต่างกับ Slab Serif ในตลาดซึ่งจะเป็นแบบ Humanist ซะส่วนใหญ่ เราจึงยึด Direction ไปทาง Simple โดยเน้นเป็นแนว Geometric และมีส่วนผสมที่หลากหลาย ซื่งทาง MyFonts ก็มองว่ามันแปลกใหม่ อันนี้เราตีความจากเนื้อหาใน Rising Star Newsletter ประจำเดือนของ MyFonts นะครับ
แต่อีกส่วนที่ยากสำหรับเราคือ ฟอนต์ตัวนี้เราใส่ตัวอักษรของยุโรปตะวันออก เพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้ได้ตลาดที่กว้างขึ้น ซึ่งบางตัวเราก็ไม่ได้รู้วิธีเขียนของเค้าชัดเจน ก็ต้องศึกษาวิธีเขียนของตัวที่เพิ่มขึ้นมา ตำแหน่งต่างๆ เพิ่มเติมกันไป
Popular Designer ใน MyFonts คือการบอกว่า เรามีฟอนต์ที่ขายดีอยู่ในช่วงเวลานั้น เมื่อมีฟอนต์ออกใหม่ที่มีคนซื้อมาก มันก็จะวนเวียนกันไป ที่จริงผมตื่นเต้นตอนที่ Kondolar ไปอยู่ใน lists ของ MyFonts Rising Star ที่เป็น Newsletter ของเดือนกุมภาพันธ์ ๒๐๑๑ มากกว่า แบบตัวอักษรอื่นๆ ของ คัดสรร ดีมาก ล้วนมีศักยภาพที่ดี ซึ่งฟอนต์คอเล็คชั่นของเราที่มายฟอนต์ก็ขายได้เรื่อยๆมาอยู่แล้ว เราไม่ใช่ค่ายใหม่บน Myfonts เพียงแต่จังหวะเวลาที่ถูกโปรโมตให้คนวงกว้างคนเห็นอาจไม่มากพอที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึง ฟอนต์ที่จัดจำหน่ายใน MyFonts ก็มีเป็นหลายหมื่นฟอนต์ มันก็เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้คนเข้าถึงงานเรา ส่วนในอนาคตจะเป็นอย่างไรคงต้องวัดกันในฟอนต์ต่อๆไปอีกซักพัก